“ขู่เอาผิดคนแชร์” แนวทางใหม่การใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อปิดปาก

ในปี 2561 จำนวนคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์ข้อความบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะข้อความที่แสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้ข่มขู่การแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ ทั้งที่ ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าข้อความต้นทางที่ถูกแชร์กันนั้นเป็นความผิดหรือไม่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเอาผิดคนแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ว่าทำผิดจริงหรือไม่
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เอาผิดคนแชร์ได้ แต่คนแชร์ต้องรู้ก่อนว่าข้อมูลนั้นเป็นเท็จ
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ปี 2560 มาตรา 14 ระบุว่า ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
หรือหมายความว่า คนที่แชร์ข้อมูลแล้วจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้ ต้องมีองค์ประกอบการกระทำความผิดสองอย่าง ได้แก่ หนึ่ง เป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ และสอง โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
ดังนั้น ในการดำเนินการเอาผิดคนที่แชร์ข้อความตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงต้องพิสูจน์ "เจตนา" ของผู้กระทำความผิดให้ได้ เนื่องจากบางครั้งการแชร์โพสต์จากแฟนเพจต่างๆ ผู้แชร์อาจจะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าสิ่งที่แชร์ไม่ใช่ข้อมูลเท็จที่เป็นความผิดตามองค์ประกอบอื่นๆ ของมาตรา 14 (1) (2) (3) และ (4) และหากพิสูจน์ได้ว่าไม่รู้จริงๆ ก็อาจจะไม่มีความผิดตามมาตรานี้ เนื่องจากขาดเจตนา
เจ้าหน้าที่รัฐขู่หรือดำเนินคดีคนแชร์ก่อนทั้งที่คนโพสต์ยังไม่มีความผิด
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5) ระบุว่า คนที่แชร์ข้อมูลแล้วจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้ ต้องมีองค์ประกอบการกระทำความผิดสองอย่าง ได้แก่ หนึ่ง เป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ และสอง โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
แต่ทว่า ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่นำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้ดำเนินคดีกับคนที่แชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์อย่างน้อย 4 คดี โดยที่ยังไม่มีการดำเนินคดีกับคนที่โพสต์ข้อมูลจนได้ผลเป็นที่สุดว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ได้แก่
หนึ่ง คดีแชร์ข้อตวามจากเพจ "กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ "
ในคดีนี้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้ออกหมายเรียกคนอย่างน้อย 9 คน จากการแชร์โพสต์ข้อความจากเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” เกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด ซึ่งทั้ง 9 คนที่แชร์ ได้รับข้อกล่าวหาจากตำรวจว่ามีความผิดฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จที่กระทบความมั่นคงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5) 
ในเนื้อหาบรรยายคำฟ้องบางส่วนระบุว่า “มีข้อความทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าการแพร่ระบาดของยาเสพติดอย่างหนักในหลายชุมชนในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากการที่มีเจ้าหน้าที่ทหารที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาความสงบในพื้นที่ต่าง ๆ ร่วมกับตำรวจในท้องที่ ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับผู้ค้ายาเสพติดเสียเอง จึงทำให้ยาเสพติดกลับทะลักเข้ามาทำลายอนาคตของประเทศ
เหตุเพราะ คสช. เองก็มีอำนาจและวิธีการที่ผิด ๆ และขาดวินัย ซึ่งเป็นความเท็จเนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารมีหน้าที่รักษาความสงบในเขตพื้นที่และเจ้าหน้าที่ตำรวจในเขตท้องที่เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบปรามการกระทำผิดและดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่เจ้าหหน้าที่ทหารและตำรวจจะร่วมมือกันเป็นหูเป็นตาให้กับผู้ค้ายาเสพติดเสียเอง”
อย่างไรก็ดี คดีนี้ถือว่าเป็นคดีแรกที่เป็นการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับคนแชร์ข้อความจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก ที่อัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า หลังจากอัยการส่งฟ้องต่อศาลแล้ว ศาลได้อ่านคำฟ้องต่อจำเลย และถามคำให้การจำเลย โดยมีจำเลยให้การรับสารภาพ 5 คน และให้การปฏิเสธ 4 คน โดยจำเลย 4 คนได้รับการประกันตัว โดยการวางหลักทรัพย์ในการประกันตัวเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท โดยมีคำสั่งให้จำเลยทั้ง 4 คนมาฟังคำพิพากษาวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ส่วนอีก 5 คน ศาลให้ฝากขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและทัณสถานหญิงกลาง และให้มาฟังคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 และศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย อีก 5 คนที่เหลือแล้ว
ในขณะที่คดีของคนที่โพสต์ข้อความ หรือ แอดมินเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” คดียังไม่ถึงที่สุด มีเพียง บก.ปอท. ออกหมายจับแอดมินเพจ  ในความผิดฐาน "นำสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน" ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอรฯ มาตรา 14 (2) ผู้ต้องหาคือ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอยู่ที่ประเทศกัมพูชา และเป็นผู้โพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นโพสต์บิดเบือนและให้ร้ายรัฐบาล
โดยคดีนี้อัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบเนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 คดีที่มีความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร เพราะแอดมินเพจอยู่อังกฤษ ซึ่งตามกฎหมายตำรวจต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีของอัยการสูงสุดไหม หากรับอัยการสูงสุดก็จะเข้าร่วมสอบสวนในคดีและเป็นผู้ทำความเห็นฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี
สอง คดีแชร์ข้อความวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล จากเพจ KonthaiUK 
ในคดีนี้ วันที่ 12 มิถุนายน 2561 บก.ปอท. ได้ออกหมายจับแอดมินเพจ Konthai UK ซึ่งอยู่อาศัยที่ประเทศอังกฤษ ในความผิดฐาน “นำสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2)
อีกทั้ง ในวันดังกล่าวยังได้จับตัวคนแชร์มาแถลงข่าวการจับกุมที่ บก.ปอท. ทั้งหมด 14 คน และออกหมายเรียกคนแชร์โพสต์จากเพจดังกล่าวอีก 13 คน ในความผิดฐาน “การส่งต่อ หรือเผยแพร่ ข้อความอันเป็นเท็จ” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5) แล้วเรื่องจึงเงียบลง
จนกระทั่งในช่วงประมาณช่วงเดือนสิงหาคม มีรายงานว่า มีการออกหมายเรียกเพิ่มเติมอีกประมาณ 10 คน หนึ่งในนั้นคือ พุฒิพัทธ์  ที่ทางไอลอว์ได้ติดตามในการไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวน ที่ บก.ปอท. ซึ่งความเคลื่อนไหวของคดีนี้ยังอยู่ที่ขั้นตอนการสอบสวน และจัดทำสำนวนของเจ้าหน้าที่ ปอท. ในขณะที่คดีของคนที่โพสต์ต้นทางยังไม่มีการพิสูจน์ทราบว่า ข้อมูลที่โพสต์นั้นจริงหรือเท็จ
สาม คดีแชร์ข้อความจากเพจ CSI LA และเพจ SAMUI TIME 
ในคดีนี้ เกิดจากเพจ CSI LA และ SAMUI TIME ได้โพสต์ข้อความในเพจเกี่ยวกับข่าวนักท่องเที่ยวหญิงชาวอังกฤษถูกข่มขืนที่เกาะเต่า หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 มีการออกหมายจับแอดมินเพจ 2 คน และแถลงข่าวการจับกุมผู้แชร์โพสต์จากสองเพจดังกล่าวทั้งหมด 12 คน ในฐานความผิดในฐานความผิด “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายประชาชน /นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และเผยแพร่ตัดต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าข้อมูลเป็นการบิดเบือนหรือปลอมทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งเป็นผู้ที่แชร์ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ”  ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 14 (1) (2) (5)
ผู้ต้องหาทั้ง 12 คน มาจากทั่วประเทศ มีคนให้การสารภาพในชั้นตำรวจ 3 คน และให้การปฏิเสธเพื่อต่อสู้คดี 9 คน โดยตอนนี้ผู้ต้องหาทั้ง 12 คนได้รับการประกันตัว และคดีอยู่ในชั้นตำรวจ สภ.เกาะเต่า
สี่ คดีแชร์เพลง “ประเทศกูมี” โดยกลุ่มศิลปิน RAP AGAINST DICTATORSHIP
ในคดีนี้ กลุ่มศิลปิน RAP AGAINST DICTATORSHIP ได้ทำเพลงที่มีเนื้อหาพาดพิงกระแสข่าวของสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย เช่น การแบ่งแยกขั้วทางการเมือง การใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมและการจำกัดเสรีภาพของประชาชน รวมถึงเสียดสีผู้มีอำนาจ 
จนกระทั่งวันที่ 26 ตุลาคม 2561  พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีการเผยแพร่เพลง "ประเทศกูมี" ทางเว็บไซต์ยูทูปว่า ได้มอบหมายให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พิจารณาเนื้อหาของเพลงว่าเข้าข่ายขัดคำสั่งคสช. หรือไม่ ส่วนคนที่อยู่ในคลิปจะต้องเชิญตัวมาให้ปากคำว่า มีเจตนาทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดคำสั่ง คสช.หรือไม่
ต่อมา พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก บก.ปอท. กล่าวว่า มิวสิควิดีโอ “ประเทศกูมี” น่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” เพราะความเสียหายที่ปรากฎในเนื้อเพลงอาจกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจ อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น สำหรับผู้ที่ส่งต่อโพสต์ก็อาจเข้าข่ายความผิด มาตรา 14(5) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯด้วยเช่นกัน
รวมไปถึง  พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายคสช. ก็ประสานเสียงกับตำรวจจ่อดำเนินคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพลง “ประเทศกูมี” แต่ต้องรอทางตำรวจ บก.ปอท. รวบรวมพยานหลักฐานเสียก่อน
ซึ่งหลังจากนั้นผู้คนในสังคมออนไลน์ก็ออกมาวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าการแชร์เพลง “ประเทศกูมี” นั้นจะผิดตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารออกมาให้ให้สัมภาษณ์ต่อนักข่าวหรือไม่
จนวันที่ 29 ตุลาคม 2561 พล.ต.อ.ศรีวราห์ ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าสามารถ ฟัง ร้อง แชร์ เพลง “ประเทศกูมี” ได้ เนื่องจากตรวจสอบแล้วเนื้อหาไม่ได้ผิดอะไร