เลือกตั้ง 62: เส้นตาย! 26 พ.ย. ถ้าจะลงเลือกตั้งพรรคการเมืองใหม่ต้องตั้งเสร็จ

สีสันของการเลือกตั้งแต่ละครั้ง คือ การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ๆ ซึ่งจะมาเป็นทางเลือกให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในต้นปี 2562 มีพรรคการเมืองใหม่อย่างน้อย 25 พรรคเสนอตัวชิงชัย แต่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นเลยตลอดสี่ปี และเพิ่งประกาศให้เริ่มจดจัดตั้งพรรคได้ ทำให้พรรคใหม่มีระยะเวลาเตรียมตัวที่สั้นเกินไปบวกกับเงื่อนไขในการจัดตั้งพรรคที่ยากอาจจะทำให้พรรคหน้าใหม่จำนวนมากจัดตั้งไม่เสร็จสมบูรณ์ทันตามกรอบเวลาเพื่อที่จะลงเลือกตั้ง 
การเลือกตั้งคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ผู้ที่ต้องการสมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้อาจทำให้พรรคการเมืองใหม่หลายพรรคอาจเตรียมความพร้อมไม่ทันและหมดสิทธิลงเลือกตั้ง ทั้งนี้มีสิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำให้เสร็จเพื่อจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ดังนี้ 
ทุนประเดิมหนึ่งล้านบาท-ประชุมใหญ่พรรค สองเงื่อนไขตั้งพรรคการเมืองใหม่
การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่มีเงื่อนสำคัญสามประการ ตาม  พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ได้แก่ หนึ่ง ทุนประเดิมหนึ่งล้านบาท การตั้งพรรคการเมืองใหม่ต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โดยมีผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 500 คน ซึ่งต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินคนละ 50,000 บาท
สอง การจัดประชุมใหญ่ การตั้งพรรคการเมืองใหม่ต้องมีการประชุมใหญ่และมีสมาชิกพรรคซึ่งรวมกันแล้วมีจำนวนไม่น้อยกว่า 250 คน เข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขข้อบังคับและจัดทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรคการเมือง และเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง
ขณะที่พรรคการเมืองเดิม คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 ข้อ 1 ซึ่งไปแก้ไข พ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ กำหนดว่า พรรคการเมืองต้องให้สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน จ่ายค่าบำรุงพรรคการเมือง ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงเลือกตั้งได้ โดยการจ่ายเงินบำรุงพรรคการเมือง หรือ “ค่าสมาชิกพรรค” แต่ละพรรคสามารถเรียกเก็บจากสมาชิกได้สองแบบ ได้แก่ แบบรายปี ไม่น้อยกว่าปีละ 100 บาท หรือ แบบตลอดชีพ ไม่น้อยกว่าปีละ 2,000 บาท และยังต้องจัดหาทุนประเดิมพรรคจำนวนหนึ่งล้านบาท  แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง และนโยบายของพรรค และเลือกกรรมการบริหารเช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่
ภายใน 1 ปี ต้องตั้งสาขาพรรคภาคละ 1 สาขาและเพิ่มสมาชิกเป็น 5,000 คน
การตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่ายากแล้ว การรักษาพรรคการเมืองให้คงอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะ พ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ ได้กำหนดการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองไว้ว่า ภายในหนึ่งปีหลังพรรคการเมืองได้รับการจดทะเบียนแล้วพรรคการเมืองต้องหาสมาชิกพรรคเพิ่มให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีไม่น้อยกว่า 10,000 คน ภายในสี่ปี อีกทั้ง พรรคการเมืองยังต้องจัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคและจังหวัดที่ กกต. กำหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป
พรรคการเมืองใหม่ต้องได้รับรองจาก กกต. ก่อน 26 พ.ย. 2561 
พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ซึ่งมาตรา 41 (3) กำหนดว่า ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวหรือ ‘สังกัดพรรค’ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง นั้นหมายความว่า พรรคการเมืองใหม่ต้องได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองหรือได้ ‘รับรอง’ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็น ‘พรรคการเมืองอย่างสมบูรณ์’ ก่อน 90 วันนับถึงการเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้ต้องการลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคเป็นสมาชิกพรรคและรักษาสิทธิในการลงเลือกตั้ง
ถ้าวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามที่ คสช. ได้ประกาศไว้จริง กรอบเวลาอย่างเร็วที่สุดที่พรรคการเมืองใหม่ต้องได้รับรองการจัดตั้งพรรคจากกกต. คือ ก่อนวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 (90 วันก่อนการเลือกตั้ง) ส่วนกรอบเวลาอย่างช้าที่สุดในกรณีที่วันเลือกตั้งคือวันที่ 9 พฤษาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่สุดท้ายที่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามโรดแมปรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองใหม่ต้องได้รับรองการจัดตั้งพรรคจาก กกต. ก่อนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับวันเลือกตั้งซึ่งวันเวลาที่แน่นอนจะประกาศในพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยปฏิทินการเลือกตั้งของ คสช. ระบุว่า พ.ร.ฎ. ดังกล่าวจะประกาศในวันที่ 16-27 ธันวาคม 2561
พรรคการเมืองใหม่จดจองชื่อไป 123 พรรค แต่ได้รับรองจาก กกต. 25 พรรรค
หลังจากหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 53/2560 ‘คลายล็อก’ พรรคการเมืองครั้งแรก ในวันที่ 22 ธันวาคม 2560 อนุญาตให้การจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่สามารถดําเนินการทางธุรการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไปทำให้มีการยื่นคำขอการแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองหรือ “จดจองชื่อพรรค” ซึ่งในวันแรก (2 มีนาคม 2561) ที่เปิดให้มีการจดจองชื่อพรรคมีถึง 42 พรรค และเมื่อนับถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2561 มีผู้มาจดจองชื่อพรรคการเมืองถึง 123 พรรค 
อย่างไรก็ดี คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ตั้งเงื่อนไขสำหรับการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ไว้ว่าการประชุมเพื่อยื่นคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. และให้ดําเนินกิจกรรมได้เท่าที่ได้รับอนุญาตหรือตามเงื่อนไขที่ คสช. กําหนดเท่านั้น ทำให้กระบวนการตั้งพรรคการเมืองใหม่ให้สมบูรณ์ยังค้างอยู่ที่การจดจองชื่อพรรค จนกระทั้ง หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 คลายล็อกพรรคการเมืองครั้งที่สอง ในวันที่ 14 กันยายน 2561 อนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม อาทิ การประชุมใหญ่ และการหาสมาชิกพรรรค โดยให้แจ้ง กกต. ก่อนห้าวัน ทั้งนี้ จนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 กกต. รับรองการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ให้เป็น
พรรคการเมืองอย่างสมบูรณ์ไปแล้วเพียง 25 พรรค
ลำดับ ชื่อพรรคการเมือง ชื่อย่อ วันที่จัดตั้ง หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค
1
พรรคทางเลือกใหม่
New Alternative Party

 (ทลม.) 

(NEWA) 
2 ส.ค. 61 ราเชน ตระกูลเวียง ไพโรจน์ กระทุ่มทองเลิศ
2
พรรคมติประชา
People Vote Party
มปช.
PVP
3 ส.ค. 61 อนุชิต งามพัฒนพงศ์ชัย อรอุสา เกษรสังข์
3
พรรคประชาภิวัฒน์
People Progressive Party
ปชภ.
PRA
10 ส.ค. 61 สมเกียรติ ศรลัมพ์ นันทนา สงฆ์ประชา
4
พรรคพลังพลเมืองไทย
Thai Citizen Power Party
พพพ.
TCPP
10 ส.ค. 61 สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ เอกพร รักความสุข
5
พรรครวมใจไทย
Ruam Jai Thai Party
รจท.
RJP
31 ส.ค. 61 นพดล อมรเวช คำนึง อิสโร
6
พรรคพลังธรรมใหม่
New Palangdharma Party
พธม.
NPD
14 ก.ย. 61 ระวี มาศฉมาดล นิทัศน์ รายยวา
7
พรรคประชาชนปฏิรูป
People Reform Party
ปชช.
PPR
3 ต.ค. 61  ไพบูลย์ นิติตะวัน มโน เมตตานันโท เลาหวณิช
8
พรรคอนาคตใหม่
Future Forward Party
อนค.
FWP.
3 ต.ค. 61 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล
9
พรรคไทยธรรม
Thai Friend Party 
ทธม.
THMP.
24 ต.ค. 61 อโณทัย ดวงดารา สมคิด กรุดเพชร
10
พรรคเพื่อนไทย
Thai Friend Party
พ.
T.F.
24 ต.ค. 61 สิระ พิมพ์กลาง อนุวัฒน์ วิกัยพัฒน์
11
พรรคไทยศรีวิไลย์
Thai Civilized Party
ทศล.
TCL
24 ต.ค. 61 มงคลกิตต์ สุขสินธารานนท์ วิวัฒน์ เจริญพาณิชย์ศิริ
12
พรรครวมพลังประชาชาติไทย
Action Coalition for Thailand 
รปช.
ACT
26 ต.ค. 61 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง
13
พรรคสยามพัฒนา
Siam Development Party
สพน.
SD.
26 ต.ค. 61 บุญส่ง เกิดหลำ นัธทวัฒน์ โสดานิล
14
พรรคเพื่อคนไทย
Pheu Khon Thai Party
พคท.
PKTP.
29 ต.ค. 61 วิทยา อินาลา ณพจน์ศกร ทรัพยสิทธิ์
15
พรรคพลังปวงชนไทย
Thai People Power Party
พลท.
PLPT
29 ต.ค. 61 นิคม บุญวิเศษ ศักดา จิตต์ระเบียบ
16
พรรคพลังไทยรักไทย
Phalang Thai Rak Thai Party
พ.ท.ร.ท.
P.T.R.T
30 ต.ค. 61 คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล วินัย ไชยบุตร
17
พรรคพลังชาติไทย
Thai Nation Power Party
พพชท
TNPP
31 ต.ค. 61 พล.ต. ทรงกลด ทิพย์รัตน์ โชติวุฒิ เขียนนิลศิริ
18
พรรคประชาชาชาติ
Prachachat Party
ปช.
PCC.
31 ต.ค. 61 วันมูหะมัดนอร์ มะทา พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง
19
พรรคแผ่นดินธรรม
The Land of Dharma Party
ผธ.
LDHP
2 พ.ย. 61 กรณ์ มีดี พลากร เทศนำ
20
พรรคคลองไทย
Klong Thai Party
คล.ท. 
KTP
2 พ.ย. 61 สายัณห์ อินทรภักดิ์ สุทิน ช่วยธานี
21
พรรคประชาธรรมไทย
Thai People Justice Party
ปธท.
T.P.J
2 พ.ย. 61 พิเชษฐ สถิรชวาล พล.อ.อ.คะเชนทร์ วิเศษรจนา
22 พรรคเศรษฐกิจใหม่   6 พ.ย. 61 สุภดิช อากาศฤกษ์  
23 พรรคประชานิยม   6 พ.ย. 61 พล.ต.อ. ยงยุทธ เทพจำนงค์  
24
พรรคพลังประชารัฐ
Phalangpracharat Party
พปชร.
PPRP
6 พ.ย. 61 อุตตม สาวนายน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
25 พรรคไทยรุ่งเรือง   6 พ.ย. 61 ฉัตรชัย แนวพญา  
พรรคการเมืองใหม่กว่าร้อยพรรคยังตั้งไม่สำเร็จ
พรรคการเมืองใหม่อีกประมาณ 100 พรรค อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองเท่านั้น โดยพรรคเหล่านี้ถ้าต้องการลงเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ต้องได้รับการรับรองจาก กกต. เพื่อให้เป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์ก่อนวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ซึ่ง กตต. มีหลักเกณฑ์ว่าจะใช้เวลาพิจารณารับรองพรรคการใหม่ไม่เกิน 45 วัน ตัวอย่างพรรคการเมืองที่กำลังดำเนินการจัดตั้งพรรคอยู่ เช่น
พรรคเกียน หรือ พรรคเกรียน สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” ยื่นขอจัดตั้ง ‘พรรคเกรียน’ ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2561 แต่ก็ถูกกกต. ปฏิเสธเพราะชื่ออาจทำให้สังคมสับสนและมีความหมายไม่เหมาะสม ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงาม ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อพรรคเป็น ‘พรรคเกียน’ จนสุดท้าย กกต.รับรองการจดจัดตั้งพรรคเกียนในวันที่ 30 กันยายน ซึ่งรวมแล้วใช้เวลานาน 192 วัน กว่าจะจดจองชื่อพรรคเสร็จ จากนี้ พรรคเกียนยังต้องดำเนินการหาทุนประเดิมพรรค หาสมาชิกพรรคและจัดประชุมใหญ่ เพื่อจัดตั้งพรรคให้เสร็จภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ถ้าต้องการลงเลือกตั้งในต้นปี 2562
พรรคกลาง ชุมพล ครุฑแก้ว นักวิ่งมาราธอนชื่อดัง และอดีตผู้บริหารของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.หรือ NECTEC) และสุขทวี สุวรรณชัยรบ ที่ผ่านงานในองค์กรพัฒนานานาชาติหลายแห่ง สองผู้ก่อตั้งพรรคได้ยื่นขอจัดตั้งในวันที่ 29 มีนาคม 2561 และมีการจัดประชุมใหญ่ของพรรคในวันที่ 21 ตุลาคม 2561 ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเพทฯ โดยเปิดรับผู้สนใจสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2561 หรืออย่างเร็วที่สุดก่อนพรรคจะยื่นเอกสารให้ กกต.รับรองในต้นเดือนพฤศจิกายน
พรรคสามัญชน นักกิจกรรมและเอ็นจีโอหลายกลุ่มได้ร่วมตัวกันก่อตั้งพรรคนี้ขึ้น และได้ไปยื่นขอจัดตั้งพรรคตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2561 และต่อมามีการจัดประชุมใหญ่ในวันที่ 22 กันยายน 2561 ที่อำเภอ วังสะพุง จังหวัดเลย โดยเลิศศักดิ์ คําคงศักดิ์ ว่าที่หัวหน้าพรรค กล่าวว่าพรรคสามัญชนจะทำกิจกรรมในขั้นตอนสุดท้ายของการจัดตั้งพรรคด้วยการนัดรวมตัวสมาชิกพรรคที่สถานีรถไฟหลักสี่ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 เพื่อเดินไปยื่นเอกสารสมาชิกพรรค 500 คน และทุนประเดิมตั้งพรรค 1 ล้านบาท ที่สำนักงาน กกต.