สนช. รับหลักการ แก้ไข ป.วิอาญา ให้ศาลไม่รับฟ้อง กรณีฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง

8 พฤศจิกายน 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.วิอาญา ฉบับที่สมาชิก สนช. นำโดย มหรรณพ เดชวิทักษ์ เป็นผู้เสนอ โดยสมาชิก สนช. มีมติเห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.วิอาญาฉบับนี้ ด้วยเสียง 188 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย
โดยสาระสำคัญอย่างหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้คือ ในกรณีที่เป็นการฟ้องร้องระหว่างประชาชนกับประชาชน ศาลมีอำนาจไม่รับฟ้อง หากศาลเห็นว่าผู้ที่ฟ้องคดีมีเจตนาไม่สุจริตหรือบิดเบือนข้อจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย ทั้งนี้ ห้ามโจทก์ยื่นฟ้องคดีนั้นอีก แต่ไม่ตัดอำนาจของอัยการในการยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
"ฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง" การยืมมือกระบวนการยุติธรรมคุกคามคนอื่น
การฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งกันระหว่างประชาชนกับประชาชน เป็นวิธีการหนึ่งที่คนจำนวนหนึ่งยืมมือกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุกคาม หรือ สร้างภาระ ให้กับฝ่ายตรงข้าม โดยไม่ได้มุ่งหวังให้ได้รับความยุติธรรมเป็นสำคัญ 
ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.วิอาญา ของ สมาชิก สนช. มีการระบุถึงรายละเอียดปัญหาการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งกันไว้ว่า ในปัจจุบัน ปรากฎการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาโดยไม่สุจริตหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยในหลายกรณี 
ยกตัวอย่างเช่น การยื่นฟ้องต่อศาลในพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้จำเลยได้รับความลำบากในการเดินทางไปต่อสู้คดี หรือการฟ้องจำเลยในข้อหาที่หนักกว่าความเป็นจริงเพื่อให้จำเลยต้องยอมกระทำหรือไม่กระทำการอันเป็นการมิชอบ
หรือ การฟ้องเพื่อคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของจำเลยในการป้องกันตนเองหรือปกป้องประโยชน์สาธารณะ หรือ การฟ้องโดยผู้เสียไม่ยอมมาปรากฎตัวอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ถูกฟ้องและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง
สนช. – ศาล เสนอแก้ไข ป.วิอาญา ให้ศาลไม่รับฟ้องคดีแกล้งฟ้อง
จากปัญหาที่มีการยืมมือกระบวนการยุติธรรมเพื่อกลั่นแกล้งกัน จึงเป็นเหตุผลให้สมาชิก สนช. นำโดย มหรรณพ เดชวิทักษ์ เสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว และการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีอาญา) สู่สภาในวันที่  28 มิถุนายน 2560 
แต่ทว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกชะลอไว้ เนื่องจาก ที่ประชุม สนช. เห็นควรให้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปให้สำนักงานศาลยุติธรรมพิจารณาต่อไป จนสุดท้าย ที่ประชุม สนช. มีมติส่งร่างกฎหมายไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นว่าควรชะลอไว้ก่อนเพื่อรอร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรีไว้พิจารณาพร้อมกันและได้มอบหมายให้สำนักงานศาลศาลยุติธรรมนำข้อสังเกตไปประกอบพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้
จนกระทั้ง วันที่ 17 เมษายน 2561  สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรมออกมาเปิดเผยว่า สำนักงานศาลยุติธรรมมีการเสนอเเก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อป้องกันการใช้สิทธิฟ้องคดีอาญาโดยมีเจตนาไม่สุจริต โดยร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป 
จนท้ายที่สุด ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสนช. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561
ร่างกฎหมาย ระบุ การฟ้องโดยไม่สุจริต-บิดเบือน-กลั่นแกล้ง ให้ศาลสั่งไม่รับฟ้องได้ 
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.วิอาญา ฉบับนี้ กำหนดวิธีการป้องกันการฟ้องคดีอาญาโดยมีเจตนาไม่สุจริตไว้ในมาตรา8 ที่ให้เพิ่ม ป.วิอาญา มาตรา 161/1 เข้าไปว่า
"ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ก่อนนัดไต่ส่วนมูลฟ้อง หากความปรากฎต่อศาลเองหรือมีพยานหลักฐานที่ศาลเรียกมาว่า โจกท์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าผลประโยชน์ที่พึ่งได้โดยชอบ ศาลจะมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องนั้นก็ได้ และห้ามโจทก์ยื่นฟ้องคดีนั้นอีก"
ทั้งนี้ ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หมายถึงการที่ผู้เสียหาย ทั้งที่เป็นทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ดำเนินการทำคำฟ้องและยื่นฟ้องคดีต่อศาลเอง โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการในชั้นตำรวจและอัยการ และศาลจะต้องมีกระบวนการไต่สวนมูลฟ้องของผู้เสียหายเพื่อพิจารณาว่าจะรับฟ้องคดีนี้หรือไม่ 
ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดไว่ว่า หากศาลพบว่าคำฟ้องที่ฟ้องต่อศาลนั้น ไม่สุจริต บิดเบือน กลั่นแกล้ง หรือเป็นการเอาเปรียบจำเลย ศาลมีอำนาจสั่งไม่รับฟ้องคดีก่อนที่จะนัดไต่สวนมูลฟ้องก็ได้ และห้ามโจทก์กลับมาฟ้องคดีซ้ำอีก 
แต่ที่น่าสนใจในมาตรานี้ก็คือ แม้จะกำหนดห้ามโจทก์กลับมาฟ้องคดีซ้ำอีก แต่ก็ระบุไว้ในท้ายมาตรานี้ว่า "ไม่ตัดอำนาจอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่" ซึ่งทำให้เมื่อศาลไม่รับฟ้องคดีแล้ว โจทก์อาจจะนำคดีไปเข้ากระบวนการการฟ้องคดีโดยรัฐ ซึ่งก็นำเรื่องเดิมไปแจ้งต่อตำรวจ และส่งให้อัยการพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องคดีหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เกิดกระบวนการเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมากนัก และหากอัยการสั่งฟ้องคดี ศาลก็ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาโดยปกติในคดีนั้นๆ 
ประมวลความเห็นต่าง 'ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.วิอาญา' หวั่นสร้างปัญหาใหม่-ไม่แก้ปัญหาเดิม
จากการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายจากหน่วยงานรัฐพบว่า มีหน่วยงานอย่างน้อย 4 แห่ง ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสภาทนายความ  ที่ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มมาตรา 161/1 ลงไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณความอาญา
โดยความเห็นของแต่ละหน่วยงานค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกันว่า มาตรา 161/1 ยังไม่มีหลักเกณฑ์การพิจารณาว่า แบบไหนเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบจำเลย ทำให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการตีความได้กว้างซึ่งอาจกระทบต่อการใช้สิทธิฟ้องคดีของประชาชน
ทั้งนี้ หลายหน่วยงานเห็นตรงกันว่า ขั้นตอนปกติคือการไต่ส่วนมูลฟ้องมีความเพียงพอแล้วในการพิจารณาว่า การใช้สิทธิฟ้องคดีของฝ่ายโจทก์เป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ เห็นควรให้เติมประเด็นการตรวจสอบไว้ในกระบวนการไต่ส่วนมูลฟ้องจะมีความเหมาะสมกว่า
นอกจากนี้ ด้านประชาชนก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า ที่ผ่านมาทั้งเอกชนหรือหน่วยงานรัฐที่พยายามใช้การดำเนินคดีเพื่อกลั่นแกล้งผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ก็ใช้ช่องทางปกติคือให้ดำเนินการโดยรัฐ โดยการแจ้งความผ่านตำรวจแล้วส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาและสั่งฟ้องต่อศาลซึ่งจะไม่เข่าข่ายตามกฎหมายที่มีการแก้ไขดังกล่าว