ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม: แก้ไขกฎหมายชัดขึ้นให้ “ผู้พิพากษาบริหาร” กำหนดเบี้ยประชุม

วันที่ 25 ตุลาคม 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ….) ด้วยคะแนนเห็นชอบ 181 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง เหตุผลของการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ให้สามารถออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมสำหรับข้าราชการตุลาการซึ่งเข้าร่วมการประชุมใหญ่ในศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 193 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ตามการกำหนดเบี้ยประชุมให้ผู้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ในศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเป็นอำนาจของ ก.บ.ศ. อยู่แล้วตามมาตรา 17(1) ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 แต่การแก้ไขครั้งนี้เป็นการเพิ่มมาตรา 17 (1/1) เพื่อให้ชัดขึ้นว่า ก.บ.ศ. มีอำนาจออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมฯ ทั้งนี้หาก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. จะต้องมีการจัดทำ “ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยเบี้ยประชุมใหญ่ในศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกา” ซึ่งจะทำให้เสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้
คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) คือใคร
คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) เป็นองค์กรบริหารศาลยุติธรรมทำหน้าที่คล้ายคณะรัฐมนตรี โดยเป็นผู้กำหนดโครงสร้างของสำนักงานศาลยุติธรรม แบ่งส่วนราชการภายในองค์กร วางระเบียบข้อบังคับในการบริหาร ให้ความเห็นชอบแก่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในการเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการ ให้ความเห็นชอบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้ง ยุบเลิก หรือเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาล กำหนดจำนวนผู้พิพากษาในแต่ละศาลให้เหมาะสมตามความจำเป็น
ก.บ.ศ. ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่ง และข้าราชการตุลาการในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ที่ได้รับเลือกจากผู้พิพากษาทั่วประเทศศาลละสี่คน และบุคคลภายนอกที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านงบประมาณ ด้านพัฒนาองค์กร หรือด้านบริหารจัดการที่ประธาน ก.บ.ศ. และ ก.บ.ศ. ประจำศาล เลือกมาไม่น้อยกว่าสองคน แต่ไม่เกินสี่คน ก.บ.ศ. มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี
งบประมาณเบี้ยประชุมปี 207 ล้านบาท ประธานที่ประชุมได้ครั้งละ 10,000 บาท
สำหรับงบประมาณที่จะใช้สำหรับเป็นค่าเบี้ยประชุมในการประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและศาลอุทธณ์คาดว่าจะใช้งบประมาณเดือนละ 17,280,000 บาท และปีละ 207,360,000 บาท หน่วยงานที่ใช้ค่าเบี้ยประชุมมากที่สุดคือศาลอุทธรณ์ คือ 4,652,000 บาท ต่อเดือน และ 55,824,000 ต่อปี สำหรับประธานในที่ประชุมใหญ่ของทุกศาลจะได้เบี้ยประชุมครั้งละ 10,000 บาท ถ้าประชุมทั้งปีจะได้ประมาณ 240,000 บาท
 
การให้เบี้ยประชุมศาลจะช่วยอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน
สำหรับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้อธิบายในบันทึกวิเคราะห์สรุปสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยกล่าวว่าการแก้ไขให้ ก.บ.ศ. มีอำนาจกำหนดเบี้ยประชุมให้แก่ข้าราชการตุลาการซึ่งเข้าร่วมประชุมใหญ่ในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา จะเป็นหลักประกันให้กับประชาชนว่าผู้พิพากษาจะพิจารณาคดีอย่างละเอียด รอบคอบ และเที่ยงธรรม เพื่ออำนวยความยุติธรรม