สี่ปี คสช. อนุมัติขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ใช้งบประมาณมากขึ้น แต่ประสิทธิภาพไม่เปลี่ยนแปลง

การบริหารงานในยุคสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือว่าการขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการเป็นเรื่องสำคัญ อันจะเห็นได้จากการแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของคณะรัฐมนตรีที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ที่ระบุถึงการจัดระบบอัตราและปรับปรุงค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐให้เหมาะสมและเป็นธรรม ยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี การบริหารจัดการภาครัฐแบบใหม่ ดังนั้น ในช่วงที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศจึงมีกฎหมายขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการไปแล้วอย่างน้อย 12 ฉบับ
อย่างไรก็ดี การขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบได้นำไปสู่คำถามถึงความเหมาะสม เนื่องจากเงินเดือนข้าราชการถูกปรับสูงขึ้นในขณะที่ข้อเรียกร้องเรื่องค่าแรงขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานกลับไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล อีกทั้ง การขึ้นเงินเดือนดังกล่าวยังมีข้อกังวลถึงผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากระบบราชการเป็นกลไกหลักที่ คสช. ใช้ในการสนองตอบนโยบายมาตลอดสี่ปี นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ในขณะที่งบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐสูงขึ้นจากปี 2557 ถึงสี่แสนล้านบาท ผลการจัดอันดับประสิทธิภาพของรัฐบาลและความโปร่งใสกลับไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด
ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพนักงานราชการ อย่างน้อย 4 ครั้ง
ครั้งที่ 1 รัฐบาล คสช. มีมติแก้ไขประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่อง ค่าตอบแทนพนักงานราชการ ปรับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 2,000 บาท ให้พนักงานราชการ วุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ซึ่งได้รับเงินเดือนไม่ถึง 13,285 บาท เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557
ครั้งที่ 2 รัฐบาล คสช. มีมติเห็นชอบให้เลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษนอกเหนือโควตาปกติของข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน ลูกจ้างส่วนราชการพนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานของรัฐอื่น ที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยคณะรัฐมนตรีหรือช่วยปฏิบัติราชการในงานของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558
ครั้งที่ 3 รัฐบาล คสช. มีมติเพื่อขึ้นเงินเดือนให้กับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ขั้นละ 200 บาทต่อปี รวม 25 ขั้น รวมถึงการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ คสช. อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนและค่าตอบแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต. และเทศบาล ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559
ครั้งที่ 4 รัฐบาล คสช. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาให้แก่ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการทหาร ผู้ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำของอัตราเงินเดือน โดยการปรับเพดานอัตราเงินเดือนของข้าราชการตำรวจ และข้าราชการทหาร ให้เท่ากับเพดานอัตราเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญที่ได้ปรับสูงขึ้น เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 
สนช. ผ่านกฎหมายขึ้นเงินเดือนข้าราชการไปแล้ว 10 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณา 2 ฉบับ
ครั้งที่ 1 สนช. ออกกฎหมายเพื่อขึ้นเงินเดือนข้าราชการ คือ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ สนช. เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร เพื่อเพิ่มเงินเดือนของตุลาการพระธรรมนูญกับอัยการศาลทหาร ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง เทียบเท่าค่าตอบแทนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษาหรือตุลาการศาลอื่น และพนักงานอัยการ  โดยเงินเดือนรวมเงินประจำตำแหน่งสำหรับผู้พิพากษาเริ่มต้นที่ประมาณ 36,000 บาท ส่วนตำแหน่งพนักงานอัยการเริ่มต้นที่ประมาณ 33,000 บาท ซึ่งอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนปีที่รับราชการและอาจสูงสุดได้ถึงประมาณ 140,000 บาท
จากนั้นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 สนช. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายปรับปรุงเงินเดือนของข้าราชการประเภทต่างๆ จำนวนห้าฉบับ ได้แก่  ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา โดยมีสาระสำคัญคือปรับเพดานเงินเดือนในตำแหน่งแต่ละขั้นขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 และปรับเงินเดือนข้าราชการจากปัจจุบันขึ้นร้อยละสี่ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557
ถัดมาครั้งที่ 3 วันที่ 4 มีนาคม 2559 สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนสถาบันอุดมศึกษา และประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อ 21 มีนาคม 2559 การแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายครั้งนี้จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงินเดือนแค่การแก้ไขถ้อยคำ เพื่อให้ระบบการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาสอดคล้องกับระบบการเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนเท่านั้น
ต่อมาครั้งที่ 4 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 สนช. ได้แก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร อีกครั้ง โดยใช้เวลาพิจารณาเพียง 15 นาที เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการประเภทวิชาการในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหมและประเภทวิทยฐานะ ในประเภทวิชาการ เช่น ให้ศาสตราจารย์ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 13,000 – 15,600 บาท ส่วนประเภทวิทยฐานะ เช่น ให้ครูเชี่ยวชาญพิเศษ 13,000 และ 15,600 บาท เป็นต้น  
จนกระทั่งครั้งที่ 5 วันที่ 12 กรกฎาคม 2561 สนช. พิจารณาผ่านวาระแรกหรือรับหลักการร่างกฎหมายห้าฉบับ ได้แก่  ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ เพื่อปรับปรุงเงินเดือนให้กับข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยจ่ายเงินเดือนย้อนหลังให้แก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระถึง 1 ธันวาคม 2557 และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถึง 1 ตุลาคม 2548 
อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายบางฉบับได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจาก สนช. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ
ภาระเงินค่าตอบแทนข้าราชการ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24 เป็นร้อยละ 35 ของงบประมาณทั้งหมด
ปีงบประมาณ 2557 ประเทศไทยตั้งงบประมาณเป็นค่าตอบแทนงบบุคลากร เช่น เงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราวและค่าตอบแทนพนักงานของรัฐไว้ที่ 605,868 ล้านบาท หลังการรัฐประหารงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็น 617,089 ล้านบาทในปี 2558 ถัดมาปี 2559 งบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นอีกเป็น 637,536 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในช่วงปีงบประมาณ 2557 ถึงปีงบประมาณ 2559 แม้จำนวนเงินงบประมาณจะสูงขึ้น แต่สัดส่วนงบประมาณบุคลาภาครัฐต่อวงเงินงบประมาณยังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 24 จนกระทั่ง ปีงบประมาณ 2560 ที่วงเงินงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็น 776,377 ล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วนต่อวงเงินงบประมาณถึงร้อยละ 28 ซึ่งสูงขึ้นจากเมื่อสามปีก่อนร้อยละ 4
และการเปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณครั้งใหญ่เกิดขึ้น ในปี 2561 ที่วงเงินงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็น 1,021,488 ล้านบาท หรือ 1 ล้านล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วนต่อวงเงินงบประมาณถึงร้อยละ 35.2 และในปี 2562 วงเงินงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็น 1,060,869 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อวงเงินงบประมาณถึงร้อยละ 35.4
จะเห็นได้ว่า เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณในปีแรกของ คสช. กับปีล่าสุด ประเทศไทยมีค่าใช้ด้านบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นกว่า 454,001 ล้านบาท และสัดส่วนงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐก็เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึงร้อยละ 11.4  หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด จากเดิมที่งบบุคคลากรเป็นแค่ 1 ใน 4 ของงบประมาณ
แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือ ในขณะที่วงเงินงบประมาณเพิ่มสูงขึ้นแต่ประสิทธิภาพของระบบราชการกลับไม่ได้สูงขึ้นตาม อันจะเห็นได้จากข้อมูลของธนาคารโลก ที่เก็บข้อมูลเพื่อดูประสิทธิภาพของรัฐบาลจากสมรรถนะและความสามารถของระบบราชการ และคุณภาพในการให้บริการประชาชน ตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2560 คะแนนประเมินของไทยไม่เปลี่ยนแปลงมาก จากการจัดอันดับประสิทธิภาพของรัฐตามเปอร์เซ็นไทล์ของไทย (เต็ม 100 คือ อันดับที่ 1) พบว่า ปี 2560 ประไทยอยู่ที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 66.83 สูงขึ้นจากปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 65.38 หรือเพิ่มขึ้นเพียง 1.45 เท่านั้นเอง นอกจากนี้ ในด้านของการคอร์รัปชัน ซึ่งดูจากดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลกที่จัดทำโดย Transparency International ก็พบว่า ผลการจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยยังไม่ดีขึ้นเลยจากปี 2557
ข้าราชการมั่งคั่ง แรงงานไทยกล้ำกลืน ความเหลื่อมล้ำของการขึ้นเงินเดือน
ในขณะที่กลุ่มข้าราชการได้ปรับค่าตอบแทนเพื่อให้เหมาะสมกับการยังชีพ แต่เมื่อมองมายังกลุ่มผู้ใช้แรงงานกลับได้รับการปฏิบัติที่ต่างออกไป แม้ว่าในยุคของคสช. จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถึง 2 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 1 มกราคม 2560 ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 8) โดยกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 – 310 บาท โดยจังหวัดที่รับได้ค่าจ้างขั้นต่ำที่สุด 300 บาท มีแปดจังหวัด คือ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ระนอง และสิงห์บุรี ขณะที่จังหวัดที่ได้รับค่าจ้างสูงที่สุด 310 บาท มีเจ็ดจังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
หลังจากนั้นอีก 1 ปี คสช. ได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งหลังบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 9) ในวันที่ 1 เมษายน 2561 โดยกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 308 – 330 บาท โดยจังหวัดที่ได้รับค่าจ้างต่ำสุด 308 บาท มีสามจังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ขณะที่จังหวัดที่ได้รับค่าจ้างสูงสุด 330 บาท มีสามจังหวัด คือ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง
แต่ทว่า การปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอตามข้อเรียกร้องของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) ที่เคยเสนอรัฐบาลให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็นอย่างน้อย 360 – 370 บาท เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีกสองคน ซึ่งเป็นไปตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และปรับขึ้นเป็นอัตราเท่ากันทั้งประเทศ รวมทั้งกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและปรับค่าจ้างทุกปี พร้อมควบคุมไม่ให้เพิ่มราคาสินค้า
โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เคยกล่าวว่า การขึ้นค่าแรงจะต้องไม่สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เพราะกำลังจะมีการชักจูงนายทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ถ้ามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็อาจไม่เกิดการลงทุน ดังนั้น จึงขอเวลาให้ทุกอย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อน แต่เราไม่มีงบประมาณจำนวนมากที่จะทำทุกอย่างในเวลาเดียว ซึ่งหากทุกคนไม่ปรับตัวเลย รัฐบาลก็อุ้มไม่ไหว และจะเจ๊งกันไป
“กฎหมายขึ้นเงินเดือน” รางวัลของคนทำงานหนักให้ คสช.
หลังรัฐประหาร คสช. จำเป็นจะต้องพึ่งพาระบบราชการเป็นอย่างมาก อันจะเห็นได้จากการใช้ 'อำนาจพิเศษ' อย่างประกาศ-คำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. อย่างน้อย 94 ฉบับ เพื่อแต่งตั้ง สั่งการ ให้หน่วยงานราชการต่างๆ ขับเคลื่อนนโยบายของคสช. 
ตัวอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่าง คสช. และระบบราชการ เช่น การตั้งศูนย์ดำรงธรรมในแต่ละจังหวัดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 96/2557 ที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการสั่งการ บังคับบัญชา กํากับ ดูแล บรรดาข้าราชการและพนักงานของรัฐในพื้นที่ และทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ให้บริการข้อมูลข่าวสารของ คสช. เป็นต้น 
หรืออย่าง คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สํานักงานตำรวจแห่งชาติ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการ จับกุม และปราบปรามผู้บุกรุกผืนป่า รวมถึงการออกคำสั่งคสช. ที่ 66/2557 กำหนดให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของทหาร ได้ร่วมภารกิจในการ “ทวงคืนผืนป่า” และมีอำนาจเสร็จสรรพในการจับกุม ปราบปราม ขบวนการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงจัดระเบียบพื้นที่ป่าใหม่ 
นอกจากการขับเคลื่อนนโยบายแล้ว คสช. ยังมอบหมาย ‘ภารกิจพิเศษ’ ให้ระบบราชการดำเนินการ เช่น ในช่วงที่มีการรณรงค์ประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 เราจะเห็นโครงสร้างการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนที่เรียกว่า ‘ครู ก-ข-ค’ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สามารถขอความร่วมมือเพื่อให้ระบบราชการเป็นตัวแทนในการช่วยประชาสัมพันธ์เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งศูนย์สนับสนุนการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ในระดับจังหวัดและอำเภอเพื่อทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.
ดังนั้น การขึ้นเงินเดือนให้กับระบบราชการอย่างฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทหาร และตำรวจ จึงเปรียบเสมือนรางวัลต่างตอบแทนที่ คสช. จำเป็นจะต้องพึ่งพาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ คสช. ได้วางเอาไว้
ผลประโยชน์ทับซ้อนของการขึ้นเงินเดือนศาลและองค์กรอิสระ
การขึ้นเงินเดือนศาลและองค์กรอิสระ หากมองแต่เพียงผิวเผินจะพบว่า เป็นการปรับขึ้นเงินเดือนตามปกติเช่นเดียวกับระบบราชการส่วนอื่นๆ ที่ได้ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้ แต่ทว่า หากสำรวจดูบทบาทของศาลและองค์กรอิสระจะพบว่า สถาบันตรวจสอบอำนาจรัฐเหล่านี้กำลังทำหน้าที่เป็นกลไกที่สำคัญที่คสช. ใช้เพื่อรับรองอำนาจของตัวเอง
ตัวอย่างบทบาทของศาลในการรับรองอำนาจของ คสช. เช่น กรณีศาลปกครองสูงสุดสั่งไม่รับคำฟ้องของภาคประชาชนที่ยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นผังเมืองสำหรับกิจการพลังงานและการจัดการขยะ ซึ่งเป็นการทำลายหลักการคุ้มครองประชาชนในการควบคุมพื้นที่ในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมโดยไม่กระทบต่อชุมชน แต่ทว่า ศาลกลับชี้ว่า คำสั่งดังกล่าวออกโดยอำนาจรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ถือว่า ชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด ศาลปกครองไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ
ด้านศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระก็มีบทบาทสำคัญต่อรัฐบาล คสช. เพราะองค์กรอิสระเองก็ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบกรณีทุจริตของบุคคลในรัฐบาล คสช. เช่น กรณีนาฬิกาข้อมือและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ไม่ได้ถูกระบุไว้ในเอกสารชี้แจงทรัพย์สิน หรือ กรณีภรรยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ที่ถือหุ้นมากกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น 
สุดท้ายแล้วการที่ คสช. และ สนช. มีความพยายามในการผลักดันกฎหมายเพื่อให้สิทธิประโยชน์กับศาลและองค์กรอิสระ จึงหลีกเลี่ยงข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้ยากนัก