โพล มช. สะท้อนภาพ ‘การรัฐประหารคือความล้มเหลว’ นักศึกษาขอเลือก ‘ทักษิณ’ หรือ ‘ธนาธร’ เป็นนายกฯ

 

 

26 กันยายน 2561 สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดรายงานผลสำรวจนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานเสวนาเรื่อง "ทัศนคตินักศึกษา มชต่อรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งจากแบบสอบถาม 5,000 ชุด พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่เห็นว่าการทำงานที่ผ่านมาของ คสชใน 4 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 41 รองลงมาคือทำงานแย่ ร้อยละ 32 และเห็นว่า คสชทำงานดีเยี่ยมเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

 

สำหรับคำถามเรื่องวันเลือกการเลือกตั้ง พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่อยากให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2562 ร้อยละ 46 ถัดมาเป็นอยากให้มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ร้อยละ 37 และมีการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ร้อยละ 12 และไม่อยากให้มีการเลือกตั้งเพียงร้อยละ 5 ส่วนปัจจัยสำคัญที่สุดในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ร้อยละ 88 ตอบว่าตัดสินใจลงคะแนนจากนโยบายและผลงานของพรรคที่สังกัด

 

คำถามที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ หากมีการเลือกตั้งจะลงคะแนนเสียงให้พรรคใด? พบว่า นักศึกษาร้อยละ 27 เลือกพรรคอนาคตใหม่ รองลงมาร้อยละ 26 เลือกพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 15 เลือกพรรคประชาธิปัตย์ 

 

นอกจากนี้ ร้อยละ 4 เลือกพรรคเรียน ร้อยละ 2 เลือกพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย พรรคสามัญชน พรรคเสรีรวมไทย และ พรรคประชาชนปฏิรูป

 

ส่วนคำถามที่ว่านักศึกษาอยากให้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไป? พบว่า นักศึกษาร้อยละ 24 อยากให้ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 19 คือ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" จากพรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 10 คือ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" จากพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 8 เลือก "เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล" นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

ส่วน "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" และ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” พบว่ามีนักศึกษาอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีร้อยละ 6 ร้อยละ 4 เลือก "ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์" ร้อยละ 3 เลือก "ชวน หลีกภัย" ร้อยละ 2 เลือก "สุเทพ เทือกสุบรรณ" และร้อยละ 19 เลือกอื่นๆ 

 

นอกจากนี้ในคำถามที่ว่า นักศึกษาเข้าใจหรือไม่ว่าการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีระบบการลงคะแนนอย่างไร พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ 48 ไม่ทราบถึงระบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และนักศึกษาร้อยละ 16 ไม่เข้าใจถึงระบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 

 

ส่วนคำถามที่ว่าในการเลือกตั้งนี้จะมีจำนวน ส.ส. จำนวนเท่าไหร่ พบว่า นักศึกษาร้อยละ 63 ไม่ทราบถึงจำนวน .. รองลงมาร้อยละ 20 ไม่เข้าใจถึงจำนวน ส.ส. และมีนักศึกษาที่เข้าใจเพียงร้อยละ 17 ในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาสำคัญของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้านี้ 

 

จากผลโพลดังกล่าว สมชาย กล่าวว่า น่าสนใจที่นักศึกษาซึ่งเป็น "New Voter" ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ อยากให้ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด เนื่องจากทักษิณ ไม่ได้อยู่กับการเมืองมาสิบกว่าปีแล้ว

 

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า กิจกรรมสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ ทำให้นักศึกษาได้เข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จากผลสำรวจนี้ หากมองผลสำรวจนี้ตามบริบททางสังคม สามารถทำความเข้าใจได้ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ "การทบทวนประวัติศาสตร์" แบบสอบถามส่วนแรกที่ถามความคิดเห็นของนักศึกษาเกี่ยวกับคณะรัฐประหาร มันคือการทบทวรประวัติศาสตร์การรัฐประหาร คนรุ่นใหม่จำนวน 5,000 คน มีความรู้สึก โดยมองกลับไปที่คณะรัฐประหาร งานชิ้นนี้ยืนยันว่าที่ผ่านมา เสียของ” และล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง "แก้ไขความขัดแย้งไม่ได้" อำนาจมันกดไว้ จึงสร้างความปรองดองไม่ได้ ดังนั้นมองในมุมกลับคือ "คุณพูดถึงแต่ความปรองดอง แต่ไม่ได้สร้างกระบวนการปรองดอง" หรือเรื่อง "ทุจริตคอรัปชั่น" ก็รู้กันอยู่ว่าปัญหาคอรัปชั่นถูกซุกเอาไว้ใต้พรม 

 

 

"คำถามจากแบบสอบถามที่ว่า การทำงานของ คสช. ที่ผ่านมาอยู่ในระดับใด? คำตอบ คือปานกลางไปจนถึงแย่มากนี่คือการทบทวนประวัติศาสตร์ และการทบทวนประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่ ผมอยากจะให้ทั้งสังคมเห็นว่า มันไม่ได้อีกแล้ว เราจะแก้ไขปัญหาด้วยการรัฐประหารมันยิ่งจะผลักทุกอย่างพังออกไป" 

 

 

สอง "การมองอนาคต" อย่างแรกสิ่งที่สะท้อนได้อย่างเด่นชัดคือ มันมีความตรึงเครียดในความสัมพันธ์เชิงอำนาจอยู่ค่อนข้างมาก ดูจากที่ให้เลือกพรรค จะเห็นว่าพรรคอนาคตใหม่กับพรรคเพื่อไทยนำ ทั้งสองพรรคนี้สิ่งที่ทำให้แตกต่างจากพรรคอื่น ถ้าไปดูข้อที่ถามเรื่องอยากได้ใครเป็นนายกเราจะเห็น "ยิ่งลักษณ์" และ "ประยุทธ์" จะเห็นว่าคะแนนทักษิณธนาธร ก็ยังไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นความตรึงเครียด ของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อนักการเมือง  สรุปคือ "อดีตก็ล้มเหลว อนาคตก็ยังคับข้องใจ" 

 

ความคับข้องใจนำมาสู่อะไร ผมคิดว่าความคับข้องใจนำมาได้อีกหลายด้าน ผมคิดว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มนักศึกษา 5,000 กว่าคน เริ่มเข้ามาเป็นชนชั้นกลางที่ไม่ได้สัมพันธ์กับระบบอุปถัมในหมู่บ้านแบบเดิมแล้ว ดังนั้นสิ่งที่เข้าคิดคือเรื่อง "นโยบายและผลงานของพรรค" ถ้าย้อนกลับไปถามพ่อแม่ของนักศึกษาเขาอาจจะพูดถึงตัวบุคคลมากกว่า นี่คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่า "การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้เกิดชนชั้นกลางที่ต้องการนโยบาย" ถ้าหากรัฐบาลใหม่ไม่เข้าใจตรงนี้ ความตรึงเครียดนี้จะระเบิดได้ 

 

ความตรึงเครียดที่สำคัญอีกประการคือ สิ่งที่นักศึกษามองและทบทวนดูว่าอดีต คสช. ล้มเหลว สิ่งที่นักศึกษามองคือ กำลังหา ทางเลือกใหม่ อนาคตก็คือทางเลือก แล้วทางเลือกนี้อยู่ที่ การเลือกตั้งในปี 2562 อันนี้ก็สะท้อนความตรึงเครียดที่เกิดจากอดีต ดังนั้นโพลนี้สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างมากมาย สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ ผมเชื่อว่าถ้าเอาแบบสอบถามนี้ไปส่งที่มหาวิทยาลัยอื่น ผลก็จะได้ประมาณนี้ หรืออาจจะใกล้เคียงกัน ขาดไปเพียงข้อเดียวว่า "นักศึกษาจะไปลงคะแนนหรือเปล่า ?"

 

"โพลนี้จึงทำให้พรรคการเมืองคิดว่าจะต้องทำอะไร คิดการสื่อสารใหม่ว่า ถ้าหากจะอยู่อย่างมีความสุข ต้องเข้าใจคนรุ่นใหม่แบบนี้" อรรถจักร์กล่าว

 

 

 

 

อย่างไรก็ดี มีคำถามในงานเสวนาว่า หากเกิดกรณีที่แย่ที่สุด ฝ่ายของทหารมาเล่นการเมืองคิดว่าแนวต้านจะไปทางไหนได้บ้าง และคำถามที่ว่าหากพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้ง วงจรอุบาทว์ จะกลับมาอีกไหม ?

 

อรรถจักร์ กล่าวว่า เป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง ถามว่ารัฐประหารจะเกิดขึ้นอีกไหม ตอนปี 2535 ก็คิดว่าจะไม่มีแล้ว แต่สุดท้ายก็มี แต่ถ้ามีรัฐประหารอีก คงจะต้องซับซ้อนมากกว่านี้ เพราะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มีการผสานกลุ่มผลประโยชน์มากกว่า เช่น กลุ่มทหาร กลุ่มนักการเมือง และกลุ่มทุน หากเกิดความสมดุลได้อย่างที่ "พลเอกเปรม ติณสูลานนท์" ทำ เขาก็ยังอยู่ได้ แต่เนื่องจากสังคมข้างล่างเปลี่ยน ไม่ง่ายที่จะใช้อำนาจดิบอย่าง 4 ปีที่ผ่านมา

 

"หลังการเลือกตั้งแล้ว ทำให้ลุงตู่อาจจะต้องเล่นบทประสานผลประโยชน์มากขึ้น ซึ่งการประสานผลประโยชน์ ท้ายสุดแล้วจะแก้ปัญหาเรื่องคอรัปชั่นได้ไหม คำตอบคือ ไม่ได้ แล้วอย่าไปคิดว่ากองทัพบกจะอยู่ข้างหลังลุงตู่ในรัฐบาลต่อไปอย่างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่าไม่แน่ คุณอภิรัชต์เอง ก็คงจะเห็นจังหวะที่เมื่อไหร่จะถอย เมื่อไหร่จะอยู่ ผมคิดว่าเกมการเมืองข้างหน้ามันขึ้นอยู่กับพวกเรามากขึ้น การคุมแบบสี่ปีที่ผ่านมา คงทำไม่ได้ แล้วเราก็จะมีสิทธิที่จะส่งเสียงได้มากขึ้น สร้างพลัง สร้างความรู้ เปลี่ยนสังคมได้มากขึ้น" อรรถจักร์กล่าว 

 

 

 

 

ด้าน สมชาย กล่าวว่า คิดแบบที่แย่ที่สุดคือ 4 ปีที่เราอยู่มา เราได้ผ่านจุดที่แย่ที่สุดมา คือไม่ได้ผ่าน เราน่าจะมาถึงจุดที่แย่ที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นแนวโน้มในอนาคตน่าจะดีขึ้น เพราะว่าการเข้ามาโดยใช้กำลัง แต่เขากำลังผ่านรัฐธรรมนูญ ผ่านการเลือกตั้ง การเข้ามาแบบนี้เขาจะต้องปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มพลังอื่นๆ ดังนั้นการใช้อำนาจแบบดิบๆ แบบเดิม น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก 

 

ผมคิดว่าเราไม่น่าจะตกต่ำไปมากกว่านี้ แต่สำหรับประเทศไทย เราก็ไว้ใจไม่ได้นะ ผมเคยคิดว่ามันไม่น่าจะตกต่ำไปมากกว่านี้ แล้วมันก็ไปได้เรื่อยๆสมชายกล่าว 

 

สมชาย เชื่อว่าการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2562 น่าจะเป็นช่วงเวลาอย่างช้าสุด ไม่น่าจะไปได้ไกลกว่านี้ การทำโพลนี้เป็นของผู้ลงคะแนนหน้าใหม่ มันน่าสนใจเพราะคนเหล่านี้จะยืนอยู่กับการเมืองไทยไปอีกนาน แต่จะย้ำแบบนี้ มีการเลือกตั้งใหม่ ต่อให้พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือเขา (คสช.) ก็ยังจะอยู่กับเราไปอีก อาจจะอีกนาน เพราะฉะนั้นเราอาจจะไม่ได้คิดแค่การเลือกตั้ง เพราะกลไกโครงสร้างทางการเมือง ที่จะทำให้เขาอยู่กับเราอีกนาน ทำอย่างไรจึงจะแก้ได้ เป็นเรื่องที่คงจะต้องคิดต่อไป