ทลายกำแพงความหลากหลายทางเพศ ด้วยความเข้าใจ ผ่านภาพยนตร์ “It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก”

"ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นการบอกว่า คนที่เขาแบนเรา เขาไม่ต้องมารักเราหรอก การอยู่ร่วมกันในสังคมเราไม่ต้องรักกันก็ได้ แต่เราอยู่กันด้วยความเข้าใจ ความเคารพใน 'สิทธิส่วนบุคคล' มันก็น่าจะเป็นที่มาของสังคมที่ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการตั้งใจทำภาพยนตร์เรื่องนี้

 

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์  กล่าว

15 กันยายน 2561 Amnesty International ประเทศไทย จัดฉายภาพยนตร์ “It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารักเรื่องราวความรักโรแมนติคของเพศที่สาม เขียนบทและกำกับการแสดงโดย "ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ผู้เคยผ่านผลงานภาพยนตร์อย่าง "Insects in the backyard แมลงรักในสวนหลังบ้านซึ่งได้รับและได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Dragons and Tigers Competition ทว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไม่ผ่านการอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม ให้ฉายในประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่า มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หลังภาพยนตร์จบวงสนทนาพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์และประเด็นความหลากหลายทางเพศได้เริ่มต้นขึ้น

 

เกี่ยวกับ It Gets Better  ธัญญ์วารินกล่าวว่า "แรงบันดาลใจเกิดจากการที่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่โดนแบน คือ Insect in the backyard ในช่วงที่เราโดนแบนใหม่ๆ เราก็รู้สึกโกรธ เราไม่ได้ทำอะไรผิด ทำไมต้องมาแบนเรา ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่เราคิด เรามองสังคม และสะท้อนออกมาเป็นภาพยนตร์ แล้วสุดท้ายเราเลยมาวิเคราะห์ คนที่ไม่ชอบหนังเรื่อง Insects in the backyard เราจะไปโทษเขาไม่ได้ เพราะว่าเขาทำไปด้วยความไม่เข้าใจความหลากหลายของมนุษย์ เพราะเขาถูกสอนมาอย่างนั้น เขาเป็นผลผลิตของการศึกษาที่ทำให้คนเรารู้สึกว่า เมื่อเราพูดเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา เราพูดถึงความเข้าใจและความหลากหลายทางเพศ เราไม่ได้ถูกทำความเข้าใจมาตั้งแต่เด็ก เราจะไปโกรธไปเกลียดเขาไม่ได้ เราก็เลยทำความเข้าใจเขาไปสะเลยว่า เขาไม่ได้ผิดที่จะแบนเรา แต่เพราะเขามีความรู้มาแบบนี้"

 

"ทีนี้ก็เลยมาคิดว่าจะทำอย่างไรดี ถึงจะทำให้สังคมเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น เพราะในเมื่อเราทำเรื่องแรกไปแล้วโดนแบน งั้นเราทำอีกเรื่องหนึ่งเลยดีกว่า แล้วพอดีที่อเมริกามีโปรเจค “It Gets Better” ที่เป็นการออกมาพูดเพื่อให้กำลังใจให้สังคมดีขึ้น โปรดิวเซอร์เราก็เลยส่งอีเมลล์ไปขอใช้ชื่อภาษาอังกฤษมาตั้งเป็นชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้"

 

ธัญญ์วารินกล่าวว่าความท้าทายสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้คือ “ทำอย่างไรให้แรงเหมือนเดิมแต่ไม่โดนแบน” เพราะถ้าคนที่ดูเรื่อง Insects in the backyard จะรู้ว่ามันมีภาพที่แรง แต่เนื้อหาก็พูดถึงความจริงที่มันตรงไปตรงมา พอภาพยนตร์เรื่องนี้เราต้องการพูดถึงประเด็นที่มันรุนแรงกว่านั้น เซนซิทีฟกว่านั้น เพราะฉะนั้นตอนนั้นก็เลยคิดว่า งั้นต้องเอาความโรแมนติกคอมเมดี้ เข้ามากลบเนื้อหาที่มันค่อนข้างสุ่มเสี่ยง แม้จะดูเป็นภาพยนตร์ในกระแส เป็นภาพยนตร์บันเทิงถ้าดูแบบผิวเผิน ก็แต่ถ้าเราดูเจาะลึกถึงสัญลักษณ์ต่างๆ หรือสิ่งที่เราซ่อนเอาไว้ จะรู้ว่ามันเป็นหนังที่แรงมากเรื่องหนึ่ง แล้วเราก็เลยเข้าหาค่ายใหญ่ให้เขาจัดจำหน่ายให้ มันก็จปลอดภัย แล้วเราก็ให้เขาโปรโมทเป็นหนังรัก หนังตลก เป็นหนังที่ดูไม่มีพิษมีภัย ก็ได้เรท 15 มา แล้วก็ได้รางวัลสุพรรณหงส์ ซึ่งเป็นรางวัลกระแสหลัก ถือว่าประสบความสำเร็จ

 

 

 

 

ด้าน รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในวิทยากรที่มาร่วมพูดคุยในวงสนทนา กล่าวว่า “หนังเรื่องนี้โหด โหดกว่า insects in the backyard มาก แล้วสามารถดูโดยที่ไม่รู้สึกว่ามันโหด แล้วเข้าใจว่าคนดูส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่ามันโหด ก็เลยรอดมาได้ จริงๆ แล้ว message พูดสื่อหลายเรื่อง ถ้าดูแล้วเข้าใจก็จะตกใจ ตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรก ครึ่งเรื่องแรกอึดอัดมาก วันนี้ดูอีกรอบจึงตอบได้ว่าที่อึดอัดเพราะผู้กำกับสร้างกำแพง คือมันมีตัวละครอยู่จำนวนหนึ่ง และตัวละครพวกนี้ถูกสร้างกำแพงที่ตัวเองมองไม่เห็น แต่มันบีบตัวตนบีบความรู้สึก กำแพงพวกนี้มันค่อยๆ สร้างและทำให้เราเห็น ไม่ใช่งงนะคะ เราเห็นตัวละครพวกนี้ไม่มีที่มาที่ไป แต่เราจะเห็นผู้กำกับค่อยๆ เอากำแพงมาล้อมตัวละคร พอมาถึงตอนที่จะเฉลยนั่นสุดๆ เลย"

 

เวลาเราเข้ามาอยู่ในสังคม เราถูกบังคับเยอะ ในหนังเรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เมาบังคับเราแต่เราไม่ค่อยรู้สึก ชลิดาภรณ์สะท้อน 3 มุมมองจากการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า อย่างแรกคือ "ระบบเพศสภาพที่แบ่งมนุษย์ออกเป็น 2 ประเภทเท่านั้น และเป็นสองประเภทที่แยกออกจากกันด้วย คือเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย และอย่างที่ดิฉันพยายามบอกนักศึกษาของดิฉันว่า คุณทั้งหลายไม่ได้เลือกเพศสภาพของตัวเอง เกิดมาปุ๊ปมีคนจัดให้ว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย พอโตขึ้นมาหน่อย บางคนที่ไม่ได้อยากอยู่แบบนั้น อย่างที่เราเห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้  

 

สอง นอกจากเพศสภาพแล้ว เราอยู่กับระบบที่ภาษาวิชาการเรียกว่า "รักต่างเพศแล้วคิดว่าเป็นมาตรฐาน แล้วก็เลยใช้วิธีคิดเรื่องรักต่างเพศเข้ามากำกับอะไรมากมาย อย่างในภาพยนตร์ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ได้ดี คืออธิบายให้เห็นความเป็นผู้หญิงผู้ชาย ความรู้สึกเรื่องรสนิยมทางเพศมันไม่เหมือนกันอย่างไร เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นคนที่เป็นผู้ชายแต่ไม่อยากเป็นจึงเลือกจัดการกับชีวิตตัวเองอย่างหนึ่ง

 

สาม อีกเรื่องหนึ่งที่เข้ามากำกับเรานอกจากเพศสภาพ รักต่างเพศแล้ว คือการให้คุณค่ากับความ "รักแบบโรแมนติกเรามีความคาดหวังเรื่องความสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้เราได้เห็นขบถทางเพศจำนวนมาก แต่แล้วก็หนีไม่พ้นเรื่องของความรักโรแมนติก ความโหดที่สุดคือคู่ของ “น้ำ” กับ “ไฟ” ที่พุ่งชนกำแพงหลายชุด ไม่ใช่แค่เรื่องเพศสภาพ แต่ยังเป็น “อายุ” ด้วย คือมันมีหลายอย่างที่ภาพยนตร์ตั้งคำถาม แล้วมันทำใหเห็นว่าเราถูกอะไรบังคับอยู่ มันก็เลยทำให้รู้สึกอึดอัด

 

ด้านธัญญ์วารินกล่าวว่า เราพยายามพูดถึงเรื่องนี้ตลอดคือความเชื่อเรื่องสองเพศที่เป็นกำแพงที่ใหญ่มาก เป็นกำแพงที่ทำให้เราไม่เข้าใจมนุษย์ แล้วเมื่อเราเป็นเพศที่ไม่ไอยู่ในกรอบสองเพศ เรายังถูกพยายามจัดแบ่งอีกว่าคุณเป็นประเภทไหนอีก ซึ่งมันเยอะมาก ในเรื่องนี้เราก็พยายามจะทลายกรอบเหล่านั้น ว่าจะเป็น “ต้นหลิว” ตัวละครกระเทยที่ดูเหมือทอม ตัวน้ำที่อยากแต่งหญิง แต่มีเมีย มีลูก ต้องดูแลลูก แล้งก็ยังมีเรื่องความเชื่อ ศาสนา เข้ามาด้วยอีก แต่เราจะทำยังไงให้เรื่องยากๆ แบบนี้สามารถใส่เข้าไปอยู่ในภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง เราก็อาศัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นชื่อของตัวละครในเรื่อง หรือว่า ภาพที่นำเสนอให้เห็น “เณร” กับ “พระ” ซึ่งพอเข้าไปนอนในมุ้งเดียวกันแล้วก็ตัดไปอยู่ที่ทะเลกันสองคน แล้วก็มาปลงอาบัติกันในโบสถ์ หรือว่ามีกระเทยมาขอบวชแล้วไม่ได้บวช ฉากที่เณรเดินเข้าไปในป่าแล้วเจอกับดักใยแมงมุม เราก็พยายามใส่เอาไว้ให้เยอะที่สุด ในสิ่งที่เราไม่สามารถพูดออกมาตรงๆ ในภาพยนตร์ได้

 

 

มองศาสนากับดักทางเพศผ่านภาพยนตร์

 

 

ธัญญ์วารินกล่าวว่า "ตอนแรกก็คิดกันอยู่ว่าจะเล่าเรื่องพระกับเณรยังไงไม่ให้โดนแบน เอาวะลองใส่แบบนี้โดยที่ใครรู้ก็รู้ ใครไม่รู้ก็ไม่รู้ ไม่เป็นไรแล้วกัน แน่นอน เณรไม่ได้เข้ากุฏิหลวงพี่ครั้งแรก เข้าไปก็เข้าไปนอนในมุ้ง แล้วก็มีวันหนึ่งที่เณรเข้าไป แล้วหลวงพี่ลืมตาแล้วก็ตัดไปที่ทะเล แล้วก็ดูมีความรัก กอดรัดกันอยู่ในน้ำทะเล แล้วตื่นมาหลวงพี่ก็ไปนั่งในโบสถ์แล้วเณรก็เข้ามาถามว่าหลวงพี่เป็นอะไร เณรขอโทษ ซึ่งเขาขอโทษเรื่องอะไรกัน แล้วพระก็ตอบว่า คนเราที่เข้ามาอยู่ตรงนี้ มันไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง มันทำเพื่อคนอื่นอยู่ ซึ่งตรงนั้นเราว่า มนัเจ็บปวดเหมือนกัน กับการที่เราเป็นตัวขอตัวเองไม่ได้ จึงต้องมาบวชเป็นพระ เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องมาบวชเพื่อความสบายใจของครอบครัวและสังคม ซึ่งเณรติดบ่วงตรงนั้นไปด้วยว่า ทีตอนเอากันหลวงพี่ก็ไม่ได้พูดแบบนี้ แต่พอมาถึงตรงนี้แล้วหลวงพี่ถึงมาอธิบายสิ่งเหล่านี้"

 

 

 

 

"ประกอบกับฉากหนึ่งที่มีกระเทยที่โดนผู้ชายทิ้ง มาร้องไห้หน้าโบสถ์อยากบวชแต่ก็ไม่ได้บวช เนื่องจากแปลงเพศแล้ว ซึ่งธัญญ์วารินกล่าวว่าเป็นอีกฉากที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องกับดักทางศาสนาว่าที่กระเทยคนนี้มีความทุกข์เพราะติดกับดักทางศาสนาที่เชื่อว่าจะต้องบวชเพื่อทดแทนให้พ่อแม่" ธัญญ์วารินกล่าว

 

 

เมื่อสังคมไม่เข้าใจความหลากหลาย อาจกลายเป็นกำแพงปิดกั้น "ความรัก"

 

 

ในภาพยนตร์เราจะเห็นภาพพลังความรักของพ่อ แม่ ลูก ที่มีให้แก่กัน หากแต่ความไม่เข้าใจในตัวตนของกันและกัน ทำให้เกิดกำแพงที่ปิดกั้นให้พวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน 

 

ชลิดาภรณ์กล่าวว่า "เวลาที่เราถูกจัดให้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ถูกจัดให้มีรสนิยมทางเพศ มันมีอีกเรื่องที่แทรกหรือซ้อนทับเข้ามาในเรื่องเหล่านี้ คือบทบาทในเรื่อง “การเจริญพันธ์” ในภาพยนตร์เราได้เห็นเรื่องความเป็นพ่อ ซึ่งทรงพลังมาก คือเป็นขบถในเรื่องเพศได้ แต่ไม่สามารถขบถเรื่องของการเป็นพ่อเป็นแม่ หนังมันก็เลยมีความทรงพลังหลายอย่าง ทำให้เห็นว่ามนุษย์ถูกกำกับอยู่ด้วยอะไรมากมายหลายอย่าง"

 

ธัญญ์วารินกล่าวว่า "แค่ความไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ มันทำให้คนที่รักกันไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ กำแพงที่มองไม่เห็นที่มันอยู่ในบ้าน มันทำให้คนในครอบครัว ไม่เห็นตัวตนซึ่งกันและกัน ตรงนี้แหละที่เราอยากจะบอก ในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีตัวร้าย พ่อที่พาลูกไปบวชไม่ได้โกรธหรือเกลียดลูกเลย เขาพาไปด้วยความรัก แต่บางครั้งความรักนี่แหละเป็นสิ่งที่อันตรายมากที่สุด เพราะเราจะใช้เหตุผลว่ารักไปทำร้ายคนอื่น ความรัก ถ้าเอาไปใช้แบบนี้มันน่ากลัว

 

"ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนว่าเราไม่ต้องรักกันมากมาย แต่ถ้าเราเข้าใจคนในครอบครัวในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเป็น รักเขาในแบบที่ตัวเขาเป็น มันน่าจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าความสงบสุขในสังคม ซึ่งเรารู้ว่ามันยาก เราจึงอยากพูดถึงเรื่องนี้ให้มันเป็นจุดเริ่มต้น ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทำไมกระเทยต้องตาย จริงๆ ไม่ต้องตายก็ได้แต่เราไม่อยากให้รู้สึกว่ามันสายเกินไป ทำไมคุณไม่บอกรักลูกคุณในสิ่งที่ลูกคุณเป็น"

 

 

ทลายกำแพงความหลากหลายในสังคม เพราะคนเราไม่ได้ชอบเส้นก๋วยเตี๋ยวแบบเดียวกัน

 

 

ชลิดาภรณ์กล่าวว่า "คนเราอยู่ร่วมกัน ไม่ว่ายังไงมันต้องมีกติกา เพราะฉะนั้นมันจะมีกำแพงอยู่เสมอ แต่กำแพงนี้จะทำอะไรมากน้อยแค่ไหน เราจะลงโทษประณามคนที่ไม่เป็นอย่างใจเรา การลงโทษการประณามคนที่มีความกลาหลายทางเพศจากคนที่คิดว่าตัวเองปกติ เพราะเขาเชื่อว่ามันมีความปกติ แล้วพอคนอื่นเขาไม่ได้เป็นไปตามกรอบที่เราคาดหมาย เราก็ไปประณามเขา ไปลงโทษเขาด้วยรูปแบบต่างๆ"

 

"ไม่ใช่ทำให้ไม่มีกำแพง คืออย่างไรมันต้องมีกรอบ แต่จะทำอย่างไรให้กรอบนั้นไม่กลายเป็นกำแพงที่แน่นหนา จนกระทั่งไม่มีใครสามารถที่จะหายใจได้อย่างมนุษย์ชลิดาภรณ์กล่าว

 

 

 

ธัญญ์วารินเสริมว่า "กำแพงไม่ได้ใช้ได้เหมือนกันทุกชาติ เราไม่ได้หมายความว่าต้องการอยู่ในสังคมที่ไม่มีกำแพง เราเคารพและอยู่ในกฎระเบียบของสังคม แต่ทีนี้การที่เรามีกำแพงหรือกฎระเบียบของสังคมที่ใช้มานานแล้ว ไม่ได้แปลว่ามันจะใช้ได้ตลอดไป มันต้องมันการปรับการเปลี่ยน ตามองค์ความรู้ที่มันมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน สังคมมนุษย์ มันไม่มีอะไรที่อยู่กับที่ เพราะฉะนั้นกำแพงจะมาสร้างอยู่กับที่ไม่ได้"  

 

ชลิดาภรณ์เสริมว่า "ที่แย่ที่สุดคือ เวลาที่คนอื่นเขาไม่เป็นอย่างใจเรา เวลาคนอื่นเขาปรารถนาในสิ่งที่เราไม่ปรารถนา อย่างในเรื่องเพศ เรื่องแบบนี้เราไม่ชอบ แต่คนอื่นเขาชอบเขาปรารถนา ทำไมเราจะต้องไปเรียกร้องว่าคนอื่นต้องปรารถนาเหมือนเรา อันนั้นมันเป็นเรื่องประหลาด รู้สึกตัวกันบ้างไหม อันนี้ต่างหากเป็นโจทย์ที่น่าจะตองตั้งคำถาม ว่าทำไมต้องเรียกร้องให้คนอื่นชอบกินอะไรเหมือนเรา"

 

"ดิฉันชอบยกตัวอย่างเรื่องก๋วยเตี๋ยว เวลาเราเข้าไปร้านก๋วยเตี๋ยวมีเส้นให้เลือกหลายชนิด คือลองใช้การเปรียบเทียบแบบนี้แล้วอาจจะทำให้ ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ มันไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะรังเกียจหรือไปทำร้ายใคร"

 

ธัญญ์วารินยังกล่าวอีกว่า "อย่างตัวเราเป็นคนที่ชอบเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา บางทีแต่งหญิง บางวันก็ไม่ได้แต่งหญิง หรือบางวันอยากแต่งอะไรก็แต่ง ก็มีนักข่าวมาสัมภาษณ์ว่า ไหนบอกตอนนั้นบอกเลิกเป็นกระเทยแล้ว แล้วกลับมาเป็นกระเทยแล้วเหรอ แม้แต่คนที่เป็นกระเทยเหมือนกันก็ชอบถามว่าตกลงแล้วเราเป็นแบบไหนกันแน่ แล้วทำไมเราต้องบอกด้วยว่าเราชอบแบบไหนกันแน่ แล้วทำไมเราจะต้องชอบแบบเดียวด้วย มนุษย์มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวไปตลอดชีวิต แล้วฉันก็ไม่ได้รู้สึกว่าเดือดร้อนจากการแต่งหญิงหรือไม่แต่งหญิงของตัวเองเลย

 

 

กฎหมาย การรับรองจากรัฐ ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตของเพศที่สาม

 

 

แม้ว่าเราอาจจะสัมผัสได้ว่าสถานการณ์การเรียกร้องสิทธิของ LGBT ในประเทศไทยดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทว่าในทางปฏิบัติ LGBT ยังไม่ได้รับการรับรองโดยรัฐ และนี่คือผลกระทบที่พวกเขาต้องเจอ

 

ชลิดาภรณ์กล่าวว่า "คุณจะรู้ว่าสถานการณ์ LGBT เป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใคร อย่างเช่น ลักษณะทางเพศสภาพ ถ้าคุณเป็นคนข้ามเพศ ที่เริ่มมีลักษณะไม่ตรงกับเพศสภาพที่ถูกกำหนดแต่เดิม อาจจะเจอปัญหานานาประการ ไม่ว่าจะเป็น การทำพาสปอร์ด การทำธุรกรรมทางการเงิน ประกันชีวิต ที่เรียกร้องให้คุณมีลักษณะตรงกับเพศสภาพที่ถูกกำหนด เช่น ถ้าคุณเป็น “นาย” ทำไมลักษณะคุณไม่เป็นนาย” ซึ่งคนที่เขาเจอปัญหาแบบนั้นมันเป็นเรื่องใหญ่ การทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งบางทีมันจะหมายถึงความอยู่รอด มันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ “สำหรับคนหลายกลุ่มมันคือความอยู่รอด

 

"เมื่อก่อนตอนที่ดิฉันอายุน้อยกว่านี้ ดิฉันก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แล้วก็มาตระหนักว่า การแต่งงานที่ “รัฐรับรอง” มันมาพร้อมกับการคุ้มครองและอะไรหลายๆ อย่าง เวลาที่คุณไม่ได้รับผลกระทบคุณยังไม่รู้สึก แต่ว่าเวลาที่หลายๆ คนเจอปัญหา เช่น การสืบทอดทรัพย์สิน การดูแลทรัพย์สินร่วมกัน หรือเวลาที่เจ็บป่วยใครจะเป็นคนตัดสินใจ ว่าจะทำอย่างไร เพราะต้องเป็นคู่สมรสทางกฎหมาย ชลิดาภรณ์กล่าว"

 

สำหรับธัญญ์วารินกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า "เมื่อไหร่ที่เราคิดถึงอนาคตและการแต่งงาน นั่นคือต้องตอบคำถามพ่อแม่ก่อนว่าเราเป็นผู้ชายทำไมไม่แต่งงานกับผู้หญิง พ่อแม่เข้าใจจบไป แต่ถ้าเราเริ่มโตขึ้นอย่างเช่น ที่มีการรับสมัครอาจารย์ แล้วบอกว่า “ไม่รับสมัครคนที่มีความหลากหลายทางเพศ” สมมติว่าเราอยากเป็นครูที่นั่นมาก เราจะทำอย่างไร ซึ่งตรงนี้มันเป็นปัญหาหลักของ LGBT ไทยเลย ซึ่งมันมีกระบวนการทางกฎหมายที่อยากจะผลักดัน แต่เขาก็จะมีการถามว่าไหนละคนเดือดร้อน ไม่มีใครออกมา เพราะก็จะมีคนที่บอกว่ากูไม่ได้เดือดร้อน แต่ถ้าวันหนึ่งเราอยากเป็นนายกรัฐมนตรี อยากได้อะไรหลายๆ อย่างที่คนธรรมดาอยากได้ มันก็ยังไม่ได้ธัญญ์วารินกล่าว