กฎหมาย ป.ป.ช. ยุคใหม่ #4 เครื่องมือใหม่ และอาวุธใหม่เตรียมจัดการนักการเมือง

 

21 กรกฎาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ที่จะเป็นกฎหมายหลักเกี่ยวกับการปราบการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทย กฎหมายนี้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้ยกร่าง ก่อนผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถือเป็นหนึ่งในกฎหมายลูกสิบฉบับที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญ 2560
กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับเดิมปี 2542 เคยถูกแก้ไขเมื่อปี 2550 ต่อมาแก้ไขครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 แก้ไขอีกสองครั้งในยุคของ สนช. ชุดนี้ และแก้ไขโดยประกาศคณะรัฐประหารมาแล้วถึงสามฉบับ การแก้ไขแต่ละครั้งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของแต่ละยุคสมัยที่จะเพิ่มเครื่องมือเพื่อปราบคอร์รัปชั่นให้สำเร็จ แต่กฎหมายเดิมก็ยังทำงานได้ไม่เป็นที่ถูกใจ ด้วยเหตุนี้ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับปี 2561 นี้จึงยกเลิกระบบเก่าทั้งหมดเลย และวางโครงสร้างองค์กร ป.ป.ช. พร้อมอำนาจหน้าที่ขึ้นชนิดที่เรียกได้ว่า “ยกเครื่องใหม่ทั้งหมด”
กฎหมายเดิมมี 133 มาตรา กฎหมายใหม่มี 200 มาตรา การแบ่งหมวดและการเรียงลำดับแตกต่างกันมาก หากพิจารณาทั้งฉบับแล้วจะพบว่า ผู้ร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับนี้ ได้วาดภาพฝันองค์กรนี้ขึ้นใหม่ โดยการ:
– สร้างกลไกใหม่ๆ เพิ่มเติมพร้อมอาวุธใหม่สำหรับจัดการนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ
เพิ่มอำนาจตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ
พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ กำหนดหมวดเฉพาะขึ้นมาใหม่ เป็นหมวดที่ 8 เรื่องความร่วมมือกับต่างประเทศ นอกจาก มาตรา 138 จะกำหนดหน้าที่ของ ป.ป.ช. ให้เป็นหน่วยงานกลางเพื่อให้ความร่วมมือกับต่างประเทศตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเขียนไว้เหมือนกับกฎหมายเดิมแล้ว ยังเพิ่มมาตราที่อำนาจให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามคำร้องขอให้ความช่วยเหลือต่างประเทศด้วย
มาตรา 139 กำหนดว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ (UN) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กระทำความผิดเข้าข่ายการทุจริต คณะกรรมการป.ป.ช. อาจพิจารณาส่งเรื่องให้หน่วยงานต่างประเทศรับไปดำเนินคดีก็ได้ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินคดีเองก็ได้ ซึ่งยังต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายที่เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศอีกชั้นหนึ่ง
ขณะที่มาตรา 140 กำหนดว่า เมื่อมีการร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศในความผิดที่เกี่ยวกับการทุจริต ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยได้ กฎหมายนี้กำหนดเขตอำนาจศาลให้ชัดเจนว่า กรณีผู้กระความผิดเป็นคนไทยหรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไทย หรือกระทำต่อคนไทยหรือเจ้าหน้าที่รัฐไทย แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักรก็ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยตามกฎหมายนี้ ให้บุคคลนั้นต้องรับโทษในราชอาณาจักรได้
เพิ่มกองทุน ป.ป.ช. ให้เอ็นจีโอใช้ทำงานได้
พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ กำหนดหมวดเฉพาะขึ้นมาใหม่ เป็นหมวดที่ 8 เรื่องการจัดตั้งกองทุน ป.ป.ช. มาตรา 163 กำหนดให้ที่มาของเงินกองทุนมาจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ โดยกองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบรัฐ รณรงค์ต่อต้านการทุจริต คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสและจ่ายค่าทดแทนความเสียหายสำหรับผู้ชี้เบาะแส รวมทั้งคุ้มครองการทำงานของ ป.ป.ช.
มาตรา 165 กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการกองทุนขึ้นมาเพื่อดูแลรับผิดชอบการจ่ายเงิน โดยต้องมีผู้แทนหน่วยงานอื่นหนึ่งคน และมีผู้แทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหนึ่งคน
โดยมาตรา 166 กำหนดให้กองทุน ป.ป.ช. ส่งรายงานการเงินให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบการใช้จ่ายและแสดงความเห็น เสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเผยแพร่ต่อประชาชน
ตัดกลไกถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยวุฒิสภา
ตามระบบกฎหมายเดิม วุฒิสภาเป็นองค์กรที่มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง เช่น ศาล อัยการ กรรมการองค์กรอิสระ ฯลฯ ที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่
โดยกระบวนการถอดถอนเริ่มจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20,000 คนเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา ประธานวุฒิสภาจึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติเสียงข้างมากว่า ข้อกล่าวหามีมูล ก็จะส่งกลับไปให้วุฒิสภาลงมติด้วยเสียงสามในห้าของสมาชิกเท่าที่มีอยู่เพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งได้
แต่ตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ กลไกการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นนี้ไม่มีอยู่แล้ว การดำเนินการจึงเหลือเพียงช่องทางตามมาตรา 76 คือ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ผู้ใดกระทำความผิด ผู้นั้นก็ต้องรับโทษตามคำพิพากษา ก็อาจต้องพ้นจากตำแหน่งเดิมเนื่องจากขาดคุณสมบัติ ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่กำหนดที่มาและคุณสมบัติของแต่ละตำแหน่ง
ตัด ป.ป.ช. จังหวัด ตัดระบบคุมการจัดซื้อจัดจ้าง
นอกจากกลไกการถอดถอนโดยวุฒิสภาที่หายไปแล้ว ระบบกรรมการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดที่มีอยู่ตามกฎหมายเดิมก็ถูกยกเลิกไปโดยกฎหมายใหม่ด้วย เหลือเพียงสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ตามมาตรา 161 ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้น แต่ไม่รวมอำนาจการไต่สวนหรือวินิจฉัย และมีสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค คอยกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดอีกชั้นหนึ่ง ส่วนกรรมการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดที่ก่อนหน้านี้เคยมีอยู่และทำงานมาก่อน มาตรา 187 ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้พ้นจากตำแหน่งทันทีตั้งแต่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ
ส่วนระบบควบคุมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่กฎหมายเดิมกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลาง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ ซึ่งเคยเป็นที่มาของการตรวจสอบข้อมูลโครงการใหญ่ๆ เช่น โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ไม่ได้กล่าวถึงระบบการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐไว้ เนื่องจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ออกมาก่อนแล้ว จึงไม่ต้องใส่ไว้ใน พ.ร.ป.ป.ป.ช. อีก 
เพิ่มสามบทบาทใหม่ มุ่งคุมนักการเมือง
ขณะที่ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ วางโครงสร้างใหม่หวังให้องค์กร ป.ป.ช. ได้คนที่คุณสมบัติสูงเข้ามาทำงาน ให้รับผิดชอบเฉพาะคดีสำคัญเพื่อให้งานน้อยลง เพิ่มอำนาจการแสวงหาข้อเท็จจริงให้สูงขึ้นอีก และสร้างระบบการตรวจสอบ ป.ป.ช. อย่างเข้มข้น องค์กร ป.ป.ช. ก็ยังได้รับมอบหมายอำนาจใหม่ที่สำคัญสามประการมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ให้มีบทบาทตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ได้แก่
        1) มาตรฐานทางจริยธรรม 
มาตรฐานทางจริยธรรมเป็นกลไกใหม่ที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 219 ให้ศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระ ร่วมกันเขียนมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นบังคับใช้ โดยระหว่างการจัดทำต้องรับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เนื่องจากระหว่างที่จัดทำกันจริงๆ ยังไม่มี ส.ส. และ ส.ว. จึงฟังความเห็นจาก สนช. ไปเพียงฝ่ายเดียว
รัฐธรรมนูญยังอธิบายกลไกการทำงานของมาตรฐานทางจริยธรรมชุดนี้ว่า หากผู้ใดฝ่าฝืนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและมีความเห็น และเสนอต่อศาลฎีกา เมื่อศาลฎีการับฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และหากผู้ถูกกล่าวหาถูกคำพิพากษาว่า มีความผิดจริง ต้องพ้นจากตำแหน่ง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปีได้อีกด้วย
พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ จึงกำหนดอำนาจหน้าที่ใหม่ขึ้นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยในมาตรา 87 กำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย (ไม่ใช่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง)
เมื่อศาลฎีการับฟ้องแล้ว ก็ให้นำมาตรา 81 มาใช้ คือ ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากมีคำพิพากษาว่ามีความผิด ให้ผู้ต้องคำพิพากษาพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้ ส่งผลให้ผู้ที่ถูกคำพิพากษาไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่น และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ได้
มาตรา 86 ยังกำหนดว่า หากศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ก็ให้ผู้ถูกกล่าวหากลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ และได้รับเงินเดือนเสมือนหนึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลาที่ต้องหยุดพักไป
มาตรฐานทางจริยธรรมถูกจัดทำขึ้นและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2561 มีความยาวเพียงห้าหน้า ใช้ถ้อยคำที่กว้างขวางเพื่อวาดภาพฝันของ “คนดี” ที่จะมาเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งยังเปิดช่องให้ตีความได้หลากหลายและยังไม่มีตัวอย่างการบังคับใช้ให้เห็นมาก่อน 
อำนาจของ ป.ป.ช. ในการไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่ เมื่อบวกกับอำนาจของศาลฎีกา ก็อาจส่งผลต่อความเป็นไปทางการเมืองได้มาก หากการวินิจฉัยมีผลให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือต้องเสียสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง ในช่วงเวลาที่ใกล้เข้าสู่การเลือกตั้ง หรือภายหลังการเลือกตั้งใหม่ๆ การใช้อำนาจข้อนี้ของ ป.ป.ช. ก็สามารถกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการนับจำนวนที่นั่งในของผู้แทนสภา และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลได้อย่างง่ายดาย
        2) ห้ามออกกฎหมายที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
รัฐธรรมนูญ มาตรา 144 กำหนดหลักการใหม่เพื่อควบคุมการใช้อำนาจนิติบัญญัติของสมาชิกรัฐสภาขึ้นเป็นครั้งแรก โดยกำหนดว่า ในการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ ห้ามไม่ให้ ส.ส. ส.ว. หรือคณะกรรมาธิการเสนอ แปรญัตติ หรือการกระทําด้วยประการใดๆ ให้ตัวเองมีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่าย
หากมีการฝ่าฝืนข้อนี้ ให้สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบเข้าชื่อกันเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีการกระทำความผิดให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งและให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กรณีที่คณะรัฐมนตรีรู้เห็นแต่ไม่ได้ยับยั้งก็ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย และให้ผู้กระทําการดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย
สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง หากได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือ หรือแจ้งให้ ป.ป.ช. ทราบก็ให้พ้นจากความรับผิด และให้ ป.ป.ช. สอบสวนเป็นทางลับโดยเร็ว หากเห็นว่า กรณีมีมูลให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
สำหรับ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ก็กำหนดเรื่องนี้ไว้ในส่วนที่ 3 หมวดที่ 3 ชื่อว่า การดำเนินการกรณีฝ่าฝืนมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีมาตรา 88 กำหนดหลักการไว้เช่นเดียวกับในรัฐธรรมนูญว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบเรื่อง ให้สอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน และจะเปิดเผยข้อมูลของผู้แจ้งไม่ได้
สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่รู้เห็นการฝ่าฝืนมาตรา 144 จะพ้นความรับผิดต่อเมื่อได้แจ้งต่อ ป.ป.ช. ก่อนที่ ป.ป.ช. จะดำเนินการสอบสวนเท่านั้น หากแจ้งภายหลังที่การสอบสวนเริ่มไปแล้วก็จะไม่ได้รับประโยชน์
อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในข้อนี้จึงเป็นบทบาทที่มีผลโดยตรงต่อความเป็นไปทางการเมือง โดยเฉพาะการถอดถอน หรือเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลทีเดียวทั้งชุด และไม่ให้ผู้นำทางการเมืองชุดเก่าสามารถกลับมาสู่อำนาจเดิมได้อีกเลยตลอดชีวิต
        3) ยุทธศาสตร์ คสช. 20 ปี
รัฐธรรมนูญมาตรา 65 สั่งให้จัดทำ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ขึ้น ขณะที่มาตรา 275 ก็สั่งให้รัฐบาลของ คสช. เป็นผู้มีอำนาจเขียนแผนการที่กินระยะเวลา 20 ปีฉบับนี้ขึ้น พร้อมกับมาตรา 142 และ 162 ที่สั่งให้คณะรัฐมนตรีทุกชุดต้องบริหารประเทศไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่ คสช. จัดทำขึ้นนี้
พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ไม่ได้เขียนอำนาจของ ป.ป.ช. ในฐานะผู้บังคับใช้แผนยุทธศาสตร์ คสช. เอาไว้โดยตรง แต่กลับไปเขียไว้ใน พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560
ซึ่งมีมาตรา 26 เขียนว่า ในกรณีที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเห็นว่า หน่วยงานของรัฐดำเนินการใดไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ คสช. หรือแผนแม่บท ให้แจ้งให้หน่วยงานรัฐนั้นแก้ไขปรับปรุง หากยังไม่มีการแก้ไขปรับปรุงให้แจ้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป หากหน่วยงานของรัฐไม่ยอมแก้ไขปรับปรุงโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย และให้แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการต่อไป
และมาตรา 25 เขียนว่า กรณีที่สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาพิจารณารายงานผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ คสช. แล้วเห็นว่า หน่วยงานของรัฐไม่ยอมแก้ไขปรับปรุงโดยไม่มีเหตุอันสมควรก็ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่า ข้อกล่าวหามีมูล ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งพักราชการ หรือให้ออกจากราชการ หรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีไม่ทำตามตามแผนยุทธศาสตร์ คสช. หรือแผนแม่บท มาตรา 29 กำหนดให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและวุฒิสภา (ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.) ทราบ และให้วุฒิสภาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดําเนินการต่อภายใน 60 วัน
กรณีนี้ก็จะมีผลตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ มาตรา 81 คือ เมื่อป.ป.ช. ชี้มูลความผิดและส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง และศาลประทับรับฟ้อง ผู้ถูกฟ้องต้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากศาลตัดสินว่า คณะรัฐมนตรีมีความผิด ให้คณะรัฐมนตรีชุดนั้นพ้นจากตำแหน่ง และถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้ง หรือสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี โดยผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะไม่มีโอกาสกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป นอกจากนี้ ครม. ยังอาจถูกฟ้องตามมาตรา 172 ฐานทุจริตต่อหน้าที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ได้อีกด้วย
อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในข้อนี้จึงเป็นบทบาทที่มีผลโดยตรงต่อความเป็นไปทางการเมือง โดยเฉพาะการถอดถอน หรือเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลทีเดียวทั้งชุด และไม่ให้ผู้นำทางการเมืองชุดเก่าสามารถกลับมาสู่อำนาจเดิมได้อีกเลยตลอดชีวิต