กฎหมาย ป.ป.ช. ยุคใหม่ #3 เน้นสร้างระบบ “ป้องกัน” คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสการทุจริต

 

21 กรกฎาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ที่จะเป็นกฎหมายหลักเกี่ยวกับการปราบการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทย กฎหมายนี้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้ยกร่าง ก่อนผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถือเป็นหนึ่งในกฎหมายลูกสิบฉบับที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญ 2560
กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับเดิมปี 2542 เคยถูกแก้ไขเมื่อปี 2550 ต่อมาแก้ไขครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 แก้ไขอีกสองครั้งในยุคของ สนช. ชุดนี้ และแก้ไขโดยประกาศคณะรัฐประหารมาแล้วถึงสามฉบับ การแก้ไขแต่ละครั้งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของแต่ละยุคสมัยที่จะเพิ่มเครื่องมือเพื่อปราบคอร์รัปชั่นให้สำเร็จ แต่กฎหมายเดิมก็ยังทำงานได้ไม่เป็นที่ถูกใจ ด้วยเหตุนี้ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับปี 2561 นี้จึงยกเลิกระบบเก่าทั้งหมดเลย และวางโครงสร้างองค์กร ป.ป.ช. พร้อมอำนาจหน้าที่ขึ้นชนิดที่เรียกได้ว่า “ยกเครื่องใหม่ทั้งหมด”
กฎหมายเดิมมี 133 มาตรา กฎหมายใหม่มี 200 มาตรา การแบ่งหมวดและการเรียงลำดับแตกต่างกันมาก หากพิจารณาทั้งฉบับแล้วจะพบว่า ผู้ร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับนี้ ได้วาดภาพฝันองค์กรนี้ขึ้นใหม่ โดยการ:
– ออกแบบการคัดสรรทั้งกรรมการและเจ้าหน้าที่ขึ้นใหม่ ให้เป็นทีมงานคุณสมบัติสูง โปร่งใสถูกตรวจสอบได้ เปรียบดัง “เทวดา” 
– เพิ่มบทบาทในงานส่งเสริมและป้องกันการทุจริต การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม การคุ้มครองผู้ชี้เบาแส และ
ไม่มองข้ามหน้าที่ส่งเสริมและป้องกันการทุจริต
เช่นเดียวกับกฎหมายเดิม พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ นอกจากจะให้ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ตรวจสอบและเอาผิดการทุจริต ก็ยังมีหมวดที่ 7 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในงานส่งเสริมและป้องกันการทุจริตด้วย โดยมีมาตรา 33 กำหนดว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องกำหนดมาตรการและกลไกที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันมีส่วนร่วมในการรณรรงค์ต่อต้านการทุจริต จัดให้มีช่องทางการชี้เบาะแสการทุจริตที่สะดวก ไม่ก่อผลร้ายกับผู้แจ้ง
มาตรา 33(3) ยังกำหนดให้ ป.ป.ช. ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของการทุจริตและค่านิยมที่เน้นการพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ในสังคม และ (4) กำหนดให้ ป.ป.ช. ต้องรับฟังประชาชนเพื่อนำไปปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
มาตรา 33 วรรคสอง ยังให้อำนาจ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำงานด้านนี้โดยตรงด้วย โดยต้องมีประธาน ป.ป.ช. กรรมการหนึ่งคน และเลขาธิการ ป.ป.ช. ผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ฯลฯ เข้าร่วมเป็นกรรมการ
เตรียมให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
มาตรการใหม่เพื่อป้องกันการทุจริตที่ปรากฏขึ้นใน พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่เป็นครั้งแรก อยู่ในมาตรา 130 คือ การสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคน ไม่เพียงเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย หากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นต่อ ป.ป.ช. แต่เจ้าหน้าที่รัฐตำแหน่งอื่นๆ ให้ยื่นต่อหน่วยงานที่สังกัดอยู่
รายละเอียดของบัญชีทรัพย์สินที่ต้องยื่น หลังจากนี้จะไปกำหนดเพิ่มเติมโดยการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่มาตรา 130 ก็ได้เขียนให้ชัดเจนไว้บางส่วนแล้ว เช่น เจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้รับเงินเดือนประจำ หรือเจ้าหน้าที่ที่จ้างชั่วคราวอาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นบัญชีก็ได้ ส่วนบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นไว้ให้เก็บไว้ที่หน่วยงานนั้นๆ และให้ถือเป็นความรับของราชการจะเปิดเผยไม่ได้
เนื่องจากระบบการบังคับให้ทุกคนต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเช่นนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 200 จึงกำหนดว่า เพื่อมิให้เกิดภาระเกินสมควร ในการออกพระราชกฤษฎีกาอาจกำหนดให้เริ่มใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่แต่ละประเภทไม่พร้อมกันก็ได้
หากพบเหตุควรระมัดระวังให้เตือนก่อนเกิดปัญหาได้
หากให้ ป.ป.ช. เริ่มทำงานได้เฉพาะกรณีที่การทุจริตเกิดขึ้นแล้วและต้องมาตามหาตัวคนผิดย้อนหลัง ก็อาจจะไม่ทันการณ์ที่จะปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติได้ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ จึงมีมาตรา 35 ที่กำหนดว่า กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการดำเนินการในหน่วยงานของรัฐอันอาจนำไปสู่การทุจริต หรือส่อว่าอาจมีการทุจริต ก็ให้เข้ามาตรวจสอบได้โดยเร็ว
และถ้าหากผลการตรวจสอบพบว่า มีเหตุควรระมัดระวัง ซึ่งหมายถึงว่า ยังไม่พบว่ามีการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นแล้ว แต่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจมีมติด้วยคะแนนเสียงสองในสามแล้วทำหนังสือแจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวและคณะรัฐมนตรีทราบ พร้อมข้อเสนอแนวทางแก้ไข
เมื่อได้รับทราบแล้วหน่วยงานรัฐดังกล่าวและคณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามสมควรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐ และถ้าหากกรณีนั้นๆ ไม่เกี่ยวกับความลับของทางราชการก็ต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย
คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสการทุจริตไม่ต้องรับผิด และอาจได้เงินรางวัล
รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 กำหนดว่า รัฐต้องจัดให้มีกลไกส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริต โดยได้รับความคุ้มครอง และมาตรา 278 กำหนดให้รัฐต้องจัดทำร่างกฎหมายเรื่องนี้นี้ในฐานะกฎหมายที่จำเป็น ให้เสร็จภายใน 240 วันนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้
เริ่มแรกมีความพยายามจัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งเสริมภาคประชาชนและการคุ้มครองผู้ชี้เบาะแส โดย ป.ป.ท. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ร่างกฎหมายฉบับนั้นยังไม่ผ่านการพิจารณา พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ก็ได้ใส่รายละเอียดเรื่องเหล่านี้ไว้แทบจะครบถ้วน เพื่อเติมเต็มหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญสั่งเอาไว้แล้ว
นอกจากมาตรการตามกฎหมายเดิม เช่น การคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสเช่นเดียวกับการคุ้มครองพยานในคดีอื่นๆ หากผู้ชี้เบาะแสเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษได้ แม้ผู้นั้นจะเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดก็จะกันไว้เป็นพยานและไม่ดำเนินคดีก็ได้ แต่ก็ยังมีมาตรการที่ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่สร้างขึ้นมาเป็นครั้งแรกอีก เช่น
1) มาตรา 132 กำหนดว่า ผู้ที่ให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ทราบว่า มีการทุจริต ถ้ากระทำโดยสุจริตได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา
2) มาตรา 133 กำหนดว่า กรณีผู้ชี้เบาะแสเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ หากการปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดเดิมต่อไปอาจถูกกลั่นแกล้งได้ ก็ให้ ป.ป.ช. เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้คุ้มครอง โดยอาจเสนอให้กำหนดตำแหน่งและสิทธิประโยชน์อื่นในหน่วยงานอื่นให้แทนที่ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม
3) มาตรา 134 กำหนดว่า สำหรับเจ้าพนักงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเพราะถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำ จะมีทางร่วมต่อต้านการทุจริตนั้นๆ ได้โดยการทำหนังสือโต้แย้งผู้บังคับบัญชาให้ทบทวนคำสั่ง หรือแจ้งต่อ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน ถ้าได้ทำเช่นนี้แล้วผู้นั้นก็จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับโทษ
4) มาตรา 137 กำหนดว่า ผู้ชี้เบาะแสในคดีที่เจ้าพนักงานของรัฐร่ำรวยผิดปกติจนเป็นผลให้ศาลพิพากษาให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกตินั้นตกเป็นของแผ่นดิน มีสิทธิได้รับเงินรางวัลจากกองทุน ป.ป.ช. ซึ่งรายละเอียดของเงินรางวัลคณะกรรมการจะออกระเบียบมากำหนดภายหลัง