ทวงคืนเสรีภาพในการชุมนุม

 

การชุมนุมทางการเมืองถือเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย การออกมาบนท้องถนนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะส่งเสียงให้ปัญหาความเดือดร้อนเป็นที่รับรู้ของสังคมและกระตุ้นให้ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ไข แต่ตลอดการปกครองของรัฐบาล คสช. การชุมนุมถูกปิดกั้นและทำให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยประกาศและคำสั่งคสช. 

 

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ออกเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 วันเดียวกันที่ คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครอง กำหนดห้ามมั่วสุม หรือ ชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท เพื่อควบคุมสถานการณ์และห้ามไม่ให้มีการต่อต้านการยึดอำนาจ ผลของประกาศฉบับนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 52 ราย

 

ต่อมา 30 พฤษภาคม 2557 ออก ประกาศ คสช. 49/2557 กำหนดห้ามสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง เช่น การให้ใช้สถานที่ เครื่องขยายเสียง เต็นท์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ผู้ฝ่าฝืนมีโทษ สองในสามของโทษตามประกาศ คสช. 7/2557 เพื่อไม่ให้ผู้ใดกล้าแม้แต่จะให้ความช่วยเหลือหรือมีส่วนกับการชุมนุมทางการเมือง

 

ปีต่อมาในวันที่ 1 เมษายน 2558 คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 มาแทนที่ ข้อ 12. ห้ามมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป และลดโทษให้เหลือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งมีผลยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 และบังคับใช้จนมาถึงปัจจุบัน

 

ภายใต้ยุค คสช. มีผู้ถูกตั้งข้อหา "ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน" อย่างน้อย 334 คน จากการฝ่าฝืนประกาศ ฉบับที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558

 

นอกจากการใช้ดำเนินคดีกับประชาชนแล้ว ทหารและตำรวจยังอ้างอำนาจตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ประเด็นนี้ เพื่อห้ามการชุมนุมในประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น การคัดค้านการใช้สารเคมีอันตราย การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน การคัดค้านกฎหมายหลักประกันสุขภาพ เป็นต้น และหลายครั้งยังอ้างเพื่อปิดกั้นการจัดกิจกรรมสาธารณะ และจัดเสวนาทางวิชาการในหลากหลายประเด็น ซึ่งเป็นการตีความคำว่า "การชุมนุมทางการเมือง" ให้กว้างออกไป จนกระทบเสรีภาพในการแสดงออกแทบทุกอย่างในสังคมไทย

 

ไม่ใช่เพียงแต่ผู้ต่อต้านรัฐประหารเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีแล้ได้รับผลกระทบจากการห้ามชุมนุมของ คสช. ผู้คนอีกหลายหลายกลุ่มที่ได้รัผลกระทบจากนโยบายของ คสช. ตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ไม่มีพื้นที่ให้ส่งเสียงความเดือดร้อนสู่ต่อสาธารณะได้ และประชาชนทั่วไปเองก็ถูกปิดกั้นการรับรู้ข้อเท็จจริงนานาปการ ทำให้บรรยากาศสังคมตกอยู่ภายใต้ความเงียบงัน

 

ในอนาคตข้างหน้า ประเทศไทยต้องกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย ต้องมีการเลือกตั้ง และพื้นที่ที่ประชาชนจะนำเสนอปัญหาของตัวเองได้ก็ต้องกลับมา 

 

เครือข่ายภาคประชาชนจึงเห็นว่า ประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย หากยังคงไว้จะไม่สามารถทำให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมได้ จึงควรยกเลิกประกาศและคำสั่งหัวหน้าคสช.เหล่านี้ ได้แล้ว