พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2560: กฎหมายใหม่แต่ยังถูกใช้ปิดปากเหมือนเดิม

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 หรือที่คุ้นหูในชื่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 หากจำกันได้สำหรับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ เคยถูกคัดค้านอย่างหนัก ก่อนการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในที่ประชุมของ สนช. ช่วงปลายปี 2559 โดยมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 300,000 คนในเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้สนช.ชะลอการพิจารณากฎหมายดังกล่าว 
กฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขกฎหมายเดิมอย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2550 โดยหนึ่งในประเด็นที่มีการแก้ไขใหม่ คือ การแก้ไขมาตรา 14 เพื่อป้องกันการนำมาใช้ฟ้องหมิ่นประมาท เนื่องจากในอดีต มาตราดังกล่าวนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดกับ "เนื้อหา" บนโลกออนไลน์ ทั้งที่เจตนารมณ์ของกฎหมายมีขึ้นเพื่อการเอาผิดการกระทำต่อ "ระบบ" คอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ดี ภายหลังการแก้ไขกฎหมายของ สนช. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการจำกัดการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์เหมือนเดิม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล
สนช. แก้ พ.ร.บ.คอมฯ ใหม่ ตัดปัญหาฟ้องหมิ่นประมาท แต่เพิ่มข้อหาใหม่
สำหรับบทบัญญัติใหม่ของมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2560 มีดังนี้
มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้
โดยรายละเอียดการแก้ไขในมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้แก่
หนึ่ง การเพิ่มคำว่า “ที่บิดเบือน” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่นำเข้าสู่ระบบอันเป็นความผิด
สอง การเพิ่มคำว่า “โดยทุจริต หรือ โดยหลอกลวง” เข้ามาเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14 (1) ด้วย ซึ่งคำว่า "โดยทุจริต" มีคำนิยามอยู่ในมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายอาญา หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
สาม การเพิ่มวรรคสอง โดยกำหนดให้การกระทำความผิดมาตรา 14(1) ที่มีผู้เสียหายเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ได้จงใจหลอกลวงประชาชนทั่วไป “เป็นความผิดอันยอมความได้”
สี่ การเพิ่มวรรคสอง โดยกำหนดให้การกระทำความผิดมาตรา 14(1) ที่มีผู้เสียหายเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ได้จงใจหลอกลวงประชาชนทั่วไป ให้มีอัตราโทษลดลง คือ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท
ห้า การเพิ่มคำว่า “ความปลอดภัยสาธารณะ” “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” และ “โครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ” เป็นองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบตามมาตรา 14 (2)
จากการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ของ สนช. พบว่า ยังมีช่องโหว่ในการตีความกฎหมายเพื่อใช้ดำเนินคดี ‘เนื้อหา’ บนโลกออนไลน์ได้อยู่ เช่น การเพิ่มคำว่า ‘บิดเบือน’ เข้าไปเป็นองค์ประกอบความผิด ซึ่งการเพิ่มคำนี้เข้ามาแสดงให้เห็นว่า ผู้ร่างกฎหมายจงใจจะให้นำมาตรา 14(1) มาใช้ฟ้องคดีต่อการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับความจริงทั้งหมด ทำให้มาตรา 14(1) ถูกเขียนให้ตีความได้กว้างขึ้นมาก ห่างไกลออกไปจากเจตนารมณ์เดิมที่มุ่งเอาผิดกับเพียงหน้าเว็บไซต์ปลอม จนครอบคลุมไปถึงการแสดงความคิดเห็นได้หลายรูปแบบ 
ในขณะเดียวกัน ในมาตรา 14 (2) มีการเพิ่มคำว่า “ความปลอดภัยสาธารณะ” “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” และ “โครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ” จากฉบับเดิมระบุไว้ให้ มาตรา 14(2) เอาผิดการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ สองลักษณะ คือ 1) น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ 2) น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ซึ่งก็สามารถตีความเอาผิดกับเนื้อหาบนโลกในออนไลน์ได้อยู่แล้ว ดังนั้น การเพิ่มนิยามใหม่ที่มีลักษณะตีความได้กว้างก็จะยิ่งทำให้กฎหมายบังคับใช้กับการจำกัดการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ได้กว้างขวางด้วยเช่นกัน และคำว่า ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ยังถือว่าเป็นเรื่องที่พิสูจน์กันได้ยาก และไม่ชัดเจนว่าประชาชนที่ได้รับข้อมูลแล้วตื่นตระหนกตกใจกันแค่ไหน
นักข่าวเนชั่น ผู้ต้องหา ‘บิดเบือนข้อมูล’ รายแรก หลังแก้กฎหมายใหม่
หลังกฎหมายผ่านความเห็นชอบจากสนช. ได้ไม่ประมาณ 4 เดือน บริษัทเมียนมาร์พงพิพัทธ์ได้ฟ้องผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ The Nation ในข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา และบิดเบือนข้อมูลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1)
โดยคำบรรยายฟ้องระบุว่า บทความของผู้สื่อข่าว The Nation เรื่อง "เหมืองแร่ไทยทำลายแหล่งน้ำพม่า" ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Nation Online บิดเบือนให้ร้ายบริษัท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบเหมืองแร่ดีบุกในประเทศเมียนมาร์ได้
แต่สุดท้ายคดีก็จบลงที่กระบวนการไกล่เกลี่ยในชั้นศาลโดยได้ข้อสรุปให้ผู้สื่อข่าว The Nation เขียนข่าวและลงข่าวแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้องตามฝ่ายโจทก์ต้องการในบางประเด็น
การฟ้องร้องในครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ที่ทำให้เห็นว่า การแก้ไขของสนช. เพื่อพยายามจะป้องกันการฟ้องร้องต่อประชาชนหรือสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ประสบผลสำเร็จ สุดท้าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ก็ยังกลายเป็นเครื่องมือในการเอาผิดคนจากการแสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะในโลกออนไลน์
นักการเมือง-นักวิชาการ-นักเคลื่อนไหว ทยอยถูกตั้งข้อหาหลังวิจารณ์ คสช.
นอกจาก มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเป็นข้อหายอดนิยมในการฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว ยังพบอีกว่า ภาครัฐมีแนวโน้มบังคับใช้มาตรา 14 (2) มากขึ้น โดยเฉพาะกับนักวิชาการ ประชาชน หรือ นักการเมือง ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือการทำงานของรัฐบาล ซึ่งจากการเก็บข้อมูลจนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2561 พบว่า มีบุคคลอย่างน้อย 5 คน ถูก ตั้งข้อกล่าวหาตาม มาตรา 14 (2) ดังนี้
๐ หมวดเจี๊ยบ ถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 12 กระทง จากการวิจารณ์รัฐบาล
ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต หรือ 'หมวดเจี๊ยบ' อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ถูก บก.ปอท. เรียกรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาถึง 3 ครั้ง รวมข้อหาทั้งหมด 12 กระทง โดยเริ่มจาก
ครั้งแรก วันที่ 13 ธันวาคม 2560 หมวดเจี๊ยบ เดินทางเข้าพบเจ้าพนักงาน บก.ปอท. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) รวมหกกระทงการการโพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊กหมวดเจี๊ยบ1 รวมข้อสามข้อความโดยหนึ่งในนั้นเป็นข้อความที่เธอวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีจับกุมผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าเทพา ส่วนอีกสามกระทงเกิดจากการที่ตัวเธอแชร์ข้อความที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ทั้งสามข้อความไปที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของคสช. เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี
ครั้งที่สอง วันที่ 20 ธันวาคม 2560 หมวดเจี๊ยบ เข้าพบ เจ้าพนักงาน บก.ปอท. อีกครั้ง เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ คสช. แจ้งความดำเนินคดีอีกสามกระทง ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) และข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยนำเอกสารคือข้อความการโพสต์เก่าๆ ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2560 ละวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นการวิจารณ์การไปเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรี ในประเด็นการซื้ออาวุธ, ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยเนื่องจากการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐ
ครั้งที่สาม วันที่ 24 มกราคม 2561 หมวดเจี๊ยบ เข้าพบ เจ้าพนักงาน บก.ปอท. เป็นครั้งที่สาม เพื่อรับทราบข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (2) จำนวน 3 กระทง หลังโพสต์วิจารณ์เรื่องการใช้งบประมาณของรัฐบาล ซึ่งในครั้งนี้พนักงานสอบสวนเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากสองครั้งที่ผ่านมา
๐ อาจารย์ชาญวิทย์ถูกแจ้งความจากการวิจารณ์กระเป๋าภริยานายก หวั่นก่อให้เกิดความตื่นตระหนก
วันที่ 31 มกราคม 2561 เวลา13.00 น. ศ.พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าพบ เจ้าพนักงาน บก.ปอท. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีแชร์โพสต์ที่มีภาพ นราพร จันทร์โอชา ภรรยาหัวหน้า คสช. ถือกระเป๋า และเขียนข้อความประกอบโพสต์ "ผู้นำต้องใช้ของแพงๆ Thai leaders must look expensive not cheap…" โดยคดีนี้ พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กำกับการ 3 บก.ปอท. เป็นผู้ร้องทุกข์ว่า การแชร์โพสต์ภาพภรรยา หัวหน้า คสช. ถือกระเป๋าและเขียนข้อความดังที่ระบุข้างต้นว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2), (5) ซึ่งโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาที่อาจทำให้เกิดความตื่นตระหนกและอันตรายต่อประเทศ
๐ วัฒนา ขาประจำ บก.ปอท. ถูกเรียกตัว หลังโพสต์วิจารณ์รัฐบาล
วันที่ 4 กรกฎาคม 2561 วัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางเข้าพบ เจ้าพนักงาน บก.ปอท. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ในฐานความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.14 (2) นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ กรณีวิจารณ์รัฐบาลที่ดำเนินคดีกับเจ้าของเพจ “KonthaiUk” (คนไทยยูเค) ที่แสดงความเห็นในเรื่องการซื้อดาวเทียมไธอา (THEIA) จากสหรัฐอเมริกามูลค่า 91,200 ล้านบาท และผู้ที่แชร์โพสจากเพจดังกล่าว ซึ่ง พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฎิบัติหน้าที่ฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาแจ้งความร้องทุกข์ บก.ปอท. กรณีเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561
๐ แอดมินเพจ ธนาธร และ พรรคอนาคตใหม่ ถูกเรียกตัวหลัง live พูดถึงพลังดูด ส.ส.
วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมกับ ไกลก้อง ไวทยการ ว่าที่นายทะเบียนพรรค และจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ ว่าที่กรรมการบริหารพรรค เดินทางเข้าให้ปากคำต่อเจ้าพนักงานสอบสวน บก.ปอท. เพื่อเป็นพยานจากกรณีที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ฟ้องเจ้าของแฟนเพจธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และแฟนเพจ อนาคตใหม่ – The Future We Want จากการที่ตนจัดรายการ ‘คืนวันศุกร์ให้ประชาชน’ บนเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยตนกับนายไกลก้อง และ น.ส.จารุวรรณ ได้ร่วมกันพูดถึงประเด็นการดูด ส.ส. รวมถึงปัญหาจากการลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชน ในข้อหานำเข้าข้อมูลเท็จลงในข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามกฏหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2)
๐ พิชัย ถูกเรียกตัวหลังพูดถึงพลังดูด ส.ส.
2 สิงหาคม 2561 พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มอบอำนาจให้ทนายความเข้าพบเจ้าพนักงาน บก.ปอท. เพื่อขอเลื่อนการเข้าพบเจ้าพนักงานเป็นวันที่ 16 สิงหาคม 2561 เวลา 13.00 น. หลังจากที่พิชัย ถูก บก.ปอท. ออกหมายเรียกให้ไปพบ ภายหลังจาก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก คสช.เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐาน นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14 (2)
พิชัย โพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเองแจ้งว่า สาเหตุที่ทำให้ถูกแจ้งความดำเนินคดีมาจาก 2 เรื่อง คือ เรื่องแรกเป็นรูปปกนิตยสารไทม์ ที่มีรูปพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และมีข้อเขียนในเชิงว่า ถูกแบนห้ามขาย อีกเรื่องหนึ่งเป็นรูปที่มาจากการสัมมนาทางวิชาการที่สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดโดย คณะกรรมการญาติวีรชนเดือนพฤษภาคม 35 ในหัวข้อ “พรรคการเมืองกับแนวทางการสามัคคีปรองดองแห่งชาติ” ซึ่งมีการพูดถึงการดูด ส.ส. ที่อาจจะทำลายความปรองดองได้