สี่ปี สนช.: ผ่านกฎหมายแปดฉบับอนุมัติงบประมาณ 14 ล้านล้านบาท ให้ คสช.

ตลอดระยะเวลาสี่ปีภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่ง คสช. แต่งตั้งมีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ รวมแล้วสี่ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ ฉบับที่ห้า กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช.   
 
นอกจากการผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ ปกติแล้ว สนช. ยังมีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำฯ ซึ่งคือการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมให้ คสช. รวมทั้งหมดสามฉบับด้วยกัน มีข้อสังเกตว่าการพิจารณางบประมาณเพิ่มเติมฯ ทุกครั้ง สนช. จะพิจารณาเสร็จสิ้นภายในหนึ่งวัน
 
 
ตลอดสี่ปี สนช. ไฟเขียวงบประมาณให้ คสช. เป็นวงเงินทั้งสิ้น 14 ล้านล้านบาท โดยอนุมัติผ่านกฎหมายจำนวนแปดฉบับ ประกอบด้วย
 
1. พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 2.5 ล้านล้านบาท
 
2. พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 2.72 ล้านล้านบาท
 
3. พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 5.9 หมื่นล้านบาท 
 
4. พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 2.73 ล้านล้านบาท
 
5. พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท                             
 
6. พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 2.9 ล้านล้านบาท
 
7. พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท 
 
8. ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 3 ล้านล้านบาท
 
นับตั้งแต่ คสช. ขึ้นมาปกครองประเทศงบประมาณกองทัพเพิ่มขึ้นทุกปี และติดอยู่ในห้าลำดับหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุดตลอด สำหรับงบประมาณกองทัพตลอดสี่ปี สนช. มีจำนวนดังนี้
 
1. งบประมาณกองทัพปี 2558 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท
 
2. งบประมาณกองทัพปี 2559 จำนวน 2 แสนล้านบาท
 
3. งบประมาณกองทัพปี 2560 จำนวน 2.1 แสนล้านบาท
 
4. งบประมาณกองทัพปี 2561 จำนวน 2.22 แสนล้านบาท
 
5. งบประมาณกองทัพปี 2561 จำนวน 2.27 แสนล้านบาท
 
ปัจจุบันมีสมาชิก สนช. จำนวน 248 คน มีทหารอยู่ 144 คน หรือ 58% ของทั้งสภา และมีผู้บัญชาการเหล่าทัพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันอยู่กันอย่างครบถ้วน ด้วยเหตุนี้เราจึงกล่าวได้ว่าสภาแห่งนี้คือ “สภาท็อปบู๊ท” และไม่น่าแปลกใจที่งบประมาณของกองทัพจะมีสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับความจำเป็นของประเทศโดยเฉพาะเรื่องสาธารณสุข ขณะที่เรื่องความโปร่งใสก็สวนทางกับงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อ พล.ท.ชาตอุดม ดิตถะสิริ สมาชิก สนช. กล่าวว่า หากการพิจารณาส่วนราชการไหนที่เป็นชั้นความลับ เกี่ยวกับความมั่นคง ก็จะไม่ถ่ายทอดการประชุมออกไปข้างนอก เช่น หน่วยงานในพระองค์ และกระทรวงกลาโหม