โรดแมปสิทธิมนุษยชนไทยบนเส้นทางประชาธิปไตย

วันที่ 13 กรกฎาคม 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานเสวนาเรื่อง “โรดแมป : สิทธิมนุษยชนบนเส้นทางประชาธิปไตย” ในวาระครบ 17 ปี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วิทยากรประกอบไปด้วยนักวิชาการด้านกฎหมาย นักการเมือง และประธานคณะกรรมการ กสม. โดยแต่ละคนกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของประเทศไทยปัจจุบันในมุมต่างๆ และเห็นคล้ายกันว่ายังคงมีปัญหาอยู่มาก อย่างไรก็ตาม มีการเสนอทางออกเพื่อให้เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยดีขึ้นด้วย
มองคำว่าสิทธิมนุษยชนต้องดูฐานอำนาจในรัฐธรรมนูญ ควบคู่กับหลักสากล
วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พื้นฐานของคำว่าสิทธิมนุษยชน คือเราต้องการหลักประกันจากรัฐในสิ่งที่เราน่าจะได้ เช่น สิทธิทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา หรือการสาธารณสุข และที่สำคัญในมิติประชาธิปไตย คือ สิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน เช่น การเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมทางการเมือง การแสดงออก และการรวมกลุ่ม
รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็นครั้งแรกที่มีคำว่าสิทธิมนุษยชนปรากฏ แต่ไม่ได้ปรากฎในหมวดแรกๆ อย่างไรก็ตามก็มีคำที่มีความหมายพ้องกันคือคำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ส่วนคำว่าสิทธิมนุษยชนปรากฎในการตั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นมาซึ่งปรากฎในหมวดหลังๆ หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับอื่นก็มีที่มาจากรัฐประหาร วิทิต เห็นว่าต้องเข้าใจกรอบของสิทธิเสรีภาพในประเทศไทย ว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นเกี่ยวข้องกับข้อความของรัฐประหารไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้นการตีความของรัฐธรรมนูญส่วนอื่นๆ ก็ต้องเข้าใจฐานของอำนาจและที่มาที่ไป
ขณะที่ วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2560 มีการกล่าวอ้างเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน โดยกล่าวถึงหลักในการแก้ไขปัญหาประเทศชาติว่าต้องมีหลักอะไรบ้างซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนอยู่ในนั้นด้วย และในหมวดว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้ยกสถานะของ กสม. จากในอดีตที่ไม่ได้เป็นองค์กรอิสระให้มีสถานะเป็นองค์กรอิสระ
อย่างไรก็ตาม วิทิต กล่าวว่า เมื่อพูดถึงคำว่าสิทธิมนุษยชนต้องมีหลักของสากลเข้ามาด้วย เพราะเป็นตัววัดซึ่งตัววัดนี้อยู่ใน พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม. ซึ่งเขียนไว้ว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกคุ้มครองโดยกฎหมายไทย และสนธิสัญญาที่เป็นไทยเป็นภาคี ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคอนุสัญญาเจ็ดฉบับ เช่น อนุสัญญาเด็กฯ อนุสัญญาห้ามซ้อมทรมานฯ ซึ่งเหล่านี้กระทบกับประเทศไทยทั้งนั้น
 
วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รัฐบาลแบบไหนก็มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนพอๆ กัน
บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  กล่าวว่าหลักการสิทธิมนุษยชนกับประชาธิปไตย คือรากแก้วของเสรีประชาธิปไตย รากหนึ่งคือหลักนิติรัฐนิติธรรม อีกรากหนึ่งก็คือหลักประชาธิปไตย ขาดหลักใดหลักหนึ่งไม่มีทางที่เสรีประชาธิปไตยจะอยู่อย่างมั่นคงได้ เขาอธิบายว่าสิทธิมนุษยชนบนเส้นทางประชาธิปไตยไทยในรอบทศวรรษที่ผ่าน เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเราไม่มีปัญหาเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก แต่เรามีปัญหาเรื่องการคุ้มครองสิทธิชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน ลองนึกภาพเราสามารถแสดงออกด่าทอรัฐบาลได้อย่างเต็มที แต่พอออกมาชุมนุมใช้เสรีภาพในทางการเมืองก็นำไปสู่การทำลายชีวิตของผู้คน แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเรามีข้อจำกัดของเสรีภาพในการแสดงออกในการแสดงความคิดเห็นหรือการชุมนุม แต่เราค่อนข้างมีความมั่นคงในชีวิตและร่างกาย ดังนั้นบริบทของสิทธิมนุษยชนในเส้นทางประชาธิปไตยนั้นมีปัญหาทั้งสองด้านไม่มีด้านใดสมบูรณ์
ขณะที่ พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีความเห็นต่าง เขากล่าวว่าระบอบประชาธิปไตยถึงแม้ว่าจะมีปัญหา แต่เราก็เห็นว่าเมื่อเป็นการปกครองระบบอื่นแล้วปัญหามีมากกว่า ดังนั้น เรื่องสิทธิมนุษยชนบนเส้นทางประชาธิปไตย ในกรณีที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนจะมีสิทธิมนุษยชนอย่างที่ควรจะมีได้อย่างไร เราจะเห็นว่าเมื่อไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าเขาบอกว่าอันไม่มีสิทธิอันนี้ไม่ให้เราก็จะเงียบทำอะไรไม่ได้ แต่สมมติถ้าคุณวุ่นวายอย่างเบาก็อาจจะถูกปรับทัศนคติ ถ้าอย่างแรงก็อาจถูกตั้งข้อหา จะเห็นว่าไม่ว่าจะยุคไหน สฤษดิ์ใหญ่หรือสฤษดิ์น้อยเหมือนกัน นอกจากนี้ ในสมัยนี้มีอำนาจที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญที่หนักกว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เสียอีก เพราะประกาศ คำสั่ง การกระทำตามประกาศคำสั่งของ คสช. ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายทั้งสิ้น และ หัวหน้า คสช.สามารถใช้อำนาจได้ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
วิทิต เสริมว่า สำหรับประเทศไทยถ้ามองในกรอบของสิทธิผ่านสายตาประชาธิปไตยและมิติของโลกเข้ามาด้วย จะพบว่าสิทธิทางด้านการเมืองถูกรั้งไว้เยอะ และอยากจะได้คืนมา เพื่อให้สิทธิทางการเมืองดีขึ้น วิทิต เสนอว่า น่าจะลดการใช้กฎหมายบางส่วนที่ไปจำกัดสิทธิ โดยไม่สมเหตุสมผลในสายตาของประชาชนและหลักสากล เช่น การใช้มาตรา 116 มาจำกัดสิทธิในการแสดงออก หรือจำกัดสิทธิในการรวมกลุ่มก็มีการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และคำสั่ง คสช. ซึ่งในด้านนี้น่าจะถึงยุคที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยสันติให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้มีคนที่ถูกฟ้องจากการใช้สิทธิดังกล่าวก็อยากจะให้ยกเลิกการดำเนินคดี รวมทั้งยกเลิกคดีของทนายที่ถูกฟ้องเมื่อเขาไปปกป้องสิทธิคนอื่น และที่สำคัญคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเขาอยากจะให้คดีที่เกี่ยวกับพลเรือนขึ้นศาลพลเรือน และถ้าต้องขึ้นศาลทหารก็ขอให้มีการอุทธรณ์ให้ขึ้นศาลพลเรือนได้
สิบประเด็นบวกลบที่ต่างชาติมองไทย
วิทิต กล่าวต่อว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของประเทศไทยชาวต่างชาติมองว่า มีทั้งด้านบวกและด้านลบ สำหรับด้านที่น่าชื่นชมมีห้าด้าน คือ ข้อ 1 สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องสาธารณสุข เรื่อง 30 บาท และนโยบายสำหรับผู้ติดเชื้อ HIV ข้อ 2 การต่อต้านการค้ามนุษย์ ข้อ 3 การนำหลักสากลเข้ามาใช้มากขึ้น เช่น เกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อ 4 การที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เปลี่ยนจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งเริ่มดำเนินการไปหลายพื้นที่ซึ่งทำให้สถานการณ์โปร่งใสขึ้นถึงแม้ยังไม่สมบูรณ์แบบ และข้อ 5 การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับกฎหมายลูกเกี่ยวกับเลือกตั้งซึ่งเป็นการเคลียร์พื้นที่เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ถึงแม้อุปสรรคอยู่บ้าง
ส่วนอีกห้าด้านที่ยังไม่ดีขึ้น คือ ข้อ 1 เรื่องนิรโทษกรรมตัวเองของคณะรัฐประหารยังค้างอยู่กันตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แต่ในเวทีสากลยังไม่สบายใจที่มีการนิรโทษกรรมตัวเอง ข้อ 2 การที่ลังเลไม่มีความแน่นอนว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร ข้อ 3 สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและรวมกลุ่ม โดยเฉพาะมีการใช้มาตรา 112 และมาตรา 116 ในกฎหมายอาญา ข้อ 4 การจับกุมคนที่เรียกร้องสิทธิตามหลักประชาธิปไตย ข้อ 5 เรื่องการลงโทษประหารชีวิต ก็มีการถามว่าทำไมถึงมีการประหาร เพราะเราไม่ได้มีการประหารมานานมาก
สิทธิชุมชนฐานรากของประชาธิปไตย
บรรเจิด กล่าวว่า เรื่องของสิทธิของชาวบ้านไม่ว่าจะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งสิทธิชาวบ้านยังคงเหมือนเดิม สิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกบัญญัติเป็นครั้งแรก หนึ่งทศวรรษแรกของการบังคับใช้สิทธิชุมนุมมีค่าน้อยมาก แม้รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ชุมชนมีสิทธิแต่ก็ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้นเมื่อเรื่องไปถึงศาล ศาลจึงบอกว่า เมื่อยังไม่กฎหมายกำหนดรายละเอียดศาลจึงไม่พิจารณาเนื้อหาแห่งสิทธิให้ ต่อเมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2550 คนร่างรัฐธรรมนูญรู้ว่า ศาลบอกว่าไม่มีกฎหมายจึงไม่บังคับเนื้อหาแห่งสิทธิให้ คนร่างจึงตัดคำว่า “ทั้งนี้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” ออกหมด เพราะไม่ต้องการให้ศาลเอามาอ้าง ด้วยเหตุนี้เนื้อหาแห่งสิทธิเริ่มได้รับการวินิจฉัยโดยศาล เช่น ศาลปกครองสูงสุดในคดีมาบตาพุด
รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นครั้งแรกที่เราบัญญัติหมวดหน้าที่ของรัฐ รัฐธรรมนูญทั้งหลายทั่วโลกไม่มีหมวดนี้ สำหรับสิทธิชุมชนอยู่ทั้งสองหมวดคือ “หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย” และ “หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ” ซึ่งในหมวด 5 มาตรา 57 มีการระบุว่า “ทั้งนี้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” และกำหนดว่าถ้ารัฐไม่ทำก็จะถูกฟ้องที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น สิทธิชุมชนไม่ว่าจะรัฐบาลแบบไหน ชุมชนไม่มีความมั่งคงในสิทธิตามรัฐธรรมนูญ บรรเจิด มองว่า ในช่วงที่เรากำลังปฏิรูปประเทศต้องทำให้สิทธิชุมชนมั่งคงเข้มแข็ง มันจะเชื่องโยงสืบเนื่องไปถึงประชาธิปไตย ตอนมีการผลักดันกฎหมายสิทธิชุมชนเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นรูปธรรมในการร่วมจัดสรรทรัพยากร
 
บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (ขวามือ)
 
เซ็ตซีโร่องค์กรอิสระรอยด่างของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อเริ่มต้นก็มีปัญหาเสียแล้ว เพราะอำนาจรัฐที่ไม่ว่าจะมาจากส่วนไหน จะต้องยึดหลักความมั่นคง หลักความเสมอภาค หลักนิติธรรม ในมาตรา 26 ระบุว่าการตรากฎหมายจำกัดสิทธิต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม บรรเจิด อธิบายว่า องค์กรอิสระมีห้าองค์กร สององค์กรถูกเซ็ตซีโรอีกสามองค์กรไม่ถูกเซ็ตซีโรเราเอาอะไรมาอธิบาย ประเด็นนี้จะเป็นปัญหาทางการเมืองในอนาคตที่จะไปกระทบประชาธิปไตย สมมุติวันหนึ่ง ป.ป.ช. ไปวินิจฉัยอะไรที่เอื้อต่อฝ่ายการเมืองก็จะมีการโต้แย้งว่า เพราะคุณสองมาตรฐานเพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะถูกเอามาขยายผลในภายหลังซึ่งเรื่องนี้เป็นรอยด่างของรัฐธรรมนูญ เพราะจะอธิบายอย่างไรกับหลักความเสมอภาค หลักการไม่เลือกปฏิบัติ และที่สำคัญขัดการหลักการให้กฎหมายมีผลย้อนหลัง ในทางกฎหมายมหาชนกฎหมายมีผลย้อนหลังได้แต่รัฐจะต้องอธิบายว่ามีประโยชน์สาธารณะที่สำคัญเหนือกว่าหลักคุ้มครองความสุจริต ซึ่งในกรณีกรรมการ กสม. คือเมื่อเข้ามาแล้วถูกกำหนดว่าต้องอยู่ในวาระตามที่กฎหมาย ดังนั้นถ้าจะล้มล้างต้องอธิบายว่ามีประโยชน์สาธารณะที่เหนือกว่าอย่างไร ถ้าอธิบายไม่ได้แสดงว่าคุณกำลังใช้อำนาจตามอำเภอใจ
พงศ์เทพ กล่าวว่า สิทธิต่างๆ ที่ถูกเขียนขึ้นในรัฐธรรมนูญ กลไกสำคัญในการบังคับใช้อยู่ที่องค์กรอิสระกับศาล ซึ่งกลไกเหล่านี้จะทำหน้าที่ไปดูว่าเรื่องนั้นที่ทำถูกกฎหมายหรือขัดรัฐธรรมนูญหรือมีการละเมิดสิทธิหรือไม่ ด้วยเหตุนี้องค์กรเหล่านี้จึงต้องมีความเป็นกลางมีความเที่ยงธรรมปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เห็นแก่หน้าใคร แต่ว่ากลไกที่เกิดขึ้นสามารถทำหน้าที่ให้น่าเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งถ้าดูที่มารวมทั้งการเซ็ตซีโร่ก็จะไม่มีใครสบายใจ
ผมบอกตั้งแต่สมัยที่เขาเสนอร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วว่า การที่ไปเขียนให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหลายจะอยู่ต่อไปนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับกฎหมายลูกเท่ากับว่าเอาองค์กรเหล่านี้มาอยู่ในกำมือของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกับสนช. นั้นคือจะบีบก็ตายจะคลายก็รอด ถ้าองค์กรอิสระทำดีเชื่อฟังก็ต่ออายุให้หรือขยายอายุให้ ถ้าทำอะไรไม่เป็นที่ถูกใจไม่น่าไว้ใจก็ถูกเซ็ตซีโร่ ซึ่งหวยก็มาออกที่ กสม. และ กกต. ซึ่งถูกเซ็ตซีโร่ไป พงศ์เทพกล่าว
วุฒิสภาแต่งตั้ง ขัดแย้งกับประชาธิปไตย
พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญ 2560 บอกว่าช่วงแรกให้มี ส.ว. 250 คน ตัวเลขนี้เขา (คสช.) มีเหตุผลเพราะว่าต้องการให้ ส.ว. ไปร่วมกับ ส.ส. ในการเลือกนายกฯ ซึ่ง ส.ส. มี 500 คน ถ้ามี ส.ว.แค่ 200 คน เขากลัวว่าเสียง 200 คนไปบวกกับ ส.ส.จำนวนหนึ่งอาจจะไม่พอหนุนนายกฯ ที่เขาอยากจะได้ก็เลยเพิ่ม ส.ว. เป็น 250 คน โดยมีบรรดาผู้บัญชาการทหารและตำรวจหกคน ส่วนอีก 244 คน ก็มาจาก คสช. ให้ความเห็นชอบ และหาก ส.ว. กลุ่มนี้เลือกนายกฯ ที่ต้องการได้ และให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญในอนาคตได้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมากลไกเหล่านี้ไม่มีความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบคนอื่นอยู่แล้วและต้องมาตรวจสอบกันเองมันไม่มีทางเป็นไปได้
ขณะที่ วัส มองคล้ายกันว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งจะใช้เป็นเส้นทางไปสู่เส้นทางประชาธิปไตย มีหลายเรื่องที่อาจขัดกับกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน เช่น ในกรณีที่บททั่วไปของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าจะคำนึงถึงหลักนิติธรรมและหลักความเสมอภาค แต่ในความเป็นจริงจะเกิดขึ้นตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้หรือเปล่า หรือความขัดแย้งระหว่างบททั่วไปกับบทเฉพาะกาล เช่น ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในบททั่วไปมีจำนวน 200 คน แต่ในบทเฉพาะกาลมี 250 คน ซึ่งมาจากการผูกขาดขององค์กรหนึ่งและยังให้มี ส.ว. โดยตำแหน่งอีก 6 คน ซึ่งเหล่านี้น่าสงสัยว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับระบบประชาธิปไตยหรือไม่
สุดท้าย วิทิต เสนอว่า เรื่อง ส.ว. ถ้าเราต้องการระบบที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบมากขึ้น ส.ว.ก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ที่มาของ ส.ว. ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ส.ว.จะมาจากผู้มีอำนาจ ถ้าจะเป็นอย่างนี้ชั่วคราวก็ขอให้เลือกคนที่ดีที่สุด ไม่ใช่เลือกคนที่เป็นพรรคพวกกันเข้ามา และในอนาคตก็ควรจะต้องนำไปสู่การเลือกตั้ง
วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
สร้างคานอำนาจเพื่อให้ผู้มีอำนาจเคารพสิทธิ
พงศ์เทพ กล่าวว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษย์ชน องค์กรที่มีบทบาทมากที่สุดและสามารถทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนได้ คือศาล แต่ที่ผ่านมาคำพิพากษาที่บอกว่าคนยึดอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ทำอะไรก็ได้ อยากให้คิดว่าหลักการที่ยึดถือกันอยู่เป็นประโยชน์กับประเทศไทยกับคนไทยหรือเปล่า ขณะที่ วิทิต เสริมว่า ศาลเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะถ้าจะเข้าถึงกับอำนาจต้องสร้างคานให้อำนาจที่เรียกว่าการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะฉะนั้นต้องมีหลายตัวแปรในสังคม เช่น ประชาสังคม ผู้พิทักษ์สิทธิ นักข่าว เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดก็จะเกี่ยวข้องกับบรรดาสิทธิที่เราพูดถึง
ดังนั้นสิทธิที่จะมีข้าวทาน สิทธิชุมชน สิทธิในทางเศรษฐกิจของชาวบ้านจึงสำคัญมาก ซึ่งไปควบคู่กับสิทธิในการแสดงออก สิทธิการรวมกลุ่ม สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นฐานที่จะไปสู่ประชาธิปไตย และถึงแม้จะมีการเลือกตั้งแล้วก็ไม่ได้มีหลักประกันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ารัฐบาลนั้นจะเคารพสิทธิทั้งปวง วิทิต มองว่า ด้วยเหตุนี้ก็ต้องมีการสร้างพลังร่วมกันเพื่อมีการคานแห่งอำนาจที่จะไปผลักให้ผู้อำนาจเคารพสิทธิและประกันสิทธิทั้งปวง
อย่างไรก็ตาม บางสิทธิไม่ใช่สิทธิเด็ดขาดจำกัดได้ เช่น สิทธิในการรวมกลุ่ม สิทธิในการแสดงออก แต่ผู้ที่มีอำนาจจะมาจำกัดสิทธิต้องให้เหตุผล ต้องพิสูจน์ ถ้าจะจำกัดต้องมีความจำเป็นจริงๆ และการจำกัดจะต้องมีสัดส่วน ไม่ใช่คนจะมารวมกลุ่มห้าคนแล้วจะถูกจำกัด และสุดท้ายต้องไม่เป็นไปตามอำเภอใจ แต่สำหรับประเทศไทยมีข้อท้าทายมาก เพราะมีข้อยกเว้นที่อ้างเพื่อจะจำกัดสิทธิโดยเฉพาะสิทธิทางการเมือง วิทิตกล่าว
พงศ์เทพ ย้ำว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาความขัดแย้งจะไม่บานปลายถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเที่ยงธรรมและไม่สองมาตรฐาน เพราะกฎหมายที่มีอยู่จัดการได้ทั้งหมด ถ้าคุณเข้าไปล้มการประชุมอาเซียนตำรวจจับคุณได้คนถูกดำเนินคดีและจะไม่มีใครทำซ้ำ แต่ถ้าคุณมายึดทำเนียบรัฐบาลตำรวจจับคนได้คุณถูกศาลดำเนินคดีก็จะไม่มีใครมาทำซ้ำ ด้วยเหตุนี้กลไกกระบวนยุติธรรมโดยเฉพาะศาลจึงสำคัญ ถ้าทำหน้าที่นี้อย่างเที่ยงธรรมและตรงไปตรงมาก็จะไม่มีปัญหาอย่างนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ความยุติธรรมไม่มีความสามัคคีไม่เกิด ช่วงที่ผ่านมาในยามที่มีปัญหากลไกที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ตรงไปตรงมาหรือเปล่า
พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
เสนอ กสม. ยกเลิกนิรโทษกรรม คสช.
กสม. มีอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม. ในมาตรา 26 บอกว่า มีอำนาจเสนอแนะมาตรการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน พงศ์เทพ เสนอให้ กสม. ชุดนี้ ยกเลิกมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บอกว่าบรรดาประกาศ คำสั่ง คสช. และการกระทำของ คสช. ให้ถือว่าประกาศ คำสั่ง การกระทำตลอดจนการปฏิบัติตามเหล่านั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การเขียนเช่นนี้ถ้าคนเอาเหล่านี้ไปทำอะไรที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เขาเขียนว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมายอย่างนี้ปล่อยให้อยู่ในประเทศไทยต่อไปได้อย่างไร