คุยกับ “คุณปลื้ม” ผู้ดำเนินรายการที่โดนแบน เรื่อง เสรีภาพสื่อภายใต้เผด็จการแบบไทยๆ

ตลอดสี่ปี ในยุค คสช. เสรีภาพการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชน เป็นไปอย่างจำกัดภายใต้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ที่บังคับสื่อทุกแห่งต้องนำเสนอข้อมูลตามที่ คสช. แจ้ง และต้องไม่นำเสนอเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ก่อให้เกิดความสับสน แตกแยก ไม่วิจารณ์ คสช. โดยไม่สุจริต และยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 ให้อำนาจ กสทช. เข้ามาตรวจสอบสื่อว่า ปฏิบัติตามประกาศสองฉบับก่อนหน้านี้หรือไม่ และสั่งลงโทษสื่อได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ
ภายประกาศและคำสั่งเหล่านี้ สื่อมวลชนต้องเข้าสู่ภาวะการเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อไม่ต้องมีปัญหากับ กสทช. แต่อย่างไรก็ดี มีสื่อที่มีจุดขายในการนำเสนอเนื้อหาทางการเมืองยังคงพยายามทำงานของตัวเองต่อไป และ กสทช. ใช้อำนาจสั่งลงโทษสื่อทั้งการตักเตือน การแบนรายการ หรือการปิดทั้งสถานี ไปแล้วอย่างน้อย 54 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการลงโทษช่องว๊อยซ์ ทีวี มากที่สุดถึง 20 ครั้ง ส่วนใหญ่มาจากรายการวิเคราะห์การเมืองอย่างเผ็ดร้อน โดยเฉพาะการวิเคราะห์ประเด็นที่ไม่เป็นผลดีกับ คสช.
หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ "คุณปลื้ม" ผู้ดำเนินรายการหลายรายการของว๊อยซ์ทีวีมาร่วมรายการ "คืนวันพุธ ปลดอาวุธคสช." เมื่อวันพุธที่ 4 กรกฎาคม 2561 ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ประกาศ และคำสั่งของ คสช. ที่ควบคุมเนื้อหาในสื่อ และเพิ่งถูกสั่งแบนรายการ Daily Dose และ Wake Up News เป็นเวลาสามวัน
เล่าให้ฟังหน่อย รายการที่เพิ่งถูกคำสั่งแบนจาก กสทช. มีปัญหาอย่างไร?
มันไม่ใช่เรื่องใหม่ เขาจะเล่นงานเราเป็นระยะๆ แล้วก็มีผลในเชิงจิตวิทยาให้การจัดรายการของเราเบาลงในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล วิธีการที่เขาทำนั้นทำเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่ตอนยึดอำนาจใหม่ๆ ก็มีคำสั่งให้ปิดไป 14 สถานี สถานีที่ต้องการจะกลับมาเปิดใหม่ต้องไปลงนามใน MOU ซึ่งมีเงื่อนไขเยอะแยะมากมายเกี่ยวกับเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร เราจึงมี MOU ที่ค้ำคออยู่
นอกเหนือไปจากนั้นก็มีประกาศ คสช. เกี่ยวกับการที่เราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ได้ เชิญนักวิชาการมาออกรายการก็ไม่ได้ เวลาพูดอะไรไปถ้าสังคม "สับสน" จากสิ่งที่ผมนำเสนอก็จะโดนเช่นเดียวกัน จึงมีทั้งตัวประกาศ คสช. และ MOU เก่าที่ทำไว้
ส่วนความชอบธรรมของ MOU จะยังมีอยู่หรือไม่ ก็อยู่ที่การตีความ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้ว ก็เป็นไปได้ว่า ถ้ามีการฟ้องคดีกันในศาล MOU นั้นก็อาจจะใช้บังคับไม่ได้ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ผมเลยอยากจะโยน MOU ทิ้งไป เหลือแค่ข้อจำกัดตามประกาศ คสช. ที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองและยังมีผลบังคับใช้อยู่ คำสั่งจาก กสทช. ก็สามารถอ้างอำนาจนี้ได้ เพราะฉะนั้น ก็เถียงอะไรไม่ได้มาก ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเขา
แบนสามวันก็ไม่ได้มาก เดี๋ยวก็กลับมาจัดใหม่
คำสั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม แบนรายการ Daily Dose และ Wake Up News เพราะการพูดเรื่องอะไร?
รายการ Wake Up News มีผู้ดำเนินรายการสามคน เคมีดีมาก เหมือนเล่นบาสเก็ตบอล โยนไปโยนมาแล้วชู๊ตเข้าห่วงทุกครั้ง เลยเป็นปัญหาของรายการ ที่มันโดนเกินไป แต่วันที่มีปัญหานั้นผมไม่อยู่ เป็นผู้ดำเนินรายการอีกคน มีการปล่อยเสียงสัมภาษณ์ของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ซึ่งวิจารณ์ทหารอย่างหนักหน่วง และสร้างความไม่พอใจ กสทช. ก็ไม่แฮปปี้ ช่องอื่นเขาคงไม่กล้าปล่อยเสียงของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แต่เราปล่อย
ส่วนรายการ Daily Dose ผมพูดประมาณว่า การเมืองไทยไม่มีพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ แล้วผมพูดเปรียบเทียบกับภาพยนต์เรื่อง No Country for Old Men แต่ผมบอกว่า ประเทศไทยนั้น No Country for Young Men (ไม่มีประเทศสำหรับคนรุ่นใหม่) พื้นที่ของคนรุ่นใหม่ในการพูดสิ่งที่อยากจะพูดมันไม่ค่อยมี แล้วผมปล่อยเสียงของรังสิมันต์ โรม (นักกิจกรรมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง) ปิดท้าย มันโดนไง ประเด็น คือ ผมไปจับชีพจรความรู้สึกของคนไทยได้
แต่ละครั้งที่โดนแบน ซึ่งก็โดนมาหลายครั้งแล้ว เมื่อผมย้อนกลับไปดูเนื้อหา ผมเข้าใจนะว่า ทำไมเขาถึงเล่น เพราะประเด็นที่ผมพูดมันปลุกคนได้ ผมไม่ได้ตั้งใจจะปลุกอะไร ผมเคยพูดเหมือนว่า วิกฤติความขัดแย้งก่อนรัฐประหารนั้นมันสร้างขึ้นมาได้ แล้วผมไม่ได้พูดลอยๆ แต่พูดด้วยความน่าเชื่อถือโดยน้ำเสียง น้ำเสียงของผมค่อนข้างหนักแน่น ผมพูดแบบนี้มันฟังแล้วเร้าใจ ทำให้คนเชื่อในบางสิ่งบางอย่าง ถ้าคนเชื่อผมก็อาจจะสับสนขึ้นมาว่า รัฐบาลนี้ไม่ชอบธรรม ก็อาจจะยุ่งเหมือนกัน
กสทช. มองว่า รายการไม่เป็นกลาง นำเสนอไม่รอบด้าน คุณปลื้มมองตัวเองอย่างไร?
ผมเองก็เป็นผลผลิตมาจากการดูสื่อที่จัดรายการแบบนี้ ผมดูสนธิ ลิ้มทองกุล, สุทธิชัย หยุ่น, จักรภพ เพ็ญแข และสรยุทธ สุททัศนะจินดา ผมโตมาก็จัดรายการแบบนี้ เอาแบบอย่างพวกนี้มายำรวมกัน สำหรับผมมัน คือ ทีวีโชว์ ต้องทำให้สนุก ถ้าผมไม่พูดยั่วให้คนรู้สึกว่าสนุก แล้วจะจัดรายการไปหาอะไร? ผมก็เคยอธิบายให้ กสทช. ฟังว่า นี่ไม่ใช่ข่าวภาคค่ำ นี่มัน Entertainment (สื่อบันเทิง)
หน้าที่ของผม ผมรับผิดชอบกับคนดู ผมทำให้คนอยากดู ทำให้สปอนเซอร์ลง ผมไม่ได้มีหน้าที่ต้องทำให้คณะกรรมการชุดไหนดู การจะมาอธิบายว่า เป็นกลางหรือไม่ ก็สามารถทำได้ แต่ผมไม่ลงไปอธิบายตรงนั้น ผมจะสู้ว่า มันไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการชุดไหนมาบอกว่า รายการต้องเป็นกลาง ต้องไม่ทำให้คนสับสน ผมต้องการให้คนดูรู้สึกมันส์ งง สนุก แล้วไม่เปลี่ยนช่อง
หน้าที่ของผม คือ ทำทีวีโชว์ให้มีความสนุกสนาน ให้คนดูได้สาระและความบันเทิงไปพร้อมๆ กัน หน้าที่ของผมไม่ใช่มาทำให้คณะกรรมการที่ไหนเห็นว่า มันเป็นกลาง มันไม่ใช่เรื่องที่เขาจะมายุ่งตั้งแต่แรก
หลักการในอาชีพนี้ของผม 1) ต้องไม่ด่านาย 2) ไม่ด่าสปอนเซอร์ 3) ไม่ด่าบุพการีหรือญาติผู้ใหญ่ 4) ไม่ด่านายกฯ ในเรื่องส่วนตัว ที่เหลือจากนี้ถ้าอะไรที่ผิดกฎหมาย ก็แฟร์เกมส์ รายการมันต้องมีรสนิยมและไม่หยาบคาย สนุก เร้าใจ เช่น รายการวิเคราะห์ข่าวที่ดีที่สุดตอนนี้ คือ รายการของจอห์น วิญญู ประเด็นไม่ใช่ว่า เป็นกลางหรือไม่ แต่มันมันส์ดี แล้วไม่ได้ยุให้ใครไปตีกับชาวบ้าน แค่นั้นแหละ
คุณต้องดูรายการของเมืองนอกที่เขาทำกัน ทุกๆ สถานีมีคนอย่างผมประมาณ 6-7 คน เมืองนอกเขาพูดว่า The answer to bad speech is more speech (คำตอบสำหรับการพูดที่ไม่ดี คือ ให้พูดมากขึ้น) ถ้ามีรายการอย่างที่ผมจัดสัก 10-20 รายการ คนดูก็เปิดแล้วเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แล้วก็ไม่มีประเด็น
รายการของคุณปลื้ม เป็นการวิเคราะห์ข่าว แล้วข้อมูลทั้งหลายอ้างอิงได้แค่ไหน?
ผมไม่ได้ทำรายงานข่าว ผมอยู่ในประเภทพูดแล้วให้ความคิดเห็น หรือ Commentary Show เป็นโมเดลแบบหลายรายการของต่างประเทศที่ผู้ดำเนินรายการพูดความคิดเห็นไปเลย แล้วให้คนดูไปคิดต่อว่า จะคิดกับคนนี้อย่างไร เป็นพิธีกรที่สร้างประเด็นที่คนเห็นต่างกันเอาไปถกเถียงต่อว่า จะคิดในประเด็นนั้นอย่างไร
รายการของผมมีข้อมูลที่นำเสนอ เช่น อ้างอิงจากประชาไท หรือไอลอว์ แล้วก็จะพูดความคิดเห็นของผมลงไปปิดท้ายเสมอ เพราะมันเป็นรายการผม รูปแบบนี้มีพื้นที่เพื่อสร้างความสนุกสนานในการเสพข่าว สำหรับคนที่บริโภคข้อมูลพื้นฐานแล้วเรียบร้อย ถ้าไม่รู้ข้อมูลพื้นฐานแล้วจะมาดูรายการผมนี่ ผมไม่แนะนำ
รายการโดนแบนรวมอย่างน้อย 8 ครั้งแล้ว การโดนหลายครั้งแบบนี้ รู้สึกอย่างไรบ้าง?
เป็นเรื่องปกติ คาดเดาไว้ได้อยู่แล้ว ทุกวันนี้ได้ประกอบอาชีพนี้ก็ภูมิใจอยู่ได้แล้ว
ผมคิดว่า คสช. ก็ให้ความเป็นธรรมกับสื่อพอสมควร เขาจะเล่นโหดกว่านี้ก็ได้ ถ้าเขาปิดตั้งแต่ตอนแรกแล้วไม่ให้กลับมาเปิดสักสถานีเลยก็ได้ ในบางครั้งบางคราวก็ไม่ได้เป็นเผด็จการสูง แต่บางเรื่องก็อ่อนไหวไม่อยากให้ไปแตะ ไม่อยากให้พูดถึง บางอารมณ์ คสช. ผ่อนปรนพอสมควร บางอารมณ์เขาโอเค ก็ปล่อยให้เราอยู่ แต่บางอารมณ์อยู่ดีๆ ตื่นมา ก็อ้าว!
ถ้าเป็นประเทศอียิปต์เขาคงมายกอุปกรณ์ไปหมดแล้ว ไม่ปล่อยให้พูดกันอย่างนี้อีกแล้ว ประเทศนี้ยังพออยู่ได้ ผมทำความเคยชินกับสถานการณ์แบบนี้ไปแล้ว นี่คือปัญหาของเผด็จการไทย ที่ทำให้เขาอยู่รอดได้ เพราะเขาไม่โหดพอที่จะทำให้คนต่อต้าน
เคยถูกทั้งสั่งแบนผู้ดำเนินรายการ และสั่งแบนรายการ ส่งผลต่างกันอย่างไร?
ตามกฎหมาย เขาไม่มีอำนาจชี้มาว่า ไม่เอาผู้ดำเนินรายการคนนี้ ถ้าเขาทำแบบนั้นมันอาจจะง่ายกว่า ตอนหลังเขาจึงใช้วิธีการแบนตัวรายการเลย เพราะมีความชอบธรรมมากกว่า
การสั่งแบนบางคนเป็นการส่วนตัว เผด็จการบางประเทศทำกัน มี Black List ซึ่งมีข้อดี คือ มันชัดเจนดี แต่มันดูเหี้ยมไปหน่อย เขาไม่ได้ทำ แต่เขาก็คงมีบัญชีรายชื่่ออยู่
การใช้อำนาจ ตามประกาศ คสช. แบบนี้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศเสรีภาพสื่อโดยรวมใช่ไหม?
ถูกต้อง มันปิด แล้วทำให้โอกาสของคนดูมีน้อยลงที่จะได้ดูรายการสร้างสรรค์ สนุก ที่เกี่ยวกับข่าวจริงๆ ไม่ใช่แค่รูปแบบสัมภาษณ์ในประเด็นทั่วไปที่ทุกช่องทำเหมือนกัน
ถ้าเสรีภาพมีจริง คุณจะได้เห็นรายการเชิงเสียดสี แบบอาจจะไม่ตลก เป็นการวิจารณ์การเมืองแบบจริงจังเยอะขึ้น ในทุกๆ สถานี โมเดลที่เป็นการวิเคราะห์ข่าวของสถานีต่างๆ จะมีขึ้นมากกว่านี้ แม้ไม่ได้มาแทนรูปแบบการรายงานข่าวประจำ จะมีบุคลิกอย่างผมมากขึ้น มีการคิดวิเคราะห์มากขึ้น จะมีสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการอยากจะสร้างให้เด็กเป็น คือ การคิดวิเคราะห์ได้ บนหน้าจอโทรทัศน์
การถูกสั่งแบนบ่อยๆ ส่งผลให้ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองหรือไม่?
มันมีผลในเชิงการเซ็นเซอร์ตัวเองแน่นอน ในการเลือกวิพากษ์วิจารณ์และการเลือกแขกรับเชิญ ผมเชิญนักการเมืองน้อยกว่าเมื่อก่อนเยอะ
สิ่งที่สร้างขึ้นได้ คือ ความกลัว เพราะในทุกๆ สำนักข่าวจะมีคนที่เป็นห่วงองค์กร แล้วก็มีเหตุมีผล เพราะทุกคนต้องการทำงานต่อ แล้วก็มีการตักเตือนกันเอง มีการเบรกกัน เพราะฉะนั้นต่อให้ผมไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง ผมไม่กลัว แต่มีเพื่อนร่วมงานบางคนกลัวแล้วคอยเตือนกันว่า เรื่องนี้อย่าเล่นเลย เป็นสภาพแวดล้อมที่จะมีการเตือนกันเอง แล้วจะไม่ฟังเพื่อนร่วมงานก็ไม่ได้ บางเรื่องก็เลยกลายเป็นไม่พูดเลยดีกว่า ถ้าถูกแทรกแซงบ่อยๆ มันมีผลแบบนี้จริง เราก็ต้องเคยชินแล้วปรับตัวไปตามสภาพ
ในทุกบริษัทที่ทำสถานีข่าว ก็จะต้องมีฝ่ายผลิต ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายบริหาร ฝ่ายทำเรื่องโฆษณา แล้วก็ฝ่ายที่ทำเนื้อหา ฯลฯ บรรยากาศที่เตือนกันเองเกิดขึ้นก็เพราะโดนแทรกแซงบ่อยๆ เขาต้องการสร้างบรรยากาศแบบนี้แหละ และนำมาสู่การเซ็นเซอร์ตัวเองที่สำเร็จ
ตัวอย่างเช่น ถ้าผมบอกว่า พรุ่งนี้ผมจะโฟนอิน ดร.ทักษิณ ผมไม่กลัวอยู่แล้ว แต่มันจะมีคนบอกว่า ทำไม่ได้ ผมกล้าทำ แต่เมื่อเขาสร้างความกลัวสำเร็จมันก็จบเหมือนกัน
บอกกับแฟนรายการสักหน่อยว่า หลังเซ็นเซอร์แล้วเท่าที่คุณปลื้มพูดออกอากาศได้ เหลืออยู่สักแค่ไหน?
ผมจะใช้คำพูดที่เป็นรหัสลับของผม (Code Word) ตัวอย่างเช่น คำว่า โครงสร้างอำนาจเผด็จการ คำนี้ผมพูดออกอากาศไม่ได้ มันจะโดนแบนแน่ แทนที่จะใช้คำนี้ผมอาจใช้คำอื่น เช่น Deep State (รัฐพันลึก)แล้วคอการเมืองก็ต้องไปวิเคราะห์กันต่อเองว่า ผมใช้คำนี้จริงๆ พูดถึงอะไร
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมขอก็คือ ต้องแปลคำเวลาดูรายการ แล้วต้องเข้าใจว่า ผมพยายามสื่อสารบางสิ่งบางอย่าง มันเป็นรหัสลับ ตัวอย่างเช่น คำว่า สถาปัตยกรรมทางการเมือง ก็หมายถึง Regime หรือ บางครั้งผมพูดว่า มารยาทพื้นฐานของบุคคลสาธารณะ จริงๆ คือ จะหมายถึงว่า เป็นนายกฯ ต้องไม่หยาบคาย
นอกจากกลไก กสทช. คุณปลื้มโดนกลไกการปิดกั้นวิธีอื่นด้วยหรือไม่?
เขาเลือกวิธีกินกาแฟกัน ไปกินกาแฟที่หน้าห้องกองทัพภาคที่หนึ่ง คนที่ดูแลผมตอนนั้นเป็นพลโท ท่านก็เลี้ยงกาแฟผมจริงๆ คุยกับผมดีดี แล้วก็มีการกินกาแฟกับพิธีกรอีกหลายคน หลายสถานีเหมือนกัน
เขาพยายามจะให้ผมเข้าใจว่า ที่ คสช. เข้ามาตั้งใจจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ทุกฝ่ายมีปัญหากันทั้งนั้น ผมสามารถทำให้ตนเองคล้อยตามวาทกรรมนั้นๆ ได้ เขาพยายามให้เราเห็นใจว่า เขากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งโอเค ผมเห็นใจได้ ผมก็เบาๆ ลงแล้วไปวิจารณ์เรื่องอื่นไป แต่ถ้าบางครั้งทำอะไรเอียงกะเท่เร่มากเกินไป ผมก็ทนเห็นใจไม่ได้ เช่น การไปยึดทรัพย์สี่แสนล้านโดยใช้คำสั่งทางปกครอง
แต่หลังจากปีแรกของ คสช. ก็ยกเลิกการกินกาแฟไป แล้วใช้กลไกของ กสทช. แทน เมื่อใช้กลไก กสทช. ก็มีกลไกการร้องเรียน มีหน่วยมอนิเตอร์ของทหารที่คอยส่งเรื่องไปที่ กสทช. นี่คือ ความดีงามของอำนาจรัฐในไทย มันพอคุยกันรู้เรื่อง เขาไม่ได้เล่นเต็มยกเว้นคนที่ไม่รู้จักหยุด
เคยเจอกับคณะทำงานติดตามสื่อของ คสช. หรือไม่?
ก็เป็นขั้นตอนปกติของ คสช. ที่ผมเข้าใจว่า เขาต้องมี ทั้งหมดนี้เขาทำเหมือนเป็นงานราชการไปแล้ว อย่าไปจินตนาการเหมือนในหนังซีไอเอ มันไม่มีดราม่า มันไม่ใช่หุ่นยนต์ บางครั้งวันศุกร์ท่านนายกฯ พูดยาว รายการผมเลยมาดึก บางทีผมก็พูดแรงในวันศุกร์โดยไม่มีใครว่า ก็เข้าใจว่า บางทีมันดึกเขาก็เลยไม่ได้ดู
ผมเข้าใจว่า ระบบการมอนิเตอร์ เขาไม่ได้มีกะดึก พอรายการเอามาฉายใหม่ตอนเช้า ก็เข้าใจว่า รายการที่ฉายใหม่นั่นแหละสร้างเวรสร้างกรรม เพราะมีจังหวะถูกมอนิเตอร์พอดี
รายการเต็มๆ มีมากกว่านี้ ติดตามได้ที่