ร่างยุทธศาสตร์คสช. ผ่านแล้ว มีอะไรต้องติดตามกันต่อ?

เมื่อร่างยุทธศาสตร์คสช. หรือที่ถูกเรียกอย่างสวยหรูโดยรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า "ร่างยุทธศาสตร์ชาติ" ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังมีประเด็นที่เราต้องติดตามกันต่ออีกอย่างน้อย 4 ประเด็น ดังนี้
1) คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เตรียมทำ "แผนแม่บท" ต่อ
เมื่อร่างยุทธศาสตร์ คสช. ได้รับความเห็นชอบจากสนช. แล้ว นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน เพื่อให้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้ โดยคาดว่าจะมีการประกาศใช้ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2561
เมื่อมีการประกาศใช้แล้ว ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจัดทำ 'แผนแม่บท' หรือแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ คสช. เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติให้ความเห็นชอบก่อน จากนั้นจึงเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อีกครั้ง ถ้าครม. เห็นชอบแล้วจึงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
เมื่อ 23 เมษายน 2561 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กล่าวว่า เห็นควรให้แผนแม่บทมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี แบ่งช่วงระยะเวลาพัฒนาเป็นสองช่วง ช่วงละ 10 ปี เพราะยาวนานพอที่ทำให้เห็นพัฒนาการ ถ้าเป็นห้าปีนั้นสั้นเกินไป
2) จับตาการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและอื่นๆ ในตำแหน่งที่เหลือ
ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 35 คน ขึ้นมา โดยแบ่งเป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่ง 18 คน และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 17 คน 
หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ จำนวนกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 29 คน มาจากคณะกรรมการประจำตำแหน่ง 17 คน ขาดตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ครม. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า ครม. ได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไปแล้ว 12 คน ยังเหลืออยู่อีก 5 ตำแหน่ง ให้แต่งตั้งเพิ่มเติมได้
นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมาด้วยอีกชุดหนึ่งเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยกำหนดจำนวนคณะกรรมการไม่เกิน 15 คน ในแต่ละด้าน
หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ได้แต่งตั้งกรรมการจัดยุทธศาสตร์ไปแล้ว 69 คน แบ่งเป็น
– ด้านความมั่นคง 11 คน (ยังมีตำแหน่งว่างอีก 4 ตำแหน่ง)
– ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 11 คน (ยังมีตำแหน่งว่างอีก 4 ตำแหน่ง)
– ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 13 คน (ยังมีตำแหน่งว่างอีก 2 ตำแหน่ง)
– ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 12 คน (ยังมีตำแหน่งว่างอีก 3 ตำแหน่ง)
– ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 9 คน (ยังมีตำแหน่งว่างอีก 6 ตำแหน่ง)
– ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 13 คน (ยังมีตำแหน่งว่างอีก 2 ตำแหน่ง)
ทั้งนี้ รัฐบาล คสช. ยังสามารถแต่งตั้งกรรมการแต่ละชุดที่ยังเหลืออยู่รวมทั้งหมด 26 ตำแหน่งเพิ่มอีกจนครบทุกตำแหน่งได้ โดยคณะกรรมการทั้งหมดจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี หรืออยู่จนถึงปี 2565 
สำหรับกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ จะพ้นจากตำแหน่งได้ต่อเมื่อ ขาดคุณสมบัติ ลาออก ตาย หรือ ครม.มีมติให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ ส่วนคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติการพ้นจากตำแหน่งให้ขึ้นอยู่กับระเบียบที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นผู้กำหนด
3) จับตาการบังคับใช้แผนยุทธศาสตร์หรือแผนแม่บทกับรัฐบาลชุดต่อไป
เมื่อแผนยุทธศาสตร์หรือแผนแม่บทของ คสช. มีผลบังคับใช้ แผนดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ต่อหน่วยงานราชการ นโยบายของรัฐบาล การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนการจัดทำงบประมาณประจำปีจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ คสช.
ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารราชการเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ คสช. พ.ร.บ การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 จึงกำหนดแนวทางการติดตาม ตรวจสอบ ลงโทษ ไว้ 3 แนวทาง ได้แก่
หนึ่ง กรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ยอมปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือแผ่นแม่บท ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้หน่วยงานของรัฐนั้นทราบพร้อมข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุง หากหน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการแก้ไขปรับปรุง ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติรายงานให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทราบเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้สั่งการหน่วยงานรัฐให้ดำเนินการแก้ไข
สอง กรณีที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท หรือในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา พิจารณาว่ารายงานสรุปผลการดำเนินงานของหน่วยรัฐไม่ ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท ทั้งสามหน่วยงานสามารถส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาลงโทษหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้น โดยการดำเนินการของ ป.ป.ช. ต้องแล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และในกรณีที่ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นจากตําแหน่งต่อไป
สาม กรณีที่ ครม. ไม่ดำเนินการหรือปฏิบัติตามตามแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือแผ่นแม่บท ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและวุฒิสภา (ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.) ทราบ และให้วุฒิสภาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดําเนินการ
ทั้งนี้ ให้ ป.ป.ช. พิจารณาและมีมติให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แล้วส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิจารณาตามมาตรา 81 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หากศาลประทับรับฟ้องผู้ถูกฟ้องต้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากตัดสินว่าผิด ให้ ครม. พ้นไปจากหน้าที่ และถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้ง หรือสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี โดยผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป นอกจากนี้ ครม. ยังอาจถูกฟ้องฐานทุจริตต่อหน้าที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ตามมาตรา 172 ของ  ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้อีกด้วย
4) การแก้ไขแผนยุทธศาสตร์คสช.
การยกเลิกยุทธศาสตร์ คสช. ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 และ พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แต่การแก้ไขสามารถทำได้ ในกรณีที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นว่าสถานการณ์ของโลกหรือสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถหรือไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้ หรือผ่านการทบทวนทุก 5 ปี
สำหรับขั้นตอนการแก้ไขยุทธศาสตร์ คสช. มีทั้งหมดหกขั้นตอน ดังนี้
หนึ่ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
สอง เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจึงค่อยจัดทำร่างยุทธศาสตร์ คสช. มาเสนอ ครม. 
สาม หาก ครม. เห็นชอบให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน 30 วัน
สี่ เมื่อ ครม. ส่งร่างยุทธศาสตร์ คสช. ต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว สภา ผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน ถ้าพิจารณาไม่แล้วเสร็จให้ถือว่าเห็นชอบ
ห้า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้ว จึงส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่ออีก 30 วัน ถ้าพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาให้ถือว่าเห็นชอบ
หก ถ้าสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาไม่เห็นชอบกับร่างยุทธศาสตร์ คสช. ให้ร่างนั้นเป็นอันตกไป และให้จัดทำใหม่ตั้งแต่ต้นภายใน 180 วัน
ส่วน 'แผนแม่บท' เป็นหน้าที่เฉพาะของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่จะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม โดยขั้นตอนคือ ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและ ครม. ก่อน ถ้าได้รับความเห็นชอบจึงสามารถดำเนินการแก้ไข แล้วจึงส่งกลับมาให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา