กษิต ภิรมย์: กระจายอำนาจให้สำเร็จไม่ใช่แค่มีท้องถิ่น

10 พฤษภาคม 2561 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเสวนาประชาธิปไตยแบบล่างขึ้นบนกับการกระจายอำนาจและการบริหารราชการแผ่นดินไทย โดยมีกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมเป็นวิทยากร
กษิต เริ่มกล่าวด้วยการยกตัวอย่างการกระจายอำนาจในประเทศต่างๆ ว่า ประเทศแคนาดาไม่มีกระทรวงศึกษาธิการ การศึกษาจะขึ้นอยู่ที่มณฑลหรือจังหวัด การไม่มีกระทรวงศึกษาธิการจึงทำให้ทุกวันนี้การศึกษาของแคนาดาเป็นที่หนึ่งของโลก เพราะมีการแข่งขันกันทั้งในคุณภาพครู หลักสูตร และคุณภาพของการศึกษา ประเทศญี่ปุ่นการศึกษาถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากอำนาจในการจัดการการศึกษาถูกโอนไปให้ท้องถิ่นจัดการกันเองทั้งหมด กระทรวงการศึกษาหรือส่วนกลางจะมีหน้าที่บริหารจัดการเพียงไม่กี่เรื่อง เช่น การทำหลักสูตรกลาง
ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีหลักสูตรการศึกษากลางแต่ก็มีคณะกรรมการการศึกษาในแต่ละจังหวัด ซึ่งคณะกรรมการมาจากภาคประชาชนประกอบกับผู้ทรงคุณวุฒิ และไม่มีข้าราชการจากส่วนกลางหรือข้าราชการท้องถิ่น เนเธอร์แลนด์มองว่าอนาคตของเยาวชนต้องอยู่ที่พ่อแม่และผู้ปกครอง หรือเรื่องที่สำคัญมากซึ่งเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของประชาชนคือเรื่องน้ำ เนเธอร์แลนด์อยู่ใต้ทะเลกว่า 60% ของพื้นที่ มีคณะกรรมการน้ำแห่งชาติเป็นคณะกรรมการและหน่วยงานที่เป็นอิสระ 100% มีหน้าที่ชี้แจงต่อสภา และสภาต้องอนุมัติงบประมาณให้ล่วงหน้า 10 ปี รัฐบาลไม่สามารถเข้ามายุ่งได้เลย
ประเทศเยอรมนี เรื่องการดับเพลิงทั้งหมดเป็นเรื่องของประชาชนของเอกชนซึ่งสามารถดูแลทั้งภาคพื้นดินและทะเล มีเฮลิคอปเตอร์มีเรือที่จะออกทะเลในช่วงที่มีคลื่นหรือเกิดเหตุด่วนอะไรต่างๆ ในเยอรมนีมีองค์กรเอ็นจีโอประมาณ 800,000 องค์กร เมื่อเอ็นจีโอทำงานรัฐบาลต้องมาช่วยเหลือค้ำจุนในส่วนต่างๆ อีกส่วนหนึ่งคือการมอบงานท้องถิ่นให้กับชุมชน เช่น เวลาจัดงานหรือกิจกรรมประชาชนจะจัดการกันเอง ไม่มี อบต. ไม่มีเทศบาล หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามายุ่งเกี่ยว โดยรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนเรื่องงบประมาณ
กษิต กล่าวว่า หลายๆ ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยการกระจายอำนาจของเขาประสบความสำเร็จ เพราะว่าได้โอนอำนาจต่างๆ ไม่ใช่แค่ในระดับส่วนกลางมาสู่ท้องถิ่น แต่ยังโอนอำนาจไปยังสมาคมวิชาชีพ ดังนั้นการจดทะเบียนขออนุญาตต่างๆ ก็เป็นการดูแลกันเองไม่ต้องไปที่กระทรวง หรือการกระจายอำนาจโดยการโอนงานสังคมสงเคราะห์ให้กับองค์กรเอ็นจีโอ เช่น การดูแลคนพิการหรือคนชราก็ไม่ได้เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงพัฒนาสังคม แต่เป็นหน้าที่เอ็นจีโอแทน สิ่งต่างๆเหล่านี้ สามารถโอนอำนาจให้ประชาชนได้หากเชื่อมั่นว่าประชาชน วิชาชีพ หรือชุมชนสามารถที่จะดูแลกันได้
สำหรับประเทศไทย กษิต ภิรมย์ เสนอว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือยุบกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เรารู้กันว่าผู้ว่าราชการจังหวัดและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจและอิทธิพลกับท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ลายเซ็นที่ใช้เพื่ออนุมัติหรืออนุญาตเป็นสิ่งสำคัญที่นำมาซึ่งการทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนั้นควรจะมอบอำนาจต่างๆ ให้ประชาชนในการดูแลตัวเองไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งเรื่องเงินก็ไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะในเมื่อประชาชนเป็นเจ้าของงบประมาณก็ให้เป็นหน้าที่ของประชาชนจัดการไม่ต้องมีหน่วยงานส่วนกลาง นอกจากนี้เสนอให้ยุบสำนักงานของกระทรวงต่างๆ ไปทั้งหมด ไม่ควรมีสำนักงานพาณิชย์ สำนักงานท่องเที่ยว สำนักงานวัฒนธรรมประจำจังหวัด เพราะองค์กรต่างๆ เหล่านี้ทางท้องถิ่น ชุมชน หรือเอ็นจีโอสามารถดูแลตนเองได้
นอกจากนี้ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในประเทศไทยที่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างคนกรุงเทพฯ 6 ล้านคน กับคนไทยที่เหลืออีก 62 ล้านคน ทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงสามารถเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดได้ แต่คนไทยอีก 76 จังหวัด ไม่สามารถเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดได้ จึงควรจะต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงทันที อีกสิ่งหนึ่งคือประเทศอินโดนีเซีย หรือประเทศญี่ปุ่น มีกระทรวงส่วนกลางเหลืออยู่ประมาณ 7-8 กระทรวง คือกระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงกิจการวัฒนธรรมและศาสนา และกระทรวงหน่วยงานวางแผน ส่วนกระทรวงอื่นๆ จะเป็นสำนักงานที่วางแผนเท่านั้น เพราะฉะนั้นประเทศไทยควรตัดกระทรวงที่มีกว่า 20 กระทรวงให้เหลือสัก 10 กระทรวง แล้วกระทรวงที่ตัดออกไปก็จัดให้เป็นสำนักงานวางแผนขึ้นกับรัฐมนตรีก็จะทำให้การทำงานต่างๆ คล่องตัวขึ้น