สี่ปีคสช. ภาพรวมการใช้มาตรา 44

 
ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว คสช. อาศัยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ออกประกาศและคำสั่ง คสช. บังคับใช้ไม่น้อยกว่า 288 ฉบับ โดยคำสั่งและประกาศที่ออกมาในช่วงแรกจะเป็นไปเพื่อจัดการอำนาจภายในประเทศให้เบ็ดเสร็จ มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับเดิม, ห้ามโยกย้ายกำลังทหาร, แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. หรือบุคคลในคณะกรรมการต่างๆ นอกจากนี้ยังให้น้ำหนักไปที่การจำกัดเสรีภาพของประชาชน เช่น การออกคำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัว, การห้ามบุคคลเดินทางออกนอกราชอาณาจักร, การห้ามประชาชนชุมนุมทางการเมือง และการให้คดีของพลเรือนตามมาตรา 112, 116 และคดีอาวุธ อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร
 
เมื่อสถานการณ์เริ่มทรงตัว ประกาศและคำสั่งของ คสช. ออกมาลักษณะของการจัดระเบียบอำนาจภายในองค์กรอื่นๆ ด้วยการแต่งตั้งข้าราชการหลายร้อยคนให้ดำรงตำแหน่งและโยกย้ายคนเดิมไปรักษาราชการทีอื่น ขณะเดียวกัน คสช. ก็ออกประกาศจัดตั้งคณะกรรรมการชุดต่างๆ โดยบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการลำดับแรกๆ มักจะเป็นข้าราชการทหาร และคนที่ คสช. “ไว้ใจ” และตามด้วยข้าราชการในสังกัดที่เกี่ยวข้อง, รวมถึงการแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าขณะนั้น
 
ต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ประกาศใช้มีทั้งสิ้น 48 มาตรา โดยในมาตรา 44 ให้อำนาจ คสช. สั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ที่มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด และในมาตรา 47 ของยังคุ้มครองการออกและปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งที่ คสช. ประกาศใช้ก่อนหน้าให้เป็นคําสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด รวมทั้งมาตรา 48 ที่คุ้มครองการกระทำของ คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และคุ้มครองการกระทำของบุคคลที่ คสช. ได้มอบหมายให้ปฏิบัติให้พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
 
ทั้งหมดนำไปสู่วัฒนธรรมการใช้อำนาจของ คสช. ที่สามารถออกคำสั่งได้ตามใจ โดยเป็นกอำนาจไร้ขีดจำกัด เราได้เห็นการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งสารพัดประเด็น ไม่ว่าจะการใช้สั่งห้ามจุดพลุช่วงปีใหม่, จัดการปัญหาจราจร, เด็กแว้น, แก้ปัญหาหารประมง, แก้ปัญหาการบิน, จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น เมื่อมีอำนาจตาม “มาตรา 44" คสช. ก็ใช้อำนาจออกประกาศและคำสั่งโดยตรงน้อยลง แต่มาอ้างอิง มาตรา 44 ออกเป็น “คำสั่งหัวหน้า คสช.” แทน ซึ่งให้ผลไม่ต่างกัน
 
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ไปแล้วไม่น้อยกว่า 189 ฉบับแบ่งเป็นปี 2557 1 ฉบับ ปี 2558 47 ฉบับ ปี 2559 78 ฉบับ ปี 2560 54 ฉบับ และปี 2561 ในช่วง 4 เดือนแรก 9 ฉบับ
 
 
 
การใช้มาตรา 44 ในปี 2557
หลังจากวันที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวใช้บังคับยังปรากฏว่า มีประกาศและคำสั่งที่ออกมาโดยไม่ได้ระบุชัดว่า ใช้อำนาจมาตรา 44 อีกจำนวนไม่น้อยกว่า 85 ฉบับ จนกระทั่งในเดือนธันวาคม มาตรา 44 ก็ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกออกเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2557 สั่งให้หยุดการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกรูปแบบจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
 
 
การใช้มาตรา 44 ในปี 2558
ในปี 2558 คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งจำนวน 47 ฉบับ ในจำนวนนี้เมื่อแบ่งแยกเป็นรูปแบบการใช้พบว่า เป็นการระงับการสรรหา แต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการไม่น้อยกว่า 25 ครั้ง โดยเป็นเรื่องการทุจริต ไม่น้อยกว่า 7 ครั้งและการลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง รองลงมาเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 5 ครั้ง โดยเป็นเรื่องปัญหารการประมง 3 ครั้ง และเมื่อแบ่งแยกตามหัวข้อเรื่องพบว่า มาตรา 44 ถูกนำมาใช้แก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ไม่น้อยกว่า 7 ครั้ง รองลงมาเป็นเรื่องการลงทุน ไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง
 
 
ในปีนี้อำนาจมาตรา 44 ยังถูกนำมาใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่มีกรอบระยะเวลาจำกัด เช่น การแก้ไขการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรปเรื่องการประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุม (IUU Fishing) และการแก้ไขปัญหาการบินที่ไทยถูกองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประกาศติดธงแดงนอกจากนี้มาตรา 44 ยังถูกนำมาใช้ในการจัดการปัญหาการแข่งรถในถนนสาธารณะ จะเห็นได้ว่า มาตรา 44 รุกคืบเข้ามาจัดการประเด็นทางสังคม เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนทั่วไปและถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองกับความต้องการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว โดยละเลยกรอบของกฎหมายหรือกระบวนการที่มีอยู่เดิม
 
 
การใช้มาตรา 44 ในปี 2559
ในปี 2559 คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งจำนวน 78 ฉบับ ในจำนวนนี้เมื่อแบ่งแยกเป็นรูปแบบการใช้พบว่า เป็นการระงับการสรรหา แต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการไม่น้อยกว่า 27 ครั้ง โดยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่น 7 ครั้ง รองลงมาเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง เรื่องที่นำมาใช้ส่วนใหญ่คือ ปัญหาการบินและปัญหาการประมง และเมื่อแบ่งแยกตามหัวข้อเรื่องพบว่า มาตรา 44 ถูกนำมาใช้แก้ไขปัญหาการทุจริตไม่น้อยกว่า 8 ครั้ง ต่อมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการศึกษา ไม่น้อยกว่า 8 ครั้ง และเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่น้อยกว่า 6 ครั้ง จำนวนนี้มีไม่น้อยกว่า 2 ครั้งที่ใช้มาตรา 44 ในการแก้กฎหมายระดับพ.ร.บ.
 
ปรากฏกรณ์ที่น่าจดจำ คือ กรณีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 27/2559 ที่ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ออกมาหลังจากเกิดกระแสคัดค้านข้อความในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติเรื่องสิทธิการศึกษาฟรี 12 ปี เพื่อเป็นการยืนยันว่า การศึกษาฟรีจะยังคงมีอยู่ต่อไป จึงเป็นการใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไขจุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญ และลดความกังวลหากประชาชนจะลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ
 
 
การใช้มาตรา 44 ในปี 2560
ในปี 2560 คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งจำนวน 54 ฉบับ ในจำนวนนี้เมื่อแบ่งแยกเป็นรูปแบบการใช้พบว่า เป็นการใช้มาตรา 44 เพื่อระงับการสรรหา แต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการไม่น้อยกว่า 21 ครั้ง ใช้มากสุดในเรื่ององค์กรอิสระ ไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง รองลงมาเป็นเรื่องการทุจริต ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง และเมื่อแบ่งแยกตามหัวข้อเรื่องพบว่า มาตรา 44 ถูกนำมาใช้แก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องการศึกษามากที่สุดคือ ไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง และ เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการและเตรียมความพร้อมให้จัดตั้งเขตเศรษฐิกจพิเศษให้ได้
 
ในปีนี้เองยังปรากฏการใช้มาตรา 44 ในจำกัดเสรีภาพเพิ่มเติมคือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 5/2560 ให้อำนาจกับทหารตำรวจเพิ่มขึ้น เพื่อไล่ล่าจับกุมพระธัมมชโย เนื้อหาระบุว่า การบังคับใช้วิธีทางอาญาได้กระทำไปหมดแล้วแต่ยังไม่บรรลุผล มากไปกว่านั้นเนื้อหาของคำสั่งเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจัดการมากกว่าคำสั่งอื่นๆ ที่ คสช. เคยประกาศใช้ในอดีต
 
การใช้มาตรา 44 ในปี 2561
ในปี 2561 คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งจำนวน 9 ฉบับ ในจำนวนนี้เมื่อแบ่งแยกเป็นรูปแบบการใช้พบว่า เป็นการใช้มาตรา 44 เพื่อระงับการสรรหา แต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ใช้ในเรื่ององค์กรอิสระ ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง รองลงมาเป็นการใช้แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคสช. เอง 2 ครั้ง เมื่อแบ่งแยกตามหัวข้อเรื่องพบว่า มาตรา 44 ถูกใช้ในเรื่ององค์กรอิสรมากที่สุด คือ ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง และเรื่องอื่นๆกระจัดกระจายกันออกไปเช่น การประมงและการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น
 
แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ทำงานไม่ทันใจ-ถูกกล่าวหาทุจริต
จากคำสั่งอย่างน้อย 188 ฉบับ มีอย่างน้อย 27 ฉบับที่ใช้ในสั่งแต่งตั้ง โยกย้าย ปลด หรือระงับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ ที่ถูกกล่าวหาว่า ทุจริตหรือทำงานล่าช้า ส่วนหนึ่งเป็นการแต่งตั้งคนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ, คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และอีกส่วนหนึ่งเป็นการโยกย้ายหัวหน้าหน่วยงานซึ่งกำลังมีภารกิจสำคัญที่ คสช. ให้ความสนใจ ตัวอย่างเช่น
 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 66/2559 สั่งให้ทรงพร โกมลสุรเดช พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและให้ไปดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ฐานเศรษฐกิจรายงานว่า การย้ายอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความล่าช้าของโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐหรืออินเตอร์เน็ตหมู่บ้านซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณให้เรียบร้อยเมื่อช่วงต้นปี 2559 แต่โครงการกลับยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
 
 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 12/2560 สั่งให้ พนม ศรศิลป์ พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และให้พ.ต.ท.พงศ์พร พรามหมณ์เสน่ห์ กรมสอบสวนคดีพิเศษมาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งคำสั่งนี้ออกมาในช่วงที่ คสช. พยายามเข้าปราบปรามวัดพระธรรมกาย และจับกุมพระธัมมชโย และตำรวจนายนี้ก็ยังดำรงตำแหน่งมาจนถึงวันครบ สี่ปี คสช.
 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 48/2560 สั่งให้วรานนท์ ปิติวรรณพ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและให้ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงแรงงานแทน ไทยพีบีเอสรายงานคำให้สัมภาษณ์ของวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่กล่าวในทำนองที่ว่า การโยกย้ายวรานนท์ออกจากตำแหน่งเป็นเพราะความต้องการให้ปัญหาแก้ไขอย่างรวดเร็ว
 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2560 และ 3/2561 ให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คือ ออมสิน ชีวะพฤกษ์ และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
 
จากจำนวนคำสั่ง 27 ฉบับ มี 10 ฉบับที่ เป็นการประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐถูกตรวจสอบประเด็นการทุจริต รวม 10 ฉบับ สั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐรวม 403 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว หรือย้ายไปปฏิบัติหน้าที่อื่น แบ่งเป็น ข้าราชการ 75 คน ผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น 196 คน ข้าราชการองค์กรส่วนท้องถิ่น 102 คน ตำรวจ 8 คน ผู้บริหารสถานศึกษา 5 คน และเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ อีก 17 คน ไม่มีทหารเลย 
 
นอกจากคำสั่ง 27 ฉบับนี้แล้ว ยังมีคำสั่งที่อาศัย “มาตรา 44” อีกอย่างน้อย 14 ฉบับ ที่เข้ามาแทรกแซงออกแบบกระบวนการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐ เช่น การต่ออายุให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการสรรหา ป.ป.ช. การปลดกรรมการการเลือกตั้ง และยังมีอีก 3 ฉบับที่เป็นการระงับการสรรหากรรมการกสทช. และกรรมการปฏิรูปกฎหมาย 
 
 
แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
จากคำสั่งอย่างน้อย 188 ฉบับ มีอย่างน้อย 18 ครั้งที่ถูกนำมาใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดหรือพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ซึ่งหากไทยไม่ปฏิบัติจะได้รับผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจแบ่งได้เป็น 4 ประเด็นดังนี้ มาตรการในการป้องกัน  ยับยั้ง และขจัดการทําการประมงผิดกฎหมาย  ขาดการรายงาน  และไร้การควบคุม  (IUU  Fishing) อย่างน้อย 9 ครั้ง, ข้อกำหนดการบินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) อย่างน้อย 7 ครั้ง, อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) อย่างน้อย 1 ครั้ง และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ค.ศ. 2000 (UNTOC) อย่างน้อย 1 ครั้ง
กรณีมาตรการในการป้องกัน  ยับยั้ง  และขจัดการทําการประมงผิดกฎหมาย  ขาดการรายงาน  และไร้การควบคุม  (IUU  Fishing)
 
 
วันที่ 21 เมษายน 2558  คณะกรรมธิการยุโรป สหภาพยุโรปประกาศเตือนไทยอย่างเป็นทางการให้แก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมการประมงให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับ IUU  Fishing ให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินตามมาตรการต่างๆ เพื่อถอดถอน “ธงเหลือง” ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2558 คสช. ออกคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย  ขาดการรายงาน  และไร้การควบคุม เพื่อจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมายมาดูแลการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
มาตรวัดการแก้ไขปัญหาประสบผลสำเร็จหรือไม่ อาจดูได้จากคำสั่งหัวหน้า คสช .ที่ 17/2559 ที่ออกเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559 สั่งให้วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ย้ายไปอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ยืนยันว่า การโยกย้ายตามคําสั่งนี้เกิดจากความความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและต้องการปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนกระทั่งวันครบรอบสี่ปี คสช. สหภาพยุโรปยังคงไม่ปลดธงเหลืองให้แก่ประเทศไทย ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับปัญหาการจัดการการเดินเรือและการบังคับใช้กฎหมาย
กรณีข้อกำหนดการบินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
ในเดือนมิถุนายน 2558  ICAO ได้ติด “ธงแดง” มาตราฐานการบินพลเรือนไทย โดยจากการตรวจสอบของ ICAOพบว่า ไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน เช่น มาตรฐานของบุคลากรในกรมการบินพลเรือนและมาตรฐานของสายการบินแบบเช่าเหมาลำ ต่อมาในวันที่ 11 กันยายน 2558 หัวหน้า คสช. จึงใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 27/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการกํากับดูแลและพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศไทย จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา
 
ความกระตือรือร้นของการแก้ไขปัญหาการบินผ่านมาตรา 44 ยังคงปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ว่า จะเป็นการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 27/2559 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและอันตรายจากวัตถุที่ลอยขึ้นไปสู่อากาศ และการออกคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่  48/2559 เรื่อง การปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในบางหน่วยงานของรัฐ เพื่อโยกย้ายข้าราชการให้ไปแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวโดยตรง ต่อมาวันที่ 7 ตุลาคม 2560 ICAO ได้ปลดล็อก “ธงแดง” ให้ประเทศไทย
 
กรณีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)
ในการประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2556 ระบุว่า ประเทศไทยมีการซื้อขายงาช้างจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงาช้างแอฟริกา จึงเรียกร้องให้ไทยออกกฏหมายในการควบคุมและสกัดกั้นการค้างาช้าง ไม่เช่นนั้นจะคว่ำบาตรทางการค้ากับไทย ซึ่งก็จะส่งผลต่อการส่งออกพืชและสัตว์ตามบัญชี CITES หนึ่งปีถัดมา ไทยก็ยังคงไม่สามารถใช้มาตรการควบคุมการค้างาช้างภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพได้ ทำให้ CITES ต้องเร่งรัดไทยอีกครั้ง พร้อมให้เวลาเพิ่มอีกหนึ่งปี ซึ่งระยะดังกล่าวอยู่ในช่วงปี 2558-2559
ต่อมาหัวหน้าคสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 60/2559 เรื่อง มาตรการป้องกันการนําช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน ประกอบกับการแก้ไขข้อบกพร่องของกฏหมายด้วยการเพิ่มงาช้างแอฟริกาเข้าไปอยู่ในการควบคุมของพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี 2535 พร้อมออกพ.ร.บ.งาช้าง ให้ประชาชนที่ครอบครองงาช้างมาลงทะเบียน เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลในการควบคุมการค้างาช้างภายในประเทศ และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับใหม่ จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการอนุสัญญา CITES ได้ลดความกังวลในเรื่องการค้างาช้างของประเทศไทย
กรณีการแก้ไขปัญหาตาม IUU Fishing เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า การใช้ “มาตรา 44” ออกคำสั่งโดยเร่งด่วนหลายฉบับ ไม่ใช่หลักประกันถึงผลสำเร็จของการแก้ไขปัญหาเสมอไป ประกอบกับการแก้ไขปัญหา ICAO คสช. ได้ออกมาตรา 44 ก่อนหน้าที่มติครม.จะเห็นชอบให้ออกพระราชกำหนดเพียง 11 วันเท่านั้น ฉะนั้นหากจะกล่าวว่า การใช้มาตรา 44 เป็นไปเพื่อให้แก้ปัญหาด้วยความรวดเร็ว คงจะกล่าวได้ไม่เต็มปากนักเพราะเครื่องมือของฝ่ายบริหารอย่าง มติคณะรัฐมนตรี หรือการออกพระราชกำหนด ก็ยังมีอยู่ ส่วนกรณีของ CITES จะเห็นได้ชัดว่า ปัญหาถูกแก้ไขด้วยกลไกอย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผลักดันการแก้ไขกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และการใช้กระบวนการสร้างการเรียนรู้ทางสังคมประกอบเข้าไปด้วย
ทั้งกรณีของ ICAO และ CITES แสดงให้เห็นว่า การทำงานของกฎหมายปกติยังสามารถแก้ไขปัญหาได้ ไม่ใช่ว่า การแก้ไขปัญหาต้องพึ่งพาอำนาจพิเศษของ มาตรา44 เท่านั้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยเองก็ยังเป็นรัฐภาคีในพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) เป็นต้น และถูกทักท้วงจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปี 2560 ถึงการละเมิดสิทธิและเสรีภาพประชาชนในด้านต่างๆ แต่ไม่ปรากฏการใช้อำนาจมาตรา 44 มาใช้แก้ไขปัญหาด้านดังกล่าวเลย
 
การจำกัดสิทธิและเสรีภาพ
แนวโน้มหนึ่งที่เห็นเด่นชัดของการใช้ “มาตรา 44” คือ การออกคำสั่งที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรง มีอย่างน้อย 7 ฉบับ คือ คำสั่งที่หัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ, คำสั่งที่หัวหน้า คสช. ที่ 5/2558 เรื่อง แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 , คำสั่งที่หัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 เรื่อง การปราบปรามผู้มีอิทธิพล, คำสั่งที่หัวหน้า คสช. ที่ 25/2559 เรื่อง ยกเลิกการห้ามบุคคลเดินทางออกนอกราชอาณาจักร, คำสั่งที่หัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 เรื่อง ให้อำนาจ กสทช. ควบคุมเนื้อหาของสื่อมวลชน, คำสั่งที่หัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 เรื่อง การยุติเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 เรื่อง กำหนดพื้นที่ควบคุมกรณีวัดพระธรรมกาย
จำนวนการใช้มาตรา 44 เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรงน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคำสั่งและประกาศในช่วงก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีไม่น้อยกว่า 46 ฉบับ ลักษณะเช่นนี้ไม่ได้สะท้อนถึงภาวการณ์ผ่อนคลายให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพได้ เพราะคำสั่งและประกาศที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ก็ยังคงใช้บังคับจนถึงปัจจุบัน
คำสั่งที่สำคัญ คือ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เป็นเครื่องมืให้อำนาจทหารเข้าปราบปรามผู้เห็นต่างได้แทนกฎอัยการศึก ให้ทหารมีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัวและคุมขังได้เจ็ดวัน รวมทั้งสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปด้วย ส่งผลให้มีคนถูกตั้งข้อหานี้แล้วอย่างน้อย 338 คน
 
อีกคำสั่งหนึ่ง คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 เรื่อง การกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ให้อำนาจ กสทช. ในการพิจารณาเนื้อหาสื่อ และสั่งลงโทษสื่อได้ด้วยอำนาจที่กว้างขวางขึ้น โดยคุ้มครอง กสทช. กรณีที่ใช้อํานาจหน้าที่โดยสุจริต  ไม่เลือกปฏิบัติ   และไม่เกินสมควรแก่เหตุ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง  ทางอาญา  และทางวินัย ตลอดระยะเวลาที่มาตรา 44 มีผลใช้บังคับมีสื่อที่ถูกลงโทษจากผลพวงจากคำสั่งนี้โดยตรงไปแล้วไม่น้อยกว่า 34 ครั้ง
 
ถอดยศทักษิณ เรื่องเร่งร้อน ไม่อยากใช้กระบวนการปกติ
วันที่ 5 กันยายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่ 26/2558 เรื่อง การดําเนินการเพื่อถอด  พันตํารวจโท  ทักษิณ  ชินวัตร ออกจากยศตํารวจ ระบุว่า กรณีการถอดยศของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นกรณีกระทบต่อความมั่นคงของชาติและมีความจําเป็นต้องดําเนินการเป็นการด่วนจึงมีคำสั่งให้ถอดยศตำรวจ โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้เป็นผลมาจากการรายงานและเสนอเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ตามปกติแล้วการถอดยศตำรวจจะต้องพิจารณาตามมาตรา 28 ของพ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ  พ.ศ.2547 (พ.ร.บ.ตำรวจฯ) ประกอบระเบียบสํานักงานตํารวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตํารวจ พ.ศ.2547 ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวสามารถเสนอขอถอดยศเมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
1. ต้องคําพิพากษาของศาลถึงที่สุดว่า ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แม้ศาลจะพิพากษารอการกําหนดโทษ หรือกําหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ตาม
2. ต้องคําพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุก หรือโทษที่ หนักกว่าจําคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
3. ต้องคําพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นโดยทุจริต
4.กระทําผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและมีคําสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
5. ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง สําหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
6.ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สําหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
7.ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตํารวจ
วันที่ 21 ตุลาคม 2551 ศาลฎีกาคดีอาญาของแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาตัดสินให้พันตำรวจโท ทักษิณ มีความผิดตามพ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายอาญา ในคดีที่ดินรัชดาฯ ซึ่งอาจเข้าข่ายการถอดยศตามระเบียบดังกล่าว และในปี 2554 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกระเบียบการถอดยศ ให้สามารถใช้บังคับได้ทั้งกับข้าราชการตำรวจและ ผู้ที่พ้นจากราชการตำรวจแล้ว
 
คิดไม่รอบคอบ คสช. ต้องกลับลำแก้คำสั่งไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง
จากจำนวนคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหมด 188 ฉบับมีอยู่ไม่น้อยกว่า 3 ครั้งที่เมื่อ คสช. ออกคำสั่งมาแล้วได้รับกระแสคัดค้านจากสังคมอย่างมาก จนต้องแก้ไขคำสั่งหรือผ่อนคลายการบังคับใช้
ครั้งแรก ในปี 2558 วันที่ 18 ตุลาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคําสั่งที่ 38/2558 แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 37/2558 เรื่อง การกําหนดตําแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการ ที่ออกมาก่อนหน้านั้นสามวัน คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 37/2558 ตอนแรกสั่งให้ นัฑ ผาสุข ย้ายจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา ไปเป็น เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แต่คำสั่งที่ออกใหม่แก้ไขให้ถือว่า นัฑ ผาสุข ไม่เคยพ้นจากตำแหน่งเดิม และไม่เคยได้รับการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และตามที่คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบให้นัฑ ผาสุข ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการวุฒิสภาแล้วนั้น ให้สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดําเนินการเรื่องต่อไปได้
 
การโยกย้ายกลับไปกลับมาครั้งนี้สืบเนื่องจากคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 37/2558 ที่สั่งให้นัฑ ผาสุข ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแทนจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการฯ คนเดิม ซึ่งถูกย้ายเนื่องจากปัญหาการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ไม่แล้วเสร็จ ต่อมากรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ข้าราชการในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรนัดกันสวมชุดดำเพื่อแสดงสัญลักษณ์ถึงความไม่พอใจในการโยกย้ายข้ามห้วยเช่นนี้ ด้านคมชัดลึกรายงานคำสัมภาษณ์ของพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ระบุว่า หลังเกิดกระแสความไม่พอใจต่อการโยกย้าย ตนได้ปรึกษาร่วมกับหัวหน้า คสช. ได้ข้อสรุปว่า เพื่อไม่ให้กระทบความรู้สึกของบุคลากร คสช. จึงเปลี่ยนแปลงคำสั่ง  ให้นัฑกลับมาดำรงตำแหน่งเดิม
 
ครั้งที่สอง ในปี 2560 วันที่ 21 มีนาคม 2560 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก การออกคำสั่งนี้เกิดขึ้นในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ เพื่อกวดขันการจราจรหวังลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ประเด็นใหญ่อยู่ที่การห้ามประชาชนนั่งท้ายกระบะ ซึ่งอาจถูกจับและมีโทษปรับในข้อหาใช้รถยนต์ผิดประเภทตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.รถยนต์ฯ และห้ามประชาชนนั่งที่ “แคป” ของกระบะ ซึ่งอาจถูกจับฐานไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ไม่ได้เป็นการออกกฎหมายใหม่ เพียงกวดขันการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมให้เข้มข้นขึ้น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ที่เตรียมตัวจะเดินทางกลับบ้านช่วงวันหยุดสงกรานต์ หรือเตรียมตัวจะใช้รถกระบะบรรทุกน้ำไปเล่นน้ำ ก่อให้เกิดกระแสตีกลับความหวังดีที่ไม่เข้าใจสังคมของ คสช. ส่งผลให้ต้องออกเป็นมาตรการผ่อนผันให้นั่งท้ายกระบะในระยะนี้ได้ จนถึงวันที่ คสช. อยู่มาครบสี่ปี ก็ยังไม่มีความจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายตามคำสั่งฉบับนี้
 
ครั้งที่สาม ในปี 2560 เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน กำลังจะพ้นจากตำแหน่งเรื่องจากอยู่ในวาระครบ 9 ปี วันที่ 5 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง ฉบับที่ 23/2560 กำหนดให้สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปได้เลยโดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกประกาศใช้ โดยให้ทำตามขั้นตอนการสรรหาที่เขียนไว้คล้ายกับขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ 2550
 
แต่คำสั่งดังกล่าวยังไม่ทันได้ทำงาน วันที่ 20 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. ก็เปลี่ยนใจหันหลังกลับ 180 องศา ใช้มาตรา 44 อีกครั้งออกคำสั่งฉบับที่ 24/2560 ให้งดเว้นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งก่อนหน้านี้เอาไว้ก่อน เพื่อรอรัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายลูก และยืดอายุให้ตุลาการทั้ง 5 คนทำงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีกฎหมายลูกใช้บังคับ แต่เมื่อกฎหมายลูก คือ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้ ก็กลับเขียนใหม่ให้ตุลาการที่หมดวาระแล้วยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอีก จนกว่าจะมีการเรียกประชุมสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป แสดงให้เห็นว่า ก่อนการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่ละครั้งยังไม่ผ่านการไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนจึงต้องมีการเปลี่ยนใจภายหลัง
 
นอกจากการต้องกลับลำแก้ไขคำสั่งในทางเนื้อหาซึ่งออกมาเร็วเกินไปโดยไม่ได้ศึกษา รับฟังความเห็น หรือพิจารณาให้รอบคอบ จะเห็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความรีบร้อนเกินจำเป็นของการใช้มาตรา 44 คือ การปรากฏการสะกดคำผิดในคำสั่งหัวหน้า คสช. และต้องออกคำสั่งตามมาเพื่อแก้ไขคำผิดอีกอย่างน้อย 5 ครั้ง 
 
 
เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด ช่วยคุ้มครองซ้ำหลายชั้น สำหรับการกระทำของ คสช. และพรรคพวก
ขณะที่มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 คุ้มครองการออกและการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งของ คสช. ให้เป็นคําสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้ และมาตรา 48 บัญญัติคุ้มครองการกระทำของบุคคลที่ได้รับการมอบหมายจากหัวหน้า คสช. ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้การรับรองและคุ้มครองในลักษณะดังกล่าวซ้ำอีกครั้งในมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 
 
แม้ว่าการกระทำของ คสช. และพรรคพวกจะได้รับความคุ้มครองด้วยเสื้อเกราะทางกฎหมายที่ คสช. หล่อหลอมขึ้นมาเองอย่างแน่นหนาเช่นนี้แล้ว แต่ในกรณีที่ คสช. ใช้มาตรา 44 มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าจัดการปัญหาใดๆ ก็ยังปรากฏการเขียนคำสั่งหัวหน้า คสช. คุ้มครองให้ไม่ต้องรับผิดซ้ำอีกชั้นหนึ่ง อย่างน้อย 9 ฉบับ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบดังนี้
 
หนึ่ง การใช้มาตรา 44 ให้การคุ้มครอง โดยอ้างอิงตามมาตรา 17 ของพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) จำนวน 4 ฉบับ คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ, คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 46/2558 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการขับขี่ยานพาหนะ, คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 เรื่อง มาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
 
โดยคำสั่งทั้งสี่ฉบับดังกล่าว มีข้อความระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทําการไปตามอํานาจหน้าที่ตามคําสั่งนี้โดยสุจริต  และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็นได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 17 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรา 17 บัญญัติไว้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
 
สอง การใช้มาตรา 44 ให้การคุ้มครองโดยตรง จำนวน 5 ฉบับ คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 10/2558, คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 เรื่อง การกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ, คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 42/2559 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 56/2559 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 78/2559 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ
 
การเขียนคุ้มครองใช้ถ้อยคำเช่นเดียวกับมาตรา 17 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต  ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็นย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหาย ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
 
สาม การใช้มาตรา 44 ให้การคุ้มครองย้อนหลังคำสั่งหรือประกาศที่ออกไปก่อนหน้าแล้ว จำนวน 1 ฉบับคือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 6/2559 เรื่อง การคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ระบุว่า ให้บรรดาการคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจตามพ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ  พ.ศ.2547 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ดําเนินการตั้งแต่วันที่  22  พฤษภาคม 2547 จนถึงวันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย