เครื่องมือตามรัฐธรรมนูญใหม่ รู้ไว้เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ (กับประชาชน)

 

รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีแล้ว แม้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีปัญหาสารพัดที่หลายคนไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มาของร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดจากคณะรัฐประหาร กระบวนการร่างที่ขาดการมีส่วนร่วม การออกเสียงประชามติที่มีการปิดกั้นการให้ข้อมูลของฝ่ายรณรงค์ไม่เห็นชอบ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนถดถอยจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดช่องให้คสช.สามารถสืบทอดอำนาจผ่านกลไกต่างๆได้อีกหลายปี แต่การมีรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ก็ยังเป็นความก้าวหน้ากว่าการอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ทำให้ประเทศอยู่ภายใต้ คสช. อย่างเบ็ดเสร็จโดยที่ประชาชนแทบไม่มีสิทธิอะไรเลย
รัฐธรรมนูญ 2560 เต็มไปด้วยปัญหาที่ต้องการการแก้ไขแต่อย่างน้อยกลไกตามรัฐธรรมนูญหลายๆข้อที่เขียนไว้อย่างสวยหรูอาจก็เป็น "อาวุธ" ทางกฎหมายที่ประชาชนสามารถหยิบยกขึ้นมาใช้เพื่อทวงถามสิทธิเสรีภาพ และเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตทางการเมืองได้ แม้เครื่องมือเหล่านี้จะถูกเขียนขึ้นโดย คสช. และ คสช. ยังเป็นผู้กุมอำนาจอยู่ แต่หากประชาชนใช้งานได้ถูกช่องทางและถูกจังหวะ รัฐธรรมนูญ(ที่มาจากคสช.) ก็อาจเป็นฐานอำนาจให้ประชาชนใช้ต่อกรกับผู้มีอำนาจได้บ้าง
สิทธิเสรีภาพที่มีความชัดเจนกว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557
บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ใช้อยู่นานเกือบสามปีเต็ม ไม่ได้มีการเขียนรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างชัดเจน มีเพียง มาตรา 4 ที่เขียนว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ที่เคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อประชาชนจะอ้างสิทธิตามมาตราดังกล่าวก็จะต้องผ่านการตีความว่าสิทธิเสรีภาพใดบ้างได้รับการคุ้มครอง คุ้มครองเพียงใด และเมื่อคนมีอำนาจเป็นผู้ตีความ โอกาสที่จะตีความเข้าข้างประชาชนก็มีน้อย
เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แทนฉบับชั่วคราว 2557 บทบัญญัติในส่วนของสิทธิเสรีภาพที่เคยคลุมเครือก็ชัดเจนขึ้น เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร เสรีภาพของสื่อมวลชน สิทธิในความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการประกอบอาชีพ ฯลฯ ถูกเขียนจำแนกออกมาอย่างชัดเจน แม้ว่าการใช้สิทธิเสรีภาพจะยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติอยู่มากมาย แต่การเขียนบทบัญญัติจำแนกออกมาแทนการเขียนคลุมๆ แต่ไม่บัญญัติคำให้ชัดเจนอย่างในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็เป็นประโยชน์ในกรณีที่ประชาชนต้องต่อสู้คดีที่เกิดจากการใช้เสรีภาพในชั้นศาล การอ้างอิงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้ง่ายและชัดเจนขึ้น
แม้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 จะมีวิธีการเขียนที่พิเศษเฉพาะตัว คือ การเอาสิทธิเสรีภาพบางอย่างไปเขียนเป็นหน้าที่ของรัฐแทน เช่น สิทธิของประชาชนที่จะได้รับการศึกษา เปลี่ยนเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดการศึกษา สิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม เปลี่ยนเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดระบบบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไว้เช่นนี้แล้ว ก็เป็นโอกาสที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการไม่ทำหน้าที่ของรัฐจะทดลองนำเรื่องฟ้องคดีต่อศาล โดยเปลี่ยนมูลเหตุของการฟ้องคดีจากเดิมที่ต้องอ้างว่า "ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ" เป็น "รัฐไม่ทำหน้าที่" เพื่อเปิดช่องให้สถาบันตุลาการเข้ามาวางกรอบการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ทำหน้าที่เหล่านี้ได้
ประชาชนมีสิทธิเสนอร่างกฎหมายหรือเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่ออกกฎหมายแทนรัฐสภา ซึ่งในช่วงเกือบๆสี่ปีของการทำงานสนช. ออกกฎหมายมาแล้วอย่างน้อย 289 ฉบับ หลายฉบับมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบสามวาระรวดในวันเดียว กฎหมายเกือบทั้งหมดที่ออกโดยสนช.ถูกเสนอโดยหน่วยงานราชการ ผ่านคณะรัฐมนตรี ทำให้วิธีคิดแบบราชการค่อยๆ เข้าครอบงำประเทศผ่านการออกกฎหมาย นอกจากนี้ สนช. ยังพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไป 4 ครั้งโดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย ขณะที่ตัวรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บัญญัติว่าประชาชนมีสิทธิเสนอกฎหมายให้สนช.พิจารณาแต่อย่างใด 
แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีการกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาได้ ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนเคยตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ รัฐธรรมนูญ 2550 
มาตรา 133(3) ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้รัฐสภา หรือในปัจจุบัน คือ สนช. ต้องพิจารณาร่างกฎหมายที่มาจากการเสนอของประชาชน 10,000 คน และมาตรา 256 กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 คน สามารถเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แม้ว่าการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเช่นนี้จะทำไม่ง่ายนัก เพราะต้องอาศัยการกรอกเอกสารในแบบฟอร์มตัวจริง พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน และเมื่อเสนอไปแล้ว สนช. หรือรัฐสภาก็อาจพิจารณาเห็นชอบหรือไม่ก็ได้ แต่อย่างน้อยการมีสิทธิข้อนี้ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมายมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้สนช. หรือรัฐสภาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตทำงานไปโดยลำพังเหมือนที่ผ่านมา
ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น และถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นได้
รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไม่ได้กำหนดสิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจน หรือไม่ได้กำหนดแนวทางสำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่นเอาไว้เลย ซ้ำร้าย คสช. ยังใช้อำนาจพิเศษแช่แข็งองค์กรท้องถิ่นไม่ให้มีการเลือกตั้งและให้มีบทบาทน้อยลง แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 บทบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นถูกนำกลับมาอีกครั้งโดยเขียนชัดว่า สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง และเขียนไว้สั้นๆ ในมาตรา 254 ว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อกัน เพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้
การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นสิทธิของประชาชนที่เคยมีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 โดยวิธีการเข้าชื่อถูกกำหนดไว้ในพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นนั้น สามารถเสนอข้อบัญญัติใดก็ได้ไม่จำกัดประเภทเนื้อหา
ส่วนการเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งเป็นสิทธิตาม รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็ถูกนำกลับมาอีกครั้งในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างไรก็ตามในรัฐธรรมนูญ 2560 ประชาชนจะไม่มีสิทธิเข้าชื่อเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติซึ่งเคยได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 
ชุมชนมีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐ
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 43 (3) กำหนดว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐให้ดําเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดําเนินการใดที่อาจส่งผลกระทบ โดยการพิจารณาข้อเสนอนั้นๆ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งสิทธินี้เป็นสิทธิที่เพิ่งเคยถูกเขียนรับรองเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เพียงแต่เขียนรับรองสิทธิชุมชนที่จะมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรกว้างๆเท่านั้น โดยรายละเอียดวิธีการของการเข้าชื่อตามมาตรา 43(3) ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีการทำกฎหมายเฉพาะออกมา
การเข้าชื่อตามมาตรา 43(3) กว้างกว่ากับการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นตามมาตรา 254 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้ เพราะประชาชนอาจเสนอให้หน่วยงานรัฐทำหรือไม่ทำโครงการใด หรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องออกเป็นข้อบัญญัติหรือกฎหมาย และสิทธิของชุมชนอาจไม่ได้ถูกตีกรอบตามการแบ่งการปกครองเป็นระดับตำบล หรือหมู่บ้าน แต่ขึ้นอยู่กับชุมชนตามธรรมชาติที่อาจเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งของหน่วยงานรัฐ ที่อาจจะเล็กหรือใหญ่กว่า หรือเกี่ยวข้องกับหลายหมู่บ้านหลายตำบลรวมกัน ก็ได้
แม้ว่า สิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากร ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะได้รับการรับร้องน้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ โดยบางส่วนถูกนำไปเขียนเป็นหน้าที่ของรัฐแทน แต่สิทธิการเข้าชื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐก็เป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ทีประชาชนไม่เคยมีมาก่อน จึงต้องทดลองใช้กันดูว่า ในทางปฏิบัติจะช่วยส่งเสริมหรือคุ้มครองประชาชนได้อย่างไรบ้าง 
ก่อนออกกฎหมายรัฐต้องให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียแสดงความเห็น และวิเคราะห์ผลกระทบ
รัฐธรรมนูญ 2560 มีหลักการใหม่ในมาตรา 77 ที่ระบุว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาตรากฎหมายทุกขั้นตอน ซึ่งจะทำให้หลังจากนี้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาร่างกฎหมายจะเปลี่ยนแปลงไป รัฐมีหน้าที่ต้องทำงานให้ละเอียดรอบคอบขึ้นก่อนจะผ่านกฎหมายใดๆ
การจัดทำกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบก่อนการออกกฎหมาย หรือที่เรียกว่า RIA (Regulatory Impacts Assessment) ถูกพูดถึงกันมานานแล้ว แต่เพิ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นครั้งแรก และต่อมามีการออกมติคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียวกัน เกี่ยวกับกระบวนการที่ทุกหน่วยงานต้องทำก่อนการออกกฎหมาย 
แม้ว่า แนวปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี จะมีข้อจำกัดที่ทำให้ความฝันของมาตรา 77 ดูเลือนรางลง เช่น การสั่งให้ทุกหน่วยงานต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายบนเว็บไซต์ของตัวเอง หรือเว็บกลางอย่าง lawamendment.go.th เป็นเวลา 15 วัน ซึ่งถือว่า สั้นมาก จนประชาชนแทบจะศึกษาหาความรู้ไม่ทัน แต่อย่างน้อยการมี มาตรา 77 และแนวปฏิบัติที่ชัดเจนก็บังคับให้หน่วยงานรัฐต้องเปิดช่องทางให้ประชาชนแสดงความเห็น พร้อมกับเปิดเผยร่างกฎหมายที่กำลังจัดทำด้วย ยังถือได้ว่า โอกาสของประชาชนที่จะศึกษาหรือคัดค้านร่างกฎหมายยังเปิดกว้างมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการไปฝ่ายเดียว แม้แต่ตัวร่างกฎหมายก็แทบจะเข้าถึงไม่ได้
ประชาชนมีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 213 กำหนดว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพมีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคําวินิจฉัยว่า การกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลักการนี้เป็นจุดขายที่คนร่างรัฐธรรมนูญใช้เพื่อโฆษณาข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ประชาชนก็มีเครื่องมือใหม่เพิ่มขึ้น เมื่อรู้สึกว่า ตัวเองถูกละเมิดสิทธิก็สามารถยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
อย่างไรก็ตามกลไกนี้ยังไม่มีผลมากนักในทางปฏิบัติ เพราะจากสถิติหนึ่งปีเศษหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ มีประชาชนยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงอย่างน้อย 55 กรณีซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องประชาชนไว้พิจารณาทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า ประชาชนต้องไปยื่นเรื่องต่อองค์กรอื่นที่มีอำนาจก่อน และต่อมาเมื่อพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธิพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญประกาศใช้ มาตรา 46 ก็กำหนดให้ประชาชนต้องยื่นเรื่องการละเมิดสิทธิต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นจึงจะนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลได้  
พรรคการเมืองต้องทำ Primary Vote เปิดทางอำนาจประชาชน
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 45 วรรคสอง กำหนดว่า บุคคลมีเสรีภาพในการร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง และต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกําหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และมาตรา 90 วรรคสาม กำหนดว่า การจัดทำบัญชีรายชื่อ (Party List) เพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องให้สมาชิกของพรรคมีส่วนร่วมด้วย และคำนึงถึงความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงด้วย 
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีการกำหนดให้พรรคการเมืองต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมกำหนดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่อำนาจในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งจะไม่ได้อยู่แค่ในมือของนายทุนหรือกรรมการบริหารพรรค ระบบนี้อาจเรียกโดยเป็นที่เข้าใจได้ว่า Primary Vote 
เมื่อมีการออกกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ขั้นตอนการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมืองในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ถูกกำหนดให้ชัดเจนขึ้น โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะมาจากการสรรหาของสาขาพรรคการเมืองในท้องที่นั้นๆ หรือตัวแทนประจำจังหวัด โดยต้องจัดประชุมสมาชิกและลงคะแนนเลือกกันก่อน ขณะที่ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อก็ต้องมีคณะกรรมการสรรหา มีระบบให้สมาชิกลงคะแนนเลือก หากใครฝ่าฝืนหรือ "โกง" การทำ Primary Vote นอกจากจะมีโทษจำคุกและโทษปรับแล้ว ศาลยังอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ห้าปี
ระบบ Primary Vote ที่เกิดขึ้นใหม่นี้อาจมีข้อเสียที่จะกระทบต่อพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ยังไม่มีสาขาหรือตัวแทนทุกจังหวัดและพรรคการเมืองทางเลือกที่ไม่มีทุนมากก็อาจประสบความยากลำบากในการจัดประชุมลงคะแนนภายใน อย่างไรก็ตามการที่ืพรรคการเมืองขนาดใหญ่ต้องจัดทำ Primary Vote ก็อาจเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่ที่มีอยู่เดิม สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตทางการเมืองของพรรคได้ ไม่ใช่ปล่อยให้พรรคอยู่ในมือคนกลุ่มเดียวอย่างในอดีต ขณะที่พรรคการเมืองที่อาจเกิดขึ้นใหม่เพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. ก็ต้องอยู่ภายใต้กติกานี้เช่นกัน จะส่งผู้สมัครที่เป็นทหารโดยไม่ฟังเสียงสมาชิกเลยก็ไม่ได้
กลไกตีกรอบนักการเมือง หยิบมาใช้ตรวจสอบ รมต., สนช. ได้
รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกคนร่างตั้งชื่อเล่นให้ว่า "ฉบับปราบโกง" เพราะมีการกำหนดกลไกต่างๆ มากมายเพื่อจำกัดอำนาจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แม้ว่าจนถึงเดือนพฤษภาคม 2561 จะยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง แต่กลไกเดียวกันนี้ก็อาจถูกนำมาใช้เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของรัคณะรัฐมนตรีคสช.และสนช.ที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่ได้เช่นกัน
เช่น มาตรา 184 มาตรา 185 ที่กำหนดห้าม ส.ส. รับผลประโยชน์จากหน่วยงานรัฐ หรือใช้ตำแหน่งก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ห้ามทำการใดๆ เพื่อให้ตนเองมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายงบประมาณ หรือให้ความเห็นชอบกับการจัดทำโครงการใดๆ ของรัฐ ก็สามารถนำมาใช้ตรวจสอบคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิก สนช. ที่นั่งควบหลายตำแหน่งหรือร่วมพิจารณาร่างกฎหมายที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสีย การมีรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ช่วยทำให้มีข้อจำกัดในการใช้อำนาจมากขึ้น และหากใช้อำนาจขัดกับรัฐธรรมนูญนี้ก็ต้องถูกตรวจสอบได้ด้วยเช่นกัน
You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์