สี่ปี คสช. : ใช้งบ 400 ล้าน ตั้งศูนย์ดำรงธรรมเป็นตัวแทนรัฐราชการและกระบอกเสียงคสช.

 

ย้อนกลับไป 700 ปีที่แล้ว ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งใช้ระบอบการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนก็ให้ไปสั่นกระดิ่งที่แขวนหน้าประตูพระราชวัง พ่อขุนรามคำแหงก็จะเสด็จออกมาแก้ไขปัญหา แต่เมื่อการเมืองไทยได้พัฒนาไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน การบริหารราชแผ่นดินที่เคยรวมศูนย์อยู่ตรงกลาง เริ่มไม่ตอบโจทย์คนในแต่ละพื้นที่ จึงเกิดแนวคิดเรียกร้องให้กระจายอำนาจ โดยการให้คนในพื้นที่บริหารจัดการทรัพยากรของตัวเอง มีอำนาจตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

 

เมื่อตัดภาพกลับมาที่การเมืองไทยในปัจจุบัน ย้อนไปสัก 4 ปีที่แล้ว ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยหยุดลงนับแต่วันนั้น และในขณะเดียวกัน รัฐบาลคสช. พยายามจะแทนที่ประชาธิปไตยด้วยรัฐราชการ และมุ่งหวังให้ ‘ศูนย์ดำรงธรรม’ เปรียบเสมือนภาพแทนการบริหารราชการของคสช.

 

คสช. ตั้งศูนย์ดำรงธรรม หวังเป็นศูนย์กลางรับฟังปัญหาประชาชน

 

ศูนย์ดำรงธรรมมีจุดเริ่มต้นมานานกว่า 25 ปีแล้ว โดยวันที่ 1 เมษายน 2536 กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้ง “ศูนย์บริการข่าวสารของกระทรวงมหาดไทย” เพื่อรับฟังความคิดเห็น รับเรื่องรองเรียนร้องทุกข์เกี่ยวกับงานของกระทรวงมหาดไทย ทางหมายเลขโทรศัพท์และทางไปรษณีย์ และในปีต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย” 

 

ต่อมาในวันที่ 12 ธันวาคม 2545 กระทรวงมหาดไทยได้จัดโครงสร้างของศูนย์ดำรงธรรมใหม่ โดยแบ่งเป็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยส่วนกลางแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 1) ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย 2) ศูนย์ดำรงธรรมของหน่วยงานระดับกรมและรัฐวิสาหกิจ ส่วนศูนย์ดำรงธรรมในส่วนภูมิภาคแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 1) ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด 2) ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ แต่ปัญหาของศูนย์ดำรงธรรมตลอดมาก็คือเรื่องการบริหารที่ขาดบุคลากร และงบประมาณจึงไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง

 

จนเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 หรือประมาณ 2 เดือนหลังการรัฐประหาร คสช. ได้ออกประกาศคสช. ฉบับที่ 96/2557 เรื่องการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม โดยกำหนดให้แต่ละจังหวัดจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษา รับเรื่องปัญหาความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชน

 

จากนั้น เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 รัฐบาลคสช. ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ให้จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมอำเภอขึ้น และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมขึ้นในอำเภอและกำหนดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและช่วยเหลือนายอำเภอในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีสาเหตุจากการร้องเรียนร้องทุกข์ ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอจึงได้จัดตั้งขึ้นทุกอำเภอ 878 อำเภอ

 

คสช. ตั้งศูนย์ดำรงธรรม ผูดขาดอำนาจแก้ปัญหาไว้ที่ส่วนกลาง

 

หากดูจากโครงสร้างการบริหารงานของศูนย์ดำรงธรรมจะพบว่า ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด โดยประกาศคสช. ฉบับที่ 96/2557 กำหนดให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน และแนวทางการปฏิบัติงานภายในศูนย์ดำรงธรรมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานรัฐอื่นๆ

 

นอกจากนี้ ยังให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอํานาจสั่งการ บังคับบัญชา กํากับ ดูแล บรรดาข้าราชการและพนักงานของรัฐในเขตจังหวัด ยกเว้นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการในสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พนักงานในสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัด และข้าราชการในสํานักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจําจังหวัด ในกรณีที่จําเป็นจะต้องดําเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์ดํารงธรรม

 

ด้วยโครงสร้างการทำงานเช่นนี้ จึงทำให้เห็นภาพฝันของ รัฐบาล คสช. ว่า ต้องการใช้กลไกราชการส่วนภูมิภาคที่ต้องขึ้นตรงและรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางเป็นคนจัดการทุกปัญหา โดยให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการและบังคับบัญชาส่วนต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดไม่ว่าจะเป็นราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่น ในการแก้ปัญหาแทบทุกชนิด

 

 

 

 

ภารกิจศูนย์ดำรงธรรม อันดับ 1 ทำบัตรประชาชน-ถ่ายสำเนาทะเบียนบ้าน

 

ชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ภารกิจของศูนย์ดำรงธรรมแบ่งเป็น 7 ภารกิจหลัก ได้แก่ งานรับเรื่องร้องเรียนและร้องทุกข์ งานบริการแบบเบ็ดเสร็จ เช่น การทำบัตรประจำตัวประชาชน การคัดสำเนาทะเบียนราษฎร์ การรับชำระค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า การรับชำระภาษีรถทุกชนิด (กรณีไม่ต้องตรวจสภาพรถ) เป็นต้น งานบริการส่งต่อ เช่น การต่อใบอนุญาตต่างๆ อาทิ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ร้านเกมส์ คาราโอเกะ การขออนุญาตใช้ไฟฟ้าน้ำ ประปา และโทรศัพท์ งานบริการข้อมูลข่าวสารและให้คำปรึกษา เช่น การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมาย หนี้นอกระบบ ปัญหาครอบครัว การประกอบอาชีพ เป็นต้น งานรับเรื่องความต้องการและข้อเสนอแนะ งานเป็นศูนย์รองรับการปฏิบัติเร่งด่วนของรัฐบาล และชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว 

 

ข้อมูลนับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ถึง 4 มีนาคม 2559 (รวมเวลา 1 ปี 7 เดือน )มีประชาชนเข้ารับบริการผ่านศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ จำนวน 2,601,582 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 2,521,890 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 96.94 โดยงานบริการที่ประชาชนมาขอรับบริการมากที่สุด อันดับ 1 คือ งานบริการเบ็ดเสร็จ มีจำนวน จำนวน 1,895,073 เรื่อง อันดับ 2 บริการข้อมูลข่าวสาร จำนวน 368,020 เรื่อง อันดับ 3 บริการให้คำปรึกษา จำนวน 144,491 เรื่อง อันดับ 4 เรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ จำนวน 120,020 เรื่อง อับดับ 5 บริการรับเรื่องส่งต่อ จำนวน 60,016 เรื่อง อันดับ 6 การให้บริการงานตามนโยบายรัฐบาล จำนวน 8,690 เรื่อง อันดับ 7 ปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 5,272 เรื่อง

 

ข้อมูลนับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ถึง 22 ธันวาคม 2559 (รวมเวลา 2 ปี 5 เดือน) มีประชาชนมาใช้บริการผ่านศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ จำนวน 2,974,261 เรื่อง สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ 2,934,657 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 98.67 โดยงานบริการที่ประชาชนมาขอรับบริการมากที่สุด อันดับ 1 คือ งานบริการเบ็ดเสร็จ มีจำนวน 2,186,415 เรื่อง อันดับ 2 บริการข้อมูลข่าวสาร จำนวน 402,600 เรื่อง อันดับ 3 การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ จำนวน 145,778 เรื่อง อันดับ 4 บริการให้คำปรึกษา จำนวน 167,690 อันดับ 5 บริการรับเรื่องส่งต่อ จำนวน 65,253 เรื่อง อันดับ 6 การให้บริการงานตามนโยบายรัฐบาล จำนวน 9,066 เรื่อง และ อันดับ 7 การลงพื้นที่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนโดยหน่วยเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 6,525 เรื่อง 

 

ข้อมูลนับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ถึง 18 กรกฎาคม 2560 (รวมเวลา 3 ปี) มีประชาชนเข้ารับบริการ จำนวน 3,175,304 เรื่อง สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ 3,125,188 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 98.43 โดยแบ่งเป็น อันดับ 1 บริการเบ็ดเสร็จ จำนวน 2,330,099 เรื่อง อันดับ 2 บริการข้อมูลข่าวสาร จำนวน 429,754 เรื่อง อันดับ 3 บริการให้คำปรึกษา จำนวน 181,226 เรื่อง อันดับ 4 รับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ จำนวน 118,191 เรื่อง อันดับ 5 บริการรับเรื่องส่งต่อ จำนวน 60,420 เรื่อง อันดับ 6 การให้บริการงานตามนโยบายรัฐบาล (การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ) จำนวน 9,271 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 5,590 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 3,681 เรื่อง เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายที่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ และ อันดับ 7 ดำเนินการด้วยชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 5,498 เรื่อง

 

 

 

 

คสช. ใช้ศูนย์ดำรงธรรมเป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมือง

 

หนึ่งในผลงานสำคัญของศูนย์ดำรงธรรมที่คสช. คาดหวัง ก็คือ เป็นกระบอกเสียงไว้สื่อสารถ่ายทอดอุดมการณ์ของตนเองสู่ประชาชน อันจะเห็นได้จาก กรณีให้ประชาชนร่วมตอบคำถามนายกรัฐมนตรีถึงสองครั้ง โดยคำถามก็มีลักษณะชี้นำทางการเมือง และโจมตีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นสำคัญ ได้แก่

 

วันที่ 28 พฤษภาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝากคำถาม 4 ข้อในในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า 1) ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2)หากไม่ได้ จะทำอย่างไร 3) การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง และ 4) ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร ขอให้ส่งคำตอบ และความคิดเห็น มาทางศูนย์ดำรงธรรมในทุกจังหวัด แล้วให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวมส่งมาผมยินดีรับฟัง

 

ชยพล ธิติศักดิ์ โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2560 จนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 มีประชาชนเดินทางมาแสดงความคิดเห็นและตอบคำถามของนายกรัฐมนตรี มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 527,956 คน โดยจังหวัดที่มีผู้แสดงความคิดเห็นมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ จังหวัดขอนแก่น 48,654 คน นครราชสีมา 44,226 คน และอุบลราชธานี 41,099 คน.

 

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝากคำถามถึงประชาชนผ่านศูนย์ดำรงธรรมอีกครั้ง คราวนี้เป็นคำถาม 6 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1) วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ การที่มีแต่พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ แล้วได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูป และทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ 2) การที่ คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิ์ของ คสช. ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯ ก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว 3) สิ่งที่ คสช. และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่ 4) การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต มาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองก่อนหน้าที่ คสช. และรัฐบาลนี้จะเข้ามา เราได้พบเห็นแต่ความขัดแย้ง ความรุนแรง การแบ่งแยกประเทศเป็นกลุ่มๆ เพื่อมาสนับสนุนทางการเมืองใช่หรือไม่ 5) รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทย ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่อง ชัดเจนเพียงพอหรือไม่ 6) ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุใดพรรคการเมือง นักการเมืองจึงออกมาเคลื่อนไหว คอยด่า คสช., รัฐบาล, นายกรัฐมนตรี บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานในช่วงนี้อย่างมากผิดปกติ ฝากถามพี่น้องประชาชนว่าเป็นเพราะอะไร

 

4 ปี ศูนย์ดำรงธรรมใช้งบประมาณไป 400 กว่าล้าน

 

ศูนย์ดำรงธรรมได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม ตามประกาศคสช. ฉบับที่ 96/2557 ข้อ 2 ให้ทุกกระทรวง กรม ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ สนับสนุนการดำเนินการของศูนย์ดำรงธรรมทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ และบุคลากร ให้สามารถบริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพตอบสรองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง และ ข้อ 4 ให้สำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ

 

งบประมาณปี 2558 ของศูนย์ดำรงธรรม จำนวน 164,753,000 บาท

คำสั่ง/หนังสือสั่งการที่ มท0205.3/ว1573 ออกวันที่ 13 มีนาคม 2558 เรื่อง สนับสนุนงบประมาณให้แก่ศูนย์ดำรงธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จากรายการค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจังหวัดอัจฉริยะต้นแบบจังหวัดนครนายก งบประมาณจำนวน 199,775,895 บาท เพื่อดำเนินโครงการขับเคลื่อนงานศูนย์ดำรงธรรมจำนวน 164,753,000 บาท ซึ่งทุกจังหวัดจะได้รับการจัดสรรจังหวัดละ 561,720 บาท

 

โดยรายละเอียดของบประมาณโครงการขับเคลื่อนงานของศูนย์ดำรงธรรมแบ่งได้ ดังนี้ 1) โครงการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบสารสนเทศของศูนย์ดำรงธรรม 43,816,100 บาท 2) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม 106,246,900 บาท 2.1 สนับสนุนการดำเนินงานศูนย์ดำรงธรรม 42,690,800 บาท  2.2 สนับสนุนภารกิจการขับเคลื่อนศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ 52,818,100 บาท 2.3 ดำเนินงานศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย 10,738,000 บาท 3) โครงการปรับปรุงที่ตั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด 10,000,000 บาท 4) โครงการประชาสัมพันธ์ศูนย์ดำรงธรรมเชิงรุกถึงประชาชนในระดับหมู่บ้าน 5,000,000 บาท

 

งบประมาณปี 2559 ของศูนย์ดำรงธรรม จำนวน 96,727,000 บาท

คำสั่ง/หนังสือสั่งการที่ มท.0205.3/ว6210 ออกวันที่ 19 ตุลาคม 2558 เรื่อง สนับสนุนงบประมาณให้แก่ศูนย์ดำรงธรรมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559  ชี้ว่ารัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายการบริหารงานศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย จำนวน 96,727,000 บาท

 

งบประมาณปี 2560 ของศูนย์ดำรงธรรม จำนวน 96,727,000 บาท

คำสั่ง/หนังสือสั่งการที่ มท.0205.3/ว5759 ออกวันที่ 7 ตุลาคม 2559 เรื่อง สนนับสนุนงบประมาณให้แก่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 (งวดที่ 1) ชี้ว่ารัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายการบริหารงานศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย จำนวน 96,727,000 บาท

 

งบประมาณปี 2561 ของศูนย์ดำรงธรรม จำนวน 103,842,600 บาท

คำสั่ง/หนังสือสั่งการที่ มท.0205.3/ว2129 ออกวันที่ 23 เมษายน 2561 เรื่อง จัดสรรงบประมาณให้แก่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561(งวดที่ 2) ชี้ว่ารัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายการบริหารงานศูนย์ดำรงธรรมกรทรวงมหาดไทย จำนวน 103,842,600 บาท

 

รวมงบประมาณ 4 ปี ของศูนย์ดำรงธรรม เท่ากับ 462,049,600 บาท