สนช.อนุมัติขึ้นเงินเดือนทหาร : ทหารได้ขึ้นเงินเดือน ประชาชนได้อะไร?

สี่ปีภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีทหารอยู่ 145 คนจาก 250 คน อนุมัติ “ขึ้นเงินเดือนทหาร” สามครั้ง อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัญหาอุปสรรคจากเศรษฐกิจ และการเงินในประเทศ สวนดุสิตโพลสำรวจความเห็น “ผลงานรัฐบาลในสายตาประชาชน” ปี 2561 พบว่า ประชาชนไม่พอใจผลงานในด้านเศรษฐกิจ ประเมิน 4.94 เต็ม 10 คะแนน และสิ่งที่อยากให้ คสช. เร่งทำมากที่สุดคือ แก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ไอลอว์ชวนจับตา สนช. ย้อนดูการอนุมัติขึ้นเงินเดือนทหารในแต่ละครั้ง
สนช. เห็นชอบเพิ่มเงินเดือน ผู้พิพากษา และอัยการทหาร หวังยกระดับเทียบเท่าศาลพลเรือน
19 กุมภาพันธ์ 2558 สนช. ก็เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 โดยให้เหตุผลว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ บังคับใช้มาเป็นเวลานาน อีกทั้งบทบัญญัติหลายมาตราไม่เหมาะสมกับกาลสมัย เนื่องจากโครงสร้างและกิจการทางทหารได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเพื่อเป็นการยกระดับศาลทหารให้เทียบเท่ามาตรฐานศาลพลเรือน 
พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ประกาศใช้แล้วเมื่อ 8 พฤษภาคม 2558 โดยเป็นการเพิ่มเงินเดือนของตุลาการทหาร กับอัยการศาลทหาร ซึ่งมาตรา 11/1 ระบุให้ตุลาการพระธรรมนูญและอัยการทหารได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งโดยเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษาหรือตุลาการศาลอื่น และพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
เป็นที่น่าสังเกตว่าก่อนการเสนอร่างฯ แก้ไขขึ้นเงินเดือนตุลาการทหารกับอัยการทหาร ไทยพับลิการายงานว่า ในปี 2557 หลังการรัฐประหาร คสช. ได้มีการอนุมัติเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวแก่ข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรม โดยใช้งบประมาณกลางปี 2557 จำนวน 390 ล้านบาท มีผลใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 
ทั้งนี้เงินเดือนรวมเงินประจำตำแหน่งสำหรับผู้พิพากษาเริ่มต้นที่ประมาณ 36,000 บาท ส่วนตำแหน่งพนักงานอัยการปัจจุบันเริ่มต้นที่ประมาณ 33,000 บาท ซึ่งอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนปีที่รับราชการและอาจสูงสุดได้ถึงประมาณ 140,000 บาท
โดยปกติสำหรับ คนที่ต้องการสอบตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลพลเรือนจำเป็นต้องเรียนจบกฎหมายและสอบผ่านหลักสูตรของเนติบัณฑิตยสภาก่อน จึงจะมีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับการสอบในตำแหน่งผู้พิพากษา ขณะที่ผู้พิพากษาศาลทหารบางส่วนจบด้านกฎหมาย แต่อีกบางส่วนเช่นกันเป็นข้าราชการทหารที่ไม่ต้องมีความรู้กฎหมายก็ได้ ส่วนอัยการทหารแม้จะจบด้านกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ต้องผ่านการสอบของเนติบัณฑิตยสภามาก่อน
สนช. เห็นชอบเพิ่มเงินเดือนข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม
19 มีนาคม 2558 สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ปรับเงินเดือนข้าราชการทหารเพื่อปรับเงินเดือนข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ด้วยมติ 163 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง จากทั้งหมด 177 เสียง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน 
นอกจากนี้ยังได้มีมติเห็นชอบปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา 
หลังผ่านการเห็นชอบจาก สนช. พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 สำหรับอัตราเงินเดือนทหารของเดิม-ของใหม่ มีดังนี้ 
สำหรับ มาตรา 12/1  ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ฉบับล่าสุด ระบุให้ข้าราชการทหาร ทหารกองประจําการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหมได้รับเงินเดือน ดังต่อไปนี้
1.ทหารกองประจําการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้ได้รับเงินเดือนระดับ พ.1
2.พลทหารประจําการ (พลอาสาสมัคร) ให้ได้รับเงินเดือนระดับ พ.2
3.นายทหารประทวนยศตั้งแต่สิบตรี จ่าตรี จ่าอากาศตรี ถึงสิบเอก จ่าเอก จ่าอากาศเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ป.1
4.นายทหารประทวนยศตั้งแต่จ่าสิบตรี พันจ่าตรี พันจ่าอากาศตรี ถึงจ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ป.2
5.นายทหารประทวนยศจ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก อัตราเงินเดือน จ่าสิบเอกพิเศษ พันจ่าเอกพิเศษ พันจ่าอากาศเอกพิเศษ ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ป.3
6.นายทหารสัญญาบัตรยศร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี ถึงร้อยเอก เรือเอก เรืออากาศเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.1
7.นายทหารสัญญาบัตรยศพันตรี นาวาตรี นาวาอากาศตรี ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.2
8.นายทหารสัญญาบัตรยศพันโท นาวาโท นาวาอากาศโท ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.3
9.นายทหารสัญญาบัตรยศพันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.4
10.นายทหารสัญญาบัตรยศพลจัตวา พลเรือจัตวา พลอากาศจัตวา หรือพันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอกอัตราเงินเดือนพันเอกพิเศษ นาวาเอกพิเศษ นาวาอากาศเอกพิเศษ ให้ได้รับเงินเดือน ระดับ น.5
11.นายทหารสัญญาบัตรยศพลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.6
12.นายทหารสัญญาบัตรยศพลโท พลเรือโท พลอากาศโท ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.7
13.นายทหารสัญญาบัตรยศพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.8
14.นายทหารสัญญาบัตรยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ หรือพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก ที่ครองอัตราจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.9
สนช. ใช้เวลา 15 นาที เห็นชอบเพิ่มเงินประจำตำแหน่งทหารวิชาการ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ
23 พฤศจิกายน 2560 ที่ประชุม สนช. ใช้เวลาเพียง 15 นาที เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ด้วยมติเห็นชอบ 203 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง จากทั้งหมด 207 เสียงเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการ ประเภทวิชาการในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหม และเพิ่มบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการ ประเภทวิทยฐานะ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ โดยมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
สาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ 
1.แก้ไขบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการทหาร ประเภทวิชาการในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยไม่นำชั้นยศทางทหารมาเป็นหลักเกณฑ์พิจารณาการดำรงตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพด้านการเรียนการสอน
2.เพิ่มบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการทหาร ประเภทวิทยฐานะ เหตุผลเพื่อให้ข้าราชการทหารที่ทำหน้าที่สอนในวิชาสามัญ วิชาชีพ และวิชาการทหาร มีสิทธิได้รับเงินวิทยฐานะ
ส่วนการเพิ่มบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการทหาร "ประเภทวิชาการ" ในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหม กำหนดว่า ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ 3,500 – 5,600 บาท ระดับรองศาสตราจารย์ 5,600 – 9,900 บาท ศาสตราจารย์ 13,000 – 15,600 บาท ส่วน "ประเภทวิทยฐานะ" กำหนดว่า ระดับครูชำนาญการต้นและครูชำนาญการ 3,500 บาท ครูชำนาญการพิเศษ 5,600 บาท ครูเชี่ยวชาญ 9,900 บาท ครูเชี่ยวชาญพิเศษ 13,000 และ 15,600 บาท
สำหรับข้าราชการทหาร ประเภทวิทยฐานะ คือ ทหารที่ทำงานในสถาบันการศึกษาต่ำกว่าอุดมศึกษาและหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอนวิชาเฉพาะสาขาหรือวิชาเฉพาะทางตามความต้องการของกองทัพ เช่น โรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนช่างฝีมือทหาร โรงเรียนนายสิบทหารบก โรงเรียนจ่าทหารเรือ โรงเรียนจ่าอากาศ เป็นต้น