ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ฉบับใหม่ ห้ามชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล เด็ดขาด!

การชุมนุมสาธารณะเป็นเครื่องมือพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เพื่อมีส่วนร่วมกับการเมืองการปกครอง นำเสนอเรื่องราว ปัญหา และความต้องการ และรัฐมีหน้าที่ประกันเสรีภาพดังกล่าวไว้ แต่ทว่า เสรีภาพในการชุมนุมก็เป็นเสรีภาพที่รัฐสามารถจำกัดได้ด้วยเช่นกัน หากการใช้เสรีภาพนั้นกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง แต่… การจำกัดนั้นต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญของสิทธิ กล่าวคือ ต้องไม่เป็นการจำกัดเสียจนประชาชนไม่อาจใช้การชุมนุมเป็นเครื่องมือในการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่รัฐอ้างว่า ต้องการจะประกันเสรีภาพในการชุมนุมไว้ให้ประชาชน แต่ที่ผ่านมาเส้นแบ่งของเสรีภาพในการชุมนุมยังไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้คว่ำหวอดอยู่กับการดูแลการชุมนุมอาสาตัวมาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมเสียเอง จนท้ายที่สุดก็กลายเป็น ‘พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558’ ที่ตำรวจเสนอ รัฐบาลทหารสนอง ผ่านการเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558
ตลอดเกือบ 3 ปี ที่ผ่านมา พบว่า การใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะนั้นมีประสิทธิภาพมาก แต่ไม่ใช่ประสิทธิภาพในการคุ้มครองเสรีภาพ เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยมในการลดทอนเสรีภาพของการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการนำกฎหมายมาใช้เพื่อกดดันข่มขู่ นำมาใช้เพื่อจำกัดการชุมนุมล่วงหน้า และเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแทรกแซง การลงโทษ ผู้ที่ต้องการจะใช้เสรีภาพในการชุมนุมในยุคปัจจุบัน
ล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีข้อเสนอแก้ไขกฎหมายชุมนุมอีกครั้ง แต่ส่อแววว่า จะให้ผลในทางลบต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุมยิ่งกว่าเดิม
3 ปี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 3 ปีแห่งปัญหา
นับตั้งแต่กฎหมายการชุมนุมสาธารณะมีผลบังคับใช้ เจ้าหน้าที่รัฐก็เริ่มนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้ในลักษณะข่มขู่-กดดัน ไม่ให้ประชาชนชุมนุม ไม่น้อยกว่า 16 ครั้ง ยกตัวอย่าง เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 32 เข้าไปชี้แจง ไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหง ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปางไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อคัดค้านการประกาศผังเมืองรวมจังหวัดลำปาง และขอขึ้นทะเบียนพื้นที่เพื่อไม่ให้พื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ไปอยู่ในเขตขอสัมปทานเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ โดยอ้างว่า อาจผิดต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังใช้กฎหมายดังกล่าวแทรกแซงการชุมนุม อย่างเช่น การชุมนุมของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพที่แจ้งต่อสถานีตำรวจนครบาลดุสิตว่าจะจัดการชุมนุม แต่ทว่า ทาง สน.ดุสิต สั่งไม่ให้ชุมนุมบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล และให้เปลี่ยนรูปแบบการชุมนุมเป็นการส่งคนไปยื่นหนังสือแทน ซึ่งส่งผลกระทบต่อยุทธวิธีในการสร้างอำนาจต่อรองของประชาชน
อย่างไรก็ดี มีผู้ถูกดำเนินคดีจากกฎหมายชุมนุมสาธารณะอย่างน้อย 12 คดี ยกตัวอย่างเช่น คดีของ ‘พรทิพย์ หงษ์ชัย‘ สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ที่รวมตัวเรียกร้องให้สภา อบต.เขาหลวง ยกเลิกการประชุมเพื่อต่ออายุใบอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. ให้แก่  บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้าน หรือ กรณีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งบริเวณสกายวอล์คหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ที่มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 39 คน ฐานชุมนุมห่างจากเขตพระราชฐานไม่เกิน 150 เมตร
สตช. เสนอร่างกฎหมายใหม่ ปิดตายการชุมนุมบริเวณทำเนียบ-รัฐสภา
หลังการบังคับใช้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะมาหลายปี และทำให้การชุมนุมในสถานที่ที่เป็นยุทธศาสตร์ทางการตัดสินใจยากลำบากขึ้นมาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็เกิดแนวคิดที่จะแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยวันที่ 9 เมษายน ถึง 24 เมษายน 2561 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยประเด็นหนึ่งที่มีการเสนอแก้ไขก็คือ เสนอ ‘เพิ่มพื้นที่ห้ามชุมนุม’ เป็นระยะ 1 กิโลเมตรจากรอบรั้วพระบรมหาราชวัง พระราชวัง วัง พระตำหนักของ พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทหรือพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป
โดย สตช. ให้เหตุผลในการเสนอแก้ไขว่า การกำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากสถานที่สำคัญที่ใช้อยู่เดิม ยังไม่เพียงพอต่อการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนการกำหนดแนวเขตพื้นที่ห้ามชุมนุมสาธารณะจากสถานที่สำคัญยังไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ รวมถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิไว้ นอกจากนี้ ถ้อยคำบางประการยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
ทั้งนี้ หากนำระยะตามร่างกฎหมายฉบับใหม่มาลองตีกรอบดูพื้นที่ที่ห้ามชุมนุมจะพบว่า สถานที่ราชการหลายแห่งจะกลายเป็นพื้นที่ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปจัดชุมนุมใกล้ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น