ศาลเสนอแก้ไขกฎหมาย ป.วิอาญา ป้องกัน ‘ประชาชนฟ้องแกล้งกัน’

17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นข่าวดีสำหรับกลุ่มคนที่ออกมาทำหน้าที่ตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจาก สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรมออกมาเปิดเผยว่า สำนักงานศาลยุติธรรมมีการเสนอเเก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อป้องกันการใช้สิทธิฟ้องคดีอาญาโดยมีเจตนาไม่สุจริต โดยร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สนช. เคยมีแนวคิดมาก่อน แต่ถูกสั่งให้ชะลอ รอศาลกับครม.พิจารณา
ก่อนที่โฆษกศาลจะออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ ข้อเสนอดังกล่าวเคยถูกยกมาพิจารณาแล้วครึ่งหนึ่ง โดยมี มหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิก สนช. เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายที่มีหลักการเดียวกันไว้ตั้งแต่ 28 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีชื่อกฎหมายว่า ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว และการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีอาญา)
แต่ทว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกชะลอไว้ เนื่องจาก ทีประชุม สนช. เห็นควรให้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปให้สำนักงานศาลยุติธรรมพิจารณาต่อไป จนสุดท้าย ที่ประชุม สนช. มีมติส่งร่างกฎหมายไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นว่าควรชะลอไว้ก่อนเพื่อรอร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรีไว้พิจารณาพร้อมกันและได้มอบหมายให้สำนักงานศาลศาลยุติธรรมนำข้อสังเกตไปประกอบพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ 
จนเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมได้ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในบางมาตรา พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการเสนอร่างกฎหมายไปยังคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
ร่างกฎหมาย ระบุ การฟ้องโดยไม่สุจริต-บิดเบือน-กลั่นแกล้ง ให้ศาลสั่งไม่รับฟ้องได้ 
สำหรับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว และการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีอาญา) ฉบับนี้ กำหนดวิธีการป้องกันการฟ้องคดีอาญาโดยมีเจตนาไม่สุจริตไว้ในมาตรา 161/1 โดยมีบทบัญญัติว่า
"ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ก่อนนัดไต่ส่วนมูลฟ้อง หากความปรากฎต่อศาลเองหรือมีพยานหลักฐานที่ศาลเรียกมาว่า โจกท์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าผลประโยชน์ที่พึ่งได้โดยชอบ ศาลจะมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องนั้นก็ได้ และห้ามโจทก์ยื่นฟ้องคดีนั้นอีก"
ทั้งนี้ ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หมายถึงการที่ผู้เสียหาย ทั้งที่เป็นทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ดำเนินการทำคำฟ้องและยื่นฟ้องคดีต่อศาลเอง โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการในชั้นตำรวจและอัยการ และศาลจะต้องมีกระบวนการไต่สวนมูลฟ้องของผู้เสียหายเพื่อพิจารณาว่าจะรับฟ้องคดีนี้หรือไม่ ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว่ว่า หากศาลพบว่าคำฟ้องที่ฟ้องต่อศาลนั้น ไม่สุจริต บิดเบือน กลั่นแกล้ง หรือเป็นการเอาเปรียบจำเลย ศาลมีอำนาจสั่งไม่รับฟ้องคดีก่อนที่จะนัดไต่สวนมูลฟ้องก็ได้ และห้ามโจทก์กลับมาฟ้องคดีซ้ำอีก   
แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีประเด็นที่ต้องอภิปรายต่อว่า ที่ผ่านมาทั้งเอกชนหรือหน่วยงานรัฐที่พยายามใช้การดำเนินคดีเพื่อกลั่นแกล้งผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ก็ใช้ช่องทางปกติคือให้ดำเนินการโดยรัฐ โดยการแจ้งความผ่านตำรวจแล้วส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาและสั่งฟ้องต่อศาลซึ่งจะไม่เข่าข่ายตามกฎหมายที่มีการแก้ไขดังกล่าว