รู้จักยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

คำว่า "ยุทธศาสตร์ชาติ" ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในยุครัฐบาล คสช.  จนกระทั่งยุทธศาสตร์ชาติถูกเขียนขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 โดยระบุว่า ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมาย และรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องจัดทำให้เสร็จภายในรัฐบาล คสช.
สำหรับขั้นตอนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ถูกกำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยกำหนดให้รัฐบาล คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นต้นสายของทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกครึ่งหนึ่งก็เป็นคนที่คนที่รัฐบาล คสช. คัดเลือก ซึ่งเกือบทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีตำแหน่งในรัฐบาลชุดนี้ เช่น คสช., รมต., สนช., ป.ย.ป. และคณะกรรมการประชารัฐ เป็นต้น
จากนั้น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ และเครือข่ายจะแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ ขึ้นมา เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมาเสนอ แต่ทว่า ในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติจะต้องใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวที่ คสช. เตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้
เมื่อร่างยุทธศาสตร์ชาติเสร็จสิ้นในเบื้องต้นแล้ว ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  หรือ สภาพัฒน์ฯ นำร่างดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็น และให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแก้ไขร่างดังกล่าวให้สอดคล้องกับการรับฟังความคิดเห็น จากนั้นจึงส่งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณา เมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นชอบแล้ว ให้ส่งไปยัง ครม. ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า พิจารณา เมื่อ ครม.ให้ความเห็นชอบแล้วจึงส่งมาให้สนช. พิจารณาต่อ ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน 2561
ถ้า สนช. ลงมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ให้นายกนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 10 วัน จากนั้นรอให้พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องมาจัดทำแผนแม่บทเพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ปฏิบัติตาม รวมไปถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็ต้องมีความสอดคล้องกับแผนแม่บทอีกด้วย
นอกจากหน่วยงานราชการที่ต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติแล้ว พรรคการเมืองที่จะเสนอนโยบายใดๆ ก็ต้องจัดทำให้อยู่ภายใต้กรอบของยุทธศาสตร์ชาติ และการแถลงนโยบายของรัฐบาลหรือการจัดทำงบประมาณก็ต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเหมือนกันหมด
ทั้งนี้ หากหน่วยงานของรัฐไม่ทำตามหรือคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้แก้ไขปรับปรุงแล้วแต่ไม่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดขั้นตอนการลงโทษไว้ว่า ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการ เช่น สั่งให้พักราชการ พักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการ หรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ หากการไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติของหน่วยงานรัฐเป็นผลมาจากมติหรือการดำเนินการของ ครม. ให้วุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของ ครม. หรือการดำเนินการของ ครม.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อเพื่อลงโทษ
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าองค์กรอิสระอย่าง ศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ล้วนมาจากการแต่งตั้งโดย สนช. และยังคงดำรงอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวต่อไปอีกยาวนาน
กล่าวโดยสรุปแล้ว แผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ จึงไม่สามารถเรียกเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกเสียจาก ‘ยุทธศาสตร์ของ คสช.’ ยุทธศาสตร์ในการควบคุม ติดตาม ลงโทษ รัฐบาลชุดใดก็ตามที่เดินล้ำเส้นไปจากที่ คสช. เป็นผู้กำหนด
ยุทธศาสตร์ชาติคืออะไร ขั้นตอนการจัดทำเป็นอย่างไร
ใครเป็นใครในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดต่างๆ
สรุปสาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ชาติ
บทวิเคราะห์แผนยุทธศาสตร์ชาติ
กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในร่างยุทธศาสตร์ชาติ
การบังคับใช้และบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ
การแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ
ไฟล์แนบ