ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความเสมอภาคทางสังคม: ตั้งเป้ารายได้คนรวยสุดกับคนจนสุดต่างกันไม่เกิน 15 เท่า

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีทั้งหมดหกด้าน จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้งหกด้านที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้งขึ้น สำหรับการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม” รัฐบาล คสช. แต่งตั้ง เอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานคณะกรรมการฯ รวมด้วยกรรมาการฯ อีกจำนวน 12 คน
วันที่ 24 มกราคม 2561 ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จัดทำร่างเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนจำนวนสี่ครั้งในสี่ภาคสี่จังหวัด เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน และขณะนี้ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้กำลังถูกแก้ไขเพิ่มเติมก่อนจะถูกเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ วันที่ 9 เมษายน 2561
เหตุผล: ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะคนจนไม่มีความรู้ หนี้สินล้น อพยพแรงงานเข้าเมืองทำกระจุกความเจริญ
ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เริ่มต้นด้วยโจทย์ที่ว่า การกระจุกตัวของทรัพยากรและความมั่งคั่งสร้างความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ร่างฉบับนี้จึงมุ่งสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมองว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่ภาคเกษตรและชนบท ซึ่งเกิดจากคนจนขาดความรู้และวิธีคิดเชิงธุรกิจ ทำให้เกิดภาวะหนี้สิน และอพยพแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ เกิดการกระจุกตัวในเมืองใหญ่ ร่างฉบับนี้อ้างบทเรียนจากนานาชาติว่าประเทศไทยจำต้องกระจายศูนย์กลางความเจริญและกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยจะทำให้กำลังแรงงานลดลง และการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะทำให้วัยแรงงานเผชิญกับภาวะการว่างงานฉับพลัน
เป้าหมาย: ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม
เป้าหมายของร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม คือ “การสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ กระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังของการพัฒนาประเทศในทุกระดับเพื่อความสมานฉันท์ และเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเองและการจัดการตนเองเพื่อสร้างสังคมคุณภาพ” โดยมีเป้าหมายไว้ 9 ข้อ ดังนี้
1.  ความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากรร้อยละ 10 ที่รวยที่สุดต่อประชากรร้อยละ 10 ที่จนที่สุดไม่เกิน 15 เท่า จากปัจจุบันที่รายได้แตกต่างถึง 22 เท่า และประเทศไทยต้องมีค่าสัมประสิทธิ์การกระจายรายได้ (Gini) ไม่เกิน 0.36
ค่าสัมประสิทธิ์การกระจายรายได้ หรือ “ค่าสัมประสิทธิ์จีนี”( Gini coefficient) เป็นตัวชี้วัดความไม่เสมอภาคของการกระจายรายได้ ซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 ยิ่งค่าเข้าใกล้ศูนย์มากเท่าไหร่ แสดงว่าความเท่าเทียมกันของรายได้มีมากขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดย สำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม สภาพัฒน์ฯ ระบุว่าค่าสัมประสิทธิ์จีนีของประเทศไทยในปี 2558 ค่าอยู่ที่ 0.44
2.  ดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index – HAI) ทุกจังหวัดต้องไม่ต่ำกว่า 0.60  
ดัชนีความก้าวหน้าของคนสะท้อนความก้าวหน้าการพัฒนาคนในทุกจังหวัดของประเทศไทย ครอบคลุม 8 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านชีวิตการงาน ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร และด้านการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งสภาพัฒน์ ได้เริ่มจัดทำครั้งแรกเมื่อปี 2558 และครั้งที่สองในปี 2560 ซึ่งรายงานในปี 2560 ระบุว่ามีเพียง 27 จังหวัดเท่านั้นที่มีดัชนีความก้าวหน้าของคนมากกว่า 0.60
3.  พัฒนาจังหวัดศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมไม่น้อยกว่า 15 จังหวัด
4.  สัดส่วนแรงงานที่ได้รับสวัสดิการต่อกำลังแรงงานทั้งหมด รวมแรงงานในระบบและนอกระบบ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
5.  ยกระดับการประกอบการในภาคการเกษตร โดยทำให้ทุกตำบลมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการเกษตรอย่างน้อยตำบลละ 5 กลุ่ม
6. สัดส่วนสตรีในทางการเมืองไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 และสัดส่วนสตรีในตำแหน่งบริหารในหน่วยงานและในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
7. ครัวเรือนที่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90     
8.  ดัชนีคุณภาพภาวะประชากรสูงอายุ ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 70 
ดัชนีคุณภาพภาวะประชากรสูงอายุประกอบด้วยตัวชี้วัด ด้านการเตรียมตัวก่อนถึงวัยสูงอายุ การมีหลักประกันยามชราภาพของประชากรก่อนวัยสูงอายุ ทัศนคติต่อผู้สูงอายุ พฤติกรรมสุขภาพ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม สถานะการเงิน ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม ระบบประกันสุขภาพ การอยู่อาศัยร่วมกับครอบครัว การจัดสรรงบประมาณและการดูแลผู้สูงอายุโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
9.  ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและมีความสามารถในการพึ่งตนเองและจัดการตนเองเพิ่มขึ้น 
เป้าหมายชัด วัดผลได้ แต่ไม่บอกขั้นตอน กรอบเวลา หรือเหตุผล
เป้าหมายของข้างต้น ของร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม แม้ส่วนใหญ่จะมีตัวเลขดัชนีชี้วัดที่ชัดเจนและวัดผลได้ (ยกเว้นข้อ 9 ที่ไม่มีรายละเอียด) แต่ก็ไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมต้องเป็นตัวเลขเหล่านั้น หรือ ชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายที่ตั้งมีความเป็นไปได้แค่ไหน หรือ ตั้งเป้าหมายอยู่บนพื้นฐานความจริงมากน้อยเพียงใด อีกทั้ง การตั้งเป้าหมายทั้งหมดไม่ได้ให้ข้อมูลและตัวเลขของสถานการณ์ปัจจุบันเลย นอกจากนี้ ยังไม่ได้กำหนดขั้นตอน กรอบเวลาในการดำเนินงานใดๆ ในแต่ละระยะให้ชัดเจนอีกด้วย 
สี่ประเด็นเพื่อบรรลุเป้าหมาย
ทั้งนี้ เพื่อการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ได้ตั้งประเด็นไว้ทั้งหมด 4 ประเด็น สรุปได้ ดังนี้
1)  การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ (Closing the Gap) ด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก กระจายการถือครองทรัพย์สินโดยการปฏิรูประบบภาษี การสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับทุกคน การเพิ่มผลิตภาพของแรงงานไทยให้เป็นแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพและความริเริ่มสร้างสรรค์ มีความปลอดภัยในการทำงาน การลงทุนทางสังคมแบบมุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสโดยตรง การสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและกระบวนการยุติธรรม
2)  การกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม (Multiple Growth Poles) ด้วยการกำหนดจังหวัดหลักที่จะเป็นศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม การกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละกลุ่มจังหวัดในมิติต่างๆ การจัดระบบเมืองที่เอื้อต่อการสร้างชีวิตและสังคมที่มีคุณภาพและปลอดภัย การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่บนฐานข้อมูลความรู้และนวัตกรรม
3)  การเสริมสร้างพลังทางสังคม (Social Energy and Synergy Mobilization) ด้วยการสร้างสังคมเข้มแข็งที่แบ่งปัน ไม่ทอดทิ้งกัน และมีคุณธรรม โดยสนับสนุนการรวมตัวและดึงพลังของภาคส่วนต่างๆ การสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนที่มีการระดมทุนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม การเตรียมการรองรับสังคมสูงวัย การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและบทบาทของสตรีในการสร้างสรรค์สังคม และการสนับสนุนการพัฒนาบนฐานทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชน
4)  การเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเองและการจัดการตนเอง (Community and Local Authority Empowerment) ด้วยการส่งเสริมการปรับพฤติกรรมในระดับครัวเรือน การเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการพึ่งตนเองและการพึ่งพากันเอง การปรับดุลอำนาจระหว่างประชาชนกับนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อสร้างประชาธิปไตยระดับฐานราก การเสริมสร้างขีดความสามารถ ประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารงานและจัดบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และการสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาให้กับชุมชน 
ไฟล์แนบ