ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสิ่งแวดล้อม: ตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 40

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีทั้งหมดหกด้าน จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้งหกด้านที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้งขึ้น สำหรับการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” รัฐบาล คสช. แต่งตั้งศาสตราจารย์ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานคณะกรรมการฯ รวมด้วยกรรมาการฯ อีกจำนวน 8 คน  
วันที่ 24 มกราคม 2561 ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดทำร่างเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อย และหลังจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนจำนวนสี่ครั้งในสี่ภาคสี่จังหวัด เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน และขณะนี้ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้กำลังถูกแก้ไขเพิ่มเติมก่อนจะถูกเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ วันที่ 9 เมษายน 2561
ยึดศาสตร์ของพระราชา พาคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในอาเซียน
ร่างฉบับนี้น้อมนำศาสตร์ของพระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยึดหลักสามประการ คือ มีความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มาเป็นหลักในการจัดทำ โดยมีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในอาเซียนภายในปี 2579 โดยประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมนั้นแบ่งออกเป็น 6 ด้าน ดังนี้
1) สังคมเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจให้เติบโตและเป็นธรรม สามารถลดความเสี่ยงของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาความขาดแคลนของทรัพยากรลงได้ 
2) สังคมเศรษฐกิจภาคทะเล  ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตของประเทศจากกิจกรรมทางทะเลควบคู่กับการดูแลฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
3) สังคมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับปรุงการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ และการสร้างขีดความสามารถของประชาชน 
4) พัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งเน้นการใช้พื้นที่ตามศักยภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดทำแผนผังภูมินิเวศ รวมถึงพื้นที่อนุรักษ์
5) พัฒนาความมั่นคงทางน้ำ พลังงาน และเกษตร เพิ่มผลิตผลในเรื่องการจัดการและการใช้น้ำ พัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด พัฒนาความมั่นคงการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
6) ยกระดับกระบวนทัศน์ มุ่งส่งเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของคนไทย พัฒนาเครื่องมือและกลไกเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนากระบวนการยุติธรรมด้เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง 
เป้าหมาย อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ใช้น้ำอย่างคุ้มค่า
เป้าหมายและประเด็นของร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านสิ่งแวดล้อม หลายอย่างยังดูเป็นนามธรรมลอยๆ เช่น อนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์ เพิ่มผลิตภาพของน้ำโดยการใช้อย่างมีคุณค่า ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายหลายประเด็นที่ระบุตัวชี้วัดไว้อย่างเป็นตัวเลขชัดเจนที่สามารถวัดค่าได้ว่า ทำตามเป้าหมายนั้นได้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น
– เพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เป็นร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
– เพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นร้อยละ 55 ของประเทศ แบ่งเป็นป่าธรรมชาติร้อยละ 35 สวนป่าร้อยละ 15 และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจร้อยละ 5
– ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนให้เป็น ร้อยละ 30 ของการบริโภคทั้งประเทศ
– เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานชีวิตภาพทางทะเลเป็น 6.16 ล้านบาท 
– ลดพื้นที่ที่มีการกัดเซาะชายฝั่งมากกว่า 3 เมตรต่อปี ให้เหลือไม่เกิน 100 กิโลเมตรทั่วประเทศ
– ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20
– จัดการมลพิษ ขยะ น้ำเสีย ให้เป็นไปตามมาตราฐานสากล ไม่มีหลุมฝังกลบขยะในประเทศร้อยละ 100 
– พัฒนาจัดการน้ำทั้งระบบให้บรรลุดัชนีความมั่นคงทางน้ำ ของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียให้ถึง 80 คะแนน
– เพิ่มผลิตภาพน้ำทั้งระบบ 80 เท่า จากค่าเฉลี่ยปัจจุบัน
– เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า เป็นร้อยละ 40
– รักษาแนวปะการังที่สำคัญต่อการท่องเที่ยวให้เสียหายไม่เกินร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี และไม่เกินร้อยละ 20 ภายใน 20 ปี
– ให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลไม่เกิน 6 ล้านคนต่อปี ภายใน 5 ปี
ฯลฯ
อย่างไรก็ดีจากร่างยุทธศาสตร์ชาติที่เห็น ไม่ได้กำหนดหรือแนะนำวิธีการทำงานที่จะเดินไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ได้ เพียงแต่กำหนดเป้าหมายลอยๆ ไว้ให้ต้องทำตามให้ได้เท่านั้น ทำให้มียุทธศาสตร์หลายอย่างที่ฟังดูดีแต่อาจจะยากในทางปฏิบัติเมื่อจะต้องทำให้เป็นจริงภายในปี 2579 เช่น การสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจในเขตชุมชน การบริหารจัดการพื้นที่ป่าชุมชนแบบมีส่วนร่วม การลดปริมาณของเสียลงทะเลทั้งระบบ การมีระบบตรวจสอบและแจ้งเตือนปัญหา เป็นต้น
เปรียบเทียบความฝันในยุทธศาสตร์ชาติกับสถานการณ์ปัจจุบัน
หากเปรียบเทียบความฝันในร่างยุทธศาสตร์ชาติ เพื่ออนาคตอีก 20 ปี ข้างหน้า กับสถานการณ์ปัจจุบันในบางประเด็นจะพบว่า ยังห่างไกลความเป็นจริงอยู่มาก ตัวอย่างเช่น 
ร่างยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายให้เพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ เป็นร้อยละ 35 ขณะที่ข้อมูลจากกรมป่าไม้ เมื่อปี 2559 พบว่า พื้นที่ป่าในประเทศไทยมีอยู่ร้อยละ 31.58
ร่างยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายให้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า เป็นร้อยละ 40 ขณะที่ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เมื่อเดือนมกราคม 2561 พบว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนมีอยู่ที่ร้อยละ 7.10
ร่างยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายให้จัดการมลพิษ ขยะ น้ำเสีย ให้เป็นไปตามมาตราฐานสากล ไม่มีหลุมฝังกลบขยะในประเทศร้อยละ 100 ขณะที่ข้อมูลจากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในปี 2559 ปริมาณขยะมูลฝอยที่กำจัดถูกต้องคิดเป็นร้อยละ 35 ซึ่งมาจากสถานที่กำจัด 330 แห่ง ขณะที่อีก 2,480 แห่งยังกำจัดไม่ถูกต้อง
ไฟล์แนบ
You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ