ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน: ตั้งเป้านำไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2579

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีทั้งหมดหกด้าน จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้งหกด้านที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้งขึ้น สำหรับการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน” รัฐบาล คสช. แต่งตั้ง สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการฯ รวมด้วยกรรมาการฯ อีกจำนวน 11 คน 
24 มกราคม 2561 ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จัดทำร่างเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อย และหลังจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนจำนวนสี่ครั้งในสี่ภาคสี่จังหวัด เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน และขณะนี้ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้กำลังถูกแก้ไขเพิ่มเติมก่อนจะถูกเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ วันที่ 9 เมษายน 2561
เหตุผล: โลกเปลี่ยนสู่ยุคเทคโนโลยี ต้องปรับตัว พัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เริ่มจากวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเกิดขึ้นว่า ภาคการผลิตกำลังเดินเข้าสู่เทคโนโลยีมากขึ้น และการค้าก็หันไปอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้หลายธุรกิจล่มสลายลง ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวเร่งด่วน เพื่อวางยุทธศาสตร์ให้การเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายใต้บริบทของไทยที่สอดคล้องกับกติกาสากล
เป้าหมาย: พาประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ประชาชนกินดีอยู่ดี
เป้าหมายของร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน คือ ต้องการให้ประเทศไทยก้าวข้าม “กับดักรายได้ปานกลาง” ด้วยการทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีมีรายได้เพิ่มขึ้น ขยายโอกาสในเวทีโลก และทำให้การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้นในเวทีสากล โดยในร่างนี้ระบุเป้าหมายทั้งหมดสี่ด้านด้วยกัน คือ
เป้าหมายที่หนึ่ง นำประเทศไทยสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว
ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับ คาดหวังว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีรายได้ต่อหัวมากกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 467,000 บาทต่อคนต่อปี ภายในปี 2579 ที่ผ่านมาในปี 2559 ประเทศไทยมีรายได้ต่อหัวประมาณ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 187,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งธนาคารโลกได้กำหนดว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วคือประเทศที่มีรายได้ต่อหัวมากกว่า 12,235 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 381,583 บาทต่อคนต่อปี ดังนั้น หากประเทศไทยใช้หลักเกณฑ์การปรับรายได้เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 250 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7,800 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2579 ประเทศไทยจะเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี
เป้าหมายที่สอง จีดีพีขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละห้าต่อปี
ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ คาดหวังว่า อัตราการขยายตัวของ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” (Gross Domestic Product: GDP) ต้องเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละห้าต่อปี ในระยะ 20 ปี ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.8 – 4.0 ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายต้องอาศัยการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน การค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการเพิ่มผลิตภาพการผลิตรวม
เป้าหมายที่สาม “ผลิตภาพการผลิตรวม” เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละสามต่อปี
“ผลิตภาพการผลิตรวม” (Total Factor Productivity: TFP) หรือการเพิ่มขึ้นของผลผลิตที่ไม่ได้มาจากการเพิ่มขึ้นของปัจจัยการผลิต (ปัจจัยแรงงาน ที่ดิน และทุน) แต่อาจเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ คาดหวังว่า ผลิตภาพการผลิตรวมเฉลี่ยของประเทศไทยจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละสามต่อปี ในระยะ 20 ปี ทั้งนี้ในปี 2558 ประเทศไทยมีผลิตภาพการผลิตรวมอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ดังนั้นเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตรวม ในร่างยุทธศาสตร์ชาติจึงตั้งเป้าเร่งการลงทุนในภาคการผลิตและบริการที่มีศักยภาพ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภาพของคน สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ
เป้าหมายที่สี่ ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน
ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ คาดหวังว่าประเทศไทยจะอยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ International Institute for Management Development (IMD) ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่เน้นปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงอันดับที่ 25-30 โดยมีจุดอ่อนในด้านประสิทธิภาพการผลิต ด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา 
ไฟล์แนบ