ฟังข้อเรียกร้องจากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ขอให้ถอนคดี ยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช.

7 มีนาคม 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดงานเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนขึ้น เนื่องในวันสตรีสากลประจำปี 2561 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีการมอบประกาศเกียรติคุณแก่นักปกป้องสิทธิสตรีและปิดท้ายด้วยวงเสวนาในประเด็น "ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน บทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคม ความเสี่ยงภัยคุกคามและข้อเสนอเพื่อการคุ้มครอง"
ในพิธีมอบเกียรติบัตรเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มีองค์กรและบุคคลที่ได้รับรางวัลดังต่อไปนี้ 
1) มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งทำงานเพื่อสิทธิของคนทำงานบริการทางเพศ
2) ทีมฟุตบอลบูคู FC 
3) นุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค 
4) สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) 
5) ดารารัตน์ สุเทศ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา 
6) หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
บนเวทีอภิปรายเรื่อง "ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน บทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคม ความเสี่ยงภัยคุกคามและข้อเสนอเพื่อการคุ้มครอง" ร่วมอภิปรายโดย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติทั้งหมด ดำเนินรายการโดย นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร 
ตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า เมื่อเข้ามาทำงานก็ถูกมองว่ามาทำงานที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว จึงรู้สึกว่า ทำยังไงก็ไม่อาจจะเท่าเทียมกับคนอื่นๆ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี แต่ตอนนี้รู้สึกดีที่ได้รางวัลเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เทำให้รู้สึกว่า อย่างน้อยเราก็ถูกยอมรับที่จะมีสิทธิเหมือนคนอื่นๆ และขอเสนอแนะว่า อยากจะให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิผู้หญิง ไม่ควรละเมิดสิทธิของผู้หญิงที่กำลังต่อสู้ ไม่ว่าเราจะเป็นพนักงานบริการ หรือคนที่ต่อสู้ในประเด็นอื่นๆ อยากให้ปกป้องสิทธิมากกว่าที่จะใช้กฎหมายมาทำร้ายเรา
ตัวแทนกลุ่มทีมฟุตบอลบูคู FC กล่าวว่า เมื่อเริ่มแรกต้องเจอกับความยากในการก้าวเข้ามาอยู่ในสนามฟุตบอล เพราะเป็นผู้หญิงมุสลิมใส่ฮิยาบ แต่พอได้มาเล่นก็มีความมั่นใจมากขึ้น แรกๆ มีความกังวล เพราะในสนามมีแต่ผู้ชาย และถูกผู้ชายถามว่า ผู้หญิงเตะบอลได้ด้วยหรือ ทำให้รู้สึกกลัวความรุนแรงจากผู้ชาย กลัวผู้ชายไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาเตะฟุตบอล โชคดีที่ทางบ้านก็สนับสนุนและเข้าใจ 
สิ่งที่ประทับใจเกี่ยวกับทีมฟุตบอลทีมนี้ คือ ทุกครั้งที่ไปเล่นจะได้แสดงความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องมีการแข่งขัน ไม่มีความรุนแรง เป็นการเล่นเเพื่อความสนุกสนาน ทุกคนสามารถเล่นได้ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน สนามบอลเป็นเหมือนพื้นที่ที่ทุกคนมีความเคารพในกันและกัน ซึ่งในทีมจะมีทั้งชายและหญิง ทุกคนได้เล่นโดยเท่าเทียมกัน ไม่ได้มุ่งแพ้ชนะ ขอเสนอแนะว่า อยากให้มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้เล่นกีฬาที่ตัวเองชอบ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเพศสภาพ อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญในเรื่องความแข็งแรงของร่างกายและสุขภาพที่ดีของผู้หญิงด้วย   
สุภาภรณ์ มาลัยลอย กล่าวว่า กำลังใจที่ทำให้ยังทำงานเพื่อสิทธิทางสิ่งแวดล้อมอยู่ตรงนี้ คือ กำลังใจจากพี่น้องประชาชนที่ยังคงถูกละเมิดสิทธิอยู่จำนวนมาก กลไกทางกฎหมายเป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นเครื่องมือเพื่อลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
ในภาระหน้าที่ปัจจุบันของสุภาภรณ์ มีสองส่วนที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการองค์กรที่จะให้องค์กรยังคงอยู่เพื่อที่จะทำงานต่อไปได้ และการสนับสนุนส่งเสริมภาคประชาชนในการใช้เครื่องมือทางกฎหมายในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของตน เมื่อก่อนสุภาพรณ์ทำงานฝ่ายสนับสนุน แต่ปัจจุบันได้ก้าวออกมาเป็นหน่วยหน้า ซึ่งการทำงานเป็นหน่วยหน้านี้ทำให้รู้สึกหวาดกลัวมากขึ้นเนื่องจากงานที่ต้องทำนั้นมีความขัดแย้งกับรัฐ กับนายทุน หรือกับฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับการต่อสู้ ตลอดเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา พบว่า นักปกป้องสิทธิถูกดำเนินคดีมากมาย 
สุภาภรณ์จึงเสนอด้วยว่า อยากให้ยกเลิกประกาศ และคำสั่ง คสช. หรือกฎหมายต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน อยากให้ถอนฟ้องในคดีต่างๆ ที่ยับยั้งการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ และเรียกร้องต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตว่า รัฐบาลนั้นจะต้องเห็นความสำคัญและยอมรับนักปกป้องสิทธิทั้งหลาย ไม่ว่าหญิงหรือชาย พร้อมทั้งสร้างกลไกที่จะคุ้มครองพวกเขา เพื่อเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ปกป้องสิทธิ หรือต่อสู้เพื่อคนอื่น 
“ความมั่นคงจะต้องเกิดจากความรู้สึกมั่นคงของคนในประเทศ ไม่ใช่แต่เพียงความมั่นคงของรัฐเพียงอย่างเดียว อยากให้มีพื้นที่รับความเห็นต่างเพราะความเห็นต่างจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้” สุภาภรณ์ กล่าว
นุชนารถ แท่นทอง กล่าวว่า รางวัลนี้ไม่ใช่ของตนเพียงคนเดียว แต่เป็นของทุกคนในเครือข่ายสลัมสี่ภาคที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิในที่อยู่อาศัย สิ่งที่ทำให้เรามาต่อสู้ได้นั้นก็เพราะการถูกละเมิด การถูกไล่รื้อ การเข้าไม่ถึงสิทธิในที่อยู่อาศัย เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมในประเด็นเกี่ยวกับการไล่รื้อบ้าน ถูกตัดสินให้แพ้คดีและต้องย้ายออกจากบ้าน 
นุชนารถ กล่าวว่า เครือข่ายสลัมสี่ภาคไม่ใช่ม็อบรับจ้าง ไม่ใช่กลุ่มมที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแย่งชิงที่ดินของคนอื่นให้มาเป็นของตัว แต่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการเข้าถึงที่ดินที่ควรจะถูกกระจายให้คนทั้งประเทศได้มีโอกาสเข้าถึงโดยเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ไปกระจุกตัวอยู่แต่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พวกเราทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี 
“ส่วนตัวแล้วก็มีความกลัว แต่ก็ตระหนักว่าความกลัวไม่ได้้ช่วยให้พ้นปัญหาได้ ทีมเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ลดความกลัวได้ โปรดอย่ามองพวกเราว่าเป็นพวกทำให้ประเทศชาติวุ่นวาย รัฐควรปกป้องพวกเรา ไม่ควรนำมาตรการการฟ้องต่างๆ มาใช้กับใครที่ทำงานปกป้องสิทธิ” นุชนารถกล่าว
ในฐานะของเครือข่ายสลัมสี่ภาค นุชนารถและเพื่อนเคยเข้าร่วมกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตด้วย และต่อมาเธอถูกตั้งข้อหาฐานชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558
หทัยรัตน์ พหลทัพ กล่าวว่า ขอเสนอไปยัง คสช. ให้คืนเสรีภาพให้สื่อมวลชน ให้ได้ทำหน้าที่รายงานข่าวอย่างมีเสรีภาพ เพราะสื่อมวลชนในขณะนี้กลัวที่จะรายงานข่าวของผู้ที่เห็นต่างจาก คสช. อยากให้ คสช. ยกเลิกคำสั่งที่ควบคุม ปิดกั้น การทำงานของสื่อมวลชนทุกแขนง ยกเลิกการติดตามการทำงานของสื่อมวลชน เลิกให้ทหารไปที่สถานีโทรทัศน์ เพื่อที่จะให้พวกเราไม่ต้องอยู่ในสภาวะความกลัวอีกต่อไป และอยากให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีที่มีการคุกคามทางเพศต่อสื่อมวลชน ควรมีการลงโทษผู้กระทำผิด และตัวสื่อมวลชนเองไม่ควรปิดปาก เมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ