เปรียบเทียบ ประกาศ คปค. 2549 vs ประกาศ คสช. 2557

 

 

ประกาศ "ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน" จะใช้ยาวแค่ไหน?
การสั่งห้าม "ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน" น่าจะเป็นประกาศ-คำสั่งฉบับแรกๆที่ออกมาหลังการรัฐประหารแทบทุกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การประกาศห้ามชุมนุมรวมทั้งการกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืน เป็นเครื่องมือที่คณะรัฐประหารใช้ควบคุมสถานการณ์และป้องกันการต่อต้านของประชาชน
การห้ามการชุมนุมก็ถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่มีความร้ายแรงเพราะไม่เพียงเป็นการขัดต่อพันธกรณีตามกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งไทยเป็นภาคีเท่านั้น หากแต่ยังอาจสร้างความรู้สึกอึดอัดอย่างร้ายแรงให้กับประชาชนผู้ถูกจำกัดสิทธิด้วย เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับตัวเองทั้งในหมู่ประชาชนและในสังคมระหว่างประเทศ  ทางหนึ่งที่คณะรัฐประหารพอจะทำได้ก็คือการจำกัดการใช้อำนาจที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนรวมทั้งเสรีภาพในการชุมนุมให้น้อยที่สุด
หลังคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้หนึ่งวันก็มีการออกประกาศ "ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน" เช่นกัน เป็นประกาศ ฉบับที่ 7 ซึ่งมีเนื้อหาว่า เพื่อมิให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก จึงห้ามมิให้มั่วสุม ประชุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ประกาศคปค.ฉบับนี้ใช้บังคับอยู่ระยะหนึ่ง รัฐบาลของ คปค. เองก็ออกพระราชบัญญัติ ชื่อว่า "พระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 7 เรื่อง การห้ามชุมนุมทางการเมือง ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549" ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2549 ลงนามโดยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีสาระสำคัญสั้นๆ มาตราเดียว คือ ให้ยกเลิกประกาศฉบับที่ 7 โดยเขียนเหตุผลประกอบพระราชบัญญัติยกเลิกฯฉบับนี้ว่า ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง สมควรยกเลิกประกาศดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพในการประชุมทางการเมืองได้ 
เท่ากับว่านับจากวันประกาศใช้จนถึงวันที่มีการออกกฎหมายมายกเลิก ประกาศห้ามชุมนุมเกินห้าคนของมีอายุเป็นกฎหมาย 3 เดือน กับอีก 6 วัน
คณะรัฐประหารชุดต่อมาที่เรียกตัวเองว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการดำเนินการเกี่ยวกับการออกประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนที่แตกต่างออกไป
ในวันเดียวกันวันที่ยึดอำนาจ คสช.ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 สั่งห้ามมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป พร้อมกำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับอยู่ 10 เดือนเศษ มีผู้ถูกจับกุมหลายร้อยคนและถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 52 คน
ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2558 คสช. ก็ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12. มีข้อความห้ามมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป เช่นเดียวกัน แต่ให้ลดโทษลงมาเหลือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับและมีข้อยกเว้นว่าหากคสช.อนุญาตให้ชุมนุมก็สามารถทำได้ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้เป็นคำสั่งที่ออกมาภายหลัง มีเนื้อหาเหมือนกับฉบับที่ใช้อยู่ก่อน เท่ากับมีผลให้ยกเลิกประกาศ ฉบับที่ 7/2557 และใช้ฉบับนี้ต่อแทน
เมื่อนับอายุการบังคับใช้ประกาศ ฉบับที่ 7/2557 ต่อเนื่องกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ก็จะพบว่าตลอดเวลาภายใต้ยุค คสช. มีการห้าม "ชุมนุมเกิน 5 คน" อยู่ตลอดรวมแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี 10 เดือน และในระหว่างนั้นก็มีผู้ถูกจับกุมตัั้งข้อหานี้ไปแล้วอย่างน้อย 334 คน และมีแต่แนวโน้มว่า คำสั่งนี้จะยังมีผลบังคับใช้ต่อไปอีกเรื่อยๆ เพื่อเป็นอาวุธทางกฎหมายของ คสช. ในการสร้างบรรยากาศที่ดูเหมือนจะ "สงบเรียบร้อย" ไม่มีการประท้วงใดๆ

 

 

ประกาศ "ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม" จะใช้ยาวแค่ไหน?
การสั่ง "ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม" แทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์คู่กับการรัฐประหารในประเทศไทย เมื่อมีการเข้ายึดอำนาจ คณะรัฐประหารก็จะออกประกาศห้ามพรรคการเมืองจัดประชุมหรือทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อป้องกันการรวมตัวกันต่อต้าน หรือการดำเนินกิจกรรมไปในทางอื่นๆ นอกจากที่คณะรัฐประหารต้องการให้เป็นไป 
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และในวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ก็ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 สั่งห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุม หรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง และการดำเนินการเพื่อการจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองให้ระงับไว้เป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้กำหนดความผิดและโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนไว้ด้วย แต่การกำหนดห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการเขียนแอบๆ ไว้ในประกาศที่มีชื่อว่า "ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป" ทำให้ดูเผินๆ ไม่รู้ว่าเป็นประกาศเรื่องห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม
ตั้งแต่ คสช. เข้ายึดอำนาจการบริหารประเทศ พรรคการเมืองทุกพรรคก็ถูกประกาศฉบับนี้ "แช่แข็ง" อยู่เป็นเวลากว่า 3 ปี 10 เดือน เมื่อไม่สามารถดำเนินกิจกรรมใดๆ ได้เลย ก็ทำให้ระบบกลไกต่างๆ ค่อยๆ อ่อนแอลง
ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และมีกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง และการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายต่างๆ กำหนดเงื่อนไข ภาระหน้าที่ให้กับพรรคการเมืองมากมาย เช่น การต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 5,000 คนใน 1 ปี, ต้องมีสาขาพรรคภาคละหนึ่งสาขา, ต้องจัดทำระบบ Primary Vote ฯลฯ แต่พรรคการเมืองก็ไม่สามารถเริ่มต้นดำเนินงานให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายได้ เพราะยังติดข้อห้ามของประกาส คสช. ฉบับที่ 57/2557 อยู่ และหากไม่สามารถดำเนินงานได้ ก็อาจจะไม่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งพรรคตามกฎหมายใหม่ได้
ปัญหาความคาราคาซังเช่นนี้จึงนำไปสู่ข้อเรียกร้องเรื่องการ "ปลดล็อกพรรคการเมือง" ซึ่งก็คือ การยกเลิกประกาศ 57/2557 นั่นเอง
แทนที่ คสช. จะปลดล็อกพรรคการเมืองให้เริ่มทำกิจกรรมได้ตามปกติ คสช. กลับใช้ข้ออ้างจากปัญหาเรื่องการติดล็อกที่ คสช. สร้างไว้ว่า พรรคการเมืองยังไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เอามาเป็นเหตุผลในการหาช่องทางยืดเวลาจัดการเลือกตั้งออกไปอีกเรื่อยๆ
ขณะที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ที่ทำรัฐประหารครั้งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังการเข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจได้สองวัน ก็ออกประกาศ "ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม" เช่นกัน เป็นประกาศ ฉบับที่ 15 ข้อ 2. มีเนื้อหาว่า เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุมหรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง และการดำเนินการเพื่อการจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองให้ระงับไว้เป็นการชั่วคราว
แต่จุดที่แตกต่างกัน คือ คปค. ให้ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับอยู่ไม่ถึงหนึ่งปีเต็ม รัฐบาลของ คปค. เองก็ออกพระราชบัญญัติ ชื่อว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 เรื่อง ห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือดำเนินกิจการอื่นใดทางการเมือง ลงวันที่ 21 กันยายน พุทธศักราช 2559 พ.ศ. 2550" ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2550 ลงนามโดยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีสาระสำคัญสั้นๆ มาตราเดียว คือ ให้ยกเลิกข้อ 2. ของประกาศฉบับที่ 15
รวมระยะเวลาภายใต้การปกครองของ คปค. ที่มีประกาศห้าม "พรรคการเมืองทำกิจกรรม" 10 เดือน 27 วัน
ในปี 2550 หลังยกเลิกประกาศ คปค. เพื่อ "ปลดล็อกพรรคการเมือง" ได้ 4 เดือน ก็จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และคืนอำนาจให้ประชาชนได้ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550
 
ประกาศ “ควบคุมสื่อออนไลน์” จะใช้ยาวแค่ไหน?
สื่อและสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่พิเศษ คือ สื่อออนไลน์ไม่มีสถานีหรือพื้นที่ที่ชัดเจนที่ผู้นำการรัฐประหารจะสามารถยกกำลังทหารไปปิดล้อมเพื่อควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พื้นที่ออนไลน์จึงเป็นช่องทางที่ประชาชนยังสามารถได้รับข่าวสารที่แตกต่างออกจากสื่อกระแสหลักได้บ้าง และใช้สำหรับแสดงความคิดเห็นทางการเมือง นี้คือเหตุผลที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รีบออกประกาศมาควบคุมสื่อออนไลน์ทันทีหลังรัฐประหาร
คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และในวันเดียวกันก็ได้ออกประกาศ คสช. 2 ฉบับเพื่อ “ควบคุมสื่อออนไลน์” ได้แก่ ประกาศคสช. ฉบับที่ 12/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์ และประกาศคสช.ฉบับที่ 17/2557 เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต 
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 12/2557 กำหนด “ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ ระงับการให้บริการในการส่งข้อความเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย ตลอดจนการต่อต้านการปฏิบัติงาน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ทั้งนี้ หากยังคงมีการดำเนินการอยู่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะระงับการให้บริการโดยทันที รวมทั้งเรียกตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” 
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 17/2557 กำหนดให้ผู้บริการอินเทอร์เน็ตทุกราย ติดตาม ตรวจสอบ และระงับยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่มีการบิดเบือน ยุยง ปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ความมั่นคงของรัฐหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อีกทั้ง ยังเรียกให้ผู้บริการทุกรายมารายงานตัวที่สำนักงาน กสทช. ในวันรุ่งขึ้น
นับจนถึงปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์อยู่ภายใต้การควบคุมของคสช.มานานแล้วกว่า 3 ปี 9 เดือน
หากเปรียบเทียบกับการรัฐประหารครั้งก่อน คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทำการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 และก็ออกประกาศ “ควบคุมสื่อออนไลน์” ในวันถัดมา 
วันที่ 20 กันยายน 2549 คปค.ออกคำสั่งคปค. ที่ 5/2549 กำหนด “ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดำเนินการควบคุม ยับยั้ง สกัดกั้น และทำลาย การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระบบสารสนเทศ ผ่านระบบเครือข่ายการสื่อสารทั้งปวง ที่มีบทความ ข้อความ คำพูด หรืออื่นใด อันอาจจะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย”
เห็นได้ว่า คณะรัฐประหารทั้งสองชุดออกประกาศ/คำสั่งอย่างเร่งด่วนมาควบคุมสื่อออนไลน์ เช่นเดียวกัน โดยเงื่อนไขในการควบคุมที่กว้างขวางแล้วแต่อำเภอใจเช่นเดียวกัน แต่คณะรัฐประหารในปี 2549 ยังพึ่งพาหน่วยงานราชการ คือ กระทรวง ICT ในขณะนั้นให้ดำเนินการ ส่วนคณะรัฐประหารยุคถัดมาในปี 2557 สั่งโดยตรงไปที่ผู้ให้บริการซึ่งเป็นบริษัทเอกชน
คำสั่ง คปค. ที่ 5/2549 ใช้จนกระทั่งวันที่ 25 ธันวาคม 2550 จึงได้มีการออกพระราชบัญญัติมายกเลิก โดยออกเป็น ‘พระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ ๕/๒๕๔๙ เรื่อง ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารระบบเทคโนโลยีสารสนเทศลงวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ พ.ศ. ๒๕๕๐’ 
รวมระยะเวลาภายใต้การปกครองของ คปค. มีประกาศ “ควบคุมสื่ออนไลน์"  1 ปี 3 เดือน
เหตุผลในการยกเลิก ถูกระบุไว้ท้ายพระราชบัญญัติด้วยว่า สถานการณ์โดยทั่วไปได้คลี่คลายลง ประกอบกับได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ใช้บังคับแล้ว สมควรยกเลิกคําสั่งฉบับนี้เพื่อให้การดําเนินการควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระบบสารสนเทศเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และมิให้มีกฎหมายซ้ําซ้อนกัน