Q&A ตอบทุกคำถาม เข้าชื่อ #ปลดอาวุธคสช. ทำอย่างไร? ทำแล้วยังไง?

ระหว่างทางการเข้าชื่อเสนอให้ยกเลิก ประกาศ/คำสั่งของ คสช. รวม 35 ฉบับ มีคำถามเข้ามามากมาย หลายคนสงสัยหลายประเด็นก่อนตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมดีหรือไม่ เราจึงรวบรวมคำถามหลักๆ ที่พบบ่อยๆ มาลองอธิบายแบบสั้นๆ ไว้ที่นี่ที่เดียว หวังว่าจะตอบทุกข้อสงสัยได้ แต่หากใครยังมีข้อคิดเห็นหรือคำถามใดๆ ก็ส่งเข้ามาช่วยกันได้เสมอ เราจะพยายามตอบให้ครบทุกความเห็น

 

Q1: ลงชื่อผ่านทางออนไลน์ได้หรือไม่?
A1: ไม่ได้ เพราะการลงชื่อผ่านทางออนไลน์ เช่น ทางเว็บไซต์ change.org เป็นเพียงการรวมพลังเรียกร้องที่ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญมาตรา 133 จะมีผลตามกฎหมายให้รัฐสภาต้องรับร่างกฎหมายนั้นไว้พิจารณา ผู้เข้าชื่อจึงต้องกรอกแบบฟอร์มเฉพาะเรียกว่า “ข.ก.๑” และต้องใช้เอกสารตัวจริง ที่ลงลายมือชื่อจริงเท่านั้น พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนที่ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องไว้เป็นหลักฐานด้วย จึงจะมีผลนับเป็นหนึ่งในหมื่นรายชื่อที่เสนอกฎหมายได้
Q2: ใครมีสิทธิลงชื่อบ้าง?
A2: รัฐธรรมนูญใช้คำว่า ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย คือ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ดังนั้น คนไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกคนเป็นผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้หมด
คนที่ถูกตัดสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ได้แก่ นักบวชในศาสนา นักโทษที่ถูกคุมขัง คนวิกลจริต และคนที่ถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งสถานะของแต่ละคนจะนับวันที่นำร่างกฎหมายยื่นต่อสภาให้พิจารณาซึ่งจะเป็นวันที่ทุกรายชื่อถูกตรวจสอบกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร 
การไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใดครั้งหนึ่ง ไม่เป็นเหตุให้ตัดสิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
Q3: ต้องลงชื่อภายในเมื่อไร?
A3: ตามกฎหมายไม่ได้มีกำหนดว่า เมื่อเริ่มรวบรวมรายชื่อแล้วจะต้องรวบรวมให้ได้ครบจำนวนภายในกี่วัน แต่ทางเครือข่ายภาคประชาชนตั้งเป้าว่า จะพยายามรวบรวมรายชื่อให้ได้ภายใน 5-6 เดือน หรือภายในเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งถ้าหากทุกคนช่วยกันส่งรายชื่อมาโดยเร็วก็จะเป็นผลดีต่อการตรวจนับและคัดแยกเอกสารให้เรียบร้อย
Q4: เมื่อลงชื่อแล้ว จะมีผลกระทบตามมาหรือไม่?
A4: การเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 ที่ไม่มีใครสามารถห้ามได้ ร่างกฎหมายที่เสนอครั้งนี้ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายใด และไม่ขัดต่อประกาศ/คำสั่งของ คสช. เองด้วย ในทางตรงกันข้าม หากมีใครพยายามหลอกลวง บังคัญ ขู่เข็ญ ไม่ให้ลงชื่อหรือให้ถอนชื่อ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย มาตรา 13 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
Q5: ถ้ามีการเลือกตั้งแล้ว จัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้แล้ว ประกาศ/คำสั่งต่างๆ จะถูกยกเลิกโดยบริยาย ใช่หรือไม่?
A5: ไม่ใช่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 รับรองให้ประกาศ/คำสั่ง และการกระทำทั้งหลายของ คสช. ถือว่า ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญตลอดไป การจะยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติมาเพื่อยกเลิก
Q6: เมื่อได้รายชื่อครบแล้วจะยื่นให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาทันทีหรือไม่?
A6: ไม่ เนื่องจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด และมีสมาชิก 58% เป็นทหาร จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะพิจารณาออกกฎหมาย และไม่มีแนวโน้มว่าจะพิจารณาให้ร่างกฎหมายที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อ คสช. ผ่านออกมาบังคับใช้ได้ ทั้ง 23 เครือข่ายองค์กรจึงเห็นตรงกันว่า จะไม่เสนอให้ สนช. เป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมายนี้ แต่จะรอให้มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งก่อน แล้วค่อยเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณา
Q7: ถ้าจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร แสดงว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะยังต้องอยู่ภายใต้ประกาศ/คำสั่ง คสช. เหล่านี้ ใช่หรือไม่?
A7: ไม่แน่เสมอไป กิจกรรมเข้าชื่อเสนอกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้มีผลทางกฎหมายที่นำไปสู่การยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. ให้ทันก่อนการเลือกตั้งโดยตรง แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ต่อสังคมและเดินหน้าไปสู่เป้าหมายนี้เช่นกัน หากสังคมมีความเข้าใจต่อปัญหาของประกาศ/คำสั่ง คสช. ทั้ง 35 ฉบับ และกิจกรรมการลงชื่อมีพลังมากพอส่งเสียงของประชาชน คสช. ก็อาจจะตัดสินใจยกเลิกเองก่อนการเลือกตั้งเพื่อเคารพความต้องการของประชาชนก็ได้ หรือแม้จะไม่ได้เสนอต่อ สนช. โดยตรง หากสมาชิกของ สนช. เห็นความสำคัญของการยกเลิกประกาศ/คำสั่งเหล่านี้ ก็อาจนำหลักการนี้ไปเสนอเป็นร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาเองได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า สังคมเห็นด้วยและตื่นตัวกับเรื่องนี้มากพอหรือไม่
Q8: เมื่อเสนอไปแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจะเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้หรือไม่
A8: เครือข่ายภาคประชาชนคงไม่สามารถตอบคำถามข้อนี้ได้ อย่างไรก็ตามหากมีประชาชนจำนวนมากใช้สิทธิของตัวเองร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายนี้ก็มีความเป็นไปได้ว่าเสียงของประชาชนจะผลักดันให้รัฐสภาต้องพิจารณาผ่านร่างกฎหมายนี
Q9: สภาผู้แทนราษฏรที่มาจากการเลือกตั้งยังต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วจะยกเลิก ประกาศ/คำสั่ง คสช. ได้หรือไม่?
A9: รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ “รัฐบาล” ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ที่ต้องออกนโยบายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และเสนองบประมาณรายจ่ายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แต่ไม่ได้กำหนดให้ "รัฐสภา" ที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายต้องพิจารณากฎหมายภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติด้วย และนอกจากนี้ เราก็ยังไม่เห็นว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเนื้อหาเป็นอย่างไร เพราะยังอยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำที่ประชาชนยังพอจะส่งเสียงเรียกร้องได้ว่า สิ่งใดต้องการสิ่งใดไม่ต้องการ และจากฉบับร่างเท่าที่เคยเผยแพร่ออกมาก็ไม่ได้มีเนื้อหาส่วนใดที่จะคุ้มครองให้ประกาศ/คำสั่งของ คสช. คงอยู่ตลอดไป
Q10: กิจกรรมนี้เสนอให้ยกเลิก 35 ฉบับ ทำไมจึงไม่ยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. ให้หมดทุกฉบับ?
A10: ประกาศและคำสั่งของ คสช. มีจำนวนกว่า 500 ฉบับ แต่ละฉบับมีเนื้อหาและวิธีการบังคับใช้ต่างกัน หลายฉบับเมื่อออกมาแล้วก็สิ้นผลไปในทันที เช่น การแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ บางฉบับยังมีลักษณะเป็นคำสั่งที่ใช้อำนาจบริหารจึงไม่อาจยกเลิกโดยวิธีการออกเป็นพระราชบัญญัติได้  
แม้ว่า ประกาศ/คำสั่ง คสช. ส่วนใหญ่จะสามารถยกเลิกโดยการออกเป็นพระราชบัญญัติได้ แต่ประกาศและคำสั่งของ คสช. อีกจำนวนมากยังไม่มีผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงออกมาอธิบายต่อสาธารณะถึงวิธีการบังคับใช้และผลร้ายที่เกิดขึ้นต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็น ประกาศและคำสั่งของ คสช. เหล่านั้นจึงปัญหาเรื่องความชอบธรรมเฉพาะในแง่ที่มา แต่ในทางเนื้อหายังต้องอาศัยการศึกษาข้อมูลเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้มากกว่านี้เพื่อเสนอให้ยกเลิก แต่หากประชาชนคนใดหรือกลุ่มใดได้รับผลกระทบจากประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ฉบับใด และเห็นควรเสนอให้ยกเลิกไปพร้อมๆ กัน ทั้ง 23 เครือข่ายองค์กรก็พร้อมสนับสนุนเช่นกัน
Q11: คนที่ไม่ได้ขัดแย้งกับ คสช. ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก็ไม่มีทางได้รับผลกระทบจากประกาศและคำสั่ง คสช. ใช่หรือไม่ ?
A11: ไม่ใช่ เพราะมีประกาศและคำสั่งของ คสช. จำนวนมากที่มีผลกระทบกับประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการยึดอำนาจของ คสช. เลย เช่น คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่องปฏิบัติทวงคืนผืนป่า ที่ให้อำนาจทหารไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกินโดยอ้างว่าเป็นเขตป่า หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ที่ให้อำนาจทหารจับกุมและปราบปรามผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมหลายประเภทอย่างหนักหน่วง เช่น กิจการรถตู้ กิจการวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวกับการต่อต้าน คสช. เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. หลายฉบับที่เกี่ยวกับการเอาที่ดินเพื่อการเกษตรมาทำนิคมอุตสาหกรรม หรือการให้อำนาจหน่วยงานรัฐดำเนินโครงการขนาดใหญ่ก่อนผ่านอีไอเอ มีแนวโน้มจะส่งผลกระเสียต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ทุกคนที่อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมเดียวกันก็ย่อมจะได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน หรือ ประกาศ คสช. ที่ 97/2557 เรื่องการควบคุมเนื้อหาในสื่อมวลชนย่อมกระทบต่อผู้บริโภคสื่อทุกคนที่ต้องรับข่าวสารอยู่ทุกวันโดยไม่อาจได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนแท้จริง เพราะถูก คสช. ควบคุมเอาไว้อยู่