รู้หรือไม่? มีประกาศ คสช. แบบนี้คอยคุมสื่อด้วย

 

 

รู้หรือไม่? ประกาศ คสช. 97/2557
สั่งสื่อทุกแห่ง ต้องเผยแพร่ข้อมูลตามที่ได้รับแจ้งจาก คสช.
รายการคืนความสุข หรือรายการศาสตร์พระราชา ออกอากาศทุกค่ำวันศุกร์ทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุทุกช่อง ติดต่อกันมานานกว่า 3 ปี แล้ว
รู้หรือไม่ว่า สาเหตุที่สื่อทุกช่องต้องออกอากาศรายการเดียวกันพร้อมกันหมดไม่เพียงแต่เป็นเพราะสื่อสนับสนุนงานของ คสช. หรือเพราะได้รับการประสานขอความร่วมมือเท่านั้น แต่การออกอากาศเนื้อหาจาก คสช. นั้นมีกำหนดไว้ชัดเจนในประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ข้อ 3. ซึ่งกำหนดว่า
"ผู้ประกอบกิจการและผู้ให้บริการด้านสื่อมวลชนทุกประเภททั้งที่เป็นของราชการ และเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิตอลและโทรทัศน์อินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ วารสาร หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งผู้บริการด้านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทอันรวมถึงการส่ือสารทางสังคมสื่อออนไลน์ มีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ"
หากสื่อมวลชนรายใด ฝ่าฝืนไม่ยอมออกอากาศตามที่ได้รับแจ้งจาก คสช. ก็มีข้อ 5. กำหนดโทษเอาไว้ ซึ่งตอนแรกโทษของการไม่ปฏิบัติตามรุนแรงมาก กำหนดไว้ว่า
"ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 2 หรือข้อ 3 ให้ระงับการจําหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการออกอากาศของรายการดังกล่าวโดยทันที และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กําหนดความผิดฐานนั้นดําเนินการตามกฎหมาย"
แต่ไม่กี่วันหลังจากออกประกาศ มีเสียงคัดค้านจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อจำนวนมาก จน คสช. ต้องออกประกาศฉบับที่ 103/2557 ของมาแก้ไขบทลงโทษเป็น
"ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 2 หรือข้อ 3 พนักงานเจ้าหน้าที่อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกดําเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ"
นอกจากกำหนดให้สื่อต้องการออกอากาศรายการตามที่คสช.ต้องการทุกครั้งแล้ว ประกาศทั้งสองฉบับซึ่งใช้บังคับมานานกว่า 3 ปี ยังห้ามสื่อนำเสนอข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือความขัดแย้ง ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ห้ามวิจารณ์ คสช. โดยไม่สุจริตด้วยข้อมูลเท็จ ฯลฯ ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้นำไปสู่การสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ที่มีจุดยืนตรงข้ามกับ คสช. มาแล้ว เช่น ว๊อยซ์ทีวี พีซทีวี ทีวี24 และเป็นอาวุธทางกฎหมายที่ทำให้สื่อมวลชนทุกแห่งต้องถูกจำกัดการเสนอข้อมูลข่าวสารด้วยความหวาดกลัว

 

 

รู้หรือไม่? คำสั่งหัวหน้า คสช. 41/2559
ขยายอำนาจ กสทช. สั่งปิดสื่อ โดยมีช่องทางยกเว้นความรับผิด
กสทช. เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจกำกับดูแลการใช้คลื่นและเนื้อหาที่ออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์มาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว แต่มาถูกติดอาวุธเพิ่มโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา44
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีอำนาจพิจารณาว่า รายการโทรทัศน์วิทยุนำเสนอเนื้อหาต้องห้ามออกอากาศหรือไม่ ซึ่งตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดว่า เนื้อหาที่ต้องห้ามออกอากาศ หมายถึง รายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
หากกสทช. เห็นว่า ช่องใดออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาต้องห้าม ก็มีอำนาจสั่งลงโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือสั่งระงับการออกอากาศรายการ หรือเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้ ซึ่งหมายถึงสั่งปิดสถานีนั้นๆ
อำนาจของกสทช.ได้รับการขยายออกไปอย่างกว้างขวางในยุคคสช. โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 41/2559 เรื่อง การกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจพิจารณาว่า เนื้อหาใดที่ออกอากาศแล้วถือว่า เป็นข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือความขัดแย้ง เป็นข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเป็นการวิจารณ์ คสช. โดยไม่สุจริตด้วยข้อมูลเท็จ ซึ่ง คสช. เคยใช้อำนาจตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 สั่งห้ามสื่อนำเสนอก่อนหน้านี้
หาก กสทช. พิจารณาแล้วเห็นว่า รายการใดนำเสนอเนื้อหาเช่นที่ว่า ก็ให้ กสทช. มีอำนาจกำหนดบทลงโทษโดยบทลงโทษสูงสุดคือการปิดสถานี
คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับ ที่ 41/2559 ยังกำหนดด้วยว่า การใช้อำนาจของกรรมการ กสทช., เลขาธิการ, เจ้าหน้าที่ หรือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจ เพื่อพิจารณาเนื้อหาของสื่อและสั่งลงโทษ หากทำไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ ย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย 
การเขียนเปิดช่องทางให้ใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องรับผิดเช่นนี้ ยังอาจต้องตีความตามกฎหมายอย่างละเอียดอีกชั้นหนึ่งว่า การกระทำใดที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่การเปิดช่องให้ตีความหรือใช้ "ดุลพินิจ"เช่นนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้การทำงานของสื่อแขวนอยู่บนเส้นด้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สื่อมีการแข่งขันกันอย่างสูงเช่นนี้ สื่ออาจเลือกที่จะไม่นำเสนอเนื้อหาบางส่วนที่มีความละเอียดอ่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ใน "ดุลพินิจ" ของเจ้าหน้าที่ แม้ว่าเนื้อหาดังกล่าวอาจเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็ตาม
การเขียนบทยกเว้นความผิดในคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 41/2559 ถือเป็นอาวุธทางกฎหมายอันทรงพลังและเป็นกำลังใจชั้นดีให้กับ กสทช. ในการทำหน้าที่ควบคุมสื่อได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกสื่อที่ได้รับผลกระทบฟ้องกลับ
รู้หรือไม่? ประกาศ คสช. 26/2557
ตั้งคณะทำงานสั่งปิดเว็บไซต์ ไม่ต้องขอหมายศาล
การปิดเว็บไซต์ในสถานการณ์ปกติ สามารถดำเนินการตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้อยู่แล้วโดยต้องขอคำสั่งจากศาล แต่ คสช. ออกประกาศ ให้มีคณะทำงานพิเศษสั่งปิดเว็บไซต์ได้เองเลย
ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 มาตรา 20 ขั้นตอนในการ "สั่งระงับการเผยแพร่เนื้อหา" หรือการปิดเว็บไซต์มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1) เว็บไซต์ที่จะถูกปิดต้องมีข้อมูลที่ขัดต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือขัดต่อหมวดความมั่นคงของกฎหมายอาญา หรือเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นร้องขอให้ปิด
2) ต้องดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอบรมจนมีความรู้ความเชี่ยวชาญและได้รับการแต่งตั้งเป็นการเฉพาะ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ อีกชั้นหนึ่ง
ในกรณีที่ต้องวินิจฉัยว่าข้อมูลใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องให้คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่มีกรรมการจำนวนเก้าคน ซึ่งสามในเก้าคนต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้วินิจฉัย
3) พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาล เพื่อให้ศาลเป็นผู้สั่งปิดเว็บไซต์ได้
แต่ในยุคของ คสช. ขั้นตอนเหล่านี้อาจจะไม่จำเป็นนัก เพราะเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 คสช. ออกประกาศ ที่ 26/2557  ให้อำนาจแก่ปลัดกระทรวงไอซีที ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลฯ แต่งตั้งคณะทำงานด้านสื่อสังคมออนไลน์ขึ้นมาชุดหนึ่ง มีอำนาจดังนี้
1) ตรวจสอบหรือเข้าถึงข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ต ที่แพร่เนื้อหาเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย ตลอดจนต่อต้าน คสช.
2) สั่งระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาตามข้อ 1)
3) ประสานงานกับ คสช. เพื่อใช้อำนาจตามกฎหมายดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้อง
จะเห็นว่า ประกาศ คสช. ที่ 26/2557 ให้อำนาจคณะทำงานชุดพิเศษที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดโดยไม่ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติว่าต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องใดๆ และไม่ต้องมีองค์ประกอบด้านสื่อหรือด้านสิทธิมนุษยชน สามารถพิจารณาเนื้อหาและสั่งปิดเว็บไซต์ได้เองโดยตรงเลย ซึ่งเป็นการข้ามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้งหมด ทำให้การปิดเว็บไซต์ไม่ต้องอาศัยคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูล และไม่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลของศาลอีกต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีประกาศ คสช. ฉบับที่ 12/2557 ที่กำหนดด้วยว่า หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ระงับการเผยแพร่ข้อความ เชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย ตลอดจนต่อต้าน คสช. ก็อาจถูก คสช. สั่งระงับการให้บริการได้ ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่เคยมีในกฎหมายอื่นมาก่อน ที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาจนถึงขั้นถูกระงับกิจการ
เพื่อ #ปลดอาวุธคสช #ทวงคืนสถานการณ์ปกติ ขอเชิญทุกคนร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิก ประกาศ/คำสั่ง คสช. ที่ออกมาเพื่อควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน และประกาศ/คำสั่งฉบับอื่นๆ อีกรวม 35 ฉบับ