สรุปคำฟ้อง ‘ทวงคืนเสรีภาพ’ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558

19 มีนาคม 2560 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยและภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 เพื่อขอให้วินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ข้อ 6 และข้อ 12 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงคำสั่งควบคุมตัวและการควบคุมตัวผู้ร้องไว้โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ในคำร้องดังกล่าวระบุว่า การที่หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 6 และข้อ 12 และการเข้าจับกุมผู้ร้องของเจ้าหน้าที่ โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 6 เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิต ร่างกายและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเห็นว่า เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 
1. รัฐธรรมนูญให้การรับรองว่า บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับกุมและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล เมื่อสิทธิดังกล่าวถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ องค์กรของรัฐทุกระดับย่อมมีหน้าที่ผูกพันโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นตรากฎเกณฑ์เพื่อบังคับใช้กับบุคคลทั่วไป หรือออกคำสั่งที่ใช้เฉพาะกรณี ก็ต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 6 ที่ให้อำนาจกับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยสามารถควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกินเจ็ดวัน โดยให้ควบคุมตัวไว้ในสถานที่อื่นที่มิใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ โดยให้อำนาจกับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยซึ่งมิใช่ศาล แต่เป็นข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรีขึ้นไป จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการออกกฎหมายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งยังขัดต่อหลักนิติธรรม (Rule of law) ซึ่งเรียกร้องว่าการตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลต้องมีความแน่นอนชัดเจนและไม่สร้างภาระต่อสิทธิหรือเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ แต่ คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ให้อำนาจดุลพินิจอย่างกว้างขวางไร้ขอบเขตกับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการออกคำสั่งเลือกควบคุมบุคคลไว้ได้ไม่เกินเจ็ดวันในสถานที่อื่นใดก็ได้ ประชาชนไม่สามารถรู้ถึงพฤติการณ์ของตนเองได้ว่าจะถูกควบคุมขังไว้ยังสถานที่ใดได้แน่ชัด และในปัจจุบันมีกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ให้อำนาจกับศาลสั่งหรือออกหมายควบคุมตัวบุคคลได้ตามขั้นตอนอยู่แล้ว ดังนั้น คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 จึงสร้างภาระต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลเกินความจำเป็นและเกินสมควรแก่เหตุ
2. รัฐธรรมนูญให้การรับรองว่า บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดเงื่อนไขในการแทรกแซงหรือจำกัดเสรีภาพนี้ไว้ว่า การจำกัดเสรีภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ สถานที่ใด ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป พร้อมกับกำหนดโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งบทบัญญัติของคำสั่งกล่าวกินความกว้างไปถึงการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของบุคคลทั้งที่รัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าวไว้
อีกทั้ง เมื่อพิจารณาแล้วกลับพบว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขทางรูปแบบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขอนุญาตให้รัฐสามารถตรากฎหมายเพื่อจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้เฉพาะหากการใช้เสรีภาพดังกล่าวในกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ตรากฎหมายเข้ามาควบคุมหรือห้ามการชุมนุมที่มีเนื้อหาบางประเภทได้ แต่ปรากฏว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ตราขึ้นมาเพื่อเข้าแทรกแซง จำกัดและห้ามมิให้การใช้เสรีภาพชุมนุมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งได้กระทำโดยบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป
เมื่อพิจารณาทางเนื้อหา ก็จะพบว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ขัดต่อหลักนิติธรรม (Rule of law) ซึ่งเรียกร้องว่าการจะตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพ กฎหมายดังกล่าวต้องมีความแน่นอนชัดเจนและไม่สร้างภาระต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินจำเป็น 
การที่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ให้หัวหน้า คสช. หรือผู้ที่รับมอบหมายมีอำนาจอนุญาตให้จัดการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปได้ เป็นการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางโดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งที่ หากบุคคลใช้เสรีภาพการชุมนุมตามองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญ อันได้แก่ สงบและปราศจากอาวุธ ย่อมได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตอีก ประกอบกับในปัจจุบัน ประเทศไทยมีพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และกฎหมายพิเศษในยามไม่สงบอีกอยู่แล้ว ดังนั้น การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ขึ้นมาเพิ่มเติมอีกจึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมที่รุนแรงและเกินจำเป็น กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการชุมนุมอันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
การที่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 บัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดโดยใช้ถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ อันได้แก่ “ชุมนุมทางการเมือง” ซึ่งไม่เคยมีนิยามอยู่ในกฎหมายฉบับใดมาก่อน ทำบุคคลไม่สามารถเข้าใจได้ว่า การชุมนุมรูปแบบใดหรือเนื้อหาอย่างใดจะเป็นการผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งขัดต่อหลักความแน่นอนชัดเจนของกฎหมาย ไม่ชัดเจนเพียงพอให้บุคคลสามารถเข้าใจขอบเขตเสรีภาพของตนและกำหนดพฤติกรรมของตนเองได้ จึงเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักนิติธรรม