10 อันดับเหตุการณ์เด่นรอบปี 2560

บรรยากาศก่อนสิ้นปีเป็นธรรมเนียมและโอกาสดีที่จะลองทบทวนเหตุการณ์ที่โดดเด่นในรอบปี 2560 เพื่อจะสรุปสถานการณ์ทางสังคมการเมืองและมองเห็นทิศทางความเป็นไปของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา
พิเศษสุดปีนี้ "ไอลอว์" ขอจัดอันดับเหตุการณ์เด่นที่เป็นหมุดหมายสำคัญและส่งผลกระทบต่อความเป็นไปทางสังคมการเมืองไทย โดยทั้ง 10 อันดับ ทีมงานเราขอเลือกจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรอบปี โดยไม่เรียงตามตัวเลขหรืออิงตามความสำคัญ เพราะนี่คือทุกเรื่องที่สำคัญกับทุกคน และเป็นบทเรียนให้เราเรียนรู้ร่วมกัน
ทั้งนี้ เนื่องจากไม่อาจหยิบยกทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาเล่ารวมกันไว้ได้ครบทั้งหมด สิ่งที่พวกเรา ชาว"ไอลอว์" พอจะทำได้ตลอดเวลาที่ผ่านมาและในหนทางข้างหน้า คือ การพยายามช่วยกันบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ละเอียดที่สุด และเข้าถึงได้ง่ายที่สุด อย่างน้อยเมื่อบางเรื่องเลือนหายไปจากความทรงจำ ก็ยังพอมีร่องรอยให้ค้นคว้าได้บนโลกออนไลน์รวมทั้งเพื่อกาลเวลาผ่านไปในภายภาคหน้า
ส่งท้ายปีนี้ เชิญพบกับ 10 อันดับเหตุการณ์เด่น เท่าที่เราคัดสรรมา อย่างน้อยเพื่อให้ยังไม่ลืมกันง่ายๆ
1. สนช. โดดประชุมไม่ผิด แถมแก้กฎใหม่ขาดประชุมได้ไม่จำกัด
เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ไอลอว์ เปิดเผยข้อมูลว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2559 มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างน้อย 7 คน เข้าประชุมสนช. และลงมติ ไม่ถึง 1 ใน 3 ของจำนวนการลงมติทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการผิดต่อข้อบังคับการประชุม มีผลให้สมาชิกสนช. 7 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีน้องชายหัวหน้า คสช. คือ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อาจต้องสิ้นสภาพสมาชิก สนช. 
การเปิดเผยดังกล่าวทำให้สังคมตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพ จริยธรรม และความชอบธรรม ของ สนช. ที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติออกกฎหมายบังคับใช้แก่คนทั้งประเทศ กระแสที่เกิดขึ้นกดดันให้ สนช. ต้องตั้งคณะกรรมการจริยธรรมขึ้นสอบสวน 7 สนช.ว่า การขาดลงมตินั้นได้ยื่นใบลาถูกต้องตามข้อบังคับแล้วหรือไม่ ผลการพิจารณาเป็นดังที่คาดการณ์ไว้ คือ ทั้ง 7 คน ไม่มีความผิดใดๆ 
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังสะท้อนถึงการทำงานที่ไม่โปร่งใส ของ สนช. อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ สนช. ได้จัดประชุมลับเพื่อพิจารณารายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรม ขณะที่ตัวรายงานการตรวจสอบก็ไม่เผยแพร่บนเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วไปเหมือนกับรายงานฉบับอื่นๆ แม้จะมีผู้สื่อข่าวยื่นคำร้องขอให้ สนช. เปิดเผยรายงานฯ แต่กลับถูกปฏิเสธ โดยให้เหตุผลแบบงงๆ ว่า 
“เนื่องจากการเปิดเผยอาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการจริยธรรมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” 
ตอกย้ำความไม่โปร่งใสไปอีก โดยช่วงกลางเดือนมิถุยายน 2560 ที่ประชุมสนช. ลงมติเห็นชอบ "ร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ฉบับใหม่ โดยได้ตัดเนื้อหาในหมวดการสิ้นสุดสมาชิกภาพ สนช. และ ยกเลิกข้อบังคับที่กำหนดให้สมาชิกต้องมาแสดงตนเพื่อลงมติออกไป ผลจากการตัดเนื้อหาดังกล่าวจะช่วยให้สมาชิก สนช. ไม่ต้องกังวลว่าจะต้อง "ถูกตรวจสอบ" หรือ "หลุดจากตำแหน่ง" เพราะสมาชิก สนช. จะเข้าประชุมเพื่อลงมติหรือไม่ก็ได้ ไม่มีผลต่อการทำหน้าที่แต่อย่างใด
2. ใช้อำนาจ 'ม.44' ลุยวัดพระธรรมกาย แต่สุดท้ายคว้าน้ำเหลว
ความร่ำรวยด้วยเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย รวมทั้งคดีความที่ค้างคาของพระธัมมชโย เป็นเรื่องที่สังคมคลางแคลงใจมานานแล้ว แม้ว่า จะเรื่องราวอื้อฉาวจะปรากฏบนหน้าข่าวอยู่เป็นพักๆ แต่ก็ไม่มีรัฐบาลไหนที่ให้คำตอบกับสังคมได้จริงจังต่อเรื่องนี้
ในยุค คสช. ที่ประกาศจะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จปราบคอร์รัปชั่น จึงยิ่งมีความคาดหวังว่า อำนาจรัฐจะทำอะไรบางอย่างได้ และในที่สุด คสช. ก็แสดงแสนยานุภาพโดยการใช้ "มาตรา 44" ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 5/2560 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ประกาศให้พื้นที่วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ควบคุมการเข้าและออกพื้นที่ เรียกบุคคลให้มารายงานตัว ควบคุมระบบสาธารณูปโภค ควบคุมระบบการสื่อสาร ตรวจค้น และสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าได้ โดยวางให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นหัวเรือบุกไปนำตัวพระธัมมชโยมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในคดีฟอกเงินให้ได้ 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ไม่ใช่แค่เพิ่มอำนาจให้ดีเอสไอเท่านั้น แต่ยังยกเว้นความรับผิดให้เจ้าหน้าที่ และสั่งให้การกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยศาลปกครองด้วย
ดีเอสไอเข้าตรวจค้นและปิดล้อมวัดพระธรรมกาย ไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องผ่านเข้าออก ทำให้การขนส่งอาหารและวัตถุดิบเป็นไปอย่างยากลำบาก มีการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตหลังกลุ่มลูกศิษย์ใช้สื่อโซเชี่ยลโจมตีด้วยข้อมูลต่างๆ ขณะที่นอกพื้นที่ก็ยังจับนักกิจกรรมที่สงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับวัดไปอีกหลายคน
พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า ผลการดำเนินการตลอด 23 วัน มีการดำเนินคดีอาญากับผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.รวม 43 คดี มีคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว 316 ราย ออกหมายเรียก 80 ราย 
ตลอดช่วงเวลานั้น ยังมีการใช้อำนาจอย่างวุ่นวายทั้งการสั่งย้าย พ.ต.อ.เขมพัทธ์ โพธิพิทักษ์ ผู้กำกับ สภ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่รับผิดชอบในพื้นที่วัดพระธรรมกาย มีการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 12/2560 สั่งย้ายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีการสั่งถอดสมณศักดิ์ของพระธัมมชโยและพระทัตตชีโว จากเหตุที่ออกหมายเรียกรายงานตัวไปหลายครั้งแต่ไม่มาตามกำหนด
แต่สุดท้าย ดีเอสไอก็หาตัวพระธัมมชโยไม่พบ และต้องถอนกำลังกลับไปเอง
บทเรียนครั้งนี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า อำนาจพิเศษตาม "มาตรา44" ถูกนำมาใช้ให้เกิดความรวดเร็วสมใจปรารถนา แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ ทั้งที่กฎหมายตามปกติก็ยังมีช่องทางให้บังคับใช้ได้ หรือหากรัฐบาลทหารมองว่า กลไกกฎหมายปกติยังมีช่องว่างอยู่ ความรวดเร็วจากอำนาจพิเศษก็คงไม่ใช่คำตอบที่ดีพอสำหรับการแก้ปัญหาอีกเช่นกัน 
3. ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หลังรอคอยมาแสนนาน
วันที่ 6 เมษายน คือวันจักรี แต่ในปี 2560 วันที่ 6 เมษายน มีความหมายสำคัญเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง คือ เป็นวันที่พระมหากษัตริย์จัดพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ
กว่าที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้กัน เรียกได้ว่า ต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายจังหวะ และใช้เวลาไปเกือบสามปี เริ่มตั้งแต่ คสช. ตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ชุดของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ขึ้นมาจัดทำร่างฉบับแรก ก่อนจะถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โหวตคว่ำ เป็นอันตกไป ต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้นโดยตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดของมีชัย ฤชุพันธุ์ ขึ้นมาจัดทำร่างฉบับที่สอง และรับฟังความคิดเห็นจาก "แม่น้ำห้าสาย" ก่อนเอาไปปรับแก้กันอีกหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งเดินทางไปถึงวันลงประชามติทั่วประเทศ 7 สิงหาคม 2559
แต่หลังการลงประชามติแล้ว ก็ยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องมีกระบวนการแก้ไขร่างอีกรอบเพื่อใส่ "คำถามพ่วง" ที่ผ่านความเห็นชอบจากประชามติเข้าไปในร่างฉบับเต็ม แต่เมื่อแก้ไขเสร็จแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่เห็นด้วย สั่งให้ กรธ. กลับไปแก้ไขอีกเป็นครั้งที่สอง จนเข้าปลายปี 2559 ประชาชนก็ยังได้เพียงตั้งตารอรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติแล้ว โดยไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้ใช้กันเสียที
เข้าต้นปี 2560 ก็ยังไม่มาง่ายๆ เมื่อ คสช. ต้องจัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน เพื่อให้พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกต และตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษ นำร่างกลับไปแก้ไขตามที่พระมหากษัตริย์พระราชทานมาอีกครั้ง 
ร่างฉบับนี้ต้องแก้ไขไปๆ มาๆ อยู่ 4 รอบ กว่าจะมาถึงวันที่ 6 เมษายน 2560 จึงได้ประกาศใช้กันเสียที และขั้นตอนต่างๆ ที่เขียนไว้เพื่อเดินหน้ากลับสู่ระบอบปกติก็เริ่มทำงานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
4. เดินหน้าตาม 'โรดแมป' ประยุทธ์ประกาศเลือกตั้ง พ.ย.61 แว่วอาจเลื่อนได้อีก
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ห่างหายไปจากประเทศไทยยาวนานกว่า 6 ปี ขณะที่ในยุครัฐบาลทหารการเลือกตั้งก็ถูกเลื่อนไปตามวาจาของผู้มีอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่า ล่าสุด ตุลาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศอีกครั้งว่า "จะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561" ซึ่งระยะเวลาตามนี้เป็นไปตามโรดแมปที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เรียกว่า ยังไงก็เกินไปจากนี้ไม่ได้อยู่แล้ว 
หัวใจสำคัญที่การเลือกตั้งเกิดจะขึ้นตามโรดแมปหรือไม่ อยู่ที่กฎหมายลูก หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 4 ฉบับ คือ พ.ร.ป. กกต. กับ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ สองฉบับนี้ประกาศใช้เรียบร้อย และ ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. กับ ร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. สองฉบับนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. คาดว่าจะประกาศใช้ไม่เกินปลายเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศวันเลือกตั้ง
แม้ดูเหมือนทุกอย่างจะเดินหน้า แต่ก็ดูจะเป็นการเดินหน้าไปอย่างโซซัดโซเซ เพราะขณะที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ บังคับใช้แล้ว พร้อมด้วยกำหนดภาระจำนวนมากและเงื่อนเวลาที่ให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตาม แต่ คสช. ก็ยังคงประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือเคลื่อนไหวทางการเมือง และก็ยังไม่มีแนวโน้วจะ "ปลดล็อกพรรคการเมือง" ในเร็ววัน 
ขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองอย่าง ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสปช. และ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่เตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง ก็ออกมาเคลื่อนไหวให้แก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ เพื่อขยายกรอบเวลาการทำกิจกรรม และเพื่อสร้างความเท่าเทียมระหว่างพรรคการเมืองเก่าและใหม่ โดยทั้งรัฐบาล สนช. และ กรธ. ดูจะออกมาขานรับกับประเด็นนี้เป็นพิเศษ 
ก่อนสิ้นปี 2560 หัวหน้า คสช. จึงใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่ง ฉบับที่ 53/2560 ขยับที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ออกไปอีก ทำให้กระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้งเดิม โดยคาดการณ์กันว่าการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนไปถึงช่วงต้นปี 2562   
5. "หมุดคณะราษฎร" หายอย่างล่องหน ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เจอ
14 เมษายน 2560 มีข้อมูลเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ว่า "หมุดคณะราษฎร" ได้ถูกแทนที่ด้วย "หมุดใหม่" โดยสำนักงานเขตได้ยืนยันว่า รับทราบเรื่องนี้แล้วแต่ไม่ทราบเช่นกันว่าใครเป็นคนทำ นอกจากนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องนี้ และไม่ได้ออกมาตรการเพื่อหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ 
ด้าน พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า ไม่สามารถรับแจ้งความได้ เพราะ "หมุดคณะราษฎรอยู่ในบัญชีทรัพย์สินมรดก ซึ่งตามกฎหมายผู้ร้องทุกข์จะต้องเป็นผู้เสียหาย เป็นเจ้าของทรัพย์มรดก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจะดำเนินการให้" จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น และมีการจับกุมดำเนินคดีตามาอีกมาก 
วันที่ 17 เมษายน 2560 กลุ่มนักศึกษา PPDD ธรรมศาสตร์ร่วมกับกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ จัดกิจกรรม "ประชาชนหน้าไม่ใสก็ได้ป่ะ??" ได้จัดกิจกรรมและเรียกร้อง และทำแคมเปญลงชื่อผ่าน change.org เพื่อให้นำหมุดกลับมาคืนที่เดิม ถัดมาอีกหนึ่งวัน ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ติดตามหาหมุดคณะราษฎรที่หายไป แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารควบคุมตัวไปยังกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ นอกจากนี้ในวันที่ 19 ธันวาคม 2560 กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ได้เข้าแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ติดตามหาตัวผู้ที่นำหมุดไปมาลงโทษ ข้อหาลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 และในวันเดียวกัน บุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ และเพื่อนที่เข้าแจ้งความถูกเรียกไปปรับทัศนคติที่มณฑลทหารบกที่ 11
ในวันที่ 24 มิถุนายน 2560 ซึ่งตรงกับวันการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมและอดีตนักโทษทางการเมือง นำหมุดคณะราษฎรจำลองที่เตรียมมาเพื่อไปติดตั้งยังจุดเดิม แต่ถูกตำรวจเข้าจับกุมและถูกนำตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 ก่อนที่จะถูกส่งตัวกลับบ้านในเย็นวันเดียวกัน 
นอกจากนี้ วัฒนา เมืองสุข ได้ถูกตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกล่าวหาว่านำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และเข้าข่ายยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 จากการโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับหมุดที่หายไป 
ณ ปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีผู้ใดทราบอย่างแท้จริงว่า หมุดคณะราษฎร นั้นถูกผู้ใดนำไป 
6. สถิติใหม่ของคดี 112 ศาลทหารสั่งจำคุกวิชัย 70 ปี
พูดถึงคดีมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แล้วก็เป็นเรื่องที่หลายคนแอบเสียววาบกันอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นกฎหมายที่กำหนดโทษรุนแรง มีกระบวนการพิจารณาคดีที่ดูลึกลับ แถมยังผูกโยงกับความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าใครก็ตามที่มีคู่อริหรือมีคู่ขัดแย้งก็อาจตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาอันหนักหน่วงนี้ได้
กรณีของวิชัย เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เมื่อคดีนี้เริ่มจากคู่ขัดแย้งทางธุรกิจเข้าแจ้งความต่อตำรวจ กล่าวหาว่า วิชัยเอาชื่อของคู่ขัดแย้งไปตั้งเป็นเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมา และโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ทั้งหมด 10 ข้อความ วิชัยถูกตำรวจจับกุมตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2558 และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที โดยที่เขาไม่มีเงินพอจะยื่นขอประกันตัว ก่อนถูกจับวิชัยทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ เขาไม่ใช่คนใหญ่โต ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีฐานะร่ำรวย ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง คดีของเขาจึงเดินไปอย่างเงียบๆ แทบไม่มีใครรู้จัก
คดีของวิชัยพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งมีกระบวนการที่ล่าช้า หลังถูกคุมขังมาปีกว่า ถึงจะเริ่มเข้าสู่การสืบพยาน แต่พยานก็ยังไม่ยอมมาศาลเสียทีทำให้คดีเลื่อนไปเรื่อยๆ วิชัยเห็นว่า การต่อสู้คดีคงกินเวลานานเกินไป เขาจึงเปลี่ยนมารับสารภาพเพื่อให้คดีจบโดยเร็ว และเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ศาลทหารกรุงเทพก็พิพากษาให้วิชัยมีความผิดตามมาตรา 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 10 ข้อความ กำหนดให้จำคุกข้อความละ 7 ปี รวมแล้วเป็น 70 ปี แต่เนื่องจากวิชัยรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้ครึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุกจริง 30 ปี 60 เดือน 
คดีนี้ กลายเป็นสถิติการจำคุกสูงที่สุดต่อหนึ่งคดี เท่าที่ไอลอว์เคยบันทึกข้อมูลเอาไว้ได้ โดยยังไม่รู้ว่า สถิติแบบนี้เมื่อไรจะถูกทำลาย 
สถิติสูงสุดก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2558 ในคดีของพงษ์ศักดิ์ ซึ่งศาลทหารกรุงเทพให้จำคุก 60 ปี และลดโทษให้เหลือ 30 ปี 
คงเป็นสถิติที่ไม่มีใครภาคภูมิใจ และไม่มีใครอยากเป็นคนมาทำลาย
7. "ไผ่ ดาวดิน" รับสารภาพ จำคุก 2 ปี 6 เดือน
ที่มาภาพต้นฉบับ ประชาไท
"ไผ่ ดาวดิน" หรือ จตุภัทร์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่รู้จักและมีผลงานโดดเด่นทั้งการรณรงค์เรื่องสิทธิชุมชนกับชาวบ้านในภาคอีสาน และการแสดงออกคัดค้าน คสช. มาโดยตลอด นั่นทำให้ คดีมาตรา 112 ของเขาเป็นคดีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคดีหนึ่ง คนจำนวนมากมีความรู้สึกร่วมดัวยกับการดำเนินคดีครั้งนี้ และจดจำได้เป็นอย่างดี
ไผ่ เป็นตัวแทนคนเดียวจากสองพันกว่าคน ที่แชร์บทความสุดฮอตของสำนักข่าวบีบีซีไทย ในเช้าวันที่ 2 ธันวาคม 2559 ซึ่งเกี่ยวกับพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 สาเหตุที่เขาเป็นผู้ "ถูกเลือก" ก็เข้าใจไม่ยากนัก เพราะเขาเป็นคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาตลอดในสถานการณ์ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศ "ไม่อยากจะพูดอะไร" ทำให้เขาตกเป็นเป้าการจับตา ส่วนผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดีก็ไม่ใช่ใครอื่นใกล้ แต่เป็น "เสธ.พีท" หรือ พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี นายทหารที่ดูแลพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเคยเข้าค้นบ้าน จับกุม และมีเรื่องขัดแย้งกับไผ่ดาวดินมาตลอดหลายครั้ง
ระหว่างที่การพิจารณาคดีของเขาดำเนินไปที่ศาลจังหวัดขอนแก่น มีเหตุการณ์ที่ชวนให้จำเลยรู้สึกคลางแคลงใจหลายครั้ง เช่น การสั่งพิจารณาคดีลับตั้งแต่ชั้นไต่สวน การฝากขัง การสั่งให้ขังผู้ต้องหาโดยไม่เบิกตัวมาสอบถามก่อนว่าจะคัดค้านหรือไม่ การเพิกถอนการประกันตัวเพราะเหตุไผ่โพสต์เฟซบุ๊ก "เย้ยหยันอำนาจรัฐ" ฯลฯ แต่หลายเดือนที่ไผ่ถูกจองจำ สิ่งที่ไผ่ประกาศตลอด คือ ต้องการจะสู้ให้ถึงที่สุด รวมทั้งการดื้อแพ่ง เช่น การไม่ยอมลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาคดี หรือ การขอให้ทนายความออกจากห้องพิจารณาคดีลับ
แต่ละครั้งที่ไผ่ถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาขึ้นศาล จะมีผู้มาให้กำลังใจมากมายเสมอ แม้ว่าส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าไปในห้องพิจารณาคดีได้ เพราะศาลไม่อนุญาต แต่ก็จะรอคอยให้กำลังใจอยู่บริเวณนอกตัวอาคารศาล รอฟังข่าวความเคลื่อนไหวจากทนายความและครอบครัว ซึ่งบรรยากาศก็จะมีทั้งความเศร้าสลด ความเสียใจ และกำลังใจที่ส่งถึงกันเพื่อให้ไผ่ต่อสู้คดีของเขาให้ถึงที่สุด
แทบทุกครั้งที่ไผ่เข้าห้องพิจารณาคดี จะมีคำถามเสมอว่า เขาจะรับสารภาพหรือไม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สร้างความกดดันอย่างมาก จนเมื่อสืบพยานไปได้สองนัด วันที่ 15 สิงหาคม 2560 ไผ่ก็มาศาลเพื่อสืบพยานต่อ และก็ถูกถามอีกครั้งว่า จะรับสารภาพหรือไม่ บรรยากาศในวันนั้นแตกต่างออกไปเล็กน้อย ศาลต้องเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปเพื่อให้เวลาไผ่ได้ปรึกษากับครอบครัว
จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น. ไผ่ตัดสินใจบอกศาลว่าจะรับสารภาพ และบอกกับสังคมเพียงแค่สั้นๆ ว่าเขา "ไม่มีทางเลือก"
ศาลพิพากษาในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ให้จำคุกไผ่ 2 ปี 6 เดือน ทิ้งความรู้สึกสารพัดไว้ให้กับคนที่มารอฟังผลคำพิพากษาที่ทำได้เพียงจับกลุ่มปรับทุกข์กันอยู่หน้าห้องพิจารณาคดีเท่านั้น และทิ้งไว้ซึ่งสัญญาณทางการเมืองว่า แทบไม่เหลือโอกาสที่จะต่อสู้คดีในข้อหามาตรา 112 เพราะแม้แต่นักสู้อย่างไผ่ยังต้องรับสารภาพ
8. พิพากษาลับหลัง ยิ่งลักษณ์ จำคุก 5 ปี คดีจำนำข้าว 
27 กันยายน 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งคดีทางการเมือง อ่านคำพิพากลับหลังจำเลย ในข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ศาลพิพากษาจำคุก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเวลา 5 ปี ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ และไม่รอลงอาญา และยังมีคำสั่งให้ออกหมายจับ ยิ่งลักษณ์เพื่อมาบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลอีกด้วย 
การอ่านคำพิพากษาลับหลังครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากยิ่งลักษณ์ขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ที่มีเพียงทนายความมายื่นคำร้องต่อศาลขอเลื่อนนัด โดยให้เหตุผลว่า ยิ่งลักษณ์ป่วยน้ำในหูไม่เท่ากัน วิงเวียนศีรษะรุนแรง แต่ฝ่ายอัยการโจทก์คัดค้าน เนื่องจากไม่เชื่อว่า ยิ่งลักษณ์ป่วยจริง เพราะไม่มีใบรับรองแพทย์และยังเชื่อว่าไม่ได้ป่วยถึงขั้นมาศาลไม่ได้ ทางด้านองค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า ยิ่งลักษณ์ มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี จึงออกหมายจับ และยึดเงินประกันจำนวน 30 ล้านบาท และนัดมาฟังคำพิพากษาครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 กันยายน 2560 
นโยบายจำนำข้าว เป็นนโยบายเด่นของพรรคเพื่อไทยที่นำกลับมาใช้อีกครั้งหลังจากชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ ปี 2554 ที่มียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2554/2555 ตันละ 15,000 บาท ซึ่งนโยบายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคมเป็นวงกว้างว่า เอื้อให้เกิดการทุจริต และส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างมาก 
คดีนี้เป็นเหตุให้ ยิ่งลักษณ์ถูกพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องโครงการรับจำนำข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) ต่อมาหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลว่ายิ่งลักษณ์มีความผิดอาญาในคดีจำนำข้าว และอัยการมีความเห็นยื่นฟ้องยิ่งลักษณ์ฐาน "ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 วรรค 4" นอกจากนี้สมาชิกสภานิติบัญญัติมีมติถอดถอน ยิ่งลักษณ์จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง 190 ต่อ 18 และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี 
9. ชาวใต้ลุกค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งกระบี่-เทพา จบไม่สวยทั้งคู่
ปี 2560 นี้มีการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ตกเป็นข่าวใหญ่อยู่สองครั้งคือ ครั้งแรกในวันที่ 17  กุมภาพันธ์ 2560 เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จังหวัดกระบี่ นำโดยประสิทธิ์ชัย, อัครเดช, ม.ล.รุ่งคุณ,บรรจงและธัชพงศ์ ชุมนุมที่บริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ(กพร.) เพื่อรอฟังคำสั่งการสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จ.กระบี่ ปรากฏว่า เวลา 12.00 น. ของวันนั้นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เปิดไฟเขียว อนุญาตให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ได้ นำไปสู่การยกระดับการชุมนุมของเครือข่ายฯ 
ในคืนนั้นเองตำรวจก็ยกระดับมีคำสั่งปิดถนนพิษณุโลก ไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมบางส่วนที่อยู่บนสะพานชมัยมรุเชฐเข้ามาในพื้นที่อีก,ห้ามการนำส่งอาหารและน้ำเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม และสั่งปิดห้องน้ำทั้งหมด เพื่อกดดันให้เลิกการชุมนุม จนกระทั่งในเช้าวันถัดมาตำรวจควบคุมตัวแกนนำสามคนไปที่มทบ.11 และผลักดันให้ผู้ชุมนุมที่เหลือบางส่วนเข้าไปอยู่ในรั้ว กพร. ทั้งหมด ก่อนที่ในช่วงบ่ายตำรวจจะคุมตัวบรรจงและธัชพงศ์ สองแกนนำไปที่มทบ.11 และผู้ร่วมชุมนุมอีก 11 คนใน กพร. ไปที่ศูนย์ 191 วิภาวดี โดยอ้างอำนาจตามมาตรา 44
เช้าวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคหนึ่ง นำตัวห้าแกนนำที่ถูกควบคุมตัวที่มทบ.11 มาคืนที่พื้นที่ชุมนุม โดยประสิทธิ์ชัยได้ประกาศว่า รัฐบาลได้ยกเลิก EIA และ EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่แล้ว หลังจากนั้นพลเอกอภิรัชต์ได้ขอให้ยุติการชุมนุมและเดินทางกลับทันที
ครั้งที่สองในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินออกเดินภายใต้โครงการ “เดิน…เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดินหา…นายก หยุดทำลายชุมชน” เริ่มเดินจากชุมชนบางหลิง ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นใจกลางพื้นที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไปถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อจะยื่นหนังสือต่อหัวหน้า คสช. ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560
ระหว่างที่เดินนั้นตำรวจได้ทำหนังสือให้เครือข่ายฯยกเลิกการเดิน เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตตามเวลาที่กำหนด แต่ผู้ชุมนุมยังคงเดินต่อไป จนกระทั่งวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เจ้าหน้าที่ปะทะกับชาวบ้านจนได้รับบาดเจ็บ ก่อนจะควบคุมตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรมไป 16 คน หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนชายวัย 16 ปี และคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจเป็นเวลาหนึ่งคืน แจ้งข้อหาสี่ข้อหาคือ ร่วมกันเดินหรือเดินแห่อันเป็นการกีดขวางการจราจร,ปิดกั้นทางหลวง,ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายเจ้าหน้าที่และพกพาอาวุธหรือไม้แหลมไปในเมืองหรือทางสาธารณะ
วันรุ่งขึ้น ตำรวจนำตัวชาวบ้าน 15 คนไปส่งที่ศาลจังหวัดสงขลาเพื่อฝากขังผลัดแรก ส่วนเยาวชนชายอายุ 16 ปีนำตัวส่งศาลเด็กและเยาวชน ศาลตีราคาหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 90,000 บาท รวม 15 คน เป็นเงิน 1,350,000 บาท แต่เครือข่ายฯ ไม่สามารถรวบรวมหลักทรัพย์ได้ทัน ทำให้ชาวบ้าน 15 คน ถูกส่งตัวไปที่เรือนจำกลางสงขลาอีกหนึ่งคืน ก่อนจะใช้ตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย ประกันตัวได้ในวันต่อมา
การชุมนุมทั้งสองครั้งนี้สะท้อนให้เห็นการจำกัดเสรีภาพในยุค คสช. ได้เป็นอย่างดี โดยรัฐหยิบฉวยกฎหมายมาทุกฉบับเท่าที่จะทำได้เพื่อห้ามการทำกิจกรรมลักษณะการเดินขบวน ทั้ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44
10. สนช. ผ่านกฎหมายวัง สามฉบับ สามวาระรวด ไม่ต้องบรรจุวาระการประชุม
ในปี 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ "ท็อปฟอร์ม" พิจารณาผ่านกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ สามฉบับ ซึ่งทั้งสามฉบับ สนช. ให้ผ่านแบบวันเดียวสามวาระรวด โดยไม่มีการบรรจุวาระการประชุมล่วงหน้า และไม่เผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาต่อสาธารณะ ประชาชนได้ทราบข่าวก็เฉพาะเมื่อกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเท่านั้น
กฎหมายสามฉบับนี้ ได้แก่
1) พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 ประกาศในราชกิจจานุเบิกษา เมื่อ 1 พฤษภาคม 2560 มีสาระสำคัญ คือ ให้จัดตั้งส่วนราชการในพระองค์มีอํานาจ ดูแล บํารุงรักษา ใช้ประโยชน์ ทรัพย์สินของส่วนราชการในพระองค์ ให้คณะรัฐมนตรีจัดสรรงบประมาณอุดหนุน รายได้ของส่วนราชการในพระองค์ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ให้โอนอำนาจหน้าที่และบุคลากรจากสํานักราชเลขาธิการ, สํานักพระราชวัง, กรมราชองครักษ์, หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และสำนักนายตำรวจราชสำนักประจำ ไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์ 
2) พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 16 กรกฎาคม 2560 มีสาระสำคัญ คือ ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ฉบับก่อนหน้านี้ และกำหนดให้การจัดการ การดูแลรักษา ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหมายให้สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือบุคคลใดเป็นผู้จัดการก็ได้ ยกเลิกการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยตำแหน่ง แต่ให้แต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย  
3) พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 16 ธันวาคม 2560 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย ฉบับก่อนหน้านี้ที่ สนช. เพิ่งพิจารณาผ่านออกมาในปี 2557 และกำหนดให้ส่วนราชการในพระองค์เป็นองค์กรที่มีหน้าที่วางแผนการถวายความปลอดภัย การอำนวยการ การประสานงาน โดยมีราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ตามพระราชประสงค์ และให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งมีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยหรือร่วมมือ