ถอดประสบการณ์ “คนนอก” ต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้

 

วันที่ 6 ธันวาคม 2560 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนา "บทบาทคนนอกพื้นที่ต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้" โดยมีผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้เข้าร่วมพูดคุยคือ รศ.ดร. มารค ตามไท ผู้อำนวยการสถาบันกลุ่มสันติต้นปันรัก จ.เชียงใหม่, รศ.ดร. ฉันทนา หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี หัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ และเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยสถาบันสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาฯ

 

 

 

++เราทุกคนต่างยืนอยู่บนความขัดแย้งและบทบาทสถาบันวิชาการคืออีกหนึ่งทางออกของปัญหาชายแดนใต้++

 

รศ.ดร. มารค ตามไท ผู้อำนวยการสถาบันกลุ่มสันติต้นปันรัก จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงบทบาทของ “คนนอก” และ”คนใน” พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งบางลักษณะเช่น การบอกเล่าผ่านวรรณกรรมและศิลปะเป็นเรื่องที่จำกัดการถ่ายทอดในหมู่ของ “คนใน” พื้นที่เท่านั้น เนื่องด้วยบริบทและตัวตนของ “คนใน” พูดอย่างง่ายคือ ตัวเขาในฐานะ “คนนอก” คงไม่มีสิทธิฝันเรื่องเอกราชของปาตานี แต่ไม่ได้หมายความว่า“คนนอก”อย่างเขาจะไม่มีสิทธิให้ความเห็นถึงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น  เพราะฉะนั้น “คนใน” และ “คนนอก” พื้นที่มีหน้าที่แตกต่างกันออกไป
 

 

รศ.ดร.มารคกล่าวต่อในเรื่องบทบาทของ “คนนอก” พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ก่อนที่จะมาพูดในงานนี้เคยอยากทดลองอย่างหนึ่งกับคนที่รู้จักที่เชียงใหม่ การทดลองอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า หลายครั้งเราอยู่ที่แห่งหนึ่งเราไม่ค่อยมองบริบทรอบข้าง ครั้งนั้นตัวเขาถามคนรู้จักกลุ่มหนึ่งว่าเข้าใจเรื่องอย่างไรบ้างเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้ เกือบทุกคนรู้ว่านราธิวาสเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย ข้อมูลดังกล่าวระบุอยู่ในหนังสือแบบเรียน แต่เมื่อถามลึกถึงปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้กลับไม่รู้อะไรเลย
 

 

รศ.ดร.มารคชี้ว่า ปัญหาบางอย่างจำเป็นที่คนไทยทุกคนที่แม้จะถูกพิจารณาว่าเป็น “คนนอก” พื้นที่ความขัดแย้ง ควรจะมีความรู้ในระดับหนึ่ง เห็นว่า ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ความเชื่อมโยงกับทุกคนในสังคมไทย ถึงที่สุดเวลาที่จะต้องแก้ไขปัญหา มันจะเกี่ยวข้องกับทุกคน ซึ่งจะมีส่วนในการออกความเห็น มากไปกว่านั้น เหตุที่ทุกคนต้องรู้ เพราะอย่างน้อยทุกคนจะรู้เพื่อที่จะไม่ส่งต่อความรู้ที่ผิด การทดลองตั้งคำถามของเขาพบว่า หลายคนที่ตนถามเป็นคนมีความรู้ แต่ไม่เข้าใจ และอาจเอาความไม่เข้าใจอันนี้ไปบอกคนอื่น ซึ่งคนเหล่านั้นไม่รู้ แต่พวกเขาเชื่อว่า ผู้พูดเป็นผู้มีความรู้ในที่สุดก็ส่งต่อกันไป “ความไม่รู้” ต่อไป
 

 

ทางออกคือ การใช้พื้นที่ของสถาบันทางวิชาการสร้างความเข้าใจ ไม่ควรมีบัณฑิตคนไหนจบปริญญาตรีจากประเทศไทยที่ไม่สามารถพูดได้เกี่ยวกับภาคใต้  ไม่จำเป็นต้องตัดสินข้อถกเถียง แต่ต้องเล่าข้อถกเถียงให้ได้ อย่างไรก็ดีเมื่อย้อนไปดูเนื้อหาบทเรียนไทยพบว่า ที่ผ่านมาบทเรียนไทยไม่ค่อยใส่เนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในประเทศ  มีอยู่บ้างที่เป็นวิชาเลือกเรื่องความขัดแย้ง แต่นักเรียน นักศึกษาก็ไม่ค่อยได้เลือกเรียน ขณะเดียวกันการบรรจุข้อมูลความขัดแย้งลงในแบบเรียนยังเผชิญกับข้อถกเถียงมากมาย เห็นมาตลอดเช่น กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นต้น
 

 

รศ.ดร. มารค เสนอทิ้งท้ายอีกประเด็นหนึ่งว่า อยากจะเริ่มต้นให้พิจารณาปัญหาที่แท้จริงก่อน เพราะที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขปัญหาที่ผิดจุด ปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้เป็นเรื่องของจริยธรรมการเมืองการปกครอง ไม่ใช่เรื่องปัญหาความมั่นคง ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาด้วยการวางกำลังความมั่นคงของรัฐ มันไม่ใช่การแก้ไขที่ใจกลางของปัญหา แต่เป็นการแก้ไขด้านข้างของปัญหา ตราบใดที่มันติดตรึงอยู่เพียงเรื่อง ความมั่นคง มันก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และถ้าพูดว่า การท้าทายอำนาจรัฐกระทบความมั่นคง การพูดแบบนี้แสดงว่า มองไม่เห็นและเข้าใจถึงปัญหาเลย
 

 

++กระบวนการสันติภาพเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม-พื้นที่ปลอดภัยของเสรีภาพการแสดงออกเป็นสิ่งจำเป็น++
 

 

รศ.ดร. ฉันทนา หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงบทบาทของ “คนนอก” และกระบวนการสันติภาพด้วยประเด็นปัญหาในสี่ประเด็นดังนี้
 

 

ประเด็นแรก ฐานของพลเมืองผู้แสวงหาสันติภาพ(Peace constituency) มีขอบเขตอยู่ที่ไหน คำตอบคือ ถึงเราจะอยู่กรุงเทพฯ แต่ในฐานะที่เป็นสังคมเดียวกันอย่างไรก็เรื่องถึงตัวเราที่ถูกพิจารณาว่า เป็น “คนนอก” พื้นที่ความขัดแย้งในที่สุด หากสงสัยถึงความข้องเกี่ยวของปัญหา เพียงดูแค่ขอบข่ายของงบประมาณกว่าแสนล้านบาทที่ลงไปสู่จังหวัดชายแดนใต้ เท่านี้ก็เห็นแล้วว่า คนไทยทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องและเป็นโจทย์ร่วมของสังคม ประเด็นสำคัญคือ สังคมส่วนใหญ่อาจจะชี้เป็นชี้ตายถึงอนาคตของชายแดนใต้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้อยู่ในความเข้าใจแบบเดียวกัน มันก็จะทำการแก้ไขปัญหามีอุปสรรคและเป็นไปได้ยาก ดังนั้นประชาชนหรือสมาชิกในสังคมทั้ง “คนใน”และ “คนนอก” พื้นที่ความขัดแย้งควรที่ต้องตระหนักว่า เราควรจะทำความเข้าใจกับสามจังหวัดอย่างไร?
 

 

ประเด็นที่สอง เราเข้าใจอย่างไรกับกระบวนการสันติภาพ? ซึ่งข้อนี้รศ.ดร.ฉันทนาระบุว่า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในทุกแห่งของโลกนี้ไม่สามารถเลียนแบบกันได้ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งกระบวนการสันติภาพที่ไม่มีกระบวนการเรียนรู้ สะท้อนให้เห็นว่า เรามีปัญหาในการที่จะเดินทางไปสู่สันติภาพ ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ตรงนี้สำคัญมาก เป็นบทบาทของมหาวิทยาลัยและไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ เฉพาะเขต
 

 

ประเด็นที่สาม บทบาททางสังคมของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร? อันนี้เป็นคำถามสำคัญ แต่ปัจจุบันพบว่า มหาวิทยาลัยต่างๆศึกษาและมีบทบาทเรื่องความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้อย่างกระท่อนกระแท่น ถ้าหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น จะเห็นบทบาทของตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กัน พื้นที่มหาวิทยาลัยจึงเป็นพื้นที่กลางและสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้พูดที่จะแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่พูดในพื้นที่สาธารณะอื่นไม่ได้
 

 

ประเด็นที่สี่ นักวิชาการสายสันติภาพศึกษา สถาปนาแล้วหรือยังในสังคมไทย? แล้วนักวิชาการด้านนี้อยู่ที่ไหนและทำอะไรบ้าง แต่อย่างไรก็ดีระหว่างที่กำลังตั้งคำถามนี้  ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรถูกตั้งคำถามด้วยเช่นกันว่า สันติภาพศึกษาเป็นสาขาวิชาอะไรและจะเปิดสอนได้หรือไม่?
 

 

รศ.ดร. ฉันทนา เล่าถึงประสบการณ์ทำงานเรื่องชายแดนใต้และบทบาท “คนนอก” ว่า เหตุการณ์ตากใบก่อให้เกิดสภาวะเขาควายที่มีสองฝ่ายคือ รัฐและผู้ต่อต้านรัฐ ทำให้มีแต่ความระมัดระวังตัว สถาบันทางศาสนาไม่สามารถพูดอะไร องค์กรต่างๆไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ บทบาท“คนนอก”จึงเป็นตัวสนับสนุนการเปิดพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องความไว้วางใจมาก การทำงานของนักวิชาการในฐานะของ “คนนอก” นำไปสู่การค้นหาตัวแสดงอื่นๆ จนทำให้เริ่มมีหน้าตาของคนอื่นที่เป็นตัวแสดงเข้ามา
 

 

++บทบาทวิชาการเปิดพื้นที่การพูดคุยระหว่างศาสนา หวังสถาบันศาสนาช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง++
 

 

ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี หัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ เล่าว่า ในฐานะที่ตัวเขาเป็นมุสลิมและได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจค่อนข้างมากจากเหตุการณ์เวิร์ลเทรดถล่มเมื่อปี 2001 จนเกิดคำถามว่า อิสลามสอนให้เราดีใจมีความสุขกับการสูญเสียหรือไม่? หลังจากนั้นตัวเขาจึงสนใจประเด็นอิสลามและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นมาตลอด ที่ผ่านมา ในฐานะที่ตัวเป็นมุสลิมแต่มีภูมิลำเนาอยู่ที่เชียงใหม่ จึงค่อนข้างมีปัญหากับบทบาทของ “คนใน” และ “คนนอก” ในประเด็นความขัดแย้งชายแดนใต้ กล่าวคือ หลายครั้งเขามักถูกเบียดขับให้เป็น “คนนอก” พื้นที่ความขัดแย้งด้วยข้อกำหนดของภูมิลำเนา  แต่เขาก็ตั้งคำถามว่า ถ้าคุณนับความเป็น “คนใน” ด้วยศาสนา ตัวเขาซึ่งเป็นมุสลิมเช่นกัน ถือเป็น “คนใน” ได้หรือไม่
 

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ผศ.ดร.สุชาติแลกเปลี่ยนไว้คือ ครั้งหนึ่งเขาเคยเข้าไปประชุมในพื้นที่ โดยในวันนั้นจะมีพระชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่งมาเยี่ยมในหมู่บ้าน มีผู้หญิงในวงสนทนาคนหนึ่งบอกกับตัวเขาว่า เดี๋ยวคอยดูนะ ถ้าพระรูปนั้นเข้ามาในหมู่บ้าน จะมีเด็กมุสลิมถ่มน้ำลาย ซึ่งก็เป็นจริง กลายเป็นคำถามว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นผลักดันให้ผศ.ดร. สุชาติสร้างกระบวนการเรียนรู้ของความแตกต่างหลากหลายในตัวตนของมนุษย์ เขาเล่าประสบการณ์ว่า ครั้งหนึ่งเคยไปทำอบรมกับเยาวชนที่พ่อหรือแม่เป็นเหยื่อความรุนแรง โดยไปกันที่หาดทรายแก้ว จ.สงขลา เขาได้เล่าไปพูดเรื่องความหลากหลายของมุสลิมที่ไม่ได้มีแค่มลายูมุสลิมเท่านั้น ยังมีมุสลิมที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกันออกไปด้วย เขายกตัวอย่างภาพของมุสลิมในประเทศจีนที่ผสมผสานวัฒนธรรมแบบจีนเข้ากับศาสนาอิสลาม แตกต่างจากความรับรู้เดิมของเด็กเหล่านั้น
 

 

ผศ.ดร.สุชาติเล่าต่อว่าเวลาลงไปในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งเขาลงไปในสองสถานะทั้งสถานะนักวิชาการและสถานะมุสลิม ผศ.ดร.สุชาติระบุว่าการพูดคุยระหว่างและภายในศาสนาเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งมีคำอธิบายหลายชุด หน้าที่ของเขาในฐานะนักวิชาการคือการท้าทายคำอธิบายเดิม เพื่อไม่ให้ประเด็นดังกล่าวถูกครอบงำด้วยคำอธิบายชุดเดียว ที่ผ่านมาเขาพยายามยกคำสอนในศาสนามาใช้เพื่อหักล้างความคิด ครั้งหนึ่งเคยพูดในพื้นที่ว่า อิสลามไม่เคยสอนว่าให้เอาระเบิดไปวางแล้วไปโดนเด็ก ผู้หญิง และคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ปรากฏว่าเมื่อพูดเสร็จ คนในพื้นที่หันมาบอกว่า อาจารย์พูดแรงเนอะ เป็น “คนใน” พูดแบบนี้ไม่ได้ ผศ.ดร.สุชาติจึงตอบไปว่า เป็น “คนนอก” ก็ตายได้เหมือนกัน
 

 

ผศ.ดร.สุชาติทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่ตัวเขาเป็นกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย สัมผัสกับองค์กรศาสนามาพอควร ก็ยังคาดหวังบทบาทของผู้รู้ศาสนาในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอยู่