เปรียบเทียบกฎหมายการแจ้งให้ลบเนื้อหา อเมริกาใช้เรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ ไทยเน้นใช้เรื่องความมั่นคง

iLaw แปลและเรียบเรียงจาก 

Hidden in the Shadows: 
Abuse of the ‘Notice and Takedown’ Mechanism
ระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหา (Notice and Takedown) เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ทั่วโลก ระบบดังกล่าวช่วยให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISPs) ไม่ต้องรับผิดในข้อหาให้พื้นที่แก่เนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า กฎหมายเรียกร้องให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสร้างระบบการแจ้งเตือน ที่จะเตือนไปยังผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ และระบบการลบเนื้อหาที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์
ในเมืองไทย มีประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงวันที่ วันที่ 22 กรกฎาคม 2560 เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทําให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งบัญญัติให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสร้างระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหาสำหรับผู้ใช้บริการ ทีได้อัพโหลดเนื้อหาที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่ระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหาในกฎหมายลิขสิทธิ์หลายๆ ประเทศ ไม่ได้ใช้เพื่อเซ็นเซอร์เนื้อหาโดยตรง แต่ระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหาในกฎหมายไทย เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการเซ็นเซอร์โดยตรงและชัดเจนที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ
ทำความรู้จักกับระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหาในระดับสากล
ระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหา เป็นผลสืบเนื่องมาจากการออกกฎหมายลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกแห่ง สหประชาชาติ (the United Nation’s World Intellectual Property Organization หรือ WIPO) อนุสัญญา WIPO ปกป้องผลงานและสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ในโลกดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น
การจะทำให้อนุสัญญา WIPO มีผลบังคับใช้ สภาคองเกรสสหรัฐได้ออกกฎหมายฉบับหนึ่ง ชื่อว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ดิจิทัล (Digital Millennium Copyright Act หรือ DMCA) สหรัฐเป็นประเทศแรกที่สร้างมาตรการปกป้องลิขสิทธิ์ออนไลน์ที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐมีจำนวนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสูงสุดในโลก และมีปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก กฎหมายลิขสิทธิ์ดิจิทัล (DMCA) จึงถูกนำมาใช้เป็นแบบอย่างสำหรับประเทศอื่นๆ ในการริเริ่มกฎหมายแบบเดียวกัน เพื่อจะปฏิบัติตามอนุสัญญา WIPO
ระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหาถูกเขียนขึ้นเป็นครั้งแรกในมาตรา 512 ของกฎหมายลิขสิทธิ์ดิจิทัล DMCA เป็นระบบที่หาจุดกึ่งกลางสำหรับเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เรื่องการการปกป้องลิขสิทธิ์ของผลงานต่างๆ จากการถูกขโมย และความรับผิดของตัวกลาง ระบบนี้ภาษากฎหมายเรียกว่า “หลักการข้อยกเว้นความรับผิด” (safe harbour) 
ระบบนี้ ในด้านหนึ่งช่วยให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่เนื้อหา เช่น เว็บไซต์ เว็บบอร์ด หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก และโปรแกรมสืบค้นข้อมูล (search engines) ไม่ต้องรับผิดอันเนื่องมาจากการมีเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ในพื้นที่ให้บริการของตน ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็มีหน้าที่ต้องจัดทำระบบรองรับการแจ้งเตือนจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่กล่าวหาว่าข้อมูลใดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และลบหรือทำให้เข้าถึงเนื้อหานั้นไม่ได้
หากผู้ที่อัพโหลดเนื้อหาซึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องการที่จะโต้แย้งการลบเนื้อหาออก พวกเขาย่อมสามารถส่งหนังสือโต้แย้งไปยังผู้กล่าวหาได้ ถ้าหากภายใน 10-14 วันหลังจากนั้น ผู้กล่าวหาไม่ได้แจ้งแก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตว่า ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ต้องเอาเนื้อหาที่มีการโต้แย้งนั้นกลับขึ้นมาใหม่ หลักการข้อนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหา เพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตด้วย
หลัการสำคัญของระบบนี้ คือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ได้เป็นผู้รู้จริงๆ ว่าอะไรเป็นละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ก่อนที่จะมีการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหาโดยเจ้าของลิขสิทธิ์ โครงสร้างหลักๆ ของระบบดังกล่าวนี้ได้ถูกคัดลอกต่อไปยังกฎหมายของอีกหลายประเทศด้วย 
ระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหา ของใหม่สำหรับประเทศไทย 
โครงสร้างโดยทั่วไปของระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหาตามประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ คล้ายคลึงกับมาตรฐานที่ใช้ในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีองค์ประกอบบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบไทยๆ เช่น หน่วยงานรัฐจะเข้ามาเกี่ยวข้องในการตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ การขาดช่องทางสำหรับเจ้าของข้อมูลในการโต้แย้งว่าไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ และการให้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางแก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในการตัดสินใจว่าเนื้อหานั้นๆ ควรที่จะอยู่ในโลกไซเบอร์ต่อไปหรือไม่ ซึ่งข้อแตกต่างเหล่านี้เองเป็นช่องว่างของกฎหมายที่เป็นภัยต่อเสรีภาพบนโลกออนไลน์
ระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหาของไทย ตามประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ออกตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไขใหม่ ซึ่งมีเนื้อหา สรุปได้ดังนี้
ขั้นตอนแรก การยื่นคำกล่าวหาและฟ้องร้อง
หากใครตั้งใจว่าจะแจ้งลบเนื้อหาออนไลน์ ที่เห็นว่ามีความผิดตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมเอกสารหรือหลักฐานอื่นๆ ว่าเนื้อหานั้นๆ ขัดต่อกฎหมาย จากนั้น ผู้กล่าวหาต้องกรอกแบบฟอร์ม ที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจัดเตรียมเอาไว้ เมื่อยื่นแบบฟอร์มร้องเรียนก็ต้องแนบสำเนาใบแจ้งความจากตำรวจไปให้ผู้ให้บริการด้วย
กฎหมายไทยกำหนดหน้าที่ในการเตรียมแบบฟอร์มให้กับผู้ให้บริการเช่นเดียวกับ อนุสัญญา WIPO และ กฎหมายลิขสิทธิ์ดิจิทัล DMCA ของสหรัฐ ข้อแตกต่างที่พิเศษของระบบของไทย ก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรกเริ่ม และการแจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องใช้สำเนาใบแจ้งความประกอบด้วย 
ขั้นตอนที่สอง การลบเนื้อหาออกจากระบบ
หลังจากที่ได้รับเอกสารแจ้ง ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะต้องลบเนื้อหาที่ละเมิดกฎหมายนั้นออกจากพื้นที่ที่เนื้อหาปรากฎอยู่ นอกจากนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะต้องทำสำเนาใบร้องทุกข์และส่งมอบให้แก่ผู้ร้องทุกข์ 
ประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ กำหนดระยะเวลาสำหรับการลบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายไว้ดังนี้
    1) เนื้อหาที่มีความผิดตามมาตรา 14(1) ข้อมูลบิดเบือน จะต้องถูกลบภายใน 7 นับแต่วันที่มีการร้องทุกข์
    2) เนื้อหาที่มีความผิดตามมาตรา 14(2) และ (3) ข้อมูลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ จะต้องถูกลบภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์
    3) เนื้อหาที่มีความผิดตามมาตรา 14(4) ข้อมูลลามกอนาจาร จะต้องถูกลบภายใน 3 วันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์
 
การระบุระยะเวลาอันจำกัดตายตัวสำหรับการลบเนื้อหา เป็นลักษณะเฉพาะตัวในระบบของไทย อนุสัญญา WIPO และกฎหมายลิขสิทธิ์ดิจิทัล DMCA ไม่ได้ระบุเพดานเวลาแก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในการลบเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย กฎหมายลิขสิทธิ์ดิจิทัล DMCA พูดเพียงว่า ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตควรลบเนื้อหาที่มีการละเมิดโดยเร็ว ขณะที่คำว่า “โดยเร็ว” นั้น หมายถึง “การกระทำด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ” แต่ศาลอเมริกันก็ไม่ได้ตีความกำหนดเวลาที่แน่นอนสำหรับคำว่า “โดยเร็ว” และคดีที่ขึ้นสู่ศาลแต่ละครั้งก็ได้รับการตัดสินเป็นคดีๆ ไป ภายใต้บริบทข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันแต่ละกรณี คำว่า “โดยเร็ว” ในกฎหมายของอเมริกาจึงอาจมีความหมายเป็นหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนก็ได้
ขั้นตอนที่สาม การโต้แย้งการแจ้งเตือน
ผู้ใช้ที่เป็นเจ้าของเนื้อหาที่ถูกลบมีสิทธิโต้แย้งการลบเนื้อหา ดังนี้
    1) แจ้งเรื่องไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยต้องมีรายละเอียดของเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิด ความเสียหายของเจ้าของข้อมูล และหลักฐานอื่นๆ ที่พิสูจน์ว่าเนื้อหานั้นไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 14
    2) แจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการโต้แย้งการลบเนื้อหา และส่งสำเนารายงานการแจ้งความต่อตำรวจ ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้มีแบบฟอร์มให้กรอกข้อมูลเป็นการเฉพาะ
    3) เมื่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้รับทราบการโต้แย้ง อาจจะอัพโหลดเนื้อหากลับขึ้นบนเว็บไซต์อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยลำพัง
ขั้นตอนการโต้แย้งการลบเนื้อหานั้นค่อนข้างแตกต่างจากบริบทในสหรัฐฯ ประการแรก เจ้าหน้าที่รัฐต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอีกครั้ง ประการที่สอง ไม่มีแบบฟอร์มมาตรฐานให้แก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ประการสุดท้าย และน่าจะมีความสำคัญที่สุด ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจว่าควรจะอัพโหลดเนื้อหากลับขึ้นอีกครั้งหรือไม่ ขณะที่ในสหรัฐฯ กฎหมายบังคับให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องอัพโหลดเนื้อหากลับขึ้นบนโลกออนไลน์อีกครั้ง หากว่าผู้ขอให้ลบไม่ได้ยื่นเรื่องต่อศาล
การใช้ระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหาในทางที่ผิด ดูเปรียบเทียบกับต่างประเทศ
การใช้ระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหาในทางที่ผิดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย หากวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกรณีกฎหมายลิขสิทธิ์ดิจิทัล DMCA ของสหรัฐฯ มีข้อสังเกต 5 ประการ ได้แก่ 
1) ระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหากดดันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ลบเนื้อหาที่ถูกแจ้งโดยไม่ต้องพิจารณาองค์ประกอบทางกฎหมาย
 
ปัญหาใหญ่ของระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหาของกฎหมายลิขสิทธิ์ดิจิทัล DMCA ของสหรัฐฯ ก็คือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะถูกกดดันให้ยอมทำตามความต้องการของเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยไม่ได้ตรวจเช็คว่า เนื้อหาที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ ซึ่งหากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ยอมทำตาม พวกเขาจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงใหญ่หลวงในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงมีแนวโน้มจะลบเนื้อหาตามที่ได้รับแจ้งโดยปราศจากการตรวจสอบที่เพียงพอ ปัญหาข้อนี้กระทบกับเสรีภาพการแสดงออกด้วยและในความเป็นจริงก็พบว่า การแจ้งให้ลบเนื้อหาก็ถูกใช้แบบผิดๆ อยู่บ่อยครั้ง
นอกจากนั้นแล้ว หากเจ้าของเนื้อหาที่ถูกลบไม่มีทรัพยากรหรือความรู้ที่จะเสนอไปโต้แย้งสิทธิของตัวเอง เนื้อหาก็จะต้องถูกลบ แม้การแจ้งให้ลบนั้นจะเป็นการอาศัยช่องทางกฎหมายกลั่นแกล้งกันก็ตาม กรณีที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ ก็คือ การโต้แย้งแล้วเนื้อหาถูกอัพโหลดกลับขึ้นบนโลกออนไลน์ได้ภายใน 10-14 วัน
ในระบบของไทยแรงกกดดันต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหนักหนาสาหัสกว่ามาก เนื่องจากว่า ประกาศของกระทรวงดิจิทัลฯ กำหนดระยะเวลาที่สั้นมากสำหรับการลบเนื้อหาออนไลน์ที่มีความผิดตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลที่จะคาดหวังให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสามารตรวจสอบเนื้อหาได้ทันเวลานั้น บางกรณีเนื้อหาอาจจะยาวเกินไป หรืออาจจะยากต่อการทำความเข้าใจ และการปรับใช้มาตรา 14 กับเนื้อหาต่างๆ ก็ย่อมต้องใช้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายด้วย
การกำหนดระยะเวลาจำกัดในประเทศไทย เป็นการบีบบังคับอย่างมากให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตลบเนื้อหาออนไลน์โดยไม่ต้องตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมาย นี่เป็นแรงกกดดันที่หนักกว่ากฎหมายของสหรัฐหลายเท่า ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่า จะเกิดการลบเนื้อหาออกอย่างผิดๆ และจะไม่มีการตรวจสอบ
2) ระบบไม่สามารถรองรับให้กระบวนการยุติธรรมทางศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง
ระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหา ไม่สามารถคุ้มครองผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้เป็นอย่างดี ในสหรัฐฯ การคุ้มครองทางศาลแก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการโต้แย้งการแจ้งเตือนและผู้กล่าวหาฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล ขณะที่กระบวนการของไทยไม่มีศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีอำนาจสุดท้ายที่จะตัดสินใจว่าควรจะอัพโหลดเนื้อหาใดกลับเข้าสู่ระบบหรือไม่
หมายความว่า ส่วนมากแล้วทั้งในประเทศไทยและสหรัฐฯ เนื้อหาออนไลน์จะถูกเซ็นเซอร์ได้โดยไม่มีศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง และเนื่องจากว่า กรณีศึกษาส่วนใหญ่จบที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ดังนั้นผู้พิพากษาและทนายความจึงไม่มีคดีบรรทัดฐานในการทำงานเพื่อพัฒนาการตีความกฎหมายไปข้างหน้า ความโปร่งใสของระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหานั้นมีน้อยมาก ในมุมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ก็จึงไม่มีข้อมูลที่เพียงพอที่จะเข้าใจและใช้สิทธิของพวกเขาในกระบวนการเหล่านี้ได้
3) ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ไม่ได้รับการคุ้มครองจากการถูกกล่าวหาแบบผิดๆ 
การศึกษากฎหมายลิขสิทธิ์ดิจิทัล DMCA โดยกลุ่มวิจัย Chilling Effects และ The Takedown Project แสดงให้เห็นว่า กรณีการแจ้งลบเนื้อหาในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ เนื้อหาถูกลบไปอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งตามกฎหมายลิขสิทธิ์ดิจิทัล DMCA ความรับผิดชอบในการลบเนื้อหาเป็นของผู้แจ้งให้ลบ ตามกฎหมายเรื่องแจ้งความเท็จ การลบเนื้อหาแบบผิดๆ ส่งผลเสียต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริง ซึ่งหารายได้จากการเผยแพร่ผลงานออกสู่สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในเมืองไทยนั้นมีความยากยิ่งกว่าในสหรัฐฯ เพราะการพิจารณาองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายนั้นต้องพิจารณาด้วยว่า อะไรเป็น “ความจริง” หรือ “ความเท็จ” มาตรา 14 (1) และ (2) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดความผิดสำหรับการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งทำให้บุคคลที่สามเสียหาย กระทบต่อความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงของประเทศ หรือ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากเมื่อต้องแยกแยะ “ความจริง” และ “ความเท็จ” ออกจากการแสดงความคิดเห็นหรือการวิพากษ์วิจารณ์ทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ตีความได้กว้างมากขึ้นอยู่กับการรับรู้และความคิดเห็นของแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงความคิดเห็นในทางต่อต้านรัฐบาล
4) การพิจารณาข้อโต้แย้งทำให้เจ้าของข้อมูลเสียเปรียบ
ในสหรัฐฯ การโต้แย้งการแจ้งเตือนที่ใช้ได้จะต้องประกอบด้วยลายเซ็นต์จริงหรือลายเซ็นต์อิเล็กโทรนิกส์ การระบุถึงการลบเนื้อหา และสถานที่ที่เนื้อหาเคยอยู่ รายละเอียดข้อมูลส่วนตัวของผู้โต้แย้ง โดยต้องระบุยอมรับที่จะรับผิดฐานแจ้งข้อมูลเท็จ และยอมรับเขตอำนาจศาลของสหรัฐฯ ส่วนในระบบของไทยนั้น การโต้แย้งการแจ้งเตือนนี้ต้องมีการส่งมอบบันทึกแจ้งความจากตำรวจ ร่วมกับหลักฐานที่ต่างๆ ที่ใช้ยื่นแจ้งความ และข้อความที่ระบุว่า ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประสงค์จะโต้แย้งการลบเนื้อหา
ในเมืองไทย มีปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเมื่อกฎหมายไม่กำหนดรูปแบบมาตรฐานของแบบฟอร์มการโต้แย้งการแจ้งเตือน จึงมีแนวโน้มว่า อาจจะมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากที่ตั้งใจจะโต้แย้งการลบเนื้อหา แต่ยื่นคำร้องที่ขาดตกบกพร่องและขาดความรู้ในข้อกฎหมายทำให้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
5) ไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนว่า จะต้องอัพโหลดเนื้อหากลับขึ้นอีกครั้งภายในเมื่อไร
ในสหรัฐฯ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตสามารถพิจารณาเอาเนื้อหากลับคืนขึ้นบนเว็บไซต์ได้ภายใน 10-14 วัน ในช่วงเวลาระหว่างที่รอให้เนื้อหากลับมาเผยแพร่นั้นอาจสร้างความเสียหายบางประการได้ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลบางอย่างจะสำคัญต่อบางช่วงเวลาตามสถานการณ์บ้านเมืองเท่าน้้น เจ้าของลิขสิทธิ์ที่ต้องการเป็นที่รู้จักก็จะเจอปัญหาอีกมากเช่นกัน แม้ว่าเนื้อหาจะถูกเอาคืนได้หลังจากช่วงหนึ่ง แต่ความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ย่อมเป็นผลต่อชื่อเสียงของเจ้าของเนื้อหานั้นๆ 
ในเมืองไทย ความเสียหายลักษณะนี้อาจจะแย่เอามากๆ ได้ เพราะกฎหมายไทยไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา ทำให้ไม่รู้ว่าเมื่อไรเนื้อหาจะสามารถอัพโหลดกลับขึ้นที่เดิมได้อีกครั้ง และระยะเวลาที่ต้องรอคอยนั้นก็ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับอำเภอใจของผู้ให้บริการ