อูเบอร์ลุยเอง! ชวนประชาชนเข้าชื่อแก้พ.ร.บ.รถยนต์ หาทางออกดราม่ากับกลุ่มแท็กซี่

บริการรถร่วมเดินทาง ของ “อูเบอร์” และ “แกรบคาร์” เปิดให้บริการในประเทศไทยมากว่าสามปีแล้ว แต่ติดปัญหาอุปสรรคที่กฎหมายของไทยไม่รองรับบริการประเภทนี้ จนกลายเป็นประเด็นขัดแย้งดราม่ากันอย่างต่อเนื่อง ระหว่าง ผู้ขับรถร่วมเดินทาง กับ กลุ่มคนขับรถแท็กซี่ สุดท้ายคนที่เดือดร้อนก็รวมถึงผู้โดยสารทุกคนที่ไม่รู้ว่า การเดินทางด้วยวิธีใดจะสะดวกและปลอดภัยมากที่สุด 
บริการรถร่วมเดินทางกลายเป็นคู่แข่งแย่งลูกค้าของกลุ่มคนขับรถแท็กซี่เดิม ขณะที่คนแท็กซี่มีข้อจำกัดเพราะกฎหมายกำกับด้วยระเบียบยิบย่อย เช่น สีของรถ การแต่งกายของคนขับ การห้ามให้รถสามารถใช้ระบบ Central Lock และรายได้ที่ถูกกำหนดตามราคามิเตอร์เท่านั้น คนขับรถแท็กซี่ก็จึงมีต้นทุนพื้นฐานที่แบกรับเองมาก ขณะที่คนขับรถร่วมเดินทางไม่มีข้อจำกัดใดๆ ไม่ต้องจดทะเบียนหรือต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่รัฐ จึงดูเหมือนเป็นคู่แข่งที่ต้นทุนไม่เท่าเทียมกัน
แต่ในทางกลับกัน คนขับรถร่วมบริการ ก็ไม่ได้พึงพอใจกับสภาวะที่ไม่มีกฎหมายมารองรับสถานะ เพราะการไม่มีกฎหมายทำให้การหารายได้ของพวกเขาไม่แน่นอนทั้งเรื่องการจ่ายภาษี หรือการจัดการกรณีเกิดอุบัติเหตุ และโดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน คนขับรถร่วมบริการทุกคนที่วิ่งอยู่บนท้องถนนก็ต้องแบกรับความเสี่ยงที่อาจจะถูกปรับเพราะเหตุใช้รถหรือใช้ใบขับขี่ผิดประเภทอยู่ตลอดเวลา
กระทรวงคมนาคม เคยชี้แจงว่า ประเด็นปัญหานี้อยู่ระหว่างการศึกษาของกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีข้อดีข้อเสีย ที่จะต้องศึกษาให้รอบคอบ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ขณะที่ในทางปฏิบัติกรมการขนส่งทางบก ยังเน้นอยู่เฉพาะการเพิ่มมาตรการการควบคุมบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นขึ้น หรือหมายความว่า ห้ามบริการแบบรถร่วมเดินทาง จนกว่าจะมีกฎหมายมารองรับ
อูเบอร์ บริษัทซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางของผู้ขับขี่รถร่วมเดินทาง จึงศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเสนอแก้ไข พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 โดยมุ่งแก้ 3 มาตรา ดังนี้
มาตรา ประเด็น ตัวบทที่เสนอแก้ไข
4 เพิ่มคำนิยาม ของ
“รถบริการร่วมเดินทาง” 
“รถบริการร่วมเดินทาง” ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล
รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์สาธารณะ
รถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือรถประเภทอื่นที่
ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน
หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น” 
21 (1) เพิ่มข้อยกเว้น กรณีใช้รถยนต์ไม่ตรง
ตามประเภทที่จดทะเบียนไว้
เขียนมาตรา 21(1) ใหม่ เป็น “การใช้รถยนต์บริการธุรกิจ
รถยนต์บริการทัศนาจร ​ รถบริการร่วมเดินทาง
หรือรถจักรยานยนต์สาธารณะในกิจการส่วนตัว” 
43 วรรคสอง กำหนดประเภทใบขับขี่ ให้ใบขับขี่
รถยนต์ตามปกติใช้กับการขับ
รถบริการร่วมเดินทางได้ด้วย
แก้ไขวรรคสอง ของมาตรา 43 เป็น “ใบอนุญาตขับรถ
ตาม (๑) ใช้สําหรับขับรถยนต์บริการให้เช่าเฉพาะใน
กรณีที่ผู้ขับรถเป็นผู้เช่าได้ด้วยและสำหรับขับรถบริการ
ร่วมเดินทาง​ได้ด้วย ใบอนุญาตขับรถตาม (๒) ใช้สําหรับ
ขับรถยนต์บริการให้เช่าและสำหรับขับรถบริการร่วม
เดินทางได้ด้วย ใบอนุญาตขับรถตาม (๔) ใช้สําหรับ
ขับรถยนต์บริการและใช้แทนใบอนุญาตขับรถตาม (๒)
ได้ด้วย ใบอนุญาตขับรถตาม (๕) ใช้แทนใบอนุญาต
ขับรถตาม (๓) ได้ด้วย ใบอนุญาตขับรถตาม (๖) ใช้
สําหรับขับรถยนต์บริการให้เช่าและสำหรับขับรถบริการ
ร่วมเดินทางได้ด้วย ​และใบอนุญาตขับรถตาม (๖/๑)
ใช้แทนใบอนุญาตขับรถตาม (๖)ได้ด้วยนอกนั้นใช้
แทนกันไม่ได้” 

 

ข้อเสนอของ อูเบอร์ ครั้งนี้ ต้องการเพียงให้มีกฎหมายรองรับการให้บริการร่วมเดินทาง ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่นําเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการเดินทาง เพื่อรองรับทางเลือกในการเดินทางของคนไทยและนักท่องเที่ยว โดยในอนาคตจะต้องมีการแก้ไขกฎกระทรวง และระเบียบต่างๆ ในรายละเอียดอีกมาก แต่เบื้องต้นอูเบอร์เสนอแก้ไขพ.ร.บ.รถยนต์ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทให้สำเร็จให้ได้ก่อน และจะผลักดันการแก้ไขส่วนอื่นต่อไปอีกในอนาคต
อูเบอร์ อาศัยช่องทางการเสนอกฎหมายโดยประชาชนตามสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ในการเข้าชื่อกันให้ครบ 10,000 ชื่อ และเชิญชวนผู้ที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้บริการร่วมเดินทางถูกรองรับในกฎหมายไทย 

 

ไฟล์แนบ