รู้จัก คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ แบบย่อ ๆ

การปฏิรูปประเทศไทย เป็นสิ่งที่พูดถึงกันตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 2557 โดย คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  หรือ กปปส. โดยมีวลีติดปากว่า "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" หลังการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงยกการปฏิรูปประเทศเป็นวาระหลักในการขับเคลื่อนประเทศก่อนจะนำไปสู่การเลือกตั้ง 
ตลอดการบริหารประเทศของ คสช.การปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรม คือ การตั้งบุคคลใกล้ชิดเข้าไปรับตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปี 2557 และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ปี 2559  เพื่อทำหน้าที่เขียนรายงานการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตามการปฏิรูปประเทศของ คสช.ยังไม่สิ้นสุดลง และยังคงต้้งคณะกรรมการเพิ่มขึ้นเพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปต่อ เรามาทำความรู้จักคร่าวๆ เกี่ยวกับ "คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ" เพิ่มเติม    
1. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศคือใคร 
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คือ คณะกรรมการที่แต่งตั้งตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยแผนและการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศฯ มีหน้าที่จัดทำแผนเพื่อปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 และพ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศฯ รวมทั้งทำงานอื่นๆ ตามที่รับมอบหมายจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 
ทั้งนี้เมื่อแผนการปฎิรูปประเทศประกาศใช้  คณะกรรมการปฏิรูปฯ มีอำนาจสอดส่องการทำงานของหน่วยงานรัฐ โดยหากเห็นว่าหน่วยงานรัฐดำเนินการไม่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปฯ คณะกรรมการฯ สามารถประสานงานหรือปรึกษาหารือกับหน่วยงานของรัฐเพื่อแก้ไขปรับปรุงความไม่สอดคล้องนั้น ในกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติร่วมกันได้ ให้เสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณา
2. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศมาจากไหน
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศถูกแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งครม.ชุดที่แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คือ ครม.ของคสช. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เป็นนายกรัฐมนตรี หรืออาจเรียกอย่างง่าย ๆ ว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดแรกมาจากการแต่งตั้งของคสช. 
3. คุณสมบัติกรรมการปฏิรูปประเทศ และวาระการดำรงตำแหน่ง
ตามพ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศฯ กำหนดคุณสมบัติของกรรมการปฏิรูป คือ ต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่เกิน 75 ปี ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และถูกแต่งตั้งจากผู้ที่ความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในด้านที่จะดำเนินการปฏิรูป และต้องคำนึงถึงความหลากหลายของผู้ที่มีประสบการณ์ในภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
4. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศในแต่ละคณะมีทั้งหมดกี่คน 
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศมีทั้งหมดอย่างน้อย 10 ด้าน แต่ละด้านประกอบด้วย ประธานกรรมการปฏิรูปฯ 1 คน และกรรมการปฏิรูปฯ จำนวนไม่เกิน 13 คน เท่ากับว่า คณะกรรมการปฏิรูปในแต่ละด้าน กรรมการทั้งหมดไม่เกิน 14 คน 
5. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศต้องดำเนินการจัดทำแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศในด้านใดบ้าง
มาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศฯ กำหนดให้ต้องจัดทำแผนและขั้นตอนการปฏิรูป ในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1) ด้านการเมือง 2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3) ด้านกฎหมาย 4) ด้านกระบวนการยุติธรรม 5) ด้านการศึกษา 6) ด้านเศรษฐกิจ 7) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8) ด้านสาธารณสุข 9)ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 10) ด้านสังคม 11) ด้านอื่น ๆ ตามที่ครม.กำหนด 
6. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านมีเวลาในการจัดทำแผนและขั้้นตอนการปฏิรูปนานแค่ไหน
มาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศฯ กำหนดว่า ให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านต้องจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน  หลังจากนั้นให้นำเสนอในที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน ก่อนที่จะส่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาถึงความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนแม่บท 
 
 
 
7. ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแล้ว 11 ด้าน เป็นใครบ้าง
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแล้วทั้งหมด 11 ด้าน ประกอบด้วย
1) ด้านการเมือง ประกอบด้วย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ธีระภัทร์ เสรีรังสรรค์ พรชัย ตระกูลวรานนท์ วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก พล.ต.ท.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย นรรัตน์ พิมเสน วันชัย สอนศิริ ฐะปาณีย์ อาจารวงศ์ รวี ประจวบเหมาะ เป็นกรรมการ
 2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วย กฤษฎา บุญราช เป็นประธาน คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์บัณฑูร ล่ำซำ พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ วิบูลย์ สงวนพงศ์ เบญจวรรณ สร่างนิทร พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ถวิล เปลี่ยนศรี กานต์ ตระกูลฮุน อาศิส อัญญะโพธิ์ ประหยัด พวงจำปา สุรพงษ์ มาลี เป็นกรรมการ
3) ด้านกฎหมาย ประกอบด้วย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ คำนูณ สิทธิสมาน สุขุมพงศ์ โง่นคำ นันทวัฒน์ บรมานันท์ สุดา วิศรุตพิชญ์ ประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ ประภาศ คงเอียด พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ พีรพิชญ์ วงศ์วัฒนศานต์ เป็นกรรมการ
4) ด้านกระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย อัชพร จารุจินดา เป็นประธาน คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สราวุธ เบญจกุล วันชัย รุจนวงศ์ ว่าที่ร้อยตรีถวัลย์ รุยาพร สงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ตระกูล วินิจนัยภาค พล.ท.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ เป็นกรรมการ
5) ด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ กอบศักดิ์ ภูตระกูล อิสระ ว่องกุศลกิจ เทวินทร์ วงศ์วานิช ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ทวีศักดิ์ กออนันตกูล สว่างธรรม เลาหทัย ชาติศิริ โสภณพนิช สมชาย หาญหิรัญ ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล เป็นกรรมการ
6) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย รอยล จิตรดอน เป็นประธาน บัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ ขวัญชัย ดวงสถาพร ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สัญชัย เกตุวรชัย ภาวิญญ์ เถลิงศรี นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ลดาวัลย์ คำภา เป็นกรรมการ
 7) ด้านสาธารณสุข ประกอบด้วย นพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย สมชัย จิตสุชน พาณิชย์ เจริญเผ่า นพ.พลเดช ปิ่นประทีป นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นพ.โสภณ เมฆธน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล เป็นกรรมการ
8) ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วย จิระชัย มูลทองโร่ย เป็นประธาน พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ธงชัย ณ นคร ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด ร.อ.ประยุทธ เสาวคนธ์ เสรี วงษ์มณฑา กนกทิพย์ รชตะนันทน์ สุทธิชัย หยุ่น สมหมาย ปาริจฉัตต์ ปาริชาต สถาปิตานนท์ เป็นกรรมการ
9) ด้านสังคม ประกอบด้วย ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธาน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ ต่อพงศ์ เสลานนท์ วิเชียร ชวลิต วินัย ดะห์ลัน อโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ สมเดช นิลพันธุ์ สุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ พล.อ.รณชัย มัญชุสุนทรกุล เอ็นนู ซื่อสุวรรณ ไมตรี อินทุสุต ชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ เป็นกรรมการ
10) ด้านพลังงาน ประกอบด้วย พรชัย รุจิประภา เป็นประธาน เสมอใจ ศุขสุเมฆ มนูญ ศิริวรรณ ดุสิต เครืองาม บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ดนุชา พิชยนันท์ กวิน ทังสุพานิช เป็นกรรมการ
11) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ประกอบด้วย ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน กล้านรงค์ จันทร์ทิก พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป เจษฎ์ โทณวณิก เพิ่มพงษ์ เชาวลิต มานะ นิมิตรมงคล วิชา มหาคุณ วิชัย อัศรัสกร พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อนุสิษฐ คุณากร อุทิศ ขาวเธียร ประยงค์ ปรียาจิตต์
เป็นกรรมการ
จากสำรวจรายชื่อบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ปรากฎว่า มีบุคคลที่คุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่จำนวนมิใช่น้อย เป็น อดีตสปช. และสปท. อยู่ถึง 46 คน ทุกคนล้วนนั่งควบตำแหน่งในสภาปฏิรูปมาแล้วถึงสองสมัย และก็ยังได้ไปต่ออีกเป็นคำรบที่สาม นอกจากนี้แล้ว กลุ่มคนที่มีสัดส่วนมากเป็นอันดับที่สอง ก็คือ กลุ่ม 'ข้าราชการและอดีตข้าราชการ' โดยคนกลุ่มนี้มีถึง 40 คน ถัดมาเป็นตัวแทนจากนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คน และที่เหลือเป็นตัวแทนจากเอกชน 7 คน นักการเมือง 3 คน และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2 คน