รู้ตัวอาจสาย! อาเซียนตอบสนองวิกฤติโรฮิงญาช้า อาจขยายสู่การก่อการร้าย

27 กันยายน 2560 ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง "วิกฤตโรฮิงญากับบทบาทของอาเซียน" ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี ศ.ดร. ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ภายในเวทีเสวนามีการฉายภาพวิกฤตโรฮิงญาจากมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ มุมมองจากโลกมุสลิม และผลกระทบต่ออาเซียน 
ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าถึงวิกฤตโรฮิงญาจากมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ว่า ประเทศเมียนมาร์มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายมากกว่า 100 กลุ่มชาติพันธุ์ แต่โรฮิงญาไม่เคยถูกนับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งของประเทศ และในการรับรู้ของชาวเมียนมาร์ที่ถูกกล่อมเกลาจากการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ก็มองว่าชาวโรฮิงญาไม่ใช่ชาวเมียนมาร์ แต่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เบงกาลีที่อพยพมาจากเบงกอล 
ดร.ลลิตา เล่าว่า แม้แต่สื่อกระแสหลักของเมียนมาร์ อย่างเช่น อิรวดีเองก็ไม่เคยใช้คำว่า"โรฮิงญา" แต่เรียกว่า "เบงกาลี" และชาวเมียนมาร์ยังมีทัศนคติชุดเดียวกันต่อชาวโรฮิงญา คือ เชื่อว่า ชาวโรฮิงญาจะเข้ามายึดดินแดนโดยผ่านการขยายเผ่าพันธุ์ โดยชาวโรฮิงญาจะแต่งงานกับผู้หญิงพุทธ และให้ย้ายศาสนา ซึ่งทัศนคติชุดนี้มีมาตั้งแต่สมัยยุคอาณานิคม และยังคงดำรงมาจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้เกิดปรากฎการณ์ our land ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ชนเผ่าใดเผ่าหนึ่ง แต่กลับกลายเป็น our Mynmar ซึ่งกระแสนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 และเริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2012 ที่มีการตั้งกลุ่มพุทธหัวรุนแรงต่อต้านชาวโรฮิงญา  
ด้าน ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มองว่า โลกมุสลิมมีท่าทีตอบสนองเร็วและเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อวิกฤตโรฮิงญา คือ ให้ความสำคัญทางด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก และมองว่า วิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างศาสนา แต่เป็นความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ ซึ่งอาจนำไปสู่การขยายกลุ่มก่อการร้าย และยังมองว่าอาเซียนตอบสนองต่อวิกฤตโรฮิงญาช้าเกินไป 
ดร.มาโนชญ์ อธิบายว่า วิกฤตรอบนี้เกิดขึ้นเมื่อ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา จากการที่ชาวโรฮิงญาจำนวน 400,000 คน อพยพไปยังชายแดนบังคลาเทศ จนวันที่ 19 กันยายน อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาของรัฐบาลเมียนมาร์ออกมากล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่อาเซียนเพิ่งจะออกแถลงการณ์ในวันที่ 23 กันยายน ซึ่งช้าเกินไป ถ้าหากอาเซียนแสดงท่าทีเร็วกว่านี้อาจจะทำให้มีจำนวนผู้อพยพน้อยกว่านี้ก็เป็นได้ 
นอกจากนี้ ดร.มาโนชญ์ ยังตั้งข้อสังเกต 2 ประการด้วยว่า การเกิดคลื่นผู้อพยพจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งก็อพยพเข้าไปในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมทำให้เกิดความแตกต่างทางวัฒนธรรม จะทำให้เกิดปัญหาการเกลียดกลัวมุสลิมขึ้น การต่อต้านจากคนท้องถิ่นอาจจะนำไปสู่การแก้แค้นในรูปแบบของการก่อการร้ายในท้ายที่สุด และยังน่าเป็นห่วงว่ามีเด็กจำนวนกว่า 14,000 คนที่อพยพเข้าใกล้ชายแดนบังคลาเทศ และไม่มีพ่อแม่หรือผู้ปกครองอยู่ด้วย ในอนาคตข้างหน้าเด็กกลุ่มนี้อาจจะกลายเป็นผู้ก่อการร้ายเหมือนที่เคยเกิดกลุ่มผู้ก่อการร้ายเด็กกำพร้าในตะวันออกกลาง 
ในตอนท้าย ดร.มาโนชญ์ ยังให้ความเห็นว่า การรับโรฮิงญาไปเป็นพลเมืองของประเทศที่ 3 ไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่กลับเป็นการส่งเสริมให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางอ้อม รวมทั้งก่อให้เกิดกระแสความเกลียดกลัวมุสลิมของพลเมืองประเทศที่ 3 ต่างหาก 
ดร.ฐิติวุฒิ บุญวงศ์วิวัชร หัวหน้าโครงการศึกษาความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประสานศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า หากเกิดการแทรกแซงจากประเทศมหาอำนาจเพื่อแก้ปัญหาโรฮิงญาจะทำให้เกิดความแตกแยกกันภายในอาเซียน เพราะที่ผ่านมาอาเซียนจะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการหรือปัญหาภายในของประเทศสมาชิก และเมื่อมองจากปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศเมียนมาร์ก็จะพบว่า อีกประมาณ 1 ปีครึ่ง ข้างหน้า จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น การรักษาฐานเสียงของพรรคการเมืองแต่ละพรรคจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งการรักษาฐานเสียงนี้ก็จะสอดคล้องกับทัศคติส่วนใหญ่ของชาวเมียร์มาที่ไม่ยอมรับกลุ่มโรฮิงญา 
ดร.ฐิติวุฒิ กล่าวว่า ไม่ควรมองวิกฤตโรฮิงญาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะถ้าหากจะพูดถึงประเด็นนี้ก็ควรพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ถูกกระทำในลักษณะเดียวกับโรฮิงญาด้วย