ทำความรู้จัก ‘ผู้คุมกฎการเลือกตั้ง’ กับลูกเล่นที่มากกว่าเดิม

เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศว่า จะพาประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ 'การเลือกตั้ง' แต่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น คสช. ได้พยายามปรับเปลี่ยนกติกาใหม่จากการเลือกตั้งครั้งก่อน อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนกฎหมายผู้คุมกฎการเลือกตั้งใหม่ด้วยการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง)
13 กรกฎาคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พ.ร.ป.กกต. ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถึง 194 เสียง จากทั้งหมด 250 เสียง แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นที่ถกเถียงหนักมาก เนื่องจาก กกต. ชุดปัจจุบัน มองว่า กฎหมายฉบับนี้ไปลดทอนอำนาจ แถม กกต. บางคนยังมีสิทธิหลุดจากเก้าอี้หลังกฎหมายประกาศใช้อีกต่างหาก 
อย่างไรก็ดี เมื่อไปสำรวจเนื้อหากฎหมายฉบับนี้แล้ว จะพบว่าขนาดของ กกต.ใหญ่ขึ้น เพราะจำนวนกรรมการกกต.ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม นอกจากนี้กฎหมายยังเพิ่มกลไกใหม่ๆ เข้าไปอีก อย่างเช่น ผู้ตรวจการเลือกตั้ง แถมยังมีอำนาจระงับการเลือกตั้ง รวมถึงเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งชั่วคราวได้อีก
เพิ่มขนาด เปลี่ยนที่มา ขยายคุณสมบัติ กกต.
รัฐธรรมนูญปี 2550 และพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปี 2550 กำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาจำนวน 3 คน และมาจากความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอีก 2 คน รวมเป็น 5 คน
แต่ในยุคคสช. พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งปี 2560 ได้เพิ่มจำนวน กกต. จาก 5 เป็น 7 คน โดย 5 คนมาจากคณะกรรมการสรรหาชุดใหม่ ที่เพิ่มตัวแทนจากบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ไม่ใช่ กกต.เป็นคนแต่งตั้ง องค์กรละ 1 คน เข้าร่วมเป็นกรรมการสรรหาเข้าไปด้วย ส่วนอีก 2 คน ยังให้มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเช่นเดิม
นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขคุณสมบัติของคนที่จะมาดำรงตำแหน่ง กกต. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญอีก เช่น ไม่เคยทำผิดหรือมีเคยต้องโทษจำคุกเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นต้น
อีกทั้ง ยังมีการกำหนดคุณสมบัติของ กกต. ที่มาจากคณะกรรมการสรรหา 5 คนไว้อีกว่า ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ หรือตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ หรือ เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพ ไม่น้อยกว่า 20 ปี หรือ เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหารในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี หรือ เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กล่าวมาข้างต้นรวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี หรือ เป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี 
ยกเลิกใบแดง คงใบเหลือง เพิ่มใบส้ม
ใบแดง-ใบเหลือง เป็นอำนาจอย่างหนึ่งที่ กกต. มีตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งปี 2550 ควบคู่กัน โดย "ใบเหลือง" ในภาษากฎหมายใช้คำว่า "สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่" และ "ใบแดง" ในภาษากฎหมายใช้คำว่า "เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัคร"
แต่ในกฎหมายฉบับปัจจุบัน ได้ตัดเอาอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครออกจากมือ กกต. แล้วนำไปไว้ในมือศาล แต่ยังคงอำนาจการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ รวมไปถึงสั่งระงับยับยั้งการดำเนินการเลือกตั้งได้ ในกรณีที่พบเห็นว่ามีการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำซึ่งส่งผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เช่น ปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลดำเนินการด้านธุรกรรมทางการเงิน ผลิต หรือเตรียมการผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่อาจใช้ในการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจ หรือ ใช้เงินหรืออิทธิพลคุกคามเพื่อให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เป็นต้น
ทั้งนี้ หาก กกต. พบการกระทำใดของ 'เจ้าหน้าที่รัฐ' ที่เป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริตฯ กกต. สามารถสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนี่งได้ตามที่เห็นสมควร แต่หากพบการกระทำดังกล่าวเป็นของ 'บุคคลทั่วไป' ให้ กกต. แจ้งต่อเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
นอกจากนี้ ในกรณีที่พบการกระทำใดของบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตฯ ให้ กกต. แจก 'ใบส้ม' หรือภาษาทางกฎหมายคือ ระงับสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราว(ไม่เกิน 1 ปี) ทั้งนี้ ให้อำนาจดังกล่าวให้ถือเป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้
ยกเลิก กกต.จังหวัด ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน
พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งปี 2550 กำหนดให้ กกต. มีอำนาจแต่งตั้ง กกต. จังหวัด แต่ละจังหวัดจำนวนจังหวัดละ 5 คน เพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ได้ เช่น อำนวยการเลือกตั้ง เสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้ง รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ทว่า ในพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งปี 2560 ฉบับปัจจุบันได้ยกเลิกโครงสร้างดังกล่าว แล้วกำหนดให้เป็นหน้าที่หน่วยงานรัฐจะต้องดำเนินการช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ กฎหมายฉบับปัจจุบันยังเพิ่มโครงสร้างใหม่ขึ้นมาเรียกว่า "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง"  ที่มาจากการคัดเลือกของกกต. ตามภูมิลำเนาต่างๆ ในแต่ละจังหวัด จังหวัดละไม่น้อยกว่า 5 คนแต่ไม่เกิน 8 คน และต้องไม่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ และไม่ได้มีส่วนใดส่วนเสียกับพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด
โดยมีหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง และการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
โละ กกต. ชุดปัจจุบัน ให้ต้องพ้นไปจากเก้าอี้
อย่างไรก็ดี ทันทีที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งปี 2560 มีผลบังคับใช้ ให้ถือว่า ประธานและกรรมการการเลือกตั้งซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่กฎหมายใช้บังคับ ต้องพ้นไปจากตำแหน่ง แต่ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้คณะกรรมการชุดใหม่
โดยภายใน 20 วันนับตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่งตั้งและส่งชื่อผู้แทนให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อประกอบเป็นคณะกรรมการสรรหาต่อไป
ทั้งนี้ กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาต้องสรรหาบุคคลให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้