รัก………..อย่าบังคับเลย

อีกย่างก้าวสำคัญของชีวิต จากเด็กสาวและเด็กหนุ่มที่กำลังเปลี่ยนสถานะนักเรียนมาเป็นนิสิตนักศึกษา ช่วงกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี ถ้าเผอิญเดินผ่านเข้าไปรั้วอุดมศึกษาต่างๆ เรามักจะได้ยินเสียงกลองเร้าระรัวคลอเสียงร้องเพลงของเยาวชนเหล่านั้นพร้อมท่าเต้นประกอบที่ยิ่งแปลกเท่าไหร่ยิ่งเรียกเสียงกรี๊ดและเสียงกลองได้ดั่งสนั่นมากเท่านั้น และภาพของการปิดตายืนเรียงแถวหน้ากระดานเพื่อรอทำกิจกรรมอะไรบางอย่างของผู้มาใหม่ ก็เป็นอีกอย่างที่เราเรียกว่า พิธีกรรมรับน้อง และในแต่ละสถาบันมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป บางแห่งมีระยะเวลายาวนานกว่านั้น คือมีช่วง”รับน้อง”ระหว่างภาคการศึกษาดั่งเช่นมหาวิทยาลัยของ ภู เรียกกิจกรรมที่ว่า คือ “การเข้าโดม” โดยแบ่งการเข้าโดมเป็น โดมหนึ่ง โดมสอง และโดมสามตามระยะเวลาและความเข้มข้น ..
สภาวะจำยอมจากข้ออ้างสามัคคี
“น้องใหม่จำต้องยอมเจ็บตัว หรือ ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพียงเพื่อความพยายามในการจัดกิจกรรมรับน้องของรุ่นพี่จากรุ่นสู่รุ่นที่ต้องการให้เป็นการผูกมิตรระหว่างเพื่อนในรุ่นและให้เกิดความสามัคคี” ภู เด็กหนุ่มผู้มีเสียงร่าเริง สะท้อนไว้อีกตอนหนึ่ง 
หลังสัมผัสการ”เข้าโดม” นี้เองที่ทำให้ภูเห็นอีกมุมมองการรับน้องที่ไม่ได้มีแค่ความสนุกสนาน แต่กลับแฝงไปด้วยความรุนแรง กดดัน ข่มเหง และไร้มนุษยธรรมโดยอ้างธรรมเนียมเป็นความชอบธรรมอยู่เสมอ 
ในที่แห่งนั้น นอกจากการเป็น น้องใหม่จำต้องยอมเจ็บตัว หรือ ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพียงเพื่อความพยายามในการจัดกิจกรรมรับน้องของรุ่นพี่จากรุ่นสู่รุ่นที่ต้องการผูกมิตรระหว่างเพื่อนในรุ่นและให้เกิดความสามัคคีกันแล้ว 
การปลูกฝังให้เคารพรุ่นพี่ และระเบียบปฏิบัติตัวในมหาวิทยาลัย โดยใช้วิธีจัดกิจกรรมต่างๆทั้งสันทนาการที่แม้จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนาน แต่กลับมี การว๊ากที่ปรี่ไปด้วยความกดดัน รุนแรง 
โดยภูย้อนความว่า มหาวิทยาลัยของภูเอง เป็นต้นกำเนิดของการว๊ากแห่งแรกของประเทศไทย ด้วยรับค่านิยมมาจากวิทยาลัยเกษตรกรรมลอสบานยอส (Los Baños)ภายใต้ความเชื่อว่าเพื่อละลายพฤติกรรม
และทำให้เกิดความเท่าเทียมกันของนักศึกษาและการเคารพรุ่นพี่ กระทั่งนำระบบโซตัสเข้ามาผสมผสานในการจัดกิจกรรมรับน้อง อย่างที่ทราบกันดีระบบโซตัส “S O T U S” มาจากตัวอักษรภาษาอังกฤษห้าตัวอักษรที่มีความหมายว่า S =Seniority เคารพผู้อาวุโส O = Order ปฏิบัติตามระเบียบวินัย T = Tradition ปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี U = Unity เป็นหนึ่งเดียวกัน และ S = Spirit เสียสละและมีน้ำใจ 
จากสโลแกนโซตัสดังเช่นนั้น ในอีกแง่มุมเรามักจะได้ยินเสียงบ่นของนิสิต-นักศึกษาใหม่ และภาพเหตุการณ์ความรุนแรงตามสื่อต่างๆ มากไปกว่านั้นการใช้วัตถุส่งเสียงเหมือนระเบิดในกิจกรรม สู่เสียงสะอื้นไห้ของครอบครัว หลังการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักและเป็นความหวังจากเหตุการณ์รับน้องในสถาบันอื่นๆที่รุนแรงกว่าสถาบันของภูด้วยเช่นกัน 
แล้วเราเลือกอะไรได้หรือเปล่า ? 
“การรับน้องนั้นจริงๆคิดว่าถ้าทำให้ถูกวิธีก็มีประโยชน์ดีต่อรุ่นพี่และรุ่นน้องแต่ที่เห็นอยู่ในข่าวก็ไม่ดีเท่าไหร่และส่วนตัวที่ผ่านการรับน้องเจ็ดวันมาก็มีดีบ้างคือวันแรกแต่ก็จะเริ่มแย่ตรงมีเซอร์ไพรซ์ในช่วงเย็นที่มีการจุดประทัดยักษ์เพื่อทำให้น้องตกใจ”
ภูเล่าต่อไปว่า ช่วงเข้าโดมที่แบ่งเป็นโดมหนึ่ง โดมสอง โดมสาม นั้นจะมีกิจกรรมต่างกันและกลายเป็นบางช่วงที่รุ่นพี่ระบายอารมณ์ใส่รุ่นน้องคือให้รุ่นน้องวิ่งก้มหน้าและเข้ามารุมต่อยรุ่นน้อง
“ผมก็โดนเพราะเขาให้ผมวิ่งก้มหน้าและผมตัวสูงมันก้มสุดไม่ได้เราก็วิ่งก้มหน้าตลอดก็ล้าแล้วแรงก็ไม่มีที่จะไปต่อต้านเขาหรือจะสวนกลับ” ภูกล่าวไว้ตอนหนึ่ง 
อาจเพราะส่วนตัวเขาเคยมีปัญหากับรุ่นพี่ ปกติเวลาเจอกันในมหาวิทยาลัย ก็จะไม่ทำอะไรแต่จะได้ยินคำขู่อยู่บ่อยๆว่ารับน้องเจอกัน เหมือนเขาต้องการเอากิจกรรมนี้มาเป็นข้ออ้างแก้แค้นมากกว่าสิ่งที่เขาพยายามพูดว่าให้สามัคคี รักกันอะไรแบบนี้ 
“ที่เขาไม่ทำอะไรในมหาวิทยาลัยเพราะเขารู้ว่าในช่วงรับน้องเราจะอ่อนแอและเปราะบาง ทำอะไรไม่ได้หรือพูดง่ายๆคือ รังแกคนไม่มีทางสู้ แต่จริงๆแล้วการทำรุนแรงก็ผิดกฎมหาวิทยาลัยแต่รุ่นพี่ก็ทำกันเองและที่ยอมกันเพราะว่าบรรยากาศพาไปประกอบกับยังไม่เคยมีการแจ้งความ”
จากที่ ภู เล่าเหตุการณ์รับน้องที่ผ่านพ้นมา มีทั้งการใช้ความรุนแรงที่ผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น รุ่นพี่เข้าถึงตัวรุ่นน้องด้วยการชกต่อยผ่านอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวแต่อ้างความชอบธรรมว่าคือประเพณี มากไปกว่านั้นการกระทำเหล่านี้ทุกคนที่โดนก็รู้ดีว่าผิดกฎหมายแต่ไม่มีใครกล้าทำอะไร หรือกล่าวได้ว่าทุกคนยอมรับว่าการทำรุนแรงเป็นธรรมเนียมประเพณีไปแล้ว ทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องต่างก็หลงลืมไปเลยว่าการรับน้องทำเพื่อการทำความรู้จักกันผูกมิตร
และสุดท้ายความดีงามที่กล่าวอ้างถึงมิตรภาพก็เป็นได้เพียงข้ออ้างเพื่อระบายอารมณ์เท่านั้น และในเรื่องธรรมเนียมการรับน้องหลายคนก็มีค่านิยมว่า “ปีหน้าค่อยไปเอาคืนกับรุ่นน้อง” จึงเป็นการทำให้ทุกคนจำยอมเป็นผู้ถูกกระทำขณะเป็นรุ่นน้องและคิดว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า “เรายอมแค่ปีเดียวแต่เราเอาคืนได้ตลอดจนกว่าจะจบการศึกษา” 
มิหนำซ้ำการเป็นพี่บัณฑิต(คนที่จบการศึกษาแล้ว) เองก็ยังคงมีอำนาจในกิจกรรมนี้ด้วย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลายคนในสังคมก็เลือกที่จะยอมรับและปฏิบัติกฎเกณฑ์เหล่านี้ โดยไม่มีใครคำนึงถึงวันที่ถูกกระทำเลยว่าเจ็บปวดและจำใจขนาดไหนและไม่มีใครคิดที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้รุ่นน้องหรือผู้มาทีหลังคนอื่นๆถูกกระทำเฉกเช่นกับที่ตัวพวกเขาถูกกระทำมาก่อน….
เคารพอาวุโส ถ้อยคำง่ายๆที่ถูกอ้างใช้ ซ้ำไปซ้ำมา
 
“หากจะอ้างว่าถ้าไม่มีรับน้องก็ไม่มีเพื่อนจริงๆไม่มีรับน้องเลยก็มีเพื่อนและจะสนิทกันอีกแบบและเท่าเทียมกันลดความรุนแรงไปเลยก็จะดี” ภูย้ำความคิดกับเราอีกครั้ง 
ส่วนการเคารพรุ่นพี่รุ่นน้องเขาเห็นว่า ก็สำคัญระดับหนึ่งแต่ไม่ใช่ว่าจะเคารพทุกคน “ผมจะเลือกเคารพ ไม่ได้เคารพเพราะอายุแต่เคารพเพราะคุณงามความดี “
ส่วนความหมายของ “โซตัส” เขาบอกว่าเลี่ยงไม่ได้เลยว่าอาวุโสคือเรื่องใหญ่และมาเป็นอันดับแรก เราต้องเคารพกันอย่างไม่มีข้อแม้” สำหรับภู นักศึกษาที่มาทีหลังหรือรุ่นน้องไม่สามารถมีความคิดเป็นของตัวเองได้เลยเพราะถ้าหากคิดต่างจากรุ่นพี่หรือโต้แย้งจะถูกมองว่านอกคอกทันที และเป็นตัวอันตรายต่อระบบนั้น 
อีกทั้งการปฏิบัติตามระเบียบวินัย เขาต้องทำตามระเบียบแม้ว่าเรื่องบางเรื่องก็เป็นเพียงสิ่งที่คนรุ่นก่อนสร้างขึ้นมาอย่างไร้เหตุผล แต่เพราะความอาวุโสโดยอ้างว่าเป็นระเบียบวินัยก็ยิ่งทำให้น้องใหม่ไม่สามารถเลี่ยงที่จะปฏิเสธได้ สุดท้ายก็ต้องจำใจทำ จนกลายเป็นว่าเราต้องทำอย่างจำใจด้วยข้ออ้างหนักหน่วง ในผลสุดท้ายก็คือรักรุ่น รักเพื่อน รักรุ่นพี่ ด้วยความจำใจ ที่เป็นได้เพียงการบังคับรัก
ถึงตรงนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆของการรับน้องลักษณะบังคับ ทั้งการผูกมิตร การให้รักรุ่น รักเพื่อน เคารพรักรุ่นพี่ หรือใดๆก็ตาม เราเห็นว่าปัจจุบันกิจกรรมรับน้องแบบนั้นเลยเถิดไปไกลกว่าสานสัมพันธ์ เพราะเมื่อจัดกิจกรรมแล้วหากมีผู้ไม่ทำตามก็จะมีมาตรการ ทำโทษ ใช้ความรุนแรงกดดัน เพื่อให้นักศึกษาใหม่ยอมทำตามคำสั่งรุ่นพี่ที่ไม่ใช่แค่การไปทำความรู้จักอย่างในกรณีของภู 
และสิ่งที่ได้มาก็เป็นเพียงการทำตามคำสั่งหลอกๆ รักหลอกๆจอมปลอมและจำใจ ซึ่งในความเป็นจริง ชีวิตเราไม่มีใครที่มีเพื่อนในชีวิตทั้งหมดมาจากลักษณาการนี้ 
เราสามารถรู้จักกันและรักกันได้ในสถานะหรือความสัมพันธ์ในหลากหลายรูปแบบที่ไม่ต้องมาบังคับกัน มาตะโกนเสียงดังๆใส่กัน เราคุยกันดีๆและทำความรู้จักกันได้โดยไม่ต้องมีใครมาคอยกำหนดว่าเรา ต้องทำอะไร ต้องรู้จักใคร หรือแม้กระทั่งมาสั่งสอนให้เรารักใคร
สุดท้ายเราถามภูผู้ผ่านประสบการณ์รับน้องอย่างรุนแรงว่าการบังคับให้รักมีอยู่จริงหรือไม่? เขาตอบกลับทันทีทันใดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “มีคนบังคับแน่นอนแต่จะบังคับให้รู้สึกรักตอบเนี่ย ไม่มี…” 
หลังคำตอบนั้นเราต่างตกตะกอนความคิดบางอย่างภายในใจยิ่งกับเราเองที่เชื่อมั่นและศรัทธาในความรักย่อมเห็นไม่ต่างไปจากภูและยังคงเชื่อมั่นเสมอว่าความรักย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกๆที่กับคนทุกคนทุกเพศทุกวัย 
และเมื่อเราหันไปมองรอบๆกายคงจะไม่มีใครที่มีเพื่อนโดยการถูกบังคับรัก หรือ จำใจ เพราะท้ายที่สุดแล้วเรื่องของหัวใจย่อมเกินขอบเขตจากการบังคับควบคุมทุกกรณี ถึงรุ่นพี่ผู้มาก่อนทุกคน ถ้ารักน้องจริงก็อย่าบังคับกันเลย….