คุยกับนักปรัชญา: เหตุใดข้อเสนอเพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาศาสนา จึง ‘ร้าย’ มากกว่าดี

เมื่อเราพูดถึงปัญหาสังคม เรามักจะพูดกันว่า ถ้าคนดีแล้วสังคมก็จะดีด้วย และเราควรเริ่มปลูกฝั่งการเป็นคนดีกันตั้งเเต่ยังเด็กเพราะเด็กคืออนาคตของชาติ เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว เป้าหมายการปฏิรูปอันดับต้นๆ จึงมักตกมาอยู่ที่การปฏิรูปการศึกษา 
นั้นจึงเป็นเหตุให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งได้หมดวาระลงไปแล้วเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา ทิ้งข้อเสนอการปฏิรูปประเทศเอาไว้ให้  และหนึ่งในนั้นคือ เพิ่มวิชาจำพวกศาสนา,คุณธรรม,จริยธรรม และหน้าที่พลเมืองใน 2 คาบท้ายของการเรียนทุกวัน เพื่อมุ่งเน้นให้เด็กเป็นคนดี
ทั้งนี้ เพื่อทบทวนว่าข้อเสนอดังกล่าวเวิร์คจริงหรือไม่ เราจึงขอคำปรึกษาจาก รศ. เอกศักดิ์ ยุกตะนันทน์ ภาคปรัชญาฯ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้สนใจเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาและทำงานวิชาการมาหลายสิบปี เป็นผู้ชวนขบคิดต่อว่าข้อเสนอเหล่านี้เข้าท่าแค่ไหน 
อาจารย์คิดอย่างไรกับข้อเสนอ เพิ่มวิชาเรียนจริยธรรม ศีลธรรม และหน้าที่พลเมือง เพื่อสร้างคนดี มีจริยธรรม มีศีลธรรม และสังคมไร้คอรัปชั่น
ประการหนึ่งเลยนะ ข้อเสนอของสปท.ขัดแย้งกับความคิดและข้อเสนอของการปฏิรูปการศึกษาทั้งหมดที่ผ่านมา ซึ่งล้วนมีความเห็นชัดเจนร่วมกันว่า เด็กมีชั่วโมงการเรียนและใช้เวลาในการเรียนมากเกินไปอยู่แล้ว และความคิดและข้อเสนอเหล่านี้ก็ได้รับการสนับสนุนโดยงานวิจัย งานวิชาการ และหลักการทางทฤษฎีต่างๆ ซึ่งชี้เป็นทางเดียวกันว่า เด็กควรมีเวลาอิสระนอกห้องเรียน และมีเวลาค้นพบตัวเองมากกว่านี้ การที่เด็กถูกกักในโรงเรียนมีผลเสียมากกว่าผลดี ผมเสนอให้ลองไปอ่านหนังสือเรื่อง “School that dumb us” หรือ โรงเรียนทำให้เราโง่อย่างไร เขียนโดยกัตโต้ ครูซึ่งได้รับรางวัลและเป็นครูที่ต่อสู้เพื่อเด็ก ข้อเสนอแนะที่ชัดเจนของเขาคือให้ลดชั่วโมงในโรงเรียนลง ให้เด็กเรียนรู้จากชีวิตจริงมากขึ้น ให้เด็กเรียนรู้จากชุมชน และให้เด็กมีชีวิตนอกโรงเรียนมากขึ้น แต่ข้อเสนอของสปท.ขัดเเย้งกันโดยตรง ซึ่งจะทำให้เด็กโง่มากกว่าฉลาด 
ทำไมข้อเสนอที่ทำให้เด็กเป็นคนดีด้วยวิธีนี้ ถึงทำให้เด็กโง่มากกว่าฉลาด?
จากงานวิจัยของผม สังคมไทยมีความพยายามที่จะทำให้เด็กโง่ ซึ่งเป็นความพยายามของสังคมไทยมานานเเล้ว เราพยายามทำให้เด็กไทยเป็น “เด็กดีที่โง่” ข้อเสนอของสปท.ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เด็กไทยเป็นเด็กที่ดีไปอีกแต่ก็โง่ไปอีกด้วย ทำให้เป็นเด็กดีที่อยู่ใต้อำนาจของโรงเรียน ใต้อำนาจของครูบาอาจารย์ ใต้อำนาจของสังคม ซึ่งเดี๋ยวก็จะไปตอบเรื่องโซตัส เรื่องมหาวิทยาลัย เข้ามามหาลัยเเล้วก็ไปสยบยอมต่ออำนาจของครูบาอาจารย์ 
อ้าว แล้วข้อเสนอแบบนี้มันออกมาได้อย่างไร?
นี่คือการฉวยโอกาสของสปท. เพราะว่าคนไทยมีลักษณะแบบอยากเชื่ออะไรก็เชื่อ ไม่มีฐานความรู้อะไรทั้งสิ้นรองรับ แค่บอกว่านี้จะทำให้คนไทยดีขึ้น พูดไปเดี๋ยวคนไทยก็เชื่อ ไม่จำเป็นต้องมีงานวิจัย ไม่จำเป็นต้องมีทฤษฎี อะไรทั้งสิ้นที่รองรับ บอกกันไปเดี๋ยวก็เชื่อกันเอง มันไม่มีพยานหลักฐานหรือทฤษฏีอะไรทั้งสิ้นมารองรับว่าสิ่งต่างๆจะเป็นเช่นที่เสนอ แค่บอกกันไปเดี๋ยวก็เชื่อกันเอง ยอมรับกันเอง 
ผมเอาคำถามของไอลอว์ ไปถามนักศึกษาในชั้นเรียนซึ่งพึ่งจบมัธยมปลายว่าเห็นด้วยกับการเพิ่มวิชาเรียนเเบบนี้ไหม ซึ่งย้อนไปสู่คำถามที่ว่า เราเชื่อไหมว่าการเพิ่มวิชาเรียนมันจะช่วยให้คนที่จบไปจากโรงเรียนเป็นคนดีมากขึ้น เราก็บอกว่าไม่มีหลักฐานอะไรทั้งสิ้นให้เชื่อว่าวิชาอะไรต่างๆ อย่างที่ว่า มันจะช่วยสร้างให้คนเป็นคนดีเพราะเราไม่มีงานวิจัยอะไรสนับสนุน 
แปลว่า การพยายานสอนให้เป็นคนดี แก้คอร์รัปชั่นไม่ได้?
เรายังไม่มีทฤษฎีทางการศึกษาใดเลยที่บอกว่า อะไรที่ทำให้คนเรียนไปแล้วเป็นคนคอรัปชั่น อะไรที่ทำให้คนเรียนไปแล้วไม่เป็นคนคอรัปชั่น เเต่เรามีทฤษฎีทางสังคมวิทยาที่อธิบายว่าอะไรทำให้การคอรัปชั่นเป็นไปได้อย่างขนานใหญ่ เช่น ทฤษฎีของระบบอุปถัมภ์ เราก็รู้ว่าระบบอุปถัมภ์เป็นระบบที่ทำให้การคอรัปชั่นเป็นไปได้แพร่หลายมาก และเราก็รู้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ เพราะฉะนั้น เราเป็นสังคมที่การคอรัปชั่นเป็นไปได้อย่างเต็มที่ เป็นไปได้ทุกหนทุกแห่ง ระบบอุปถัมภ์ก็กระจายอยู่ในทุกระบบของวิธีคิดของคนไทย ซึ่งการศึกษาไม่ได้เข้าไปแก้อะไรเลย แล้ววิชาหน้าที่พลเมืองอะไรต่างๆ ที่มีอยู่ก็ไม่ได้เข้าไปแก้เรื่องระบบอุปถัมภ์อะไรทั้งสิ้น ยิ่งส่งเสริมสนับสนุนอีกตั้งหากเพราะการศึกษาไทยพยายามทำให้ “เด็กเป็นทาสสังคม”
“เด็กเป็นทาสสังคม” นี้หมายความว่าอย่างไร
เด็กไทยจะมีความรู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ถ้าไม่พึ่งคนอื่น คือ เด็กไทยถูกสอนว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่เวลาเขาถูกสอนว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม หมายถึงว่า เขาต้องอยู่กับสังคม ต้องพึ่งสังคม ดังนั้น เมื่อเข้าไปตรงไหนแล้ว อยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องมีพี่ ต้องมีน้อง ต้องมีเพื่อน อยู่คนเดียวไม่ได้ อยู่แบบปัจเจกไม่ได้ คุณรู้มั้ยว่า เวลาคนรุ่นผมเรียนวิชาศีลธรรม หน้าที่พลเมืองเนี่ย เขาสอนอีกแบบนึงเลยนะ
แล้วเขาสอนวิชาจริยธรรมอย่างไรไม่ให้เด็กเป็นทาสสังคม
เขาสอนเรื่อง “อัตตาหิ อัตตโนนาโถ”  เขาจะสอนซ้ำแล้วซ้ำอีกในเรื่องนี้ ซึ่งสอนว่าตนเป็นที่พึ่งเเห่งตน สอนว่าในชีวิตนี้ อย่าหวังพึ่งใครทั้งสิ้น แปลว่าอะไร แปลว่าต้องอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ เขาไม่ได้สอนเลยว่ามนุษย์ต้องเป็นสัตว์สังคม แต่มันก็ขึ้นอยู่กับว่าอยากให้คนเข้มเเข็งหรืออยากให้คนอ่อนแอ ถ้าอยากให้คนเข้มเเข็งก็ต้องสอน เรื่องคนพึ่งตัวเอง อยู่ได้ด้วยตัวเอง พึ่งลำเเข้งของตัวเอง อย่าไปหวังพึ่งคนอื่น อย่าไปหวังให้พี่มาดูแล เข้าไปในมหาวิทยาลัยปับต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ แต่ถ้าคุณไปสอนให้มนุษย์เป็นสัตว์สังคมก็อย่าไปหวังว่าเขาอยู่ตัวคนเดียวได้ เข้ามหาลัยไปปับต้องหาที่พึ่ง ต้องเกาะกลุ่ม ต้องไปวิ่งเข้าแถวกับนักศึกษาคนอื่นๆเหมือนฝูงแกะมีหมาคอยควบคุมให้เป็นระเบียบ เเล้วในเวลาจะกินก็กินกันทั้งหมู่รวม คอรัปชั่นไปพร้อมกัน รวมหัวรวมท้ายไปกันทั้งระบบคอรัปชั่น มันเกิดเพราะทุกคนเอาด้วยกันทั้งหมดในระบบ เขากินคนเดียวไม่ได้หรอก เขาต้องกินร่วมกันทั้งระบบ
แล้วเรามีทางออกไหม ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กพึ่งพาตัวเองได้
จริงๆ ไม่เห็นจะยากอะไรเลย ก็หัดให้เขาทำอะไรด้วยตัวเอง ปล่อยให้เขาคิดด้วยตัวเอง ปล่อยให้เขาทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง แล้วเราก็แค่ช่วยประคองดูเเล นี้แหละคือปัญหาของเด็กไทยคือเขาไม่เคยมีโอกาสที่จะคิดทำอะไรต่างๆด้วยตัวเอง เราพูดง่ายๆ ว่านี้คือความคิดของเพียเจต์ (Piaget) หรือโรงเรียนแบบประชาธิปไตย คือให้เด็กได้ปกครองตนเองเพราะว่าเมื่อเขาออกไปจากโรงเรียนเขาก็จะมีความเคยชินกับการปกครองตัวเอง เมื่อเขาไปอยู่ในสังคมเขาก็พร้อมที่จะเป็นผู้ปกครองตัวเอง ไม่ต้องการให้คนอื่นมาปกครอง แล้วคุณลองดูเด็กไทยสิ เมื่ออยู่ในโรงเรียน พวกเขาเคยมีโอกาสปกครองตัวเองรึเปล่า ไม่เคยเลย อยู่ในบ้านเขามีโอกาสปกครองตัวเองไหม ก็ไม่เคยอีก อยู่ใต้อำนาจของพ่อแม่ ถูกพ่อแม่ปกครอง ถูกพ่อแม่คิดให้ ถูกพ่อแม่ตัดสินใจให้ ทุกอย่างในชีวิต
เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ผมเปรียบเทียบให้เด็กฟังเสมอว่า คุณรู้ไหมในรุ่นผมเนี่ย ผมโตมาในยุคที่ทุนนิยมยังไม่มีอำนาจ ทุนนิยมยังอ่อนมากยุคผม เพราะฉะนั้น ในบ้านผมเราจะไม่พูดกันว่าเราต้องจบอะไร  ต้องเรียนอะไร และเราไม่พูดเรื่องเงินด้วย ใครอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร ก็ไปหาเอาเอง ไม่เฉพาะในบ้านผม แต่เป็นกับเพื่อนผมทุกคนเลย พ่อแม่รุ่นผมเนี่ยเขาไม่ยุ่งกับลูก ลูกอยากเรียนอะไร ก็ไปหาเอาเอง ส่วนการเข้ามหาวิทยาลัยในรุ่นผมเนี่ย พ่อแม่ไม่เกี่ยวเลย
เด็กในยุคทุนนิยมอ่อนแอกับยุคทุนนิยมเข้มแข็งนี้ต่างกันอย่างไร
การคลานเข่ามาหาอาจารย์ มันไม่มีในยุคผม ยุคผมไว้ผมยาวได้ เด็กนักเรียนมัธยมก็สามารถไว้ผมยาวได้เเล้ว เพราะมันเป็นยุค 14 ตุลา ผมเรียนในคณะคุรุศาสตร์ จุฬาฯ ผมไม่เคยเเต่งชุดนักศึกษาเลย ผมเเต่งเฉพาะเวลาไปฝึกสอนเท่านั้นเอง แล้วไม่มีอาจารย์คนไหนในคุรุศาสตร์ที่บังคับเด็กให้ใส่เครื่องเเบบในวิชาบังคับ วิชาเอกก็ไม่มี แต่มีอาจารย์อยู่คนนึงที่ผมรู้จักที่บังคับให้เด็กใส่เครื่องเเบบ พอเราลงทะเบียน เราก็ถอนกัน เราเจอวิชาแบบนั้นเราก็จะถอน ไม่เรียนวิชานั้น แต่นั้นคือยุคสมัยประชาธิปไตยครับ เเต่ประเด็นของเราคือ เด็กในยุคทุนนิยมมีชีวิตที่น่าสงสาร เพราะ หนึ่ง พ่อแม่คาดหวังว่าลูกต้องเรียนได้ดี เพราะฉะนั้นต้องถูกบังคับทุกอย่าง พ่อแม่กำหนดทุกอย่าง พอจะเข้ามหาวิทยาลัย พ่อแม่ก็กำหนด แล้วก็ต้องเรียนกวดวิชากันเป็นบ้าเป็นหลัง ไม่เคยมีสิทธิที่จะตัดสินใจอะไรได้ด้วยตัวเองเลย เข้าไปอยู่ในโรงเรียนก็ไม่เคยมีอำนาจอะไรเลย อยู่ใต้อำนาจครู เพราะ ฉะนั้นเขาไม่เคยปกครองตัวเองเลยในชีวิต เพราะฉะนั้น เมื่อเขาเข้ามาในมหาลัย เขาไม่มีความรู้สึกเลยว่าเขาสามารถปกครองตัวเอง เขาไม่เคยเชื่อเลยเขาอายุ 18 อายุ 19 อายุจะ 20 อยู่แล้ว จะบรรลุนิติภาวะอยู่แล้ว เขาจะมีอำนาจปกครองตัวเองได้ เขาไม่เชื่อว่ากฎหมาย มันเพียงพอสำหรับที่พวกเขาจะอยู่ร่วมกัน เขาคิดว่าเขาจะต้องมีสตาฟหรือรุ่นพี่มาปกรองเขา ซึ่งไร้สาระ ในสังคมเรามีกฎหมายพอแล้ว ทำไมเราต้องมีผู้มีอำนาจ 
แล้วปัญหาระบบอุปถัมถ์และการคอรัปชั่นมาเกี่ยวโยงกับการศึกษาอย่างไร 
ก็เกิดมาจากนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเข้าไปสู่ระบบโซตัสแล้วกลายเป็นกำลังในการทุจริตโกงกินกันต่อไปในอนาคต ซึ่งก็มาจาก หนึ่ง ความกลัวที่จะไม่มีพวกพ้อง สอง คือความรู้สึกไม่กล้าปกครองตัวเอง ความรู้สึกว่าต้องการคนมาปกครองตัว แล้วในที่สุดมันก็วนไปสู่ความต้องการที่จะปกครองคนอื่น แล้วก็กลายเป็นความต้องการที่จะมีอำนาจเหนือคนอื่น
สรุปนะ ข้อเสนอของสปท. มันไม่ใช่แน่ สปท.เพียงเเค่พยายามที่จะเพิ่มนวัตกรรมของการที่จะสร้างให้เด็กเป็นคนที่อยู่ใต้อำนาจมากขึ้น แล้วที่เด็กที่ตกอยู่ใต้อำนาจก็จะกลายเป็นเด็กที่เข้าไปในมหาวิทยลัยแล้วอยู่ภายใต้ระบบโซตัส และผลก็เป็นตรงกันข้าม เด็กพวกนี้ก็จะกลายเป็นเด็กที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ แล้วคนที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ก็จะกลายเป็นกำลังของคนที่จะทุจริตโกงกิน ผลก็จะกลายเป็นตรงกันข้ามกับที่สปท.พูด ซึ่งพวกที่ยอมตัวต่ออำนาจ พวกนี้แหละเมื่อเข้าไปสู่ระบบทำงานก็จะกลืนไปกับโครงสร้างของการคอรัปชั่น
อย่างนี้ข้อเสนอการปฏิรูปของสปท.ก็ถอยหลังเข้าคลอง เคลื่อนไปทางอนุรักษ์นิยมมากขึ้นใช่หรือไม่
มันอนุรักษ์นิยมแบบสุดโต่งอยู่เเล้ว แต่เขาก็จะเพิ่มขึ้นไปอีกเท่าที่จะเพิ่มได้ เป็นมาตรการ เป็นนวัตกรรม ที่ประดิษฐ์สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อลัทธิอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง และมันก็เป็นเรื่องของชัยชนะทางวัฒนธรรมของฝ่ายขวา ฝ่ายขวาครองอำนาจในสังคมไทยตั้งเเต่ยุค 6 ตุลา เขาสร้างวัฒนธรรมนี้มาเรื่อยๆ วัฒนธรรมนี้กินเวลากว่า 40 ปี แล้ว เพราะฉะนั้น มันอยู่ในจิตสำนึกของคนที่มีอำนาจในสังคมไทยและผู้ที่มีชีวิตที่กินดีอยู่ดี ผู้ที่เกิดมาใหม่ๆ ก็ต้องถูกระบบอำนาจบีบคั้นแบบนี้ไป เด็กรุ่นใหม่ก็ต้องทนกับของพวกนี้ แต่ในที่สุดพอเด็กรุ่นใหม่โตเป็นผู้ใหญ่ก็กลายเป็นคนที่กดขี่คนรุ่นต่อไปอีกที เเต่จะมีคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักสักเท่าไหร่กันในประเด็นเรื่องการตระหนักรู้ในตัวเองว่าเรากำลังเติบโตในวงจรของการถูกกดขี่ ผมเคยพูดหลายที่มาแล้วว่า ครูทั้งประเทศมาจากชนชั้นชาวนา แต่ในที่สุดเเล้วก็ไปรับใช้ชนชั้นผู้ปกครอง ทรยศต่อบรรพบุรุษของตัวเอง เราก็เห็นแล้วว่าครูก็เป็นศัตรูกับชาวนา เขาก็คิดไม่เหมือนบรรพบุรุษของเขาแล้ว เขาก็คิดว่าชาวนาโง่ และสอนลูกศิษย์ให้เป็นศัตรูกับชาวนา
เหตุการณ์อาจารย์ล็อกคอนิสิตจุฬาฯ เป็นผลลัพธ์ของลัทธิอนุรักษ์นิยมสุดโต่งด้วยรึเปล่า
อันนี้ก็เช่นเดียวกัน สถาบันการศึกษาก็รับใช้ลัทธิต่อลัทธิอนุรักษ์นิยม ลัทธิอำนาจนิยม ซึ่งครอบงำสังคมไทยอยู่ ตัวบุคคลากรการศึกษาก็มีจิตสำนึกอนุรักษ์นิยมอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น เป้าหมายของครูบาอาจารย์ก็จะต้องกดหัวลูกศิษย์ให้ได้ ด้วยจารีต ด้วยประเพณี ด้วยสิ่งต่างๆที่ประดิษฐ์ขึ้นมา ถ้าใครที่แสดงสัญลักษณ์ว่าจะขัดขืนเขาก็พร้อมก็เเสดงอำนาจ ความยิ่งใหญ่ที่มันเหนือกว่าให้ได้
แล้วเด็กควรจะทำอย่างไร ต้องท้าทายแบบเนติวิทย์หรือเปล่า
ใช่ครับ เด็กต้องกล้าหาญ “กล้าหาญที่จะอยู่โดดเดี่ยว” เพียงเเต่ก็หาได้ยากหน่อย ขึ้นอยู่กับว่าถูกพ่อแม่เลี้ยงดูมาได้ดี แต่ถ้าถูกเลี้ยงมาให้อ่อนแอซะเเล้ว การได้มาของคนเเบบเนติวิทย์ก็จะน้อย ยังงี้ก็ต้องมาปลุกกันที่หลัง ในวิชาของผม ผมก็พยายามปลุกเด็ก ว่าคุณต้องกล้าหาญที่อยู่ตัวคนเดียวให้ได้
อาจารย์ปลุกเด็กให้ “กล้าหาญที่จะอยู่โดดเดี่ยว” ด้วยวิธีอะไร
ผมก็พยายามชี้ให้เห็นว่า การที่เขาเป็นทาสของสังคมนั้นเขาเสียมากกว่าได้ เขาต้องไปศึกษางานของอีริค ฟรอมม์ (Erich Fromm) นักจิตวิทยาสายจิตวิเคราะห์ เขาพูดถึงคนที่ยอมสูญเสียเสรีภาพแล้วยอมไปอยู่กับกลุ่ม กับหมู่คณะ แล้วก็วนเวียนอยู่ความสัมพันธ์แบบซาดิสม์ (sadism) และมาโซคิสม์ (masochism) ซึ่งมันคือความสัมพันธ์แบบโซตัส คุณเข้ามาปีแรก คุณเป็นมาโซคิสม์ พอขึ้นปีที่สองก็เป็นซาดิสม์ มาโซคิสม์คือคนที่ยอมถูกทำร้ายเพื่อเเลกกับความรัก พอปีที่สองคุณก็เป็นซาดิสม์ โดยคุณจะอ้างแบบว่าคุณรักเขา มันก็วนเวียนอยู่แบบนี้ แล้วคนพวกนี้ก็จะยึดอยู่กับกลุ่มและต้องยึดซึ่งกันและกัน แต่คนพวกนี้ล้วนเเต่ทำลายความเป็นมนุษย์ของตัวเองลงไป เราก็ได้แต่ชี้ให้เขาเห็นแบบนี้ ผมก็ประสบความสำเร็จเท่าที่ทำได้ครับ ถ้าใครผ่านมาทางผม และผมก็อยากให้คนในสังคมเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เยอะๆ 
สุดท้าย คนดีคนมีศีลธรรมเราควรมีนิยามอย่างไร
เอาเป็นว่าเราสร้างอย่างไรดีกว่า คนดีคนมีศีลธรรม คือ คนที่ทำจากใจที่มีความรักให้ผู้อื่น แล้วใจที่มีความรักให้แก่ผู้อื่นนั้นต้องเป็นใจที่มีเจตจำนงที่เข้มเเข็งด้วย หมายถึงว่า ความรักของเขากลายเป็นเจตจำนงสากลด้วย อันนี้ผมพูดแบบคำอธิบายของค้านท์(Kant) อันนี้คือผมเป็นค้านเที่ยน(Kantian) คือว่า ค้านท์บอกว่าตอนเรามีศีลธรรมนั้น เราไม่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง เราใช้เจตจำนงของเรา คือเราไม่ได้เอาแค่อารมณ์ครั้งๆ คราวๆ เพราะอารมณ์ครั้งๆ คราวๆ ไม่ใช่อารมณ์ถาวร ถ้าคุณสงสารคุณก็ช่วยถ้าคุณไม่สงสารคุณก็ไม่ช่วย คนเเบบนั้น ค้านท์ไม่เรียกว่าคนดี แต่ถ้าคุณสามารถที่จะสงสาร แล้วสามารถทำให้ความสงสารนั้นเป็นเจตจำนงที่กลายเป็นสากล ที่เมื่อใดก็ตามที่มีกรณีเหล่านั้นคุณจะช่วยเสมอ มันกลายเป็นเจตจำนงหรือกฎสากลของคุณ แบบนั้น คุณถึงจะเป็นคนดี แต่อารมณ์มีอยู่ข้างหลังเเน่นอน มนุษย์ย่อมมีอารมณ์โกรธ เราย่อมโกรธต่อสิ่งอยุติธรรม เราต้องสงสารต่อผู้ประสบเคราะห์กรรมทั้งหลายแหล่ แต่ความโกรธความสงสารต้องกลายเป็นเจตจำนงที่ดีงาม เจตจำนงมี่ดีงามหมายถึงเจตจำนงสากลที่เรายึดถือเป็นกฎสากลได้
แล้วเราจะสร้างคนดีแบบนี้ได้อย่างไร
สำหรับค้านท์ เจตจำนงเหล่านี้เป็นเจตจำนงของตัวเราเอง เป็นเจตจำนงอิสระ เป็นเจตจำนงที่ใครมาบังคับไม่ได้ แล้วก็เป็นอิสระโดยสมบูรณ์จากสังคม จึงเป็นเรื่องของมนุษย์ที่คิดอย่างอิสระจากสังคม ฉะนั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่สังคมจะมากำหนดมาให้ใครได้ มันหมายถึงว่า โดยพื้นฐาน เราก็ต้องสอนให้คนคิดได้อย่างอิสระ มิใช่สอนให้เป็นทาสสังคม คนที่จะกลายเป็นคนดีได้จริง อย่างแรกที่สุดคือ เขาต้องสามารถคิดด้วยตัวเขาเองได้อย่างอิสระ ตั้งเจตนาได้อย่างอิสระ มิใช่ถูกสอนให้ยึดถือทุกอย่างตามขนบจารีตประเพณี 
คนดีแบบนี้ไปกันได้กับประชาธิปไตยใช่ไหม
ใช่ครับ ประชาชนทุกคนออกกฎให้กับตัวเองแต่เราเอามาใช้ร่วมกัน
แล้วมันจะไปทำลายระบบอุปถัมภ์และการคอรัปชั่นใช่ไหม
เเน่นอน เพราะมันจะไม่มีระบบชนชั้น และในระบบประชาธิปไตยคนทุกคนเท่ากัน