ส่องแนวคิดปฏิรูปการเมืองของสปท.ก็ “Same same but different”

บทนำ
ก่อนที่จะถามว่า ปฏิรูปแบบไหน ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยังไม่ได้ทำ เรามาดูกันว่า สปท. ทำอะไรไปแล้วบ้าง? คำตอบที่ฟังดูดีที่สุดและรักษาหน้า สปท.ที่สุดแล้วน่าจะเป็นสำนวนไทยแต่ฝรั่งงงที่ว่า “same same but different” หรือ “เหมือนๆ เดิมแต่ก็แตกต่างนะ” กล่าวคือ แม้ข้อเสนอต่างๆ จะออกเดิมๆ วิธีคิดก็เดิมๆ ทางแก้ก็เดิมๆ คนร่างก็หน้าเดิมๆ แต่สิ่งที่แตกต่างก็ยังมี ได้แก่ องค์กร กฎเกณฑ์ ระเบียบ บทลงโทษ อะไรใหม่ๆ ที่ดูจะมีอำนาจกว้างขวางมากขึ้น รัดกุมมากขึ้น และรุนเเรงมากยิ่งขึ้น ส่วนคำตอบว่าถ้านำไปปฏิบัติแล้วจะสำเร็จไหม คำตอบก็คงเป็น “same same but different na” บทความนี้ได้ทำการศึกษารายงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง 4 ฉบับ/ด้าน อันได้แก่ ด้านผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้านการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม ด้านการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และ ด้านระบบพรรคการเมือง
1.อยากเป็นนักการเมืองต้องมีใบอนุญาต “คนดี”
คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ได้เสนอ รายงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่อง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เห็นว่า ปัญหาสำคัญของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขาดคุณธรรมและจริยธรรม มีการใช้อำนาจในตำแหน่งเพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง และมีการทุจริตคอรรัปชัน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เสนอแนวทางการปฏิรูปโดยมีเป้าหมาย คือ การได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมและจริยธรรม มีความรับผิดชอบ และทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ สำหรับเเนวทางการปฏิรูปมีทั้งหมด 4 เรื่อง 
1) การปฏิรูปมาตรการในการคัดกรองและตรวจสอบคุณสมบัติ ของผู้สมัครเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง
2) การปฏิรูปการควบคุมตรวจสอบจริยธรรม ระบบคุณธรรมและการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
3) การปฏิรูปมาตรการในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
4) การปฏิรูปการพิจารณาค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้บริหารพรรคการเมือง ให้สอดคล้องกับภารกิจและการปฏิบัติหน้าที่ในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชนทั้งประเทศ
กล่าวง่ายๆ คือ มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ การคัดกรอง-การควบคุม-การอบรมเข้ม-การให้ค่าตอบแทน 
ขั้นตอนเเรก คือ การคัดกรองคุณสมบัติ มีสาระสำคัญคือ ให้ กกต. ออกประกาศกำหนดระบบคุณธรรมแห่งชาติของนักการเมืองระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่น และผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพื่อรับใบอนุญาตนี้ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “ใบอนุญาตคนดี” นอกจากนี้ ยังมีข้อบังคับอื่น ได้แก่ ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องแจกเอกสารประวัติ (เรซูเม่นักการเมือง) เเสดงเจตจำนงเพื่อประกาศให้สมาชิกพรรคและประชาชนรู้ก่อน 1 ปี และ แสดงรายการเสียภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปี
ขั้นตอนที่สอง คือ การควบคุมตรวจสอบจริยธรรม โดยให้จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และภายในพรรคการเมือง อีกทั้ง ให้ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลและการร้องเรียน ให้กำหนดการไต่สวนจริยธรรมให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ และเผยแพร่ผลการพิจารณาและการลงโทษ เพื่อให้เกิดมาตรการลงโทษทางสังคม ขั้นตอนนี้เท่ากับการได้ติดตั้ง “เครื่องสแกนคนชั่ว” ในทุกที่ทุกระดับของการเมือง 
ขั้นตอนที่สาม คือ การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ การฝึกอบรม โดยให้มีการจัดโครงการอบรมการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (civic education) โดยผู้ที่ต้องเข้าร่วมได้แก่ ผู้แสดงความประสงค์ที่จะลงสมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พรรคการเมือง และประชาชน
ขั้นตอนที่สี่ คือ การให้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น เพราะ ค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นน้อยเกินไปไม่สอดคล้องกับภารกิจ อีกทั้งยังเสนอการให้ลดค่าใช้จ่ายด้วยการจัดทำกฎหมายให้ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ทั้งก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างการเลือกตั้ง และขณะดำรงตำแหน่ง ห้ามบริจาคช่วยงานตามประเพณีต่างๆ เช่น งานศพ งานอุปสมบท งานมงคลสมรส ภายในเขตเลือกตั้งของตน แต่ไม่ห้ามบุคคลดังกล่าวไปร่วมงานประเพณี
เราจะเห็นได้ว่า ขั้นตอนเเรก การคัดกรองด้วยระบบคุณธรรมแห่งชาติของนักการเมืองระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่น หรือ “ใบอนุญาตคนดี” ทำหน้าที่เป็นเสมือนระบบเลือกคนขั้นเเรกก่อนจะมีการเลือกตั้งระดับชาติ และถึงต่อให้คนที่ไม่ใช่“คนดี”ตามระบบคุณธรรมแห่งชาติฯ ผ่านขั้นตอนนี้และเข้ามาทำงานได้ ก็จะต้องผ่าน ขั้นตอนที่สอง การควบคุมการตรวจสอบจริยธรรมด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ“เครื่องสแกนคนชั่ว” ที่ได้ถูกติดตั้งไว้ทั่วทุกระดับและทุกแห่งของระบบการเมืองก็จะทำหน้าที่คัดคนที่ไม่พึงประสงค์ตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ออกอีกรอบหนึ่ง ส่วนขั้นตอนที่สาม การฝึกอบรมก็เป็นการเตรียมสร้างนักการเมืองรุ่นใหม่ ขัดเกลาเปลี่ยนแปลงนักการเมืองรุ่นเดิม ให้เป็นนักการเมืองที่เป็นคนดีมีคุณธรรม จริยธรรม ตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ และขั้นตอนที่สี่ คือ การอำนวยให้นักการเมืองทำงานได้โดยมีค่าใช้จ่ายน้อยลง จากสมมุติฐานที่ว่า “ภาษีสังคม” เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและเป็นเหตุที่ทำให้นักการเมืองทุจริตคอรัปชั่น 
2.ฐานคิดสปท.ปัญหาการเลือกตั้งไทย “เงินไม่มา กาไม่เป็น โกงเลือกตั้งเท่ากับประหาร” 
คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ได้เสนอ รายงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่อง การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม เห็นว่า ปัญหาของการเลือกตั้ง คือ ระบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ ประชาชนไม่สำนึกในหน้าที่พลเมือง ขาดความตื่นตัวทางการเมือง อีกทั้ง ประชาชนยากจนและเหลื่อมล้ำทำให้เกิดการซื้อสิทธิขายเสียง ดังที่กล่าวในรายงานฉบับนี้ว่า “เงินไม่มา กาไม่เป็น” และได้เสนอเป้าหมายให้สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการกระทำอันเป็นการทุจริตการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม การเมืองไทยที่เป็นการเมืองที่ใสสะอาด และทำให้ได้คนดี คนเก่ง และมีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศต่อไป โดยมีวิธีการปฏิรูป 10 วิธีด้วยกัน ได้แก่
1) ปฏิรูปการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทางการเมืองและการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม
2) ปฏิรูปการป้องกันการทุจริตการเลือกตั้งและการซื้อสิทธิขายเสียง เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม
3) ปฏิรูปการป้องกันธุรกิจการเมืองและนายทุนพรรคการเมือง เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริต  
4) ปฏิรูปการตรวจสอบและพัฒนานักการเมือง เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม
5) ปฏิรูปการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม
6) ปฏิรูปการกำหนดมาตรการลงโทษ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม
7) ปฏิรูปการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการจัดตั้งศาลการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม 
8) ปฏิรูปการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม
9) ปฏิรูปการเข้าสู่ตำเเหน่งของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และฝ่ายปกครองท้องที่ ตามลักษณะปกครองท้องที่ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม 
10) ปฏิรูปการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม
โดยรวมแล้ว วิธีการปฏิรูปทั้ง 10 ข้อนี้ อาจเเบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ มาตรการป้องกัน ปราบปราม และลงโทษ และ มาตรการสนับสนุนช่วยเหลือ  
มาตการป้องกัน ปราบปราม และลงโทษ
“หน่วยรบจัดการการทุจริตการเลือกตั้ง"
1) ให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปฏิบัติการเชิงรุก
    ๐ จัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วในพื้นที่ และทำบัญชีโครงสร้างบุคคลที่ทุจริตการเลือกตั้งและซื้อเสียง
    ๐ เพิ่มอำนาจกกต. และ เจ้าหน้าที่สืบสวนของ กกต. ให้มีสถานะ เจ้าพนักงานและพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
2) ให้รางวัล 100,000 บาทผู้เเจ้งความคดีการเลือกตั้งและให้มีกฎหมายคุ้มครองพยานคดีเลือกตั้ง
“ตัดสิทธิตลอดชีวิต จำคุกไม่เกิน 20 ปี โทษปรับ 20 ล้าน อายุความ 20 ปี”
3) มาตรการลงโทษพรรคการเมือง 
    ๐ ถ้าหัวหน้าพรรคการเมือง รู้ถึงเหตุการณ์ทำผิด แต่เพิกเฉย ให้ถือว่ารู้เห็นเป็นใจ มีโทษ ตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ตลอดชีวิต
    ๐ ผู้ซื้อสิทธิ ขายเสียง มีโทษ ตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และกำหนดให้มีมาตรการลงโทษทางอาญา จำคุก 1 ถึง 20 ปี ไม่ให้มีการรอการลงโทษ โทษปรับ 20 ล้าน อายุความ 20 ปี
4) กฎหมายกันการกลั้นแกล้ง หากเป็นการกลั่นแกล้ง สร้างหลักฐานหรือเเจ้งความเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี โดยไม่มีการรอลงโทษ และโทษปรับจำนวน 20 ล้าน
5) มาตราการลงโทษข้าราชการ ที่วางตัวไม่เป็นกลาง
6) ให้ผู้กระทำชดใช้หรือร่วมกันชดใช้ค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายจากการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ และการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้ง
7) มาตรการลงโทษนักธุรกิจทางการเมือง นายทุนพรรค ห้ามลงทุน นำเงิน บริจาคเกินกฎหมายกำหนด มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 20 ล้าน
“กระบวนการยุติธรรมการเลือกตั้ง”
8) ให้จัดตั้งศาลการเลือกตั้ง
    ๐ ถ้าดำเนินคดีแล้วผิดให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต
    ๐ ให้พนักงานสอบสวนในพื้นที่รับผิดชอบคดี ส่งพยานภายใน 1 วัน ดำเนินคดี ภายใน 30 วัน
    ๐ กกต. สามารถยื่นฟ้องศาลแพ่ง และอาญาเองได้
มาตรการสนับสนุนช่วยเหลือ
“การเลือกตั้ง 0.4”
9) เพิ่มการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ เช่น เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์บันทึกภาพ ตรวจสอบชื่อทางอินเทอร์เน็ต 
10) การมีส่วนร่วมของประชาชน ในคดีที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้ประชาชนที่เป็นผู้เสียหายด้วยร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อ กกต. และสามารถใช้ข้อมูลจากการบันทึกเสียงและภาพ เพื่อเป็นพยานหลักฐานได้     
    ๐ ขยายเวลาการเลือกตั้ง เป็น 8.00น-18.00น
    ๐ การจัดตั้งกลุ่มบุคคล สนับสนุนการทำงานของ กกต. อาจได้รับเงินสนับสนุนจากเอกชนได้
    ๐ ให้นิสิตนักศึกษาทุกสถาบันมีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทุกระดับ
เราจะเห็นได้ว่าวิธีการฏิรูปกว่า 80% คือการใช้มาตรการป้องกัน ปรามปราม และลงโทษ ที่รุนเเรง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง การเพิ่มบทลงโทษจากการทำผิดกฏหมายการเลือกตั้ง และการจัดตั้งศาลการเลือกตั้ง ขณะที่อีก 20% เป็นมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือ ทั้งการใช้นวัตกรรมเเละเทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมประชาชน เช่น ให้ภาคประชาชน นิสิตนักศึกษา และอาสาสมัคร เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี ภาพรวม ที่เน้นการจัดการที่เข้มงวดและบทลงโทษที่รุนแรงเช่นนี้จะแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ?  เเน่นอนว่า ความกลัวบทลงโทษย่อมทำให้คนไม่กล้าทำผิด แต่บทลงโทษที่รุนแรงเกินไปแสดงให้เห็นว่าสังคมเราไม่ให้โอกาสคนที่ทำผิด และบทลงโทษที่รุนแรงย่อมกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ทรงอนุภาพที่ใช้กลั่นเเกลงทำลายคู่แข่งได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่อาจเป็นปัญหาที่สุดของรายงานการปฏิรูปชิ้นนี้ คือ วิธีคิดที่อยู่เบื้องหลัง อันได้แก่ “เงินไม่มา กาไม่เป็น” ซึ่งปรากฎอยู่ในรายงานฉบับนี้ กล่าวคือ เงินคือปัจจัยสำคัญที่สุดในปัญหาการเลือกตั้ง ถ้าทำลายเงินที่ใช้ซื้อสิทธิขายเสียงไปได้ การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมย่อมเกิดขึ้น เเต่ จากงานวิจัย "การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 ศึกษาบทบาทพรรคการเมือง และพฤติกรรมและการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง" ของศูนย์ติดตามประชาธิปไตย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า “ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชน  ส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ได้แก่ พรรคการเมือง นโยบาย และความต้องการตอบสนองผลประโยชน์และความคาดหวังของตน ในขณะที่ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หัวคะแนน และการซื้อขายเสียงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยกว่าปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น” 
ฉะนั้น วิธีการปฏิรูปของสปท.อาจผิดพลาดตั้งแต่ฐานคิดแล้ว แต่วิธีแก้ไขอาจง่ายกว่าที่คิด เพียงปรับเปลี่ยนสัดส่วนวิธีการปฏิรูปจากเดิม 80% ใช้มาตรการป้องกัน ปรามปราม และลงโทษ และ 20% ใช้มาตรการสนับสนุนช่วยเหลือ เปลี่ยนใหม่เป็น 80% เป็นการใช้มาตรการสนับสนุนช่วยเหลือ และ 20% เป็นมาตรการป้องกัน ปรามปราม และลงโทษ แต่การปรับเปลี่ยนวิธีการเหล่านี้ย่อมไม่มีประโยชน์อันใดเลยถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ดังนั้น การปฏิรูปข้อแรกสุดอาจเป็น 1) ปฏิรูปการป้องกันการล้มการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เรียนรู้ และเสริมสร้างประชาธิปไตยร่วมกัน เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม
3. เสนอให้สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยไม่ใช่ไม่ดี แต่พูดยังไงก็ถูก
คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ได้เสนอรายงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่อง การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ชี้ว่า ปัญหา คือ วัฒนธรรมทางการเมืองไทยไม่เอื้อต่อวัฒนธรรมประชาธิปไตย มีทั้ง ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติและความเชื่อถือที่ผิด ปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาระบบการเมือง และปัญหาที่ไม่มีผู้ถ่ายทอดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีให้กับเยาวชนรุ่นต่อมา โดยเป้าหมายของการปฏิรูป คือ การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ เป็นการสร้างสังคมและประเทศชาติให้มีการพัฒนาไปอย่างมั่นคง เกิดความรัก และความสามัคคี ในหมู่คณะ สังคมมีความเป็นระเบียบสงบเรียบร้อย เกิดความเป็นธรรมในสังคม ประชาชนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีน้ำใจต่อกันอย่างยั่งยืน และได้เสนอ 4 แผนหลัก คือ
แผนหลักที่ 1 การให้การศึกษาเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยั่งยืน
แผนหลักที่ 2 การสร้างนักการเมืองที่ดีและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
แผนหลักที่ 3 การประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยั่งยืน
แผนหลักที่ 4 การบริหารการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยั่งยืน
แผนที่ 1 คือ สร้างโครงการอบรมประชาธิปไตยหลักสูตรต่างๆ มากมายหลายระดับให้ตั้งเเต่เด็กถึงพระ เข้ามารับการฝึกอบรมและฝึกให้เป็นวิทยากรเพื่อเผยเเพร่วัฒนธรรมประชาธิปไตย แผนที่ 2 เป็นรายละเอียดโครงการอบรมและออกใบอนุญาตการเป็นนักการเมืองซึ่งได้กล่าวถึงไปแล้วในรายงานของ สปท. เรื่อง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แผนที่ 3 ให้จัดตั้งคณะทำงานประชาสัมพันธ์ 1 คณะ ประกอบไปด้วยภาครัฐ เอกชนและสื่อ ในการทำแผนการประชาสัมพันธ์ เช่น การสร้างภาพยนตร์ และการทำเว็บไซด์ แผนที่ 4 มีการปฏิรูปสภาพัฒนาการเมืองให้เป็นหน่วยรับภารกิจต่อจากสปท. และตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นเพื่อปฏิบัติงานต่ออีก 3 ปี 
แผนการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่หรือแผนการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยมิใช่เรื่องอะไรใหม่ แผนการเหล่านี้เคยมี มีอยู่และเกิดขึ้นในสังคมอยู่เเล้วตลอดเวลา เช่น โครงการเสริมสร้างประชาธิปไตยและธรรมมาภิบาล(2551) เเต่เราก็ต้องเข้าใจว่าการส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่ดีในตัวเองและเป็นงานที่ไม่มีวันจบสิ้น เพียงเเต่หลายครั้งหัวข้อนี้จะถูกยกขึ้นมาพูดเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเพราะพูดถึงเมื่อไรก็ฟังดูถูกต้องไม่มีวันผิด ขอให้ลองสังเกตแผนที่ 4 ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นส่วนต่อขยายของงานและคน หลังสปท.สิ้นสุดไปแล้วอีกต่อหนึ่ง และสุดท้าย การจะสร้างเสริมวัฒธรรมประชาธิปไตยให้ได้สำเร็จส่วนที่สำคัญไม่แพ้การฝึกอบรมและเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตย คือ การทดลองปฏิบัติวัฒนธรรมเหล่านั้นจอย่างจริงจังต่อเนื่อง กล่าวคือ การได้ใช้ชีวิตและมีส่วนร่วมทางการเมืองในสังคมที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นเอง
4. สปท. มีสิทธิใดมาปฏิรูปพรรคการเมือง แถมเป็นพิมพ์เขียวเดียวแก้ทุกพรรค
คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ได้เสนอ รายงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่อง ระบบพรรคการเมือง เห็นว่าปัญหาของพรรคการเมืองคือ พรรคการเมืองเป็นของนายทุนทำให้นโยบายของพรรคการเมืองไม่สะท้อนปัญหาของประเทศ และทำให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมของพรรค กล่าวคือ โครงสร้างของพรรคไม่เป็นประชาธิปไตย โดยมีเป้าหมาย คือ การสร้างพรรคการเมืองให้เป็น “สถาบันทางการเมืองของประชาชน” และกำหนดวิธีการปฏิรูปไว้ 5 วิธี คือ
1.ปฏิรูปพรรคการเมืองโดยตระหนักว่าพรรคการเมืองคือสถาบันสำคัญที่เคียงคู่กับระบอบประชาธิปไตย จึงปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันอย่างแท้จริงและไม่ถูกครอบงำจากนายทุน วิธีการคือให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค โดยการบริจาคเงินรายละไม่เกิน 200 บาท ต่อปี
2.ปฏิรูปสมาชิกพรรคการเมือง โดยทำให้ประชาชนให้ความสำคัญในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองและเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และทำให้สมาชิกพรรคการเมืองมีบทบาทความเป็นเจ้าของพรรคการเมือง วิธีการคือ
๐ ให้สมาชิกพรรคการเมือง ผู้บริจาคให้พรรคสามารถร่วมกันเข้าชื่อ 50 คนเพื่อเสนอการพิจารณาเรื่องความบกพร่องด้านคุณธรรม จริยธรรมหรือวินัยของสมาชิกพรรคได้ และต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและพิจารณาโทษ โดยเร็ว และเปิดเผย โดยถึงขั้นสามารถขับออกจากพรรคได้ 
๐ ให้มีวิธีการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary vote)  พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งต้องมีสมาชิกพรรคจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น
3.ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารของพรรคการเมืองให้มีประสิทธิภาพและมีความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค วิธีการคือ
๐ การบริหารของพรรคการเมือง ไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครอบงำพรรค โดยให้เเยกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้บริหารออกจากกัน 
๐ เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีบทบาทและมีส่วนร่วมกำหนดการบริหาร 
๐ พรรคต้องมีการจัดตั้ง การขยายพรรค การขยายสาขาพรรค กิจกรรม การจัดประชุมรายเดือน การจัดประชุมรายปี การเสนอนโยบายของพรรคต่อประชาชนในท้องถิ่น
4.ปฏิรูปพรรคการเมืองให้มีพันธสัญญาประชาคมโดยนโยบายของพรรคการเมือง วิธีการคือให้พรรคการเมืองมุ่งเน้นนโยบาย และไม่สร้างปัญหาต่อระบบการเงินการคลัง
5.ปฏิรูปการควบคุมและตรวจสอบการดำเนินงานของพรรคการเมือง และการยุบพรรคการเมือง วิธีการคือ
๐ ให้จัดทำบัญชีพรรค และให้มีการตรวจสอบบัญชีในลักษณะบริษัทมหาชน 
๐ ห้ามมิให้ยุบพรรคการเมือง เว้นแต่พรรคการเมืองที่กระทำความผิดอันเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และทำลายความมั่นคงของชาติตามที่กฎหมายบัญญัติ
วิธีการปฏิรูปเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งขั้นต้น หรือเกณฑ์ต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนผู้มีสิทธิในเขต คล้ายกับพิมพ์เขียวแผนการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2556 ของ อลงกรณ์ พลบุตร  รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่ง ครั้งดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งล้มเหลวไปในครั้งนั้น แต่ในทางทฤษฎีแล้ว วิธีการนี้ย่อมทำให้พรรคการเมืองกลายเป็นองค์กรที่มีความเป็นมืออาชีพ เช่น พรรคการเมืองในอเมริกา แต่การยึดพิมพ์เขียวฉบับเดียวเพื่อใช้กับทุกพรรคการเมือง ซึ่งแต่ละพรรคก็มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็มีฐานเสียงที่แตกต่างกัน มีความจำเป็นเเค่ไหนกันที่พรรคการเมืองต้องมีรูปแบบเดียวกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็น “สถาบันทางการเมืองของประชาชน” 
อีกทั้ง สมาชิกสปท.ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นนักการเมืองจากการแต่งตั้งของกองทัพ มีสิทธิ หน้าที่และอำนาจแค่ไหนในการเข้ามาปรับเปลี่ยนพรรคการเมือง ดังนั้น “สถาบันทางการเมืองของประชาชน” ก็ควรที่จะเป็นหน้าที่ของสมาชิกพรรคและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้พรรคตอบสนองความต้องการของพวกเขา และหนทางพื้นฐานที่น่าจะทำให้ระบบพรรคการเมืองในไทยเเข็งเเรงมากที่สุดก็คือปล่อยให้พรรคการเมืองได้เติบโตในระบอบประชาธิปไตย โดยห้ามมิให้มีการลงโทษยุบพรรคการเมืองอีกต่อไป
สรุป
คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ได้เสนอรายงานวิธีการปฏิรูปการเมืองขึ้นหลายฉบับ ซึ่งบทความนี้ได้ยกมา 4 ฉบับด้วยกัน ได้แก่ 1) ด้านผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เสนอเเนวทางการปฏิรูป 4 เรื่อง อันได้แก่ การคัดกรอง-ควบคุม-อบรมเข้ม-ให้ค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งสาระสำคัญ คือ การออกระบบคุณธรรมแห่งชาติของนักการเมือง และมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เปรียบเสมือน “ใบอนุญาตคนดี” และ “เครื่องสแกนคนชั่ว” 2) ด้านการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม เสนอ วิธีการปฏิรูป 10 วิธี เเบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ มาตรการป้องกัน ปราบปราม และลงโทษ กับ มาตรการสนับสนุนช่วยเหลือ ซึ่ง 80% เป็นมาตรการป้องกัน ปราบปราม และลงโทษ ขณะที่ 20% เป็นมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือ แต่สิ่งที่ดูเป็นปัญหามากกว่าคือวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังอันได้แก่ “เงินไม่มา กาไม่เป็น” ซึ่งงานวิจัยล่าสุดก็พิสูจน์ว่าวิธีคิดของผู้คนได้เปลี่ยนไปแล้ว 3) ด้านการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ประกอบด้วย 4 แผนหลัก ซึ่งก็ไม่ใช่โครงการอะไรใหม่ ก็เป็นสิ่งที่สังคมเคยทำ ทำอยู่เเละต้องเดินหน้าทำต่อไปอยู่เเล้ว แต่ปัญหาของเรื่องนี้คือมักถูกฉกฉวยมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง 4) ด้านระบบพรรคการเมือง เสนอวิธีการปฏิรูปไว้ 5 วิธี ซึ่งคล้ายกับ พิมพ์เขียวแผนการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ของนายอลงกรณ์ พลบุตร ในปี 2556 แต่ พิมพ์เขียวเดียวจะเหมาะสมสำหรับทุกพรรคการเมืองรึเปล่าก็เป็นคำถามที่น่าคิดส่วนคำถามที่บทความนี้ยังไม่ได้ตอบอย่างจริงจังเสียที อันได้แก่คำถามที่ว่า “การปฏิรูปแบบไหน ที่ สปท. ยังไม่ได้ทำ” ผู้เขียนก็จนปัญญาไม่แพ้สปท. แต่ก็ขออนุญาตทิ้งท้ายด้วยประโยคสุดฮิตของไอสไตน์ที่ว่า 
“insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “มีแต่คนบ้าเท่านั้น ที่จะทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง”