เสนอแก้ พ.ร.บ.รถยนต์ หาทางออกข้อขัดแย้ง อูเบอร์ – แท็กซี่

กว่าสามปีที่บริการร่วมเดินทาง อย่าง อูเบอร์ หรือแกร็บคาร์ เข้ามาในเมืองไทย และธุรกิจนี้ก็ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ในหมู่ผู้ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ๆ ถึงขั้นทำให้ผู้ให้บริการรายเดิมในตลาด อย่าง กลุ่มแท็กซี่ กลุ่มสามล้อ ถึงกับต้องลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยกับบริการขนส่งชนิดใหม่ กลายมาเป็นประเด็นถกเถียงที่ร้อนแรงในสังคม 
กลุ่มคนขับรถแท็กซี่เดิมให้เหตุผลว่า คนขับรถแท็กซี่ “ป้ายเหลือง” เป็นผู้ให้บริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่กลุ่มคนขับอูเบอร์เป็นรถ “ป้ายดำ” หรือรถที่จดทะเบียนและเสียภาษีแบบรถยนต์ส่วนบุคคล การนำมาวิ่งเพื่อให้บริการสาธารณะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ด้านผู้ประกอบการอูเบอร์อ้างว่า อูเบอร์เป็นรูปแบบบริการแห่งอนาคต ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มือถือเครื่องเล็กๆ เชื่อมต่อผู้คนที่มียานพาหนะกับผู้คนที่ต้องการเดินทางเข้าด้วยกันได้โดยง่าย พร้อมทั้งระบบติดตาม ระบบแผนที่ ระบบคำนวณค่าโดยสาร ยุคปัจจุบันบริการแท็กซี่จึงต้องปรับตัวใหม่ได้แล้ว ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ใช้มานานแล้ว ไม่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันอีกต่อไป หากไม่มีการแก้ไขกฎหมาย สังคมก็จะก้าวกันต่อไปไม่ได้
ภาครัฐไทย ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายไม่คืบหน้า 
21 มีนาคม 2560 กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก ทหาร และตำรวจ รวมถึงกลุ่มตัวแทนแท็กซี่และอูเบอร์ ร่วมประชุมเพื่อหารือหาทางออกการให้บริการรถอูเบอร์ ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ทั้งอูเบอร์และแท็กซี่มิเตอร์ให้บริการเดินรถร่วมกันภายใต้กฎหมายของไทย โดยสมศักดิ์ พรหมม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม.แถลงว่า การประชุมวันนั้นได้ข้อสรุปให้กรมการขนส่งทางบก ศึกษาข้อกฎหมายว่าจะทำอย่างไรให้มีการกำกับดูแลอูเบอร์ ให้มีมาตรฐาน มีการคุ้มครอง และการเสียภาษี คาดว่าใช้เวลา 6 เดือน 
หลังมีกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ กับคนขับรถอูเบอร์อย่างต่อเนื่อง ระหว่างการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 23 มิถุนายน 2560 วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. ได้ตั้งกระทู้ถามต่อรัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคมเรื่อง ปัญหาการให้บริการรถยนต์ป้ายดำผ่านแอพพลิเคชั่น อูเบอร์ (Uber) ดังนี้
             1) กระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการให้บริการรถยนต์ป้ายดำผ่านแอพพลิเคชั่นให้ถูกกฎหมาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการรถยนต์สาธารณะ หรือไม่ ประการใด
             2) กระทรวงคมนาคมมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน หรือความขัดแย้งที่อาจรุนแรงและบานปลายยิ่งขึ้นระหว่างผู้ขับรถแท็กซี่กับผู้ขับรถยนต์ป้ายดำผ่านแอพพลิเคชั่น หรือไม่ ประการใด
ด้านพิชิต อัคราทิตย์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของกระทรวงคมนาคมว่า จะนำอูเบอร์ เข้ามาในระบบโดยวิธีการใด ซึ่งมีอยู่ 2 แนวทาง คือ ทำให้ถูกกฎหมาย หรือ ออกกฎหมายใหม่ ซึ่งทั้ง 2 แนวทางนี้ มีข้อดีข้อเสีย ที่จะต้องศึกษาให้รอบคอบ
อย่างไรก็ตาม นโยบายการแก้ปัญหาการให้บริการร่วมเดินทางของกรมการขนส่งทางบก ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม เท่าที่ผ่านมายังเน้นอยู่เฉพาะการเพิ่มมาตรการการควบคุมให้เข้มข้นขึ้น และการให้ความสำคัญกับแท็กซี่แทนการเปิดรับเทคโนโลยีและการบริการรูปแบบใหม่ 
กฎหมายอายุ 38 ปี ตามไม่ทันเทคโนโลยียุคใหม่
พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ที่ใช้กันอยู่นั้น ถูกร่างขึ้นมาเมื่อ 38 ปีก่อน ตั้งแต่ก่อนอินเตอร์เนตหรือสมาร์ทโฟนจะถูกสร้างขึ้นมา กฎหมายจึงยังไม่รองรับการให้บริการร่วมเดินทางซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้บนสมาร์ทโฟน เพราะสมัยที่มีการร่างกฎหมาย ยังไม่รู้จักเทคโนโลยีนี้ และการบริการแบบนี้
ในเดือนมีนาคม 2560 อูเบอร์ประเทศไทย เคยทำกิจกรรมรณรงค์ขอรายชื่อจากประชาชนให้ร่วมส่งเสียงสนับสนุนการให้บริการร่วมเดินทางผ่านทางเว็บไซต์ของอูเบอร์เอง มีคนร่วมลงนามมากกว่า 51,000 คนภายในระยะเวลาประมาณ 4 เดือน โดยกิจกรรมครั้งนี้ มุ่งสนับสนุนการให้บริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) ให้เป็นรูปแบบใหม่ของการเดินทางในชีวิตประจำวันของผู้คน 
อูเบอร์ จึงเสนอให้ปรับปรุงวิธีคิดเกี่ยวกับการออกกฎหมายใหม่ โดยเน้นไปที่การส่งเสริมให้มีการคิดนำเทคโนโลยี และบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปเข้ามาประกอบในการพิจารณาร่างกฎหมาย 
เสนอแก้กฎหมายลดกฎระเบียบคุมแท็กซี่ เพิ่มกฎระเบียบคุมรถอูเบอร์ป้ายดำ
หลักการสำคัญในการเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เป็นที่ยอมรับได้ ทั้งสำหรับกลุ่มคนขับรถแท็กซี่เดิมและคนขับรถป้ายดำใหม่ คือ การทำให้เกิดการแข่งขันกันได้อย่างเสมอภาคโดยเคารพจุดแข็งและความแตกต่างของแต่ละฝ่าย และเป็นหลักการที่ใช้ได้ผลสำหรับการเข้าไปของบริการร่วมเดินทางในหลายประเทศ
โดยหลักของการเสนอแก้ไขกฎหมาย คือ การสงวนรูปแบบบริการบางประเภทไว้ให้กับคนขับรถแท็กซี่เท่านั้น เช่น การโบกรถจากข้างถนน ห้ามรถร่วมเดินทางยอมรับคนโบกจากข้างทาง ต้องรับผ่านแอพพลิเคชั่นเท่านั้น และลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นของแท็กซี่ เพื่อลดภาระในการแข่งขันในตลาด ให้คนขับรถแท็กซี่มีภาระต่อรัฐใกล้เคียงกันกับคนขับรถรถป้ายดำ เช่น การยกเลิกการกำหนดสีรถ ยกเลิกการกำหนดป้ายบนหลังคา ยกเลิกการห้ามมีล็อกรอบรถ 
ในทางตรงกันข้าม ก็ต้องเพิ่มกฎระเบียบสำหรับคนขับรถร่วมเดินทาง อาทิเช่น เพิ่มระเบียบในการตรวจเช็คประวัติของคนขับเมื่อจดทะเบียน นำประวัติส่งให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเฉกเช่นเดียวกันกับผู้ขับแท็กซี่ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ผู้ขับรถอูเบอร์ส่วนใหญ่ยอมรับได้ เพียงแต่กฎหมายปัจจุบันยังไม่เปิดช่องให้ทำได้เท่านั้น
สำหรับบริการบางอย่างที่มาพร้อมกับบริการรถสาธารณะไม่ประจำทางนี้ เช่น การกำหนดราคา อาจต้องปรับปรุงกฎระเบียบให้เข้ากับการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม อาทิเช่น การวางกรอบหลักการในการกำหนดราคา เพื่อให้รองรับการคิดราคาที่ยืดหยุ่น ให้ราคาต้องสะท้อนความต้องการของตลาดตามช่วงเวลาที่มีคนใช้บริการด้วย หรือ กำหนดให้ระบบต้องแสดงราคาประเมินให้ผู้โดยสารยอมรับก่อนเริ่มต้นการเดินทาง
หลักการสำคัญของการแก้ไขกฎหมาย
เสรีภาพในการเดินทางเป็นหนึ่งในเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองอยู่ในทุกรัฐธรรมนูญไทย ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 38 วางหลักไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือการผังเมือง หรือเพื่อรักษาสถานภาพของครอบครัว หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์ 
ในปัจจุบันไม่มีกฎหมายกล่าวถึงสิทธิที่เกี่ยวกับการเลือกวิธีเดินทางและไม่มีระบุว่าพลเมืองของรัฐสามารถเลือกที่จะเดินวิธีการเดินทางได้อย่างอิสระอย่างที่ต้องการและภายในขอบเขตใด ในขณะที่กฎหมายและกฎระเบียบที่เกิดขึ้นในภายหลังได้จำกัดการให้บริการการเดินทาง ดัวยเหตุผลของการแข่งขันทางธุรกิจของคู่แข่งในตลาด เช่น ระหว่างรถยนต์กับรถโดยสาร รถเมล์กับรถไฟ และวิธีอื่น ๆ 
อย่างไรก็ตามเสรีภาพในการเดินทางเป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานที่ฝังรากอยู่ในบุคคลตั้งแต่เกิดและควรจะได้รับอนุญาตให้เลือกวิธีการเดินทางได้อย่างอิสระ เพราะการบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการเดินทางที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้บนสมาร์ทโฟนที่แตกต่างจากการให้บริการของแท็กซี่ที่สามารถรับผู้โดยสารข้างทางโดยไม่ต้องผ่านแอพพลิเคชั่น และมีจุดแข็งสำคัญดังต่อไปนี้ 
 
            ● ช่วยแก้ไขปัญหารถติด ทำให้คนจำนวนมากขึ้นเดินทางในจำนวนรถที่น้อยลงซึ่งส่งผลต่อการช่วยลดปัญหาการจราจร โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งขึ้นชื่อเป็นหนึ่งในเมืองที่รถติดที่สุดในโลก
            ● แอพลลิเคชั่นสามารถใช้เทคโนโลยีในการเสริมสร้างมาตรการความปลอดภัย เพื่อให้ทุกคนใช้งานให้อย่างสบายใจในทุกช่วงของการเดินทาง
                        ○ ก่อนเดินทาง: แสดงหน้าผู้โดยสาร เรตติ้งคะแนนดาว ทะเบียนรถ และสีรถ
                        ○ ระหว่างเดินทาง: ตรวจสอบการเดินทางได้ด้วยระบบจีเอส แชร์การเดินทางแบบเรียลไทม์ ได้ สร้างโปรไฟล์สำหรับครอบครัว และระบบการเตือนพาร์ทเนอร์เมื่อใช้ความเร็วมากเกินไป
                        ○ หลังเดินทาง: ผู้โดยสารสามารถให้ความเห็นและร้องเรียนเรื่องคุณภาพ และมีทีมงานที่คอยความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง
            ● การมีนโยบายสนับสนุนไม่ให้คนขับรถปฏิเสธเที่ยวการเดินทาง  ทำให้ผู้โดยสารสามารถมั่นใจในการใช้บริการมากขึ้น และการใช้ระบบให้คะแนนหลังการเดินทาง ช่วยตรวจสอบคุณภาพและความพึงพอใจในการเดินทาง            
            ● มีค่าโดยสารที่เหมาะสมกับผู้โดยสาร และผู้ให้บริการ
การร่วมพิจารณาเสนอร่างกฎหมายมารองรับบริการร่วมเดินทางเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของคนไทยและนักท่องเที่ยว โดยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะสนับสนุนให้ประชาชนเกิดทางเลือก และส่งเสริมเสรีภาพในการเดินทาง ซึ่งการแก้ไขจะเป็นไปในทิศทางใดบ้าง จะแก้ไขมาตราไหนบ้าง จะต้องเสนอออกกฎระเบียบอะไรใหม่อีกบ้าง ยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป