หลักประกันสุขภาพยุค Thailand 4.0: หรือรัฐฯหลงลืมอะไรบางอย่าง ?

มากบ้างน้อยบ้าง คงต้องรับว่า สามปีมานี้ประเทศเราอยู่ใน สถานการณ์ที่ไม่"ปกติ" มีการควบคุมอำนาจโดยคนกลุ่มหนึ่งทำให้สิทธิเสรีภาพและสภาพเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ทรงๆทรุดๆ ขณะเดียวกันแม้รัฐพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆในหลากหลายวิธี ยิ่งเฉพาะ กับปากท้องของพี่น้องประชาชน  และความขัดแย้งของคนในสังคมด้วยแล้วก็ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ทางรูปธรรมเท่าไหร่นัก
 
และกับขบวนการปฏิรูปล่าสุด “Thailand 4.0” โมเดลว่าด้วยการพัฒนาประเทศชาติให้ มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน กำลังถูกพูดและอ้างถึงบ่อยๆจากคำมั่นสัญญาของผู้นำ ที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศโดยเน้นปัจจัยเศรษฐกิจเป็นหลักเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน  
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นรัฐบาลแห่งยุคสมัยนี้  ก็มิควรหลงลืมว่า ชีวิตของมนุษย์ย่อมประกอบไปด้วยปัจจัยสี่ที่ไม่ใช่แค่เพียงปากท้องอันนับเนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วย ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหาร และยารักษาโรค ยิ่งกับข้อเท็จจริงไม่ใช่ทุกคนจะมีปัจจัยสี่ครบทั้งหมด
ในชีวิตประจำวันเราเองก็คงจะเคยเห็นคนไร้บ้าน (homeless person) แถวๆสนามหลวง หรือตามที่สาธารณะต่างๆ คนไร้สัญชาติ (stateless person) ตามแนวเขตชายแดน  หรือคนยากจนซึ่งแม้จะมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งแต่มีข้อจำกัดในด้านเศรษฐกิจกล่าวคือเงินไม่พอใช้จ่าย เช่น ชาวบ้านตามชุมชนแออัดซึ่งรายได้ต่อครัวเรือนมีจำกัดและทำให้ไม่สามารถใช้จ่ายเงินเพื่อให้นำมาซึ่งปัจจัยทั้งสี่ และสิ่งที่จะถูกตัดออกไปอย่างแรกๆก็คือ “การรักษาพยาบาล” ซึ่งบุคคลที่กล่าวมานี้อาจไม่ได้รับโอกาสที่จะมีปัจจัยครบทั้งสี่ อย่างที่ควรจะเป็นเพื่อความอยู่รอดในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
ท่ามกลางกระแสข่าวยกร่างแก้ไขกฎหมาย หลักประกันสุขภาพ ที่เริ่มแก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2559 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ เนื่องจากพบปัญหาการจัดการกองทุนเงิน 30 บาท จากคำสั่ง คสช. ที่ 11/2558 และมีคำสั่งให้ดำเนินการจ่ายเงินตามเดิมไปก่อน ตามคำสั่ง คสช.ที่ 37/2559 ประกอบกับการตั้งคณะกรรมการแก้ไข
อย่างไรก็ตามความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายดังกล่าว กลับทำให้ประชาชนออกมาคัดค้านและเรียกร้องสิทธิของพวกเขาเอง ดังที่ปรากฏตามข่าวคือ “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ" ได้บอกเหตุผลที่ค้านการแก้กฎหมายดังกล่าวนี้เนื่องจากเนื้อหาบางประการขัดต่อหลักการของการประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน กล่าวคือ สิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาล ดังเช่น  ให้ข้าราชการมีสัดส่วนมากกว่าผู้รับบริการหรือภาคประชาชนซึ่งทำให้คาดการณ์ได้ยากมากว่าการใช้จ่ายรักษาพยาบาลจะไม่เอียงหรือการเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่จะน้อยมาก หรือ การตั้งคณะกรรมการในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ไม่เป็นธรรมตั้งแต่เริ่มต้นกล่าวคือกรรมการที่มาจากภาคประชาชนถูกลดลงและเพิ่มผู้ประกอบการมากขึ้น
อีกทั้งการจัดรูปแบบทำประชาพิจารณ์ไม่เหมาะสม ประชาชนเข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงได้แต่เป็นการยากเกินไปเพราะจัดเพียงแค่ 4 จังหวัดเท่านั้น คือ สงขลา เชียงใหม่ซึ่งได้มีการ “วอร์คเอ้า” แสดงจุดยืนว่าไม่ยอมรับการจัดฟังความคิดเห็น
ขณะเดียวกันที่ขอนแก่นก็มีการต่อต้านจากประชาชนทั้งการติดป้ายคัดค้านและการยึดเวทีประชาพิจารณ์จนไม่สามารถจัดงานได้ และกรุงเทพฯซึ่งก็มีกลุ่มคนรักสุขภาพออกมาต่อต้านเช่นเดียวกันคือการจัดเวทีคู่ขนานกับการทำประชาพิจารณ์ของภาครัฐ
คงจะเห็นว่าการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพนี้ โดยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน มีเนื้อหาหลายส่วนผิดหลักการและขาดการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ในการสร้างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาเพื่อประกันสิทธิของประชาชน ที่ได้ก่อเกิดขึ้นเป็น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2544 เป็นฉบับแรก ด้วยหลักการของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพได้จัดทำขึ้นเนื่องจากต้องการรับรองสิทธิในการรักษาพยาบาลของประชาชนตามรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และมีประสิทธิภาพ ซึ่งในช่วงนั้นเป็นนโยบายของรัฐบาลต้องการลดช่องว่างระหว่างชนชั้นนับได้ว่าเป็นผลสำเร็จพอสมควรเนื่องจากประชาชนหลายคนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้สะดวกมากขึ้น
แม้ในข้อเท็จจริงปัญหาของระบบสาธารณสุขในการจัดการบริหารงบประมาณและแพทย์ที่มีงานหนักมากเกินไปซึ่งบางกรณีทำให้แพทย์ต้องทำงานติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงการบริหารจัดการงบประมาณ แต่การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่จะแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ให้เข้าถึงยากขึ้นและไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุด กล่าวคือ แม้อาจจะแก้ไขเรื่องงบประมาณไปได้บ้างแต่ปัญหา “คนล้นโรงพยาบาล” ยังคงอยู่เพียงแต่ว่าคนจะเข้าโรงพยาบาลในฐานะอื่นที่ไม่ได้ใช้สิทธิของเขาที่ควรจะได้รับตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ยังมีภาพตอกย้ำที่ประชาชนออกมาคัดค้านในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ด้วย เนื่องจากพบข้อบกพร่องอยู่หลายประการทั้งการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ขั้นตอนแรก การปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบอร์ด สปสช. ที่ให้ผู้ให้บริการเข้ามาเป็นกรรมการมากกว่าประชาชน  และการร่วมจ่าย ซึ่งผิดหลักการของบัตรทองที่จะต้องให้บริการรักษาพยาบาลฟรี และทั่วถึงอย่างเท่าเทียม
ผู้เขียนเห็นว่ารัฐบาลควรฟังเสียงของประชาชนและเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนของประชาชนได้ และควรแก้ไขการบริหารของแพทย์สภาที่ควรกำหนดกฎเกณฑ์ในการรับแพทย์เพิ่มมากขึ้นและเปิดโอกาสให้แพทย์ที่ศึกษาต่างประเทศได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหา “คนไข้ล้นโรงพยาบาล” เพื่อการบริการทางการแพทย์ที่ทั่วถึง มีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็วแก่ประชาชนมากขึ้น และในส่วนของการบริหารจัดการงบประมาณ รัฐบาลต้องตระหนักว่า การรักษาพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญ เป็นปัจจัยสี่ที่มนุษย์ทุกคนต้องมีเพื่อดำรงชีวิต และต้องให้ความสำคัญต่องบประมาณส่วนนี้ ซึ่งชีวิตมนุษย์มีคุณค่าอยู่เหนือสิ่งอื่นใดที่รัฐบาลไม่ควรเอาชีวิตกับความมั่นคงของมนุษย์ไปแลกกับอะไรบางอย่าง ที่มิอาจบ่งชี้ถึงดอกผลคุณค่า
และสุดท้ายนี้อนาคตของประเทศกับโมเดล “Thailand4.0” ก็ไม่แน่ชัดว่าจะเป็นในทิศทางใด ปากท้องเกษตรกรจะเป็นอย่างไร ประเทศไทยจะพัฒนาขึ้นหรือลงแต่สิ่งที่เห็นชัดที่สุดตอนนี้ คือรัฐฯอาจกำลังหลงลืมอะไรบางอย่างอยู่โดยเฉพาะปัจจัยสี่ที่เป็นสิ่งที่สำคัญพื้นฐานของประชาชน