P-move แถลงจุดยืนร่างพ.ร.บ.อุทยานฯ ไม่เอื้อให้ชุมชนแสดงความคิดเห็น

แถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และเครือข่ายองค์กรพันธมิตร เรื่องขอให้รัฐบาลชะลอการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ๔ ฉบับ และเปิดให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตรา 77
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีการรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ… ร่างพระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ…. ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน และร่างพระราชบัญญัติ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและเครือข่ายองค์กรพันธมิตร ได้ติดตามเนื้อหาเนื้อหาและกระบวนการยกร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยได้จัดให้มีการจัดสัมมนารับฟังเพื่อกำหนดท่าทีและจุดยืนของภาคประชาชนต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
และเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ ก่อนการจัดสัมมนา 1 วัน ได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจวังทองหลาง ได้เดินทางมายังมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและเชิญตัวแกนนำพีมูฟไปยัง สน. เพื่อหว่านล้อมให้ยกเลิกการจัดสัมมนาและการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเนื่องจากอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะและคำสั่ง คสช. ซึ่งได้ใช้เวลาในการเจรจาพูดคุยและอธิบายถึงความเป็นมาของการจัดเวทีสัมมนาดังกล่าว ว่าไม่มีเนื้อหาใดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการสัมมนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญมาตรา ๗๗ ที่ระบุให้การออกกฎหมายใดรัฐจะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและรอบด้าน ซึ่งที่ผ่านมาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้มีกระบวนการและกลไกการแก้ไขปัญหาและผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนร่วมกับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และยืนยันว่าการจัดเวทีในครั้งนี้ที่มิได้เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็นที่เกิดขึ้นในวันนี้ (วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๐) เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.วังทองหลาง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้าดำเนินการตั้งจุดสกัด เพื่อขัดขว้างไม่ให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังการสัมมนาและนำเสนอข่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา นอกจากนี้ยังมีการตรวจค้นประชาชนที่เดินทางมาเข้าร่วมเวทีดังกล่าวอย่างเข้มงวด
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและองค์กรร่วมจัดตามรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอแถลงจุดยืนและท่าทีอย่างเป็นทางการดังต่อไปนี้
๑. P-move และองค์กรร่วมจัด มีความกังวลและห่วงใย ในท่าที และการปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคง ที่สกัดกั้นมิให้สื่อมวลชน เข้าไปทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าว ในการสัมมนาครั้งนี้ ทั้งที่ได้มีการเจรจาและทำความเข้าใจถึงความเป็นมาประเด็นเนื้อหาและกระบวนการในการสัมมนาจนได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่า ไม่มีเนื้อหาและกระบวนการใดเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองและเข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือขัดต่อคำสั่ง คสช.แต่อย่างใด ดังนั้นพฤติกรรมดังกล่าวจึง เป็นการปฏิบัติที่หมิ่นเหม่ต่อการคุกคามสื่อมวลชน และปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
๒. ให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชะลอการผลักดันร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ,ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า, ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน และร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมนโยบายที่ดินแห่งชาติไว้ก่อน ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา๗๗ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ จึงทำให้ การตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณา ในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน 
p-move และองค์กรร่วมจัด เห็นว่า การเร่งรัดตรากฎหมาย โดยปราศจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างรอบด้านนอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังส่งผลให้กฎหมายที่ตราออกมาสร้างผลต่อประชาชนและชุมชนท้องถิ่นอย่างรุนแรง ยากจะเยียวยา ดังปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วจากการใช้ พ.ร.บ. จราจรและ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเดินเรือในเขตน่านน้ำไทย ฉบับที่ ๑๗ พ.ศ.๒๕๖๐ ที่สร้างผลกระทบกับชุมชนชายฝั่ง และชาวประมงพื้นบ้านอย่างกว้างขวางอยู่ในปัจจุบัน 
๓. P-moveและองค์กรร่วมจัด เห็นว่ากระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็น ต่อร่าง พ.ร.บ. อุทยานฯ พ.ร.บ.สงวนและคุมครองสัตว์ป่า ผ่านทางเว็ปไซด์ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถเอื้ออำนวยให้ชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่า ฯลฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตรากฎหมายดังกล่าวสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างทั่วถึงและรอบด้าน
๔. ขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเดินการจัดรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจากชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงให้เป็นไปตามรธน.มาตรา 77 อย่างเคร่งครัด ก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ต่อไป
ด้วยจิตสมานฉันท์และเชื่อมั่นในพลังประชาชน
รายชื่อองค์กรร่วมจัด
๑. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
๒. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
๓. สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้
๔. เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคม และการเมือง
๕. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
๖. สมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม 
๗. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
๘. กลุ่มจับการปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai)
๙. เครือข่ายสลัมสี่ภาค 
๑๐. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี 
๑๑. เครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ
๑๒. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด