รวมความเห็นคนร่าง #พรบคอม ย้ำ ไม่ให้ใช้ฟ้องหมิ่นประมาทแล้ว

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไขเมื่อปลายปี 2559 มีผลใช้บังคับแล้วเมื่อ 24 พฤษภาคม 2560 ท่ามกลางข้อกังวลและข้อวิจารณ์หลายประการ เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง คือ การนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) มาใช้ฟ้องคู่กับความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อปิดปากการวิจารณ์ หรือปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชน อันเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานตั้งแต่ก่อนการแก้ไขกฎหมาย

คณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไขหลายคน ต่างพยายามอธิบายไว้ว่า การแก้ไขมาตรา 14(1) ในครั้งนี้ ต้องการจะแก้ปัญหาเดิมๆ จึงเขียนไว้ให้ชัดเจนแล้วว่า กฎหมายมาตรานี้ไม่นำมาใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาท ขณะที่ไอลอว์เห็นว่า การเขียนลักษณะนี้อาจไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย (ดูบทวิเคราะห์โดยละเอียด คลิกที่นี่)
อย่างไรก็ดี เราได้บันทึกความคิดเห็นของคณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อประเด็นนี้เอาไว้ด้วย สำหรับการอ้างอิงการตีความมาตรา14(1) ในอนาคต หรือเพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และเมื่อมีคดีความขึ้นสู่ชั้นศาล
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ แถลงต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการพิจารณาวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2560 เนื้อหาตอนหนึ่ง ถอดความได้ว่า
กราบเรียนท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เคารพครับ ผม พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกรรมมาธิการ ในมาตรา 14(1) แล้วก็ไปถึงมาตรา 16 วรรคแรก เพื่อที่จะได้ตอบไปด้วยกัน มาตรา 14(1) เป็นบทบัญญัติซึ่งเดิมเนี่ย ไม่มีคำว่าโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง มีแต่คำว่านำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แล้วก็ไม่มีคำว่าบิดเบือนนะครับ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยปลอมแปลง อันนี้นำเข้าทำให้เกิดความเสียหาย เป็นเท็จ เกิดความเสียหายก็บัญญัติไว้อย่างนั้น เมื่อกฎหมายบัญญัติไว้อย่างนั้น ก็มีผู้ที่นำมาตรา 14(1) ไปใช้ในเรื่องของการหมิ่นประมาทครับ เป็นลักษณะของการนำเข้าข้อมูลที่มีการปลอมทั้งหมด บางส่วน แล้วก็เป็นเท็จ แล้วทำให้ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง หรือเสียหาย ซึ่งไปเข้าองค์ประกอบหมิ่นประมาท ซึ่งเข้ากฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 14(1) และประมวลกฎหมายอาญาด้วยนะครับ
เพราะฉะนั้นในมาตรา 14(1) ที่แก้ไขนั้นชัดเจนแล้วก็จบเลย ก็คือว่า อันนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และจุดมุ่งเรื่องของการทุจริตและหลอกลวง ในความหมายของเรื่องฉ้อโกง หรือเรื่องของการปลอมแปลงพวกอีเมลปลอมอะไรทั้งหลาย ซึ่งบางทีก็มีปลอมและมีถูกหลอกได้ไปในทรัพย์สิน ก็เป็นเรื่องของตรงนั้นเลย เพราะฉะนั้นใน 14(1) จึงชัดเจนว่าทั้งหมดที่อ่านแล้วเนี่ย จะไม่เข้าเรื่องหมิ่นประมาทแล้ว
เดี๋ยวจะแปลไปได้อีก เดี๋ยวก็จับมาบิดเบือน หลอกหลวงเข้าหมิ่นประมาทได้อีก ก็เลยเขียนว่า อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ตัดเลย เขาจะเอา 14(1) ไปแจ้งความกันอะไรกัน ที่วันนี้ในศาลก็มี คดีอยู่บนโรงพักก็มี ก็คงจะเอาไปว่ากันต่อไม่ได้แล้ว เป็นความผิดที่ว่า เอามาปรับกับเรื่องหมิ่นประมาทนะครับ ส่วนคำว่า บิดเบือนก็มีท่านสมาชิกท่านแปลญัตติแล้วมาดูว่าคำที่มีอยู่ในเดิมเนี่ย มีคำว่าปลอมอยู่ จริงๆ มันก็พอไปได้แล้ว เพราะบิดเบือนมันก็ปลอม แต่ก็มีพูดกันอย่างนี้ครับว่า มันเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องข้อมูลจริงๆ นี่แหละ แต่พูดไม่หมด บิดเบือน นึกออกไหมครับ บิดเบือน ไม่พูดให้มันตรงๆ ไปนะครับ เพราะฉะนั้นคำว่าบิดเบือนเป็นคำที่เพิ่มเข้ามาเพื่อจะเอามาอุดช่องว่างของคำว่าปลอม เพราะปลอมอาจจะบอกว่าต้องปลอม แต่นี่มันไม่ปลอมแต่ว่ามันพูดไม่หมดนะฮะ แล้วทำให้เกิดการเสียหายขึ้นได้ แล้วทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวงนี้ ไม่ใช่เรื่องหมิ่นประมาท
ดูวีดีโอเต็มๆ ได้ที่ เฟซบุ๊กของ VoiceTV
ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ หนึ่งในกรรมาธิการ ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้สัมภาษณ์กับสมาคมผู้สื่อข่าวเอเชีย ตะวันออกเฉียงใหม่ หรือ SEAPA เผยแพร่เมื่อ 23 ธันวาคม 2559 เนื้อหาตอนหนึ่ง ถอดความได้ว่า
คำว่าโดยทุจริตเนี่ย เอามาให้เห็นโดยชัดเจนเลยว่าไม่ใช่เรื่องหมิ่นประมาท ดังนั้นการวิจารณ์โดยสุจริตไม่เข้าข่ายมาตรา 14(1) เพราะว่าโดยทุจริตนี่คือเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์การวิจารณ์มันจึงไม่เข้า ทีนี้พอใช้คำว่า "โดยทุจริต” นำเข้าสู่คอมพิวเตอร์ก็จะได้สองอัน คือ identity fraud (iLaw-การปลอมแปลงตัวตน) และในส่วนที่เป็น phishing (iLaw-การปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์) ซึ่งพอได้อย่างนี้ปุ๊บ กรรมาธิการก็ยังเถียงอีกว่า เอ๊ะ มันยังไม่ชัดนะ เดี๋ยวจะตีความเหมือนอันเดิมหรือเปล่า ก็เลยใส่คำว่า "อันไม่ใช่การหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา" พอใส่อันนี้ก็ clear cut ว่า ไม่ใช่หมิ่นประมาทแน่นอนละ
แต่ก็มีบางกรณีที่มันจะทับกันระหว่างการหมิ่นประมาทกับ พ.ร.บ.คอมฯ อย่างเช่น เป็นภาพของนาย ก.ไก่ แล้วตัดต่อภาพหนึ่ง เปลี่ยนหน้า เปลี่ยนหัว แล้วก็ให้เห็นว่าเขาไปลักขโมยของที่ธนาคาร ถ้าไปตัดต่อภาพไปลักขโมยอย่างนี้ มันเป็นลักษณะของการนำเข้าสู่คอมพิวเตอร์ที่ปลอม แล้วก็ปลอมจนเป็นของเขาด้วยนะ นี่มันคือการปลอมตัวตน ไอ้ตัว 14(1) ในเรื่องการปลอมตัวตนเนี่ย วัตถุประสงค์ของกฎหมายตั้งแต่ปีนั้นจนปีนี้เหมือนกัน อย่างนี้ถึงจะเข้า 14(1)
อันที่สองคือ กรรมการ อ.ทวีเกียรติ (iLaw-ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ) ยกตัวอย่างว่า ก.ไก่ ข.ไข่ เป็นแฟนกัน แล้ว ข.ไข่ บอกเลิก ก.ไก่ เพราะรู้ว่าเป็นผู้ชายไม่ดี ก.ไก่ ไปโพสต์ในพันทิปว่า ตัวเองเป็นนางสาว ข.ไข่ แล้วมีข้อความว่าเหงาจัง ขายบริการ ให้ติดต่อหมายเลขนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มันมีการปลอมว่าเป็นนางสาว ข.ไข่ นี่คือวัตถุประสงค์ของ 14(1)
สิ่งที่มันเป็นมาในช่วงสิบปีที่ผ่านมาก็คือว่า พ.ร.บ. นี้ก็เอามาใช้มั่วกันมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นทนายบ้านๆ ต้องบอกว่า เขาไม่เข้าใจกันจริงๆ ผัวเมียด่ากันผ่านไลน์ก็มาใช้ ถ้า ปอท. เขาแบ่งเป็นหลายกอง มีกองหนึ่ง 14(1) เนี่ย คดีประมาณเป็นหมื่น ชาวบ้านมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาขอให้รับว่า สามีภรรยาทะเลาะกันแล้วส่งผ่านไลน์ ผิดคอนเซ็ปต์ ในตัวเนื้อกฎหมายผมมองว่ามีอยู่ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นผู้พิพากษาในคดีต่างๆ เนี่ย ถ้าเป็นในคดีด่ากันล้วนๆ ศาลยกฟ้องหมด
ถามว่าการจะฟ้องมัวต่อไปนี่มีไหม ถ้าเขียนขนาดนี้เนี่ย ศาลก็เตรียมไว้แล้ว เขาเตรียมไว้แล้วว่า คดีที่มีการฟ้องหมิ่นประมาทกับ 14(1) ไว้ด้วยกัน ศาลเตรียมไว้แล้ว หมายถึงว่าเตรียมยกฟ้องในเวอร์ชั่นใหม่ 14(1) ที่แก้ใหม่เนี่ย ผมคิดว่าชัดมากๆ พอ 14(1) ออกมา ผลคือในคดีต่างๆ ที่อยู่ในศาล หรือคดีต่างๆ ที่อยู่ในชั้นตำรวจ นั่นก็คือยกฟ้องหมด
แต่ที่พวกเรากลัวคือเขาจะดำเนินคดีได้ไหม ผมบอกว่าทำได้อยู่แล้ว แม้เขาจะไม่เขียนอย่างนี้ก็ตาม ถ้าเขาอยากจะใส่ข้อหาเขาก็ใส่ได้ ก็ถ้าคำอธิบายมันบอกชัดขนาดนี้แล้วว่าไม่ใช่ เผยแพร่ไปชัดเจน แล้วถ้าตำรวจยังกล้ารับก็ ม.157 (iLaw-ความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ) ก็คือมันชัดเจนในตัวมันเอง แต่ผมอยากให้อธิบายให้ชัดเจนว่า บิดเบือนก็คือการปลอม identity fraud นั่นเอง เข้ามาว่าเป็น ก.ไก่ ข.ไข่ มันไม่ได้เป็นเรื่องของการใส่ความ เพราะโทษของการใส่ความมันถูกตัดไปตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว
ดูบทสัมภาษณ์เต็มๆ ที่ เฟซบุ๊กของ SEAPA 
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เคยให้สัมภาษณ์กับรายการ เจาะลึกทั่วไทย สถานีโทรทัศน์ Spring News เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 เนื้อหาตอนหนึ่ง ถอดความได้ว่า
ความเห็นของรัฐบาลที่แก้ไขกฎหมายฉบับนี้ต้องการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นนะครับ ต้องการให้เกิดความชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเดียวที่เป็นประเด็นและต้องให้มีการแก้ไขก็คือเรื่องความผิดเกี่ยวกับเรื่องหมิ่นประมาท การนำกฎหมายคอมพิวเตอร์ไปร้องทุกข์ ไปฟ้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีในเรื่องเกี่ยวกับหมิ่นประมาท แล้วเรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นยอมความไม่ได้ แล้วเรื่องหมิ่นประมาทอยู่ในกฎหมายอาญา ซึ่งมีหลักโดยทั่วไปอยู่แล้ว ฉะนั้นพอแก้ไขแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะทำให้หมดประเด็นเหล่านี้ไป อันนี้ผมคิดว่าเป็นความต้องการของรัฐบาลที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้
เราก็บัญญัติไว้ให้ชัดเจนเลยว่า "อันไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา อันนี้ตัดไปเลย เว้นแต่กรณีไปตัดต่อภาพ ไปทำให้เขาถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันนี้โอเค แต่ก็เป็นเรื่องยอมความได้ เป็นกฎหมายอาญานั่นเอง แต่ใช้คอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องมือกระทำ ก็ชัดเจนนะครับ
ดูบทสัมภาษณ์เต็มๆ ที่ ยูทูปของ Spring News
งานสัมมนารับฟังความคิดเห็น ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่อาคารรัฐสภา ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 มีกรรมาธิการหลายคนมาอธิบายการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้
ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ หนึ่งในกรรมาธิการ ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อธิบายเนื้อหาตอนหนึ่ง ถอดความได้ว่า
อย่างงี้ครับ 14(1) ในส่วนที่คณะกรรมาธิการดูแลเป็นส่วนที่บอกต่อสาธารณะได้เลยว่า หลังจากที่แก้ 14(1) ไม่ใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาทครับ เดิมร่างของ ETDA (iLaw-สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) ใช้กับเรื่อง phishing เป็นเรื่องการหลอกลวงทรัพย์สินในเรื่องการปลอมเว็บไซต์ แต่อีกอันที่คุ้มครองคือการปลอมตัวตนบนโลกอินเทอร์เน็ต อย่างเช่น ปลอมเป็นศิลปินดารา อย่างเช่น ที่ผ่านมา ปลอมเป็นเว็บข่าวไทยรัฐ เดลินิวส์อะไรต่างๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับหมิ่นประมาทเดิม
เราเขียนในมาตรา 14(1) มีลงท้ายด้วยว่า ซึ่งไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาท แล้วสุดท้ายมาลงว่าโดยทุจริตหรือหลอกลวง เพราะฉะนั้น 14(1) จากนี้ไปหมิ่นประมาทจะไม่ใช่แล้ว ถ้าท่านมาแจ้งความเรื่องหมิ่นประมาทตาม 14(1) ก็จะไม่เข้า ให้ผมไปเป็นพยานว่ามันไม่เข้าก็ได้นะครับ จะได้จบเรื่อง จริงๆ แล้วก็โดยหลักของ 14(1) ที่แก้ มันใช้กับเรื่องปลอมเว็บไซต์ กับเรื่องที่คุณปลอมตัวตนว่าคุณเป็นนาย ก.ไก่ ข.ไข่ เท่านั้นเอง ที่เหลือไปว่าตามกฎหมายที่มันมีอยู่เลย งั้นชัดเจนนะครับ ไม่มีปัญหาเรื่องการตีความแน่นอน ไม่ใช่เรื่องหมิ่นประมาทครับ …ขีดเส้นใต้ห้าร้อยเส้น ไม่ใช่หมิ่นประมาทจากนี้ไป ทันทีที่กฎหมายนี้ออกไปนะครับ
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ อธิบายเนื้อหาตอนหนึ่ง ถอดความได้ว่า
ถ้าดูของเดิม มันกว้างมากเลย เพราะไม่มีคำว่าโดยทุจริตหรือหลอกลวง ไม่มีคำนี้ ก็คือว่า นำเข้าสู่ระบบแล้วทำให้เกิดความเสียหาย เอาหมดเลย แล้วเราก็เอาอันนี้ไปใช้ในเรื่องของการหมิ่นประมาท แล้วอันนี้ก็ตอบชัดเจนแล้วว่า หมิ่นประมาทไม่เข้า แล้ว ผู้พิพากษาเองท่านก็มาอยู่ในที่ประชุม ท่านก็มาให้ความเห็นเองเลยว่า อันนี้ยกฟ้องหมด ถ้าเป็นหมิ่นประมาทที่อยู่ใน 14(1) แต่ถ้ามันเป็นเรื่องหมิ่นประมาทแล้วมันไปเข้ากฎหมายหลายบท ไปหมิ่นกฎหมายอาญาก็ว่ากันไป ยึดหลักกฎหมายตรงนั้น แต่ที่มันต่างจากเมื่อก่อนก็คือ 14(1) มันเป็นเรื่องยอมความไม่ได้ แต่เรื่องหมิ่นประมาทมันยอมความได้ ในกรณีไปฟ้องศาลเองก็นั่นแหละ ทุกอย่างมันก็ยอมความได้หมด แต่ในกรณีมาฟ้องศาลเอง มันไม่สามารถจะยอมความได้ …ตรงนี้เลยออกมาให้ชัดเจนว่า มีว่าโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง
เรามาคุยกันในห้องนี้ ความเห็นผมจะเป็นที่สุดเลยมันเป็นไปไม่ได้ …แต่เมื่อกี้ที่บอกว่าสับสน ผมก็บอกตรงนี้เลยว่า เขาจะเอา 14(1) ไปใช้กับเรื่องหมิ่นประมาทไม่ได้ จุดประสงค์ของ 14(1) มันเกี่ยวข้องกับการปลอม การหลอกลวงนะครับ เกี่ยวกับเรื่องฉ้อโกง เกี่ยวกับเรื่องที่ท่านอาจารย์ไพบูลย์พูดว่าเกี่ยวกับการปลอมเว็บ เกี่ยวกับการปลอมตัวตนทั้งหลาย ใช้คำว่าทุจริตหรือว่าไปหลอกลวงเขาตามความหมายที่กล่าวไปในสักครู่นี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการหมิ่นประมาท หมิ่นประมาทเป็นเรื่องที่จะไปอยู่ในอีกมาตราหนึ่งคือมาตรา 16