ร่างประกาศใหม่กระทรวงดีอี: ผู้ให้บริการเตรียมมาตรการแจ้งเตือน ไม่ต้องรับโทษฐานร่วมมือกระทำผิด

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยแพร่ร่างกฎหมายลำดับรองตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ 2560 ทั้งหมดห้าฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ประกาศ เรื่อง "ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ 2560" โดยประกาศฉบับนี้ออกตามอำนาจมาตรา 4 ประกอบกับมาตรา 15 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่
กำหนดนิยาม "ผู้ให้บริการ" และ "ผู้ใช้บริการ"
สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือมีการแบ่งประเภทและขอบข่ายความรับผิดชอบต่อข้อมูลชัดเจนขึ้น โดยนิยามของคำว่า "ผู้ให้บริการ" คือผู้ให้บริการคนอื่นในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันได้โดยผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งในนามของตนเอง และบุคคลอื่น และผู้ให้บริการยังหมายถึงผู้เก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น ส่วนนิยามของ "ผู้ใช้บริการ" คือ คนใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเสียเงินหรือไม่ก็ตาม 
แบ่งประเภทผู้ให้บริการ 4 ประเภท กำหนดเงื่อนไข ทำยังไงจึงไม่ต้องรับผิด
ร่างประกาศฯ ข้อ 4 แบ่งผู้ให้บริการออกเป็น 4 ประเภท โดยกำหนดว่าหากผู้บริการประเภทต่างๆ พิสูจน์ว่าได้ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้แล้ว ผู้ให้บริการนั้นจะไม่ต้องรับโทษฐานร่วมมือ ให้ความยินยอม กับการเผยแพร่เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย อันเป็นความผิดตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยประกาศแบ่งประเภทผู้ให้บริการและการไม่ต้องรับผิดดังนี้ 
1. ผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลาง (Intermediary) ได้แก่ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ผู้ให้บริการมือถือ (MO)
ผู้ให้บริการประเภทนี้ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานร่วมมือ หรือให้ความยินยอม หาก 1) แค่เป็นคนส่งผ่านข้อมูลคอมพิวเตอร์ 2) ในการรับส่งข้อมูลนั้นทำโดยการประมวลผลทางเทคนิคของระบบคอมพิวเตอร์ไม่เกี่ยวกับผู้ให้บริการ 3) การรับส่งข้อมูลนั้นเป็นการรับส่งผ่านระบบตอบรับคำสั่งอัตโนมัติโดยทางคอมพิวเตอร์ 4) ผู้ให้บริการมีหน้าที่ในการรับส่งข้อมูลเท่านั้น ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ 5) ผู้ให้บริการไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขข้อมูลที่ส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ของตัวเอง
2. ผู้ให้บริการที่เก็บหรือพักข้อมูลคอมพิวเตอร์ชั่วคราว (system caching) เช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วไป หรือ OSP (online service provider) 
ผู้ให้บริการประเภทนี้ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานร่วมมือ หรือให้ความยินยอม หาก 1) ทำหน้าที่แค่รับส่งข้อมูลเท่านั้น 2) เป็นการให้บริการส่งผ่านข้อมูลระหว่างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ด้วยกันเพื่อให้สามารถพักเก็บข้อมูลได้ 3) เป็นการจัดเก็บข้อมูลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยผู้ให้บริการไม่ได้แก้ไขเนื้อหาข้อมูล และผู้ให้บริการไม่สามารถเข้าไปแก้ไขเนื้อหาข้อมูลดังกล่าวได้
3. ผู้ให้บริการซึ่งเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือเครือข่ายในระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งผู้ใช้บริการดำเนินการบริการจัดการข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเอง (Information Residing on System or network at direction of users) เช่น ผู้ให้บริการในการจัดเก็บข้อมูล computer clouding data center เช่น Dropbox, google drive, iCloud
ผู้ให้บริการประเภทนี้ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฐานฯ ร่วมมือ หรือให้ความยินยอม หาก 1) ผู้ให้บริการไม่มีเจตนาและส่วนเกี่ยวข้องในการจัดเก็บข้อมูล 2) ผู้ให้บริการไม่ได้ค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์จากกระทำผิด 3) เมื่อมีการแจ้งถึงการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ผู้ให้บริการต้องทำการระงับ การเผยแพร่ข้อมูลนั้นโดยทันที แต่ต้องไม่เกิน 3 วัน 
4. ผู้ให้บริการทางเทคนิคเพื่อเป็นที่ตั้งหรือที่พักของแหล่งข้อมูล (Information Location Tools) เช่น เว็บไซต์ต่าง ๆ หรือสื่อประเภท social media
ผู้ให้บริการประเภทนี้ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานร่วมมือ หรือให้ความยินยอม หาก 1) ผู้ให้บริการต้องไม่มีการเชื่อมต่อไปยังข้อมูลที่ผิดกฎหมายด้วยตนเอง 2) ผู้ให้บริการไม่มีเจตนาและไม่รู้ถึงการกระทำที่ผิดกฎหมายนั้นๆ 3)ผู้ให้บริการไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์จากการกระทำผิด 4) เมื่อได้รับแจ้งถึงข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ผู้ให้บริการต้องดำเนินการระงับและเผยแพร่ข้อมูลนั้นทันที แต่ต้องไม่เกิน 3 วัน 
ผู้ให้บริการเตรียมมาตรการแจ้งเตือน ไม่ต้องรับโทษฐานร่วมมือกระทำผิด
ในข้อ 5 ถ้าผู้ให้บริการทุกประเภท ที่พิสูจน์ได้ว่า ได้จัดเตรียมมาตรการ เพื่อแจ้งเตือน หรือระงับการเผยแพร่หรือนำข้อมูลนั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยการเตรียมจัดมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย
1. ขั้นตอนในการแจ้งเตือน
ผู้ให้บริการต้องจัดทำแบบฟอร์มข้อร้องเรียน เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถกรอกแบบฟอร์มเพื่อแจ้งระงับข้อมูลหรือลบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย โดยแบบฟอร์มดังกล่าวต้องมีรายละเอียดดังนี้ 
        – ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และลายมือชื่อของผู้ร้องเรียน หรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องเรียน
– รายละเอียดของข้อมูลของการกระทำผิดตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 
– ที่อยู่ที่ติดต่อได้ของผู้ให้บริการ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล
– รายละเอียดความเสียหายที่เกิดกับผู้ใช้บริการหรือบุคคลภายนอก
– คำรับรองว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นความจริง
ถ้าผู้ใช้บริการพบว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้ดำเนินการลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน พร้อมกับยื่นเอกสาร และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง และให้กรอกแบบฟอร์มร้องเรียนไปยังผู้ให้บริการเพื่อให้ผู้ให้บริการดำเนินการลบต่อไป 
เมื่อผู้ให้บริการได้รับข้อร้องเรียนตามแบบฟอร์มแล้วให้ดำเนินการลบหรือแก้ไขเปลี่ยนข้อมูลในทันที รวมทั้งต้องระงับการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ต้องไม่เกิน 3 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับข้อร้องเรียน พร้อมทั้งทำสำเนาข้อร้องเรียนส่งกลับไปยังผู้ใช้บริการที่ถูกร้องเรียนโดยทันที
ข้อสังเกตจากประกาศฉบับนี้
จากประกาศฉบับนี้มีข้อน่าสังเกต 3 ประเด็น คือ 
1. การแบ่งประเภทผู้ให้บริการเป็นแต่ละประเภท และขอบข่ายความรับผิดชอบนั้นมีความชัดเจนขึ้น แต่การแบ่งประเภทนั้นยังคงมีความสับสนในนิยามสากลกับนิยามของร่างประกาศฉบับนี้ เช่น ผู้ให้บริการประเภท open service provider (OSP) นั้นโดยทั่วไปหมายถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่หมายรวมถึง ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) แต่ในการจัดแบ่งประเภทของประกาศฉบับนี้ ได้แยกผู้ให้บริการประเภท OSP มาอยู่ในผู้ให้บริการประเภทที่ 2 ดังนั้นเมื่อเกิดการบังคับใช้กฎหมายแล้วอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ 
2. การให้ผู้ใช้บริการทุกคนสามารถแจ้งข้อร้องเรียนไปยังผู้ให้บริการได้นั้น เป็นเหมือนการมอบอำนาจให้กับคนทั่วไปในการตัดสินว่า ข้อความหรือการกระทำใดผิดมาตรา 14 แต่ในขณะเดียวกันมาตรา 14 ก็ยังใช้ถ้อยคำที่กว้าง และไม่ชัดเจนในตัวเอง เช่น "ความปลอดภัยสาธารณะ" "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ" เป็นต้น การให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนมีสิทธิแจ้งให้ลบข้อความได้ และประกาศฉบับนี้ก็ไม่ให้อำนาจหรือดุลพินิจแก่ผู้ให้บริการที่จะชั่งน้ำหนักและตัดสินใจเองว่าจะระงับหรือเผยแพร่ข้อความนั้นๆ หรือไม่ เพียงแค่บอกไว้ว่า ถ้าได้รับข้อร้องเรียนผู้ให้บริการต้องดำเนินการระงับและเผยแพร่โดยทันทีหรือไม่เกิน 3 วัน ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดฐานร่วมมือ และให้ความยินยอมตามมาตรา 15 นอกจากนี้ยังไม่เปิดช่องให้ผู้ถูกร้องเรียนได้โต้แย้งต่อข้อร้องเรียนดังกล่าวด้วย การเขียนหลักเกฑณ์ลักษณะนี้ จึงอาจจะเปิดช่องให้กลั่นแกล้งกันเพื่อกำจัดเนื้อหาของคนที่คิดเห็นต่างกัน หรือกำจัดคู่แข่งทางการค้าก็ได้
3. ร่างประกาศฉบับนี้ระบุให้ผู้ให้บริการจัดทำแบบฟอร์มข้อร้องเรียน แต่ผู้ให้บริการบางประเภท เช่น แอดมินเพจเฟซบุ๊กต่างๆ จะวางแบบฟอร์มนี้ไว้ที่ช่องทางใด ที่จะเหมาะสมและสะดวกสำหรับผู้ใช้บริการ เพราะฟังก์ชันของเฟซบุ๊คนั้นไม่ได้ออกแบบมาให้มีระบบร้องเรียนเช่นเดียวกับแบบฟอร์มตามร่างประกาศฉบับนี้ โดยตรง และผู้ใช้งานเฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียวอื่นก็มีวัฒนธรรมการสื่อสารกับแอดมินเพจต่างๆ อยู่แล้ว ถ้ายึดตามหลักเกณฑ์ของร่างประกาศฉบับนี้อย่างเข้มงวด การสื่อสารผ่านกล่องข้อความหรือช่องทางอื่นๆ โดยไม่กรอกแบบฟอร์มให้ถูกต้อง อาจจะไม่ใช่การแจ้งให้ลบข้อความที่มีผลตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับนี้รวมถึงประกาศอีก 4 ฉบับยังต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะประกาศบังคับใช้ต่อไป ซึ่งเดิมกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 แต่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้แจ้งเลื่อนกำหนดการรับฟังความคิดเห็นออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องด้วยเหตุขัดข้องบางประการ และทางกระทรวงจะประกาศวัน เวลา และสถานที่ในการรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งเมื่อได้กำหนดการที่แน่นอน