รู้จัก ป.ย.ป. ทำหน้าที่ปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ และปรองดอง

มกราคม 2560 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 ประกาศคำสั่งคสช. 3/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปี 2560 จะเป็นปีของการปฏิรูปการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติใน 20 ปีและการสร้างความปรองดองต้องนำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยหลักการสำคัญ คือคณะกรรมการชุดนี้จะต้องคัดกรองวาระการปฏิรูป
คำสั่งคสช.ที่ 3/2560 มีสาระสำคัญคือ การตั้ง “คณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง” โดยมีชื่อย่อว่า “ป.ย.ป.” ซึ่งจะทำหน้าที่นำข้อเสนอจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) (ดู การทำงานของสปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ มาพิจารณาอย่างเป็นระบบ กลั่นกรอง จัดลำดับความสำคัญและความเป็นไปได้ แล้วเริ่มดำเนินการก่อนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะประกาศใช้ 
คสช. กําหนดกลไก ป.ย.ป. ให้รัฐบาลสามารถบูรณาการการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ แผนต่างๆ ของชาติได้
คณะกรรมการ ป.ย.ป. ครม.ย่อย ขับเคลื่อนประเทศ
จากที่กล่าวไปก่อนหน้าว่า คำสั่งคสช.ที่ 3/2560 กำหนดให้มีคณะกรรมการ ป.ย.ป. ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นกรรมการ
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.)
หากมีเรื่องการพิจารณาเกี่ยวกับหน่วยงานใด นายกรัฐมนตรีอาจเชิญให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลการบริหารของหน่วยงานนั้น หรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการเฉพาะวาระนั้น และให้นายกแต่งตั้งเลขานุการ ป.ย.ป. ขึ้นคนหนึ่ง
นอกจากนี้ยังกำหนดให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าประชุมด้วยในฐานะผู้ให้ข้อมูลด้านการบริหาร กฎหมาย แผนพัฒนา บุคลากร ระบบราชการ และงบประมาณ
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 การประชุม ป.ย.ป. ครั้งแรก สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ ป.ย.ป. กล่าวว่า การประชุม ป.ย.ป.ครั้งนี้เป็นไปเพื่อจัดลำดับความสำคัญการปฏิรูป แก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยหลังจากนำวาระการปฏิรูปของ สปท.และนายกฯ มากลั่นกรองแล้ว เบื้องต้นจะมี 27 วาระสำคัญ ได้แก่
1) กลไกภาครัฐ 9 วาระ ประกอบด้วย ปฏิรูปงบประมาณ/การคลัง การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ปฏิรูปกระจายอำนาจ การบริหารรัฐที่ต้องเปิดเผยข้อมูล การควบคุมและการตรวจสอบอำนาจรัฐ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ศาลป้องปรามการทุจริตและวิธีพิจารณาคดีป้องปรามการทุจริตการคุ้มครองติดตามทรัพย์สินของแผ่นดินจากการทุจริต
2) การปฏิรูปคน ที่ว่าด้วยการปฏิรูปกฎหมายการศึกษา แรงงาน หลักประกันสุขภาพ และผู้สูงอายุ
3) เครื่องมือพัฒนาฐานราก อาทิ เกษตรพันธสัญญา ประกันภัยการเกษตร การเงินรากฐาน/สหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารที่ดิน
4) เศรษฐกิจอนาคตอย่างเศรษฐกิจดิจิทัล(สื่อ) และโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ทรัพยากรป่าไม้ น้ำ/แหล่งน้ำ ชุมชม ผังเมือง พลังงานทดแทนการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ เป็นต้น
สี่คณะกรรมการป.ย.ป.ย่อย นายกฯ ประธานทุกคณะ
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของ ป.ย.ป. คือ มีการตั้งคณะกรรมการย่อยเพื่อกลั่นกรองเรื่องต่างๆ ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ 2) คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3) คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และ 4) คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทุกคณะ รวมทั้งมีคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ประจำคณะกรรมการต่างๆ สำหรับ คณะกรรมการและที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละคณะ นายกรัฐมนตรีจะเป็นคนกำหนดจำนวนและรายชื่อเอง และประธานสนช. ประธานสปท. และรองประธานสนช. และรองประธานสปท.หนึ่งคน ตามที่ประธานสภามอบหมายให้เป็นกรรมการโดยตําแหน่งในคณะกรรมการตาม 2) 3) และ 4) เท่านั้น
คณะกรรมการย่อยมีหน้าที่และอํานาจกลั่นกรอง ตรวจสอบ กําหนด เสนอแนะ จัดลําดับความสําคัญ พิจารณาความเป็นไปได้ และติดตามการดําเนินการด้านการบริหารราชการแผ่นดินการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ หรือการสร้างความสามัคคีปรองดองในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่นายกรัฐมนตรีกําหนด เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ก่อนส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ป.ย.ป.
1)  คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องโครงการ หรือแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ในเชิงยุทธศาสตร์และในลักษณะบูรณาการเพื่อการขับเคลื่อนที่รวดเร็ว โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน มี วิษณุ เครืองาม และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน และมี ผู้อํานวยการสํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU) ซึ่งแต่งตั้งตามคำสั่งนี้ เป็นเลขานุการ
2)  คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ มีหน้าที่เตรียมการเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศในด้านหรือประเด็นต่าง ๆ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน มี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร และพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นรองประธาน และมี สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเลขานุการ คณะกรรมการชุดนี้ ทำหน้าที่พิจารณาแผนปฏิรูปและข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป 137 เรื่อง กับ 11 ด้านการปฏิรูปของ สปท.
3) คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ มีหน้าที่เตรียมการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน และมีเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการสำนักเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการ ทำหน้าที่ดูแลยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี  
4) คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีหน้าที่เตรียมการเกี่ยวกับการสร้างความสามัคคีปรองดอง สำหรับรายชื่อคณะกรรมการชุดนี้ มีจำนวนกรรมการอย่างน้อย 33 คน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธาน ทั้งนี้ บีบีซีไทย รายงานว่า รายชื่อคณะกรรมการฯ เกือบทั้งหมด หากไม่ใช่คนในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เป็นข้าราชการเมืองหรือข้าราชการประจำ โดยมีบุคคลภายนอกที่ไม่เคยเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เพียงคนเดียว คือ "นายสุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์" ตัวแทนภาคเอกชนจากเครือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล โดยมีปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นเลขานุการ
23 กุมภาพันธ์ 2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการแต่ละคณะภายใต้ ป.ย.ป. จำนวน 39 คน

คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่
1.กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส
2.ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ
3.รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตปลัดกระทรวงการคลัง
4.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
5.สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม
6.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ได้แก่
1.คุรุจิต นาครทรรพ กรรมการและประธานกรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
2.จเด็จ อินสว่าง อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
3.ไชยา ยิ้มวิไล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม)
4.เตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย
5.เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
6.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
7.บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
8.เบญจวรรณ สร่างนิทร สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)
9.ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น
10.ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสมาชิกสปท.
11.ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ อดีตสปช. อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
12.มิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ ผู้ตรวจราชการพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี
13.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
14.พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้แก่
1.นพ.กำจร ตติยกวี อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
2.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
3.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.)
4.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)
5.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
6.นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
7.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8.ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
9.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
10.พงศ์โพยม วาศภูติ อดีตสปช.และอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย
11.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD)
13.สมคิด เลิศไพทูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
14.สมชัย ฤชุพันธุ์ อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
15.นพ.อาวุธ ศรีศุกรี ผู้รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
16.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้แก่
1.ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
2.อัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
3.พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.)
ตั้งสำนักงาน ป.ย.ป. ทำหน้าที่ธุรการสนับสนุน
นอกจากนี้คำสั่งคสช. 3/2560 ยังกำหนดให้จัดตั้ง “สํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี” ขึ้นเป็นหน่วยงานภายในสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ ประเมินผล กําหนดตัวชี้วัด และติดตามความก้าวหน้าในการดําเนินการตามมติของ ป.ย.ป. และคณะกรรมการชุดต่างๆ หรือตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาการและธุรการให้ ป.ย.ป.
โดยให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง “ผู้อํานวยการสํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี” ขึ้นตรงต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และประสานกับเลขานุการ ป.ย.ป. ในการขับเคลื่อนงานต่าง ๆ และให้สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดให้สํานักงานดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ งบประมาณสถานที่ทํางาน อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทํางานและสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามที่ ป.ย.ป.กําหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง และสามารถรับโอนทรัพย์สินของสํานักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สํานักงานสภาพัฒนาการเมือง และสํานักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมาดูแลรักษา ใช้สอย รวมทั้งรับโอนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสํานักงานดังกล่าวและส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นตลอดจนจ้างผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมมาบรรจุ แต่งตั้ง หรือปฏิบัติงานในสํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีได้