แถลงการณ์ร่วม ประเทศไทย: ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขเพิ่มเติมและการออกกฎหมายเกี่ยวกับการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ผิดหวังกับมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญที่เอาผิดกับการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ทั้งสององค์กรเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยุติมาตรการใดๆ ที่ชะลอการออกกฎหมายนี้ และให้เร่งรัดการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายทั้งนี้เพื่อให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลควรประกันว่าจะมีการออกกฎหมายดังกล่าวโดยไม่ทิ้งไว้ให้ล่าช้า
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์ว่าได้รับแจ้งจาก สนช.ว่า จะไม่มีการผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้และในวันต่อมา เจ้าหน้าที่ของสนช.ได้เปิดเผยต่อ บีบีซีไทยโดยยืนยันว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ “จะถูกส่งกลับไปพิจารณา (โดยคณะรัฐมนตรี) และรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง ทหาร และอัยการก่อน” 
ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นผลจากความพยายามหลายปีของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐรวมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมซึ่งมีการปรึกษาหารือกับทางองค์กรของเรา ได้นำข้อเสนอแนะหลายประการเข้าไปประกอบการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 แต่มติครั้งล่าสุดของ สนช.มีการชะลอการผ่านร่างกฎหมายสำคัญนี้อย่างไม่มีกำหนด ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้จะนับว่าเป็นก้าวย่างสำคัญที่นำไปสู่การป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย
การออกกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลายประการที่รัฐบาลไทยได้ประกาศไว้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งในปีที่แล้ว การชะลอกฎหมายฉบับนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับผู้เสียหายจากการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมโดยที่ไม่มีกรอบกฎหมายที่ชัดเจนมารองรับ 
ร่างพระราชบัญญัติฉบับล่าสุดช่วยอุดช่องว่างสำคัญหลายประการในกรอบกฎหมายของไทยในปัจจุบัน และจะมีส่วนหนุนเสริมให้ไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ยังจำเป็นต้องมีการแก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างพระราชบัญญัตินี้ขาดองค์ประกอบสำคัญของนิยามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งไม่กำหนดฐานความผิดสำหรับการกระทำที่เป็นการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และไม่นิยามว่าการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการกระทำผิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ร่างพระราชบัญญัตินี้ครอบคลุมเฉพาะความรับผิดทางอาญาของผู้ที่ลงมือกระทำการโดยตรงเท่านั้น และไม่กำหนดข้อห้ามอย่างชัดเจนไม่ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการทรมาน 
รัฐบาลไทยควรกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนในการแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านี้และข้อกังวลอื่นๆ รวมทั้งผ่านร่างกฎหมายนี้โดยเร็วที่สุด และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมและประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงรายงานต่างๆ ที่เมื่อไม่นานมานี้ที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้กระทำการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย และที่ผ่านมาไม่มีความสำเร็จในการนำตัวผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย และการบังคับบุคคลให้สูญหายมาลงโทษ ทางองค์กรของเรายังคงยึดมั่นที่จะให้ความสนับสนุนที่จำเป็นต่อรัฐบาลไทยในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัตินี้เพิ่มเติมหรือการกระทำอย่างอื่นเพื่อป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย 
ข้อมูลพื้นฐาน 
ไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) และได้ลงนามแต่ยังไม่ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance -ICPPED)ที่ผ่านมา คณะผู้ชำนาญการแห่งสหประชาชาติซึ่งดูแลการปฏิบัติตามสนธิสัญญาเหล่านี้ได้เรียกร้องรัฐภาคีให้กำหนดฐานความผิดเป็นการเฉพาะกับการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย
ในระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะทำการทบทวนการปฏิบัติตามกติกา ICCPR ของประเทศไทย
ในคำตอบของรัฐบาลไทยที่มีต่อประเด็นปัญหาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (List of Issues)  เมื่อวันที่15 พฤศจิกายน 2559 กล่าวว่า รัฐไทยกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งจะ “มีการกำหนดนิยามที่ชัดเจนและกำหนดฐานความผิดเป็นการเฉพาะสำหรับการทรมาน ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน” และ “จะเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย” 
ทั้งยังมีการกล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ “มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการป้องกัน การปราบปราม และกลไกการฟ้องร้องดำเนินคดี และเพื่อประกันให้ผู้เสียหายเข้าถึงการเยียวยา และแก้ปัญหาการใช้อำนาจที่ผิดและการใช้อำนาจโดยมิชอบของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย”  
นอกจากนี้ยังมีการสรุปว่า “ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่างพระราชบัญญัตินี้และมีการส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้กับคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาแล้ว และปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอเพื่อการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นการต่อไป”