“อำนาจบุกวัดพระธรรมกาย ตามคำสั่ง 5/2560 เปรียบเทียบกับ คำสั่ง 3/2558 และ กฎอัยการศึก”

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2560 เรื่อง "มาตราการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ในการควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย" คำสั่งนี้ หัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยมีสาระสำคัญประกาศให้วัดพระธรรมกาย และพื้นที่โดยรอบวัดในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นพื้นที่ควบคุม
คำสั่งดังกล่าวกำหนดให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้รับผิดชอบในการเข้าควบคุมพื้นที่รวมทั้งสามารถสั่งให้บุคคลเข้าหรือออกจากพื้นที่ภายในเวลาที่กำหนด สามารถออกคำสั่งให้บุคคลใดมารายงานตัว จับกุมตัวหากกระทำผิดซึ่งหน้า เข้าไปในเคหะสถานเพื่อตรวจค้น มีอำนาจในการควบคุมระบบสาธารณูปโภค การสื่อสาร การใช้โดรน รวมทั้้งมีอำนาจในการรื้อถอน ทำลาย หรือเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างภายในพื้นที่ควบคุม 
ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 5/2560 ยังกำหนดให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบส่วนตัวหากการใช้อำนาจโดยสุจริต แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ยังสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้ นอกจากนี้ยังกำหนดอัตราโทษของผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ คือจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการควบคุมพื้นที่รอบๆ วัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นการระบุพื้นที่ควบคุมอย่างชัดเจน เพื่อดำเนินการเข้าจับกุมพระธัมชโย ผู้ต้องหาคดียักยอกเงินและที่ดิน ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่มีความพยายามเข้าตรวจค้นวัดดังกล่าวมาหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากลูกศิษย์ของทางวัดได้รวมตัวเข้าขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้น ขณะเดียวกันก็มีเสียงกดดันจากฝ่ายที่ไม่ชื่นชอบวัดพระธรรมกาย ต้องการให้ คสช.เข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการนำพระธัมชโยผู้ต้องหาที่ดีเอสไอต้องการนำตัวมาสอบสวน 
 
 
เปรียบเทียบ กฎอัยการศึก และคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 กับ คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 5/2560 นั้นให้อำนาจเจ้าหน้าในลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
แต่ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในอดีตที่ผ่านมา คสช. ไม่เคยใช้ประกาศ หรือคำสั่งใดๆ ในการออกพื้นที่ควบคุมเฉพาะในลักษณะนี้มาก่อน ซึ่งการให้มีพื้นที่ควบคุมนั้นมีความคล้ายคลึงกับกฎอัยการศึก คือ กฎอัยการศึกสามารถประกาศใช้ในพื้นที่ที่เกิดเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยซึ่งจะมาจากภายในหรือภายนอก หรือเมื่อเหตุสงคราม หรือเมื่อเกิดการจลาขึ้น แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่มีเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว จึงไม่สามารถนำกฎอัยการศึกมาประกาศใช้ในกรณีวัดพระธรรมกายได้ 
นอกจากนี้ ในคำสั่งฉบับที่ 5/2560 ไม่ได้ระบุอำนาจในการควบคุมตัว แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ยังคงประกาศใช้อยู่ ซึ่งให้อำนาจในการควบคุมตัวผู้ฝ่าฝืนได้นานถึง 7 วัน ดังนั้นถ้าเจ้าหน้าที่ต้องการที่จะควบคุมตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็สามารถอาศัยอำนาจตามประกาศฉบับนี้ได้ 
การใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ประกาศคำสั่งฉบับ 5/2560 ของหัวหน้าคสช. ดูเหมือนจะเป็นการใช้อำนาจเกินสมควรแก่เหตุและอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน นอกจากนี้ยังน่ากังวลว่าในอนาคตข้างหน้า คสช. อาจจะอาศัยอำนาจนี้ให้การออกคำสั่งเพื่อกำหนดพื้นที่ควบคุมในพื้นที่อื่นๆ อีกหรือไม่?  
ไฟล์แนบ