ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: ขอให้ศาลยุติธรรมผดุงไว้ซึ่งหลักกฎหมายและความยุติธรรม

ตามที่การดำเนินคดีกับจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ดาวดิน ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีกระบวนการที่ไม่ได้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหลายประการ อันกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของจำเลย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ในฐานะผู้ติดตามสังเกตการณ์คดีเสรีภาพและคดีการเมืองมานาน จึงส่งจดหมายเรียนอธิบดีผู้พิพพากษาศาลอาญา ขอให้ศาลยุติธรรมผดุงไว้ซึ่งหลักกฎหมายและความยุติธรรม

โดยเนื้อความในจดหมายมีดังต่อไปนี้

๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
เรียน อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
เรื่อง ขอให้ศาลยุติธรรมผดุงไว้ซึ่งหลักกฎหมายและความยุติธรรม
ตามที่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ตกเป็นผู้ต้องหาด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ในคดีหมายเลข ฝ. ๒๓๒๒/๒๕๕๙ และปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น ด้วยอำนาจการฝากขังระหว่างการสอบสวนของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยปรากฏว่าในชั้นการฝากขัง มีกระบวนการหลายอย่างเกิดขึ้นในคดีนี้ ตัวอย่างเช่น
๑. เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ ศาลจังหวัดสั่งเพิกถอนการประกันตัวของผู้ต้องหา โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาแสดงออกในสื่อสังคมออนไลน์โดยการโพสต์รูปภาพหรือส่งข้อความเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ขณะที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๐๘/๑ กำหนดว่า ศาลจะสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งต่อไปนี้เท่านั้น (๑) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี (๒) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน (๓) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น (๔) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ และ (๕) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
๒. เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๙ ในการพิจารณาฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ ๓ ศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยไม่ได้นำตัวผู้ต้องหามาศาลเพื่อสอบถามและเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาคัดค้านการฝากขัง ขณะที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ วรรคสาม กำหนดไว้ว่า เมื่อพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ โดยไม่ได้มีกำหนดข้อยกเว้นเอาไว้
๓. ในการไต่สวนเพื่อสั่งเพิกถอนการประกันตัวเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ การไต่สวนการขอฝากขังผู้ต้องหา ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๐  การไต่สวนการขอฝากขังผู้ต้องหา ครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๐ และการไต่สวนการขอฝากขังผู้ต้องหา ครั้งที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งให้ไต่สวนเป็นการลับ ทั้งที่เนื้อหาการไต่สวนเป็นเพียงเรื่องเหตุผลและความจำเป็นของพนักงานสอบสวนที่ต้องการให้คุมขังผู้ต้องหาไว้เท่านั้น ขณะที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๗๗ กำหนดให้ศาลสั่งพิจารณาคดีลับได้ เฉพาะเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามบันทึกข้อมูลการดำเนินคดีต่อประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการดำเนินคดีทางการเมืองมากว่า ๖ ปี เห็นว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาล ที่นำโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จับกุมและดำเนินคดีประชาชนที่แสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบปราศจากอาวุธเป็นจำนวนมาก โดยอ้างอิงอำนาจตามกฎหมายเป็นเครื่องมือ ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเป็นศัตรูกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและสูญเสียศรัทธาในระบบกฎหมาย สร้างความขัดแย้งแตกแยกในสังคมให้ร้าวลึกหนักขึ้นไปอีก
ดังนั้น หากรัฐบาลใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อปิดกั้นการแสดงออกโดยสุจริตของประชาชน ศาลจึงเป็นสถาบันแห่งเดียวที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนได้ ซึ่งการทำหน้าที่ของสถาบันศาลนั้นจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อ ตลอดกระบวนการพิจารณาคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการที่ส่งผลร้ายต่อจำเลย ดำเนินไปโดยถูกต้องตามหลักกฎหมายทุกประการ และตรวจสอบการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักกฎหมายและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากสถาบันศาลยุติธรรมทำหน้าที่ได้ดังเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมเป็นสถาบันอันทรงคุณค่าที่ช่วยลดความขัดแย้งในสังคม และนำพาความสงบสุขปรองดองคืนสู่สังคมไทยได้
ขอแสดงความนับถือ
ลงชื่อ จอน อึ๊งภากรณ์
ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
ไฟล์แนบ